มะเขือเทศญี่ปุ่น พันธุ์ “บิจิน” นักธุรกิจแดนซามูไร ลงทุน ปลูก-ขาย ในไทย

เป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบรับประทานมะเขือเทศสด เพราะไม่ชอบกลิ่น แต่พอไปรับประทานมะเขือเทศญี่ปุ่น พันธุ์ “บิจิน” แล้วชอบมาก เนื่องจากไม่มีกลิ่นเหมือนมะเขือเทศที่เคยรับประทานมา และรสชาติหวานดี อีกทั้งสีก็แดงสด เลยทำให้อยากรู้ว่าเจ้ามะเขือเทศพันธุ์นี้ปลูกที่ไหน ตอนแรกคิดว่านำเข้ามาจากญี่ปุ่น ที่ไหนได้ปลูกในบ้านเรานั่นเอง

คุณโช ซาโกตะ

คุณสิทธิกร อออุตสาหกิจ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เจเเปน อะกรี ชาล์เล้นจ์ เอเชีย จำกัด เจ้าของแบรนด์มะเขือเทศญี่ปุ่น พันธุ์ “บิจิน” ซึ่งได้นำผลผลิตหลายอย่างของบริษัทมาโชว์ในงานไทยเฟ็กซ์ปีนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานีด้วย โดย คุณโช ซาโกตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจแปนฯ ก็มาร่วมงานนี้ด้วย

เน้นเกรดพรีเมี่ยม ปลูกในโรงเรือน

คุณสิทธิกร อออุตสาหกิจ

คุณสิทธิกร เกริ่นที่มาที่ไปให้ฟังว่า บริษัทก่อตั้งมาปีนี้เป็นปีที่ 5 เเล้ว เงินลงทุนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ มาจากญี่ปุ่่น แต่มีคนไทยถือหุ้นด้วย เริ่มปลูกมะเขือเทศเกรดพรีเมี่ยมในประเทศไทย ฟาร์มเเรกที่อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ทุกวันนี้ก็ยังปลูกอยู่ ในเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ ปลูกในโรงเรือน เนื้อที่ทั้งหมด 5,500 ตารางเมตร เป็นระบบเกษตรปลอดภัย ซึ่งจะหยุดสเปรย์ยาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะเก็บเกี่ยว เพราะฉะนั้นตัวยาจะหายไปจากผล

น้ำมะเขือเทศ

อีกแปลงหนึ่งปลูกที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พื้นที่ 14 ไร่ ขนาดของโรงเรือน 10,000 ตารางเมตร เเต่จะเเตกต่างจากที่เพชรบูรณ์ที่เล่นไล่ตามระดับเขา สูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตร ส่วนที่เชียงรายปลูกในพื้นที่ราบ สูงจากระดับน้ำทะเล 500 เมตร

ข้าวโพดฮอกไกโด

สาเหตุที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเข้ามาทำธุรกิจนี้ในบ้านเรา เพราะ หนึ่ง คือในเมืองไทยยังไม่มีมะเขือเทศเกรดพรีเมี่ยมเลย จึงเป็นเจ้าเเรกๆ ที่เข้ามาเลย สอง การเกษตรในเมืองไทยเติบโตเชิงบวกมาหลายปีเเล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี นอกจากนี้ ยังสอนคนต่างจังหวัดให้รู้จักวิธีการปลูกมะเขือเทศ ด้วยเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จในด้านนี้มาหลายปีอยู่เเล้ว

คุณสิทธิกร ขยายความด้วยว่า บริษัทลงทุนไปร่วม 70-80 ล้านบาท คนญี่ปุ่นที่สนับสนุนเงินลงทุนเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งในปีเเรกผลผลิตประสบปัญหา เพราะอากาศค่อนข้างร้อน ขณะที่บริษัทต้องการปลูกมะเขือเทศในฤดูทุกฤดู ที่ผ่านมาตั้งเเต่เดือนพฤศจิกายนยันถึงเดือนเมษายน ผลผลิตของมะเขือเทศที่อำเภอน้ำหนาว เเละที่เชียงรายให้ผลผลิตค่อนข้างดี เนื่องจากว่าอยู่ในที่สูงอากาศค่อนข้างเย็น ซึ่งมะเขือเทศชอบอากาศเย็น เเห้ง

ข้าวโพดฮอกไกโด รับประทานสดได้

พอเข้าสู่ช่วงหน้าร้อน ผลผลิตจะน้อยลง ช่วงนี้การติดผลก็จะยาก และจะเกิดโรคด้วย ขณะที่หน้าฝนจะมีปัญหาเรื่องการสุกของมะเขือเทศ เพราะเป็นพืชที่ชอบเเสงเเดด จะประสบปัญหาคือ ผลผลิตจะเเดงค่อนข้างยาก ในปีเเรกๆ ปัญหาค่อนข้างเยอะมาก สำหรับปีนี้เป็นปีเเรกที่บริษัทบุกตลาดและก็มีกลุ่มลูกค้าค่อนข้างเยอะ ที่ยอมรับในสินค้า

ส่งขายร้านอาหารญี่ปุ่น-อิตาลี

พูดถึงมะเขือเทศ พันธุ์ “บิจิน” หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก คุณสิทธิกร แจกแจงว่า เป็นพันธุ์ของญี่ปุ่นที่พัฒนาเพื่อให้เหมาะกับการปลูกในเมืองไทย จุดเด่นที่เเตกต่างจากมะเขือเทศเมืองไทยก็คือ มีรสชาติหวาน เเละไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว จะมีอยู่สองพันธุ์ คือ เอ (A) กับ บี (B) พันธุ์ A ปลูกที่เพชรบูรณ์ มีลูกขนาด 15-31 กรัม

อย่างที่เกริ่นไปแต่แรกว่า การปลูกมะเขือเทศดังกล่าวใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ซึ่งเน้นเรื่องคุณภาพเป็นอันดับแรก อย่างเช่น พอออกดอกจะตัดกิ่งเเรกทิ้ง รวมถึงกิ่งที่สองด้วย เพื่อให้รากส่งน้ำตาลได้ต่อไป เพราะถ้าเกิดไปเก็บผลผลิตชุดแรกเร็ว ผลผลิตในชุดหลังคุณภาพอาจจะไม่ดีเท่า นอกจากนี้ จะเก็บมะเขือเทศทุกวันเพื่อให้ได้ผลที่สดใหม่ มีคุณภาพดี

“ตอนปลูกครั้งเเรกประสบปัญหาในเรื่องของโรค เช่น เหี่ยวบ้าง ตายบ้าง เป็นโรคต่างๆ คือพันธุ์ญี่ปุ่นมีข้อเสียตรงที่ไม่ทนอากาศร้อน ทุกวันนี้ก็ยังประสบปัญหาดังกล่าวอยู่ อย่างที่ญี่ปุ่นการเก็บเกี่ยวต่อ 1 ต้น อยู่ที่ 6-8 เดือน เเต่ในไทยทำได้สูงสุดเเค่ 3 เดือนครึ่ง เพราะอากาศร้อน การติดโรค เเละความชื้นในอากาศมาเกี่ยวข้องมาก ทำให้ต้นทุนสูง เพราะใช้ปุ๋ยที่นำเข้าจากประเทศเอสโตเนีย เนื่องจากเป็นปุ๋ยเกรดดีที่สุด ตอนนี้ก็เริ่มใช้ปุ๋ยมะพร้าว ปุ๋ยมะพร้าวฝอยบ้าง ผลผลิตก็ยังออกมาไม่ดีเท่าที่ควร”

ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อรอบนั้น ในช่วงหน้าหนาว ได้ประมาณ 3 เดือนครึ่ง เเต่ถ้าช่วงหน้าร้อนประมาณ 2 เดือนกว่าๆ ก็หมดเเล้ว ทั้งนี้บริษัทวางแผนไว้ว่าสิ้นปีนี้จะย้ายฟาร์มจากที่เพชรบูรณ์ไปทั้งหมด เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ และจะปลูกพืชผักออร์แกนิกหรือไฮโดรโปรนิก กำลังพิจารณากันอยู่

คุณสิทธิกร แจกแจงว่า กำลังผลิตทั้งสองฟาร์มอยู่ประมาณ 2 ตันกว่า ต่อสัปดาห์ ถือว่าน้อย เพราะจริงๆช่วงไฮต์ซีซั่นจะได้เฉลี่ยประมาณ 5 ตัน ต่อสัปดาห์  โดยส่งขายในประเทศอย่างเดียว ซึ่งตอนนี้ขายในประเทศยังไม่พอเลย ราคาขายปลีกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 320 บาท แต่ถ้าขายส่งในปริมาณเยอะ ราคาก็จะถูกกว่านี้

มะเขือเทศของ “บิจิน” ส่วนใหญ่จะส่งขายให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ร้านอาหารอิตาเลียน และโรงแรมระดับ 5 ดาว ขณะที่ร้านอาหารบางส่วนซื้อมะเขือเทศที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย ซึ่งราคาสูงกว่าเเละไม่สามารถเลือกขนาดได้ เเต่ร้านอาหารจะชอบของ “บิจิน” เพราะสามารถระบุได้ว่าอยากได้ขนาดไหน ลูกละกี่กรัม เพราะมีเครื่องคัดขนาด

ข้าวโพดฮอกไกโด กินสดได้

นอกจากจะปลูกมะเขือเทศแล้ว บริษัท เจเเปน อะกรี ชาล์เล้นจ์ เอเชียฯ ยังปลูกข้าวโพดฮอกไกโดที่สามารถรับประทานสดได้ รสชาติจะหวานเหมือนนม ซึ่งผลผลิตออกมาเยอะในช่วงเดือนกรกฎาคม

“ข้าวโพดเราวิจัยเเละพัฒนามานานประมาณปีกว่า เเต่ยังไม่พอใจกับรสชาติเเละผลผลิตที่ได้รับ พยายามไม่ใช้ยาฆ่าเเมลง ซึ่งมีแมลงไปกัดกินตัวข้าวโพด ใช้เพียงเเค่ตอนเป็นต้นกล้าที่เล็กที่สุด คือพยายามใช้น้อยที่สุด”

อีกทั้งในปีนี้ก็ปลูกมะเขือเทศหลากสีด้วย เป็นพันธุ์ญี่ปุ่นอีกพันธุ์หนึ่งเหมือนกัน โดยนำเมล็ดพันธุ์มาจากญี่ปุ่น มีสีเขียว สีชมพู สีช็อกโกเเลต สีเหลือง และสีส้ม ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับของตลาดพอสมควร พร้อมกันนั้นกำลังคิดจะปลูกผักออร์เเกนิกด้วย เช่น หัวไชเท้า

คุณสิทธิกร บอกว่า ช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดมะเขือเทศ “บิจิน” โตถึง 300 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว เพราะบริษัทได้ไปติดต่อกับห้างโมเดิร์นเทรด รายใหม่ๆ หลายเจ้า และยังได้นำมะเขือเทศมาแปรรูปเป็นน้ำมะเขือเทศด้วย ซึ่งมีวางขายที่บิ๊กซีบางสาขา และตามร้านค้าบางแห่ง รสชาติจะเเตกต่างจากน้ำมะเขือเทศในตลาด เพราะเป็นการพาสเจอไรซ์ คือต้มที่ 60 องศา ข้อดีคือได้คุณค่าทางสารอาหารตรงจากมะเขือเทศ ส่วนน้ำมะเขือเทศในท้องตลาดส่วนใหญ่จะใช้วิธีสเตอริไลซ์ ต้มที่ 100 องศา ทำให้คุณค่าสารอาหารหายไปหมด

สนใจผลผลิตทางการเกษตรของ บริษัท เจเเปน อะกรี ชาล์เล้นจ์ เอเชีย จำกัด เข้าไปดูได้ที่  www.biobijin.com