อาทิตย์ เกษมศรี ผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองคุณภาพ ที่เชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกมะม่วงที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศมีความเหมาะสม สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์ การระบายน้ำดี สภาพอากาศเย็นตลอดทั้งปี ทำให้มะม่วงมีคุณภาพดี สีสวย รสชาติดี อีกทั้งยังสุกล่าช้ากว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผลผลิตมะม่วงของภาคอื่นๆ หมดไปแล้ว ทำให้ผลผลิตมะม่วงในจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่ต้องการของผู้ค้าและผู้ส่งออก จึงเป็นโอกาสทองของเกษตรกรชาวสวนมะม่วงที่จังหวัดเชียงใหม่

คุณอาทิตย์ เกษมศรี เกษตรกรวัย 81 ปี

จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ทราบว่า มีพื้นที่ปลูกมะม่วง ประมาณ 78,000 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง 16,375 ราย โดยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก ประมาณ 45,000 ไร่ กระจายอยู่ใน 15 อำเภอ ปริมาณผลผลิตเพื่อการส่งออกกว่า 35,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 300-600 ล้านบาท เกษตรกรได้รวมกันเป็นเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมดำเนินการผลิต การควบคุมคุณภาพผลผลิตของสมาชิก และร่วมกันทำการตลาดกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ โดยมีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะม่วง รวม 15 กลุ่ม เพื่อทำกิจกรรมช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีการรวมตัวกันในลักษณะนี้ และเป็นจุดเด่นของชาวสวนมะม่วงจังหวัดเชียงใหม่

ปลูกทุเรียนหมอนทองเสริมในสวน

คุณอาทิตย์ เกษมศรี เกษตรกรวัย 81 ปี บ้านห้วยไร่ หมู่ที่ 9 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ตำแหน่งประธานวิสาหกิจชุมชนชมรมผู้ปลูกมะม่วงเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ตนเองรักอาชีพการเกษตรมานานแล้ว ปลูกพืชมามากมายหลายชนิด ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชทดสอบวิจัย ทดลองการขยายพันธุ์พืช ฯลฯ เช่น การปลูกและขยายพันธุ์ไผ่หลายชนิด ปลูกมะไฟ กระท้อน ซึ่งประสบผลสำเร็จระยะหนึ่ง ต่อมาประมาณ ปี 2522 ได้ขยายพื้นที่ออกไปอีก 100 ไร่ ระยะแรกปลูกต้นไผ่ แต่ก็ประสบปัญหากับเป็นช่วงที่ต้นไผ่ออกดอก จึงล้มกอไผ่ หันมาปลูกกระท้อน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมีศัตรูรบกวนมาก การห่อผลไม่ทัน จึงโค่นล้มต้นกระท้อนทิ้ง หันมาปลูกมะม่วงหลายสายพันธุ์ เช่น น้ำดอกไม้สีทอง นวลคำ มันขุนศรี แดงจักรพรรดิ มหาชนก โชคอนันต์

ผลผลิตมะม่วงที่ห่อ พร้อมจำหน่ายรุ่นสุดท้าย

ด้วยความหลากหลายของสายพันธุ์มะม่วง ให้ผลผลิตไม่พร้อมกัน ทำให้การจำหน่ายมีปัญหา ผลผลิตแต่ละชนิดมีจำนวนน้อย ในปี 2556 จึงได้หันมาเน้นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เพราะตลาดต่างประเทศมีความต้องการ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมีเครือข่ายอย่างกว้างขวาง กระจายอยู่ทุกอำเภอ ขณะนี้มีเครือข่าย 17 กลุ่ม

สาธิตการห่อผลมะม่วง

สำหรับการจัดการภายในสวน คุณอาทิตย์ เล่าว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ปลูกในสวน ใช้ระยะปลูก 5×5 เมตร มีการจัดการตามระบบการจัดการที่เหมาะสม ปกติแล้วมะม่วงทั่วไปของบ้านเราจะแก่และเก็บผลผลิตจำหน่ายเริ่มมาจากทางภาคกลางขึ้นมาทางภาคเหนือ ดังนั้น เพื่อให้การจำหน่ายผลผลิตในจังหวัดเชียงใหม่ให้มีราคาดี จำเป็นต้องชะลอการแตกใบอ่อน การออกดอก จนถึงการแก่ของผลผลิตมะม่วง จะต้องใช้เวลาช้าลงกว่าพื้นที่อื่น จะต้องมีการจัดการที่เหมาะสม คือผลผลิตหากเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งจะตรงกับผลผลิตมะม่วงของจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร

สถาบันการศึกษาสนใจทดลองวิชาการ

ดังนั้น จำเป็นต้องบังคับให้ออกผลผลิตล่าช้ากว่าจังหวัดอื่น การจัดการทั่วไปนั้นหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะต้องฟื้นต้นมะม่วงให้สมบูรณ์ ตัดแต่งกิ่ง พร้อมการใส่ปุ๋ย หลังตัดแต่งกิ่ง จะใช้ปุ๋ย สูตร 16-16-16 หรือ สูตร 15-15-15 ประมาณ 0.5-1 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อช่วยให้ต้นมะม่วงฟื้นตัว ช่วยทำให้แตกใบอ่อนเต็มต้น จากนั้นดึงยอดอ่อนด้วยการใช้ปุ๋ย สูตร 8-18-24 จะทำให้ใบอ่อนแตกใหม่ภายใน 15 วัน จากนั้นรอจนผลมะม่วงมีขนาด 7-10 เซนติเมตร จึงเริ่มห่อผล การห่อผลมะม่วงจะต้องห่อให้แน่น ป้องกันไม่ให้น้ำและมดเข้าไปถูกผลมะม่วง รอจนผลแก่เต็มที่ แต่ก่อนที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วง จะต้องใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 เพื่อเป็นการเร่งความหวานและรูปทรงผลสวย เป็นการทำให้ผลมะม่วงมีคุณภาพดี

สภาพภายในสวน วางระบบน้ำทั้งสวน

ศัตรูพืชเป็นปัญหาอีกประการหนึ่งที่ส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ขณะนี้พบว่ามีศัตรูเข้าทำลายคือ ด้วงงวงเจาะเมล็ดและไส้ดำหรือโพรงดำ แนะนำให้ใช้ไนตราบอร์ร่วมกับปุ๋ย สูตร 16-16-16 อีกทั้งขณะนี้กระแสการปลูกทุเรียนกำลังมาแรง จึงได้เพิ่มปลูกทุเรียนหมอนทองระหว่างแถวมะม่วงอีก ประมาณ 1,000 ต้น ในสวนนี้จะใช้ผลิตภัณฑ์ของปุ๋ยยารา เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ช่วยให้ลดต้นทุนได้มากกว่าใช้เครื่องหมายการค้าอื่นๆ

อาคารคัดบรรจุผลผลิตเกษตรที่บริหารโดยคณะกรรมการ

คุณอาทิตย์ เล่าต่อว่า ในช่วงที่กำลังเตรียมต้นให้พร้อมจะออกดอกนั้น สมาชิกจะมาประชุมพร้อมกัน เพื่อกำหนดช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อสะดวกต่อการส่งออกไม่ให้พร้อมกัน เรียกว่าทยอยกันเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจะนำมารวบรวมที่โรงคัดบรรจุ เพื่อคัดเกรดส่งออกและส่งตลาดภายในประเทศ จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่โรงคัดบรรจุ ซึ่งโรงคัดบรรจุนี้ จัดหาซื้อที่ดินวงเงิน 3 ล้านบาท และก่อสร้างอาคาร 2 ล้านบาท โดยการระดมทุนของสมาชิกกันเอง ไม่ได้ของบสนับสนุนจากทางราชการแต่อย่างใด หลังจากใช้เป็นที่รวบรวมผลผลิตมะม่วงแล้ว ฤดูกาลต่อไปจะใช้เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตลำไย ฤดูต่อไปจะเป็นแหล่งรวบรวมพืชผัก ข้าวโพด ถั่ว เรียกได้ว่าอาคารนี้สร้างขึ้นมาแล้ว ใช้รวบรวมผลผลิตเกษตรได้คุ้มค่าจริงๆ ทั้งนี้เพราะมีคณะกรรมการที่มีความเสียสละ ซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงานเพื่อมวลสมาชิก

สนใจศึกษาดูงาน หรือรับทราบข้อมูล ติดต่อได้ที่ คุณอาทิตย์ เกษมศรี โทร. 081-960-0956

………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564