เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ชีวภัณฑ์ปราบไส้เดือนฝอยรากปม

กรมวิชาการเกษตร  ผลิตชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีคุมไส้เดือนฝอยรากปมระบาดพริกและฝรั่งส่งตรงเกษตรกรนำไปใช้ได้ผลแล้วกว่า 800 กิโลกรัม ตั้งเป้า ปี 63 เป็นพี่เลี้ยงหนุนเกษตรกรผลิตใช้เอง  อุบลราธานีและสมุทรสาครเกษตรกรรวมกลุ่มนำร่องขอรับเทคโนโลยีผลิตใช้เองได้แล้ว

นางสาวเสริมสุข   สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า ในปี 2550 ได้เกิดปัญหาการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมอย่างรุนแรงในพื้นที่ปลูกพริกจังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษ มากกว่า 1,629 ไร่ ส่งผลให้พริกมีผลผลิตและคุณภาพลดลง ที่สำคัญโรครากปมสามารถแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ในเขตอื่นๆ ได้ ถ้าไม่มีการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี เนื่องจากไส้เดือนฝอยรากปมมีพืชอาศัยที่กว้างมาก เช่น ฝรั่ง เมล่อน มัลเบอร์รี่ มันฝรั่ง และมันสำปะหลัง

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ไส้เดือนฝอยรากปมเป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า 1 ตัว สามารถสร้างกลุ่มไข่ได้ 400-500 ฟอง ภายในระยะเวลา 30 วัน  จัดเป็นศัตรูพืชที่สำคัญติด 1 ใน 5 อันดับที่ทำความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจมากกว่า 4,500 ชนิด โดยไส้เดือนฝอยรากปมจะไปแย่งกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้พืชไม่สามารถดูดไปเลี้ยงลำต้นได้ ทำให้ลำต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลง และต้นพืชตายในที่สุด

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยวิธีการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมโดยชีววิธีเพื่อลดการใช้สารเคมี พบเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีผลต่อการตายของตัวอ่อน ระยะที่ 2 ของไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งถือได้ว่าเป็นระยะสำคัญที่ก่อให้พืชเป็นโรค จึงได้นำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาทดสอบกับสาเหตุของโรคพืช โดยนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบการผลิตเป็นก้อนเชื้อเห็ด นำไปทดสอบด้วยวิธีรองก้นหลุมก่อนปลูกพริก พบว่า ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงสามารถควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ จากนั้นได้นำไปทดสอบในแปลงทดลองขนาดเล็กในสภาพโรงเรือน ด้วยวิธีรองก้นหลุมก่อนปลูกพริก พบว่า การใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง อัตรา 10 กรัมต่อต้น มีประสิทธิภาพในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดีที่สุด จึงได้ขยายผลงานวิจัยไปในแปลงปลูกพริกของเกษตรกรที่มีการระบาดของโรครากปมที่อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา

 

กรมวิชาการเกษตร ได้นำก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรครากปมในพริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง มันสำปะหลัง พริกไทย และพืชผัก เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรลดการใช้สารเคมี ช่วยลดต้นทุนการผลิต และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้และผู้บริโภค โดย พริก มะเขือเทศ  ใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก อัตรา 10 กรัม ต่อต้น มันฝรั่ง ใช้อัตรา 220 กิโลกรัม ต่อไร่ พริกไทย ใช้อัตรา 50 กรัมต่อต้น  มันสำปะหลังหว่านเชื้อเห็ดเรืองแสง อัตรา 160 กิโลกรัม ต่อไร่ พืชในวงศ์ผักชี และผักกาด ใช้อัตรา 40 กรัม ต่อตารางเมตร

 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวต่อไปว่า  ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตร ได้แจกจ่ายชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงให้เกษตรกรได้นำไปใช้แล้ว จำนวน 868 กิโลกรัม และได้ขยายผลโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชีวภัณฑ์ให้แก่กลุ่มเกษตรกรนำไปผลิตใช้เองได้แล้วที่จังหวัดอุบลราชธานีและสมุทรสาคร  โดยเกษตรกรนำไปใช้กำจัดไส้เดือนฝอยรากปมในฝรั่ง เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเพิ่มเติมได้ ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร .02-579-9581

เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี เป็นเห็ดเรืองแสงชนิดหนึ่งที่มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อ ปี 2544 ในเขตพื้นที่ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โคกภูตากา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น และได้รับพระราชทานชื่อเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ว่า “สิรินรัศมี” มีลักษณะคล้ายเห็ดนางรม แต่จัดเป็นเห็ดพิษ ในสภาพตอนกลางวัน ก้าน ดอก และครีบมีสีขาว แต่ในสภาพกลางคืนหรือที่ไม่มีแสง ดอกเห็ดจะเปล่งแสงสีเขียวอมเหลือง