“พงศ์มาสฟาร์ม” สร้างอาชีพ รวยด้วย “เห็ดอินทรีย์”

ปัญหา ไข้หวัดนก (Bird Flu) ที่เชื่อว่าเป็นผลจากนกอพยพที่หนีอากาศหนาวกลายเป็นตัวพาหะนำเชื้อไวรัส H5N1 มาแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ รวมทั้งไทย ทำให้ เป็ด ไก่ ป่วยตายเป็นจำนวนมาก นับเป็นวิกฤตร้ายแรงสุดของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกในขณะนั้น หากใครต้องการทำอาชีพเลี้ยงเป็ด ไก่ ต่อไป ต้องปรับตัวเข้าสู่ฟาร์มระบบปิดเท่านั้น การเพิ่มทุนสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิดไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเอกชนรายใหญ่ แต่เกษตรกรรายย่อยที่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้พวกเขาต้องยุติอาชีพการเลี้ยงไก่ลงในที่สุด

คุณชลวิทย์-คุณกุลณัฐฐา ชินฐิติโรจน์ สองสามีภรรยาเจ้าของกิจการฟาร์มเลี้ยงไก่ระบบเปิด ในพื้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นหนึ่งในครอบครัวเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากวิกฤตไข้หวัดนกในครั้งนั้น พวกเขาสนใจทำอาชีพเพาะเห็ด เป็นอาชีพทางเลือกใหม่ เนื่องจากญาติพี่น้องทำฟาร์มเพาะเห็ดเป๋าฮื้อส่งขายโรงงานในพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งทางโรงงานมีการประกันราคารับซื้อที่แน่นอน จึงมั่นใจได้ว่าสินค้าที่ผลิตออกมามีตลาดรับซื้อแน่นอน

(จากซ้ายไปขวา) คุณชลวิทย์-คุณกุลณัฐฐา-คุณธรารินทร์ ชินฐิติโรจน์

คุณชลวิทย์ และครอบครัวใช้โรงเรือนเลี้ยงไก่เดิมมาปรับปรุงเป็นโรงเรือนเพาะเห็ด พวกเขาเริ่มต้นทำความเข้าใจในธรรมชาติของเห็ด ซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอก เก็บดอกเห็ดออกขายส่งโรงงานและขายปลีก พวกเขาลองผิดลองถูกสะสมประสบการณ์กันไป ใช้เวลานานหลายปี จนมั่นใจว่า ธุรกิจเพาะเห็ด สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง เลี้ยงครอบครัวได้อย่างยั่งยืน จึงลงทุนทำธุรกิจเห็ดแบบครบวงจร โดยทำก้อนเชื้อเห็ดเอง ซื้อเครื่องจักรอัดก้อน เครื่องผสมวัตถุดิบ เตานึ่งก้อน โดยดำเนินธุรกิจฟาร์มเห็ด ในชื่อว่า “พงศ์มาสฟาร์ม” จำหน่ายดอกเห็ด พร้อมรับสั่งทำก้อนเชื้อเห็ดอินทรีย์ เช่น เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดเป๋าฮือ เห็ดหูหนู เห็ดขอนขาว เห็ดนางรมดำ ฯลฯ

ภายในโรงเรือนเพาะเห็ดพงศ์มาสฟาร์ม

เนื่องจากการผลิตเห็ดอินทรีย์ เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย และเป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการตลอดทั้งปี เหมาะที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านเพาะเห็ดเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน คุณชลวิทย์จึงชักชวนชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม มาร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพาะเห็ดอินทรีย์กำแพงแสน” เพื่อผลิตเห็ดอินทรีย์ สร้างรายได้ รวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเพาะเห็ดแบบครบวงจร การผลิตหัวเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ที่สนใจ

ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ ผลิตดอกเห็ดขายในท้องถิ่นและออกงานจำหน่ายสินค้ากับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ส่งเสริมการแปรรูปเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น น้ำเห็ดสามสหาย ฯลฯ ส่งขายทั่วประเทศ

น้ำเห็ดสามสหาย

คุณชลวิทย์ มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเพาะเห็ด และมีฟาร์มผลิตก้อนเชื้อเห็ดนานาชนิด จึงเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเรื่องเห็ด ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนเพาะเห็ดเป็นอาชีพเสริม และใช้เป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน ตลอดจนทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ดให้กับนักเรียน นักศึกษา ในสถาบันต่างๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ รวมทั้งรับอบรมการเพาะเห็ดอินทรีย์ให้บุคคลหรือหน่วยงานที่สนใจการเพาะเห็ดอินทรีย์อีกด้วย

เห็ดขอนขาว

ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจฟาร์มเห็ด

คุณกุลณัฐฐา กล่าวว่า แม้เห็ดจะเป็นสินค้าขายดีตลอดทั้งปี แต่มีความเสี่ยงในการลงทุนอยู่พอสมควร ประการแรก จากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ช่วงแรกที่ตัดสินใจทำฟาร์มเห็ด “ขี้เลื่อย” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตก้อนเชื้อเห็ด มีราคาไม่แพง สั่งซื้อได้ ในราคา 7,000- 8,000 บาท/คันรถ แต่ช่วงหลังโรงงานไฟฟ้าชีวมวลหันมาใช้ไม้ยางพาราในกระบวนการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20,000 กว่าบาท/คันรถ ทำให้ต้นทุนการผลิตก้อนเชื้อเห็ดสูงขึ้นกว่าในอดีต

ทุกวันนี้ มีฟาร์มเห็ดหลายแห่งเลือกใช้ “ฟางข้าว” เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ฟางข้าวมีอายุการใช้งานสั้น เพียงแค่ 3 เดือน ก็ยุบตัวแล้ว เมื่อเทียบกับก้อนเชื้อเห็ดที่ใช้ขี้เลื่อยเป็นวัถตุดิบหลัก จะมีอายุการใช้งาน 5-6 เดือน

และฟาร์มเห็ดบางแห่งพยายามลดต้นทุนการผลิต โดยใช้ขี้เลื่อยเก่ามาผสมกับขี้เลื่อยใหม่ ในอัตราส่วน 2:1 หากผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อเปิดดอกภายในฟาร์มของตัวเองก็ทำได้ แต่ไม่ควรผลิตก้อนเชื้อเห็ดออกขายลูกค้าทั่วไป เพราะลูกค้าที่ซื้อก้อนเชื้อเห็ดดังกล่าว จะได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป เพราะก้อนเชื้อเห็ดที่ผลิตจากขี้เลื่อยเก่าจะย่อยสลายไว เก็บดอกได้ไม่นาน

คุณธรารินทร์ (คุณจูน) บุตรสาวโชว์เห็ดที่รอการจำหน่าย

ดอกเห็ดเติบโตได้ดี ในช่วงอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส หรือภาวะอากาศเย็น ครึ้มหนาวครึ้มฝน หากเจอภาวะอากาศแปรปรวน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว หรือฝนตกหนัก มักส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเห็ด ยิ่งเจอภาวะอากาศร้อนจัด อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ก้อนเชื้อเห็ดมักไม่ค่อยออกดอก ทำให้ผลผลิตเข้าตลาดน้อยลง ช่วงนั้นแม่ค้าจะขายดอกเห็ดในราคาสูง

“หากเกษตรกรไม่ได้ผลิตเห็ดส่งขายโรงงานในราคาประกัน จะมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากตลาดเห็ดผันผวนตลอดทั้งปี และราคาเห็ดขยับตัวขึ้นลงเร็วมาก หากเกษตรกรรายใดไปหลงซื้อก้อนเชื้อเห็ดคุณภาพไม่ดีมาใช้งาน ยิ่งเสี่ยงเจอภาวะขาดทุนได้ง่าย ทางฟาร์มของเราเลือกใช้ขี้เลื่อยใหม่เป็นหลัก เพื่อผลิตก้อนเชื้อเห็ดที่ดีมีคุณภาพและมีอายุการใช้งานยาวนาน จากการสอบถามลูกค้าที่ซื้อก้อนเชื้อเห็ดของเราไป ต่างพึงพอใจกับคุณภาพมีอายุการเปิดดอกยาวนานกว่า 5-6 เดือน ” คุณกุลณัฐฐา กล่าว

ปรับตัว “ทำน้อย ได้มาก”

คุณกุลณัฐฐา กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา ทางฟาร์มเน้นผลิตก้อนเชื้อเห็ดจำนวนมาก ส่งขายให้เกษตรกรทั่วประเทศ เจอปัญหาเห็ดล้นตลาดก็ขายดอกเห็ดได้ราคาถูก จึงปรับแนวคิดใหม่ “สู้ทำน้อยแต่ขายได้ราคาดีกว่า” ทางฟาร์มได้นำดอกเห็ดมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในลักษณะ น้ำเห็ดเพื่อสุขภาพ ปรากฏว่า ขายดี และให้ผลกำไรดีกว่าเดิม

เห็ดต่งฝน

ขณะเดียวกันทางฟาร์มก็หันมาผลิตเห็ดเศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมในตลาดและให้ผลตอบแทนสูง เช่น “เห็ดนางรมดำ” ที่มีลักษณะเด่นคือ เนื้อกรอบ ดอกหนา ออกดอกไวกว่าเห็ดนางรมทั่วไป “เห็ดต่งฝน” ซึ่งเป็นเห็ดประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป.ลาว ทางฟาร์มของเราได้นำหัวเชื้อเห็ดชนิดนี้มาทดลองปลูก โดยนำก้อนเชื้อเห็ดไปฝังดิน ก็ให้ผลผลิตที่ดี เห็ดต่งฝน เป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่กำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภค เพราะมีเนื้อหนานุ่ม แปรรูปอาหารได้หลากหลายเมนู ที่สำคัญขายได้ราคาสูง กิโลกรัมละร้อยกว่าบาท เช่นเดียวกับเห็ดมิวกี้หรือเห็ดตีนแรด

ข้อแนะนำ มือใหม่ปลูกเห็ด

หากใครสนใจลงทุนทำฟาร์มเห็ดเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม แต่ยังไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการเพาะเห็ดมาก่อน ขอแนะนำให้เริ่มต้นลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มต้นจากลงทุนเพาะเห็ดนางรมก่อน เพราะเป็นเห็ดที่ดูแลง่ายที่สุด ไม่ว่าอากาศสภาพร้อนอย่างไร ก็มีดอกเห็ดให้เก็บขาย หากสอบผ่าน จึงค่อยข้ามขั้นไปเพาะเห็ดภูฏานและเห็ดหูหนู ตามลำดับ

เห็ดนานาชนิด สินค้าเด่นของพงศ์มาสฟาร์ม

สำหรับการลงทุน ในระยะแรกแนะนำให้ซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอกสัก 500 ก้อน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 บาท ส่วนเรื่องโรงเรือนเพาะเห็ด สามารถใช้พื้นที่ว่างในโรงรถหรือชายคาบ้านเป็นที่เพาะเห็ดได้ เพื่อประหยัดต้นทุน ค่อยๆ เรียนรู้ธรรมชาติของเห็ดก่อน เมื่อเก็บดอกเห็ดออกขายได้สัก 2 รอบ ก็คืนเงินลงทุนได้แล้ว หลังจากนั้นจึงค่อยสั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ดเพิ่มขึ้นในอนาคต

คุณธรารินทร์ ชินฐิติโรจน์ (คุณจูน) โชว์ผลผลิต

“แมลงหวี่” เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญของฟาร์มเห็ด มักพบได้บ่อยในช่วงสภาพอากาศชื้น เกษตรกรสามารถลดปริมาณแมลงหวี่ในโรงเรือนเพาะเห็ดได้ โดยการปลูกผัก ปลูกต้นไม้รอบโรงเรือนเพาะเห็ด เมื่อมีภาวะอากาศชื้น แมลงหวี่จะบินไปหากินในแปลงปลูกพืชผักหรือต้นไม้แทนการเข้าไปหากินในโรงเรือนเพาะเห็ด

“หลังจากที่เปิดดอกเห็ดมาแล้วถึงเวลาที่จะทิ้งก้อนเห็ด แนะนำให้แหวกด้านหน้าก้อนแล้วใช้สายยางฉีดล้างหน้าก้อนเห็ด ล้างเพื่อทำความสะอาดขี้เลื่อยที่อยู่ด้านหน้าให้เกลี้ยง เมื่อล้างเสร็จแล้วประมาณ 3-5 วัน ดอกเห็ดจะเริ่มออกเป็นชุดสุดท้ายก่อนที่จะทิ้งก้อน จะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง” คุณกุลณัฐฐา กล่าวในที่สุด

เห็ดนางรมดำ

สำหรับผู้สนใจอาชีพการเพาะเห็ด ทางพงศ์มาสฟาร์มยินดีให้คำปรึกษาและให้ความรู้กับทุกท่าน ในทุกๆ โอกาส หรือแวะมาเยี่ยมชมที่ฟาร์มได้ตลอด สำหรับผู้สนใจสั่งซื้อก้อนเชื้อเห็ดหรือสินค้าผลิตภัณฑ์เห็ดแปรรูป สามารถสอบถามได้ทางเฟซบุ๊ก “พงศ์มาสฟาร์ม-เห็ดอินทรีย์” หรือติดต่อทางเบอร์โทร. 064-984-4741 (คุณจูน) หรือเบอร์โทร. 062-160-3680 (คุณมายด์)