ข้าวตราฉัตร สนับสนุนชาวนายุคใหม่ 4.0 ขับเคลื่อน “ข้าวฮักพะเยา” สู่ตลาดโลก

พะเยา ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เพราะชาวนาจังหวัดพะเยาปลูกข้าวหอมมะลิในดินที่เกิดจากตะกอนลำน้ำ ที่ถูกพัดพามาจากน้ำแม่อิง มีส่วนประกอบจากหินภูเขาไฟและหินตะกอนชนิดต่างๆ พบบริเวณพื้นที่ราบหรือค่อนข้างราบระหว่างหุบเขา ซึ่งเหมาะแก่การปลูกข้าวหอมมะลิ ทำให้ข้าวหอมมะลิพะเยามีความหอมที่โดดเด่น และเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ไม่เหมือนใคร

ดังนั้น ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเกิดแนวคิดขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ภายใต้ชื่อ “พะเยาโมเดล” โดยจับมือกับ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จังหวัดพะเยา และ บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% ในราคา 18,000 บาท ต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาประกันข้าวหอมมะลิของรัฐบาลที่ประกาศไว้ ในปี พ.ศ. 2562 ถึง 3,000 บาท ต่อตัน โดย บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด เริ่มรับซื้อผลผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป

“ข้าวฮักพะเยา”  

คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ รับผิดชอบธุรกิจข้าวและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ข้าวตราฉัตร) กล่าวว่า สาเหตุที่ข้าวตราฉัตรเลือกพื้นที่ส่งเสริมผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์สูง ผลผลิตข้าวหอมมะลิมีคุณภาพจากแหล่งต้นกำเนิด (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) จึงทำให้ข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยามีลักษณะเฉพาะของอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่พิเศษ

ข้าวตราฉัตร ได้ดำเนินโครงการพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ภายใต้ระบบการผลิตข้าวคุณภาพ ด้วยมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices หรือ ข้าว Q) โดยเน้นคัดเลือกเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ ไม่น้อยกว่า 98% มาเพาะปลูกในแปลงนาของเกษตรกรสมาชิก มีการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อพัฒนาคุณภาพดินในแปลงนาให้ดีขึ้น ไม่มีสารตกค้าง น้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกต้องปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนวัตถุอันตราย มีเกณฑ์การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรแบบถูกวิธี เหมาะสม และปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีระบบสำรวจแมลง ศัตรูพืช หรือโรคต่างๆ ในแปลงนา โดยการตรวจเช็คต้นข้าวในแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ

และเลือกช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวที่เหมาะสม (ระยะสุกแก่ หรือระยะพลับพลึง) เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกที่มีคุณภาพดีที่สุด และเกษตรกรสมาชิกทุกราย มีระบบการจดบันทึกข้อมูลเพาะปลูกทุกขั้นตอนการผลิตข้าว เพื่อสามารถตรวจสอบที่มาของผลผลิตได้ และที่สำคัญเกษตรกรสมาชิกทุกรายมั่นใจได้ว่า ข้าวที่ปลูกมีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน เพราะบริษัทรับซื้อข้าวคืนในราคานำตลาด ตามข้อตกลงการรับซื้อผลผลิตคืน ในรูปแบบ “พะเยาโมเดล” ตามนโยบายของภาครัฐ

ข้าวตราฉัตร ได้ใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต ชวนพันธมิตรคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ C.P.INTERTRADE (SHANGHAI) CO.,LTD SHANGHAI RONGYOU INTER-TRADE CO.,LTD 7-Eleven Makro และ Shopee ร่วมลงนาม MOU ทางการค้า เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าข้าวหอมมะลิคุณภาพ ในแบรนด์ ข้าว “ฮักพะเยา” ไปสู่ผู้บริโภคในตลาดโลกอีกด้วย

เอกลักษณ์ความอร่อยของ ข้าว “ฮักพะเยา” (Hug-Phayao) ข้าวนาน้ำฝน ของดีเมืองดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา จึงอยู่ที่เรื่องราวที่มาของข้าว เพราะเป็นข้าวหอมมะลิจากแหล่งปลูกเดียวบนผืนนาจังหวัดพะเยา (Sungle Origin) ผืนนาที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างลงตัว จากผืนนาดินเหนียวใกล้เชิงภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว โอบล้อมด้วยภูเขาสูง ผสมผสานกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุที่เหมาะสม และสภาพอากาศที่พอดี ปราศจากมลพิษ จนเป็นข้าวหอมมะลิ คุณภาพดี เมล็ดเรียวยาว ขาว ใส และมีกลิ่นหอมจากธรรมชาติ คงความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิจังหวัดพะเยาได้อย่างลงตัว

สื่อออนไลน์ เชื่อมโยงความรู้สู่ เกษตรกร-ผู้บริโภค

ข้าวตราฉัตร ได้ใช้สื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก :  ฉัตร Smart Farmer To Sustainability และไอดีไลน์ :  ฉัตร Smart Farmer เป็นช่องทางการในการติดต่อสื่อสารความรู้สู่เกษตรกรและผู้บริโภค เช่น การปลูกดูแลข้าว การทำเกษตรอินทรีย์ คุณค่าของข้าวและสาระข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น

–  ข้อดีของการเป็นชาวนา แบบ 4.0 คือ ช่วยลดต้นทุนการผลิต  ไม่เปลืองแรง  มีแบบแผนในการทำไร่ ทำนา  สามารถขายผลผลิตได้ในราคาตลาด ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง รู้ทันสภาพอากาศ และวัชพืชกวนนา และสามารถวางแผนแก้ไขให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตได้น้อยที่สุด

– 4 วิธี ปลูกข้าวลดโลกร้อน  ในฐานะเกษตรกร สามารถมีส่วนร่วมช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย 4 วิธีการปลูกข้าวแบบวางแผนจัดการเริ่มด้วย

1. ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบแสงเลเซอร์ ซึ่งจะทำให้การใช้ทรัพยากรน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุนการใช้สารปราบวัชพืช ต้นข้าวมีความสม่ำเสมอ

2. เทคโนโลยีการปลูกข้าวด้วยการควบคุมระดับน้ำ โดยให้น้ำเป็นรอบเวรในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ลดปริมาณน้ำที่ใช้กับการปลูกข้าว ละสามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้กว่า 3%

3. การจัดการธาตุอาหารพืชและการใช้ปุ๋ย ให้ข้าวได้รับทุกธาตุอย่างเพียงพอและสมดุล ได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น โดยมีหลักการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง 4 ประการ ได้แก่

1) ชนิดปุ๋ยที่ถูกต้อง (Right Kind)

2) อัตราปุ๋ยที่ถูกต้อง (Right Rate)

3) ใช้ปุ๋ยให้ถูกจังหวะเวลา (Right Time)

4) ใส่ปุ๋ยในบริเวณที่ถูกต้อง (Right Place)

การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องทั้ง 4 แบบ จะส่งผลดีด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระยะยาว ขณะเดียวกันการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่เหมาะสม จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้อีกด้วย

ปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบแสงเลเซอร์

4. การจัดการฟางและตอซัง ไม่ควรจัดการโดยการเผาตอข้าว หรือซังข้าว เพราะควันที่ออกมาจะไปทำลายชั้นโอโซนแล้วจะยิ่งทำให้โลกร้อนกว่าเดิม เราควรจะเอาฟางและตอข้าวมาแปรรูปเป็นของใช้อย่างอื่น เช่น หลอด หรือสารเป็นเฟอร์นิเจอร์ก็ได้

3 วิธีเด็ด ต้องลอง กำจัดหอยเชอรี่ในนาข้าว 

วิธีแรก เป็นภูมิปัญญาของ คุณวุฒิชัย เมฆตรง เกษตรกรทำนาบ้านหัวไทร ต.หัวไทร ใช้ขี้เหล็ก นำใบหรือดอกขี้เหล็ก จำนวน 3 กก. ไปต้มในน้ำ 5 ลิตร ให้เดือด แล้วเอาแต่น้ำต้มที่ได้ไปผสมกับน้ำปูนใส 10 ลิตร + กากน้ำตาล 0.5 ลิตร ทิ้งไว้ 24 ชม. แล้วนำไปเทราดตามข้างคันนา ในอัตราน้ำ ตามสูตร 1 ลิตร ต่อพื้นที่ 1 ไร่ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ทำติดต่อกัน 3 ครั้ง  จะช่วยกำจัดปูและหอยเชอรี่ได้ ควรใช้ในขณะที่ไม่มีฝนตกจะได้ผลดีมาก สามารถใช้ในอัตราที่มากกว่าสูตรกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของศัตรูพืช

วิธีที่ 2 จาก คุณเพทาย ทองคำ ชาวนาในพื้นที่ ต.สนามไชย อ.นายายอาม จ.จันทบุรี นำขวดน้ำพลาสติกหลือใช้มาตัดส่วนปลายออก ทำเป็นภาชนะ (ไม่ต้องตัดลึกมาก เพราะดูว่าหอยเชอรี่สามารถคลานลงไปกินเบียร์ในภาชนะได้) จากนั้น นำไปใส่เบียร์ (ยี่ห้อใดก็ได้) วางไว้ในนาตามจุดต่างๆ หรือบริเวณที่พบว่ามีไข่หรือตัวหอยเชอรี่อยู่มาก เมื่อหอยเชอรี่ได้กลิ่นเบียร์จะลงมากิน และจะตายหลังจากได้กินแอลกอฮอล์เข้าไป วิธีนี้ไม่เหมาะจะใช้ในช่วงที่มีฝนตกฉุก เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองงบประมาณมาก การนำไปใช้ควรใช้วิจารณญาณ

วิธีที่ 3 จาก คุณอธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านมูลนิธิชัยพัฒนา อ.ท่าลี่ จ.เลย ใช้ฝักคูนแก่ทุบพอแตก 5 กก. + ปูนขาวโรยสนาม 1 กก. + น้ำ 5 ลิตร + จุลินทรีย์หน่อกล้วย สูตรหัวเชื้อ 1 ลิตร ผสมกันแล้วสาดลงในนาข้าว 1 ไร่ จะทำให้หอยเชอรี่ตาย และปูนาหนีไปไม่สามารถขยายพันธุ์ได้อีก

โรคกล้าเน่า  คือ โรคข้าวที่อาจเจอตั้งแต่ยังไม่ลงนา ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ไปเพาะ ควรเช็กเมล็ดพันธุ์และกระบะเพาะให้ดีๆ ก่อน ไม่อย่างนั้น อาจจะเสี่ยงต่อการเจอโรคกล้าเน่าได้ในระยะหลังจากการตกกล้าข้าวในกระบะเพาะ โดยเริ่มพบเมล็ดข้าวบางส่วนที่เพาะไม่งอกและมีเส้นใยของเชื้อราปกคลุม ส่วนเมล็ดที่งอกต้นกล้าจะมีการเติบโตช้ากว่าปกติ วิธีการป้องกัน กำจัดทำได้ง่ายๆ คือ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่มีการระบาดของโรคเมล็ดด่างมาก่อน คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม + แมนโคเซบ ในอัตรา 3 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ล้างทำความสะอาดกระบะเพาะกล้าหลังใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น สารคลอรีน เผาทำลายต้นกล้าข้าวที่เป็นโรคเน่าตายในกระบะเพาะ-

– สมุนไพรไล่แมลงในนาข้าว การปลูกพืชหรือข้าวอินทรีย์  มักเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอแมลงเข้ามากวนพืชที่ปลูกไว้ จึงขอแนะนำสูตรหมักพืชสมุนไพรสำหรับไล่แมลงในนาข้าว ขั้นตอนและวิธีการหมักพืชสมุนไพรมีดังนี้

1. นำเอาพริกขี้หนูสด ตะไคร้หอมสด กระเทียมไทย (แกะกลีบ) มาทุบให้พอแตกแล้วใส่เตรียมลงไว้ในถังหมัก

2. ใส่ใบสะเดาสดลงในถังหมักเป็นส่วนสุดท้าย

3. ละลายกากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดงกับน้ำส้มควันไม้ ตามอัตราส่วนที่กำหนด แล้วเทลงไปในถังหมัก

4. เติมน้ำสะอาดให้พอท่วมวัตถุดิบสมุนไพร

5. ใช้ไม้คนส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันเป็นขั้นตอนสุดท้าย แล้วปิดฝาถังหมักให้สนิท ตั้งเก็บไว้ในที่ร่ม ใช้ระยะเวลาในการหมักอย่างน้อย 7 วันขึ้นไป จึงจะสามารถนำไปใช้งานได้

– “โรคใบจุดสีน้ำตาล”  เป็นหนึ่งโรคพืชสำคัญในนาข้าว เกิดจาก เชื้อรา Bipolaris oryzae แผลที่ใบข้าว พบมากในระยะแตกกอมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล รูปกลมหรือรูปไข่ ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลือง แผลยังสามารถเกิดบนเมล็ดข้าวเปลือก (โรคเมล็ดด่าง) บางแผลมีขนาดเล็ก บางแผลอาจใหญ่คลุมเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกสกปรก เสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปสีข้าวสารจะหักง่าย การแพร่ระบาด เกิดจากสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลม และติดไปกับเมล็ด “การปลูกข้าวแบบต่อเนื่อง ไม่พักดินและขาดการปรับปรุงบำรุงดิน เพิ่มการระบาดของโรคอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบ

วิธีป้องกันกำจัดใบจุดสีน้ำตาล

1. ใช้พันธุ์ต้านทานที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ และโดยเฉพาะพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานโรคใบสีส้ม เช่น ภาคกลาง ใช้พันธุ์ปทุมธานี 1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์เหนียวสันป่าตอง และหางยี 71

2.ปรับปรุงดินโดยการไถกลบฟาง หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดินโดยการปลูกพืชปุ๋ยสด หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค

3. คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซ็บ หรือคาร์เบนดาซิม+แมนโคเซ็บ อัตรา 3 กรัม/เมล็ด 1 กิโลกรัม ใส่ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ ช่วยลดความรุนแรงของโรค

4. กำจัดวัชพืชในนา ดูแลแปลงให้สะอาด และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม

5. ถ้าพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ใบในระยะข้าวแตกกอ หรือในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง

6. เมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธงในสภาพฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม แมนโคเซ็บ โพรพิโคนาโซล ทีบูโคโนโซล ครีโซซิม-เมทิล หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุ

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากเฟซบุ๊กและไลน์ข้าวตราฉัตร