ด็อกเตอร์ปลูกมะพร้าวน้ำหอม งานรอเกษียณ สร้างรายได้งาม

อย่างที่ทราบกันอยู่ว่า ในอนาคตสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีการคำนวณจากสำนักงานสถิติแห่งชาติว่าจำนวนผู้สูงอายุของไทยจะมีมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด ซึ่งผู้สูงอายุไม่น้อยกลัวว่าเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ จะส่งผลให้เป็นภาระของลูกหลาน จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่น้อยได้หากิจกรรมยามว่างทำ

ดร. ชวัลวิทย์ แจ่มขำ

ซึ่งงานทางการเกษตรถ้าหากทำในช่วงที่เกษียณแล้ว พืชบางชนิดอาจจะเจริญเติบโตให้ผลผลิตได้ไม่ทัน อาจต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อเป็นอาชีพรองรับเมื่อต้องเกษียณจากงานอย่างเต็มตัว เมื่อออกจากงาน พืชที่ปลูกสามารถให้ผลผลิตได้ทันที จึงเป็นเสมือนกิจกรรมยามว่างที่สร้างเงินและความสุขไปพร้อมกัน

ดร. ชวัลวิทย์ แจ่มขำ อยู่บ้าน เลขที่ 289 หมู่ที่ 10 ตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นผู้ที่ได้เริ่มทำการเกษตร คือ สวนมะพร้าวน้ำหอม โดยเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเกษียณอายุราชการจะมาถึง ได้ปลูกและหาแหล่งพันธุ์เรื่อยๆ จนเมื่อเกษียณเต็มตัว ทำให้ ดร. ชวัลวิทย์ มีผลผลิตอย่างมะพร้าวน้ำหอมพร้อมจำหน่าย เกิดรายได้แม้ไม่ได้ทำงานประจำ

ทำสวนมะพร้าวรอไว้
ก่อนเกษียณอายุงาน

มะพร้าวน้ำหอมพร้อมให้ผลผลิต

ดร. ชวัลวิทย์ เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนจบการศึกษาทางด้านการเกษตร หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงที่บ้านกร่าง (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตพิษณุโลก) และศึกษาต่อไปถึงจบปริญญาเอก ในช่วงแรกทำงานรับราชการเป็นเกษตรตำบล ต่อมาจึงได้ย้ายมาทำงานเป็นรองปลัดอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งด้วยจบการศึกษาทางด้านการเกษตร และมีประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับทางด้านนี้ จึงมีแนวคิดมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วว่า อยากจะมีสวนเป็นของตนเอง เพื่อเป็นอาชีพยามว่างหลังวัยเกษียณ

“เราจะรู้เลยว่า คนที่จบเกษตร ก็จะมีความตั้งใจอยู่แล้วว่า เมื่อเกษียณจากงานแล้ว จะทำอาชีพอะไรรองรับเมื่อวัยเกษียณ ซึ่งผมก็ได้มาเลือกสร้างสวนมะพร้าวอยู่ที่อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เหตุที่เลือกที่นี่เพราะภรรยาผมเป็นคนพื้นที่นี้ โดยได้ซื้อที่ดินบางส่วนเอาไว้ด้วย ก็เลยคิดที่จะสร้างสวนมะพร้าวให้เติบโตก่อนที่เราจะเกษียณออกมา ก็เลยได้ที่นี่ทำสวนเก็บเกี่ยวผลผลิต” ดร. ชวัลวิทย์ เล่าถึงที่มา

พื้นที่ภายในสวน

เลือกสายพันธุ์มะพร้าว
ที่เป็นแหล่งเชื่อถือได้

ก่อนที่จะลงมือปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ที่เตรียมไว้ ดร. ชวัลวิทย์ เล่าว่า จะต้องไปหาซื้อสายพันธุ์จากแหล่งที่ต้องการเสียก่อน ซึ่งต้นกล้ามะพร้าวที่ดีต้องได้จากต้นแม่พันธุ์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จึงจะทำให้มีความสมบูรณ์ของพันธุ์ค่อนข้างดี โดยในพื้นที่ที่ปลูกจะเน้นในเขตน้ำชลประทาน จึงทำให้มีน้ำดูแลต้นมะพร้าวตลอดทั้งปี

“วิธีการปลูก ในขั้นตอนแรกก็จะทำพื้นที่แปลงให้มีถนนเป็น 4 แปลง โดยปลูกมะพร้าวอยู่บริเวณริมถนนก่อน จากนั้นจึงนำไปปลูกลงในพื้นที่แปลง โดยให้มีระยะห่าง ประมาณ 6×7 เมตร จะได้ประมาณ 40 ต้น ต่อไร่ รองก้นหลุมปลูกด้วยขี้ไก่ จากนั้นก็รดน้ำดูแลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้อายุให้ผลผลิตได้” ดร. ชวัลวิทย์ บอกถึงวิธีการปลูก

ซึ่งระยะเวลาการเจริญเติบโตของมะพร้าวน้ำหอมภายในสวน ดร. ชวัลวิทย์ บอกว่า ใช้เวลาประมาณ 3 ปีครึ่ง ต้นจะเริ่มเติบโตเต็มที่พร้อมให้ผลผลิตได้ โดยการติดผลผลิตภายในสวนใหญ่จะมีผึ้งและแมลงเป็นตัวช่วยในเรื่องการผสมเกสร จึงทำให้ต้นมะพร้าวแต่ละต้นค่อนข้างติดผลผลิตดี

การใส่ปุ๋ยบำรุงต้นในช่วงต้นฝนและปลายฤดูฝนเป็นปุ๋ยขี้ไก่และปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ผสมกับ สูตร 21-0-0 ส่วนการป้องกันโรคและแมลง ต้นมะพร้าวน้ำหอมที่ยังไม่ออกผลผลิต มีการใช้ยากำจัดเพื่อช่วยให้ต้นมีความสมบูรณ์ กันจากศัตรูจำพวกหนอนหัวดำและด้วง เมื่อมะพร้าวเริ่มออกจั่นเพื่อติดผลก็จะหยุดใช้สารเคมีทันที

“มะพร้าวต่อต้นจะให้จั่นอยู่ที่ 15-18 จั่น ต่อปี ซึ่งใน 1 ปี สำหรับที่สวนออกประมาณ 12 ทะลาย ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งที่สวน 1 ทะลาย จะมีประมาณ 10 ผล ที่สวนก็มีผลผลิตออกขายต่อเดือนก็ประมาณ 2,000 ผล โดยนำเงินที่ขายได้มาเลี้ยงภายในสวนก่อน พอเริ่มมีผลผลิตมากขึ้น คราวนี้ก็จะเป็นผลผลิตที่เลี้ยงดูเราในอนาคต” ดร. ชวัลวิทย์ อธิบาย

 

เน้นขายผลผลิตในพื้นที่
และส่งขายตลาด

ต้นเล็ก แต่ผลผลิตดก

ในเรื่องหลักการทำตลาดมะพร้าวน้ำหอม ดร. ชวัลวิทย์ บอกว่า จะเน้นทำการตลาดหลากหลายแบบ เช่น ให้พ่อค้ามาติดต่อซื้อผลผลิตที่สวน และบางส่วนจะส่งให้พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่แถวตลาดลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เก็บอาทิตย์ละ 400-500 ผล มีพ่อค้าเข้ามาตัดถึงสวน ให้ผลละ 8 บาท

“ที่สวนตอนนี้ราคามะพร้าวขายอยู่ในราคาที่หลากหลาย ตั้งแต่ 8-20 บาท ทำตลาดแบบทั้งขายส่งและขายปลีก เพื่อที่ให้พ่อค้าแม่ค้าเขาไปทำการตลาดได้ ซึ่งตอนนี้ในอำเภออรัญประเทศเองก็สามารถขายได้เรื่อยๆ ซึ่งผลตอบรับก็ถือว่าดีมาก เพราะภายในตลาดโรงเกลือมีร้านค้าค่อนข้างมาก ดังนั้น แม่ค้าที่ขายของในตลาดเขาก็ต้องใช้มะพร้าวอย่างน้อย ร้านละ 1 ผล เพราะเซ่นไหว้เจ้าที่ก่อนเปิดร้าน จึงทำให้มะพร้าวสามารถขายได้ตลอดที่อรัญประเทศ” ดร. ชวัลวิทย์ บอก

แม่ค้ามารับซื้อ