ปลูกข้าวโพดหลังการทำนา ในโครงการสานพลังประชารัฐ ลดทุน ลดเสี่ยง รายได้มั่นคง วิถียั่งยืน

ข้าวโพด เป็นพืชที่เกษตรกรนิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมาเป็นส่วนผสมการทำอาหารสัตว์ ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูนาปรัง เพื่อปรับปริมาณการผลิตการตลาดข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีความสมดุล เพื่อให้อุตสาหกรรมของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพในการผลิตสินค้าและลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ ที่สำคัญคือส่งเสริมให้เกษตรกรมีอาชีพ มีรายได้ 6,000 บาท ต่อไร่ มั่นคง และวิถียั่งยืน

คุณสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ส่งเสริมปลูกข้าวโพดหลังการทำนา

คุณสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ทำการเกษตร ประมาณ 3.8 ล้านไร่ มีเกษตรกร ประมาณ 2.2 แสนครัวเรือน พืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มันสำปะหลัง พริก ยางพารา หอมแดง อ้อยโรงงานหรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีสินค้าเกษตรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางพันธุศาสตร์ GI (Geographical Indications) ได้แก่ ข้าวหอมมะลิเขตทุ่งกุลาร้องไห้ และทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ

จากสาเหตุที่เกษตรกรทำนาแบบต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณผลผลิตข้าวมาก ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้และการยังชีพ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติและอนุมัติหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 62 เพื่อปรับปริมาณการผลิตการตลาดของข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มีความสมดุล เพื่อให้อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีเสถียรภาพในการผลิตและลดการพึ่งพาจากภายนอกประเทศ และให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูนาปรังมีรายได้มั่นคงยั่งยืน

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คุณภาพปลูกหลังการทำนาโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา จังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 4,184 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวโพด 35,013 ไร่ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษและสำนักงานเกษตรอำเภอจะเข้าไปสนับสนุนการปลูกและพัฒนาคุณภาพร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่

คาดว่าจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 35,013 ไร่ จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,300 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือได้ผลผลิต 45,516,900 กิโลกรัม ข้าวโพดแห้ง ความชื้น 14.5% จะขายได้ 7.50 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 341,376,750 บาท

ลุงปัญญา ห่อทรัพย์ (ที่ 2 จากซ้าย) เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังการทำนา
ถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้เครื่องจักรกลในการปลูกข้าวโพด

ถ้าเกษตรกรปลูกข้าวโพด 1 ไร่ จะใช้ต้นทุนการผลิต เป็นค่าเตรียมดิน 500 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ 540 บาท ค่าปุ๋ยเคมี 1,500 บาท ค่าปลูก 350 บาท ค่าเก็บเกี่ยว 700 บาท และค่าไฟฟ้า 300 บาท รวมเงินทุน 3,690 บาท พื้นที่ปลูก 35,013 ไร่ จะได้เงิน 129,197,970 บาท และเมื่อบวกลบคูณหารจากรายได้และต้นทุนการผลิต คาดว่ามีเหลือกำไรสุทธิ 212,178,780 บาทหรือเกษตรกรจะมีรายได้ 6,060 บาท ต่อไร่

ได้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ในพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานที่มีศักยภาพ 893 ไร่ และพื้นที่ปลูกข้าวนอกเขตชลประทานที่มีศักยภาพ มีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก 34,120 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตออกสู่ตลาด 35,000 ตัน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในฤดูแล้ง มูลค่าไม่น้อยกว่า 280 ล้านบาท

คุณสุรเดช เตียวตระกูล รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมปลูกข้าวโพด โครงการสานพลังประชารัฐ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายภารกิจให้ 5 หน่วยงานหลัก ในพื้นที่ ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกันบูรณาการในพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม เป็นหน่วยงานสนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

การถ่ายทอดเทคโนโลยี ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันดำเนินการถ่ายทอดความรู้ในด้านการปลูก การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาไปกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยว และปฏิบัติการหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวโพดคุณภาพ

การปลูกภาครัฐจะสนับสนุนจัดหาแหล่งปัจจัยราคาถูกมาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือร่วมจัดหาตลาดขายข้าวโพดให้ได้ในราคาที่เหมาะสม ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวโพดคุณภาพปลอดภัย ให้เกษตรกรมีรายได้นำไปสู่การยังชีพที่มั่นคง

นักวิชาการเกษตรถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพด
คุณมังกร วงศ์ศรี (ซ้าย) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ศรีสะเกษ สาธิตนำต้นข้าวโพดสดหมักให้วัวกิน

คุณมังกร วงศ์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า ในหลายพื้นที่ของจังหวัดศรีสะเกษ พบว่า มีเกษตรกรเลี้ยงวัวและควาย เฉลี่ย 1-5 ตัว ต่อราย เพื่อนำมาเป็นแรงงานภาคการเกษตร หรือซื้อขายในเชิงการค้า เพื่อพัฒนาการผลิตวัวคุณภาพ จึงสนับสนุนพ่อพันธุ์วัว 1 ตัว ให้เกษตรกรในชุมชน เพื่อนำมาผสมพันธุ์กับแม่วัวพันธุ์พื้นเมือง 30 ตัว ซึ่งเกษตรกรต้องช่วยกันเลี้ยงปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาให้พ่อพันธุ์วัวมีสุขภาพแข็งแรง

อีกด้านหนึ่งได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด เพื่อเก็บเกี่ยวฝักแก่ขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นอาหารสัตว์และส่งเสริมการปลูกเพื่อตัดต้นสดมาเป็นอาหารวัวหรือจำหน่าย

ข้าวโพด เป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกเพื่อนำเมล็ดมาเป็นส่วนผสมทำเป็นอาหารสัตว์ หรือขายข้าวโพดฝักแก่ให้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์ลูกผสม อายุเก็บเกี่ยว 100-120 วัน มักจะปลูกตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม มีลักษณะทางการเกษตรคือ ขนาดฝัก ความสูงฝัก ความสูงต้น อายุถึงวันออกไหมและเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง ผลผลิตจึงเป็นที่ต้องการของตลาด

ปฏิบัติดูแลดี จะได้ข้าวโพดคุณภาพ

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตัดต้นสด พื้นที่ 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 5-6 ตัน ขายได้ 2 บาท ต่อกิโลกรัม หรือมีรายได้ 10,000-12,000 บาท ต่อไร่ ต้นข้าวโพดที่ดูแลบำรุงรักษาดี 1 ต้น จะได้น้ำหนัก 4 กิโลกรัม

การตัดต้นข้าวโพดต้นสด จะตัดเมื่อต้นข้าวโพดอายุ 85-90 วัน ซึ่งเป็นช่วงต้นข้าวโพดติดฝักในระยะน้ำนม ประมาณ 50% ตัดแล้วนำมาสับบด ใส่ถังทำการหมักให้สมบูรณ์ จากนั้นนำไปให้วัวกิน การย่อยอาหารของวัวทำได้ง่าย ประโยชน์คือวัวจะได้รับทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ วัวมีสุขภาพแข็งแรงและเติบโตไว เป็นทางเลือกที่ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้มั่นคง

การ “ปลูกข้าวโพดหลังการทำนา…ในโครงการสานพลังประชารัฐ ลดทุน ลดเสี่ยง รายได้มั่นคง วิถียั่งยืน” เป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจหลังฤดูทำนา ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนเพื่อให้ดินมีคุณภาพดี ได้กำจัดโรคแมลงศัตรูที่อาศัยอยู่ในดิน ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงด้านการผลิตและตลาด ให้เกษตรกรมั่นคงในด้านอาชีพและรายได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุริยา บุญเย็น สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทร. 045-616-829 หรือ โทร. 085-312-5070 ก็ได้ครับ