เมื่อลมหนาวมาเยือน “กล้วยไม้สกุลช้าง” เตรียมตัวออกดอกให้ชื่นชม

“กล้วยไม้สกุลช้าง” มีหลายชนิดมากในบ้านเรา เช่น ช้างแดง, ช้างเผือก, ช้างกระ, ช้างพลาย, ช้างค่อม, ช้างส้ม, ช้างการ์ตูน ฯลฯ และมีการพัฒนาลูกไม้ใหม่ๆ ลูกผสมขึ้นอยู่เสมอ พอเข้าสู่ฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน ช้างก็จะเริ่มแทงช่อดอกออกมาแล้ว ดอกจะเริ่มบานได้เดือนธันวาคม – เดือนมกราคม ของทุกปี ส่วนการออกดอกจะมากหรือน้อยนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าถ้าอากาศเย็นมากช้างก็จะออกดอกแทงช่อดี

ความสวยงามของกล้วยไม้สกุลช้างที่ออกดอกเบ่งบานในหน้าหนาว

กล้วยไม้สกุลช้าง มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว มีลักษณะแตกต่างไปจากกล้วยไม้สกุลอื่นๆ คือ มีลำต้นสั้น แข็งแรง ใบแข็ง หนาค่อนข้างยาว อวบน้ำ เรียงชิดกันอยู่บนลำต้น ใบเป็นร่อง หน้าตัดของใบรูปตัววี สันล่างของใบเห็นได้ชัด ใบอาจมีเส้นใบเป็นเส้นขนานสีจางๆ หลายๆ เส้นตามความยาวของใบ ปลายใบหยักมน หรือเป็นฟันแหลมไม่เท่ากัน รากเป็นระบบรากอากาศ มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ ปลายรากมีสีเขียวซึ่งสามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้

กล้วยไม้ช้างแดง

ช่อดอกอาจห้อยลงหรือตั้งขึ้น ความยาวของช่อดอกเกือบเท่าๆ กับความยาวของใบ ดอกมีเป็นจำนวนมาก แน่นช่อดอก กลีบนอกและกลีบในของดอกแผ่ออก อาจมีจุดหรือไม่มีจุด สีม่วงหรือสีน้ำเงินก็ได้ ขนาดของกลีบนอกโตกว่ากลีบใน เส้าเกสรสั้น ปากไม่มีข้อพับ ปลายปากไม่หยัก หรือหยักเป็นลอนเล็กๆ 3 ลอน ปลายปากชี้ตรงไปข้างหน้า ปากเชื่อมต่อกับฐานสั้นๆ ของเส้าเกสร จึงดูเหมือนว่าไม่มีฐานของเส้าเกสร เดือยของดอกแบน ชี้ตรงไปข้างหลัง มีอับเรณู 2 ก้อน แยกออกจากกัน ออกดอกปีละครั้ง บางต้นอาจมีดอกครั้งละหลายๆ ช่อ

กล้วยไม้ช้างเผือก

การขยายพันธุ์ กล้วยไม้สกุลช้าง

ส่วนมากแต่ละสวนจะเน้นไปที่การเพาะเมล็ดทั้งหมด ซึ่งหลังจากผสมดอกจนติดฝัก ประมาณ 10-11 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น ในช่วงอากาศร้อนมาก ฝักกล้วยไม้มักจะแก่เร็วขึ้นและฝักร่วงง่าย แต่ถ้าอากาศทางภาคเหนือซึ่งอากาศเย็น ฝักกล้วยไม้ที่ผสมจะแก่ช้ากว่าเล็กน้อย เมล็ดกล้วยไม้ที่ดี ไม่ควรปล่อยให้เมล็ดแก่จนเป็นสีน้ำตาลเข้มจัดเพาะ เมื่อส่งเพาะแล็บเนื้อเยื่อ เมล็ดแก่จะเพาะไม่ค่อยขึ้น กล้วยไม้เพียง 1 ฝัก แล็บฯ ก็จะสามารถเพาะได้ถึง 100-300 ขวด (เหล้า) เลยทีเดียว

กล้วยไม้ช้างกระ

การพัฒนาสายพันธุ์ช้าง เริ่มจากการผสมดอก

การผสมพันธุ์ดอกกล้วยไม้สกุลช้างว่าช้างสามารถเข้าคู่กันได้ทุกสีขึ้นอยู่กับเรามองถึงความน่าจะเป็น เลือกดูพ่อแม่พันธุ์ที่ดี เช่น เป็นช้างที่ให้ช่อดอกแน่น ออกดอกหลายช่อ ช่อดอกยาว ใบเรียงกันสวย ใบถี่ ดอกใหญ่ สีดอกสวย ถูกใจ สีดอกช้างจะมีอยู่หลักๆ 3 สี คือ สีกระ สีแดง สีเผือก (ขาว) โดยช้างเข้ากับช้างจะออกอย่างไรก็ได้ เมื่อช่วงที่ช้างเริ่มออกดอกในช่วงหน้าหนาว เป็นช่วงที่ช้างจะบานพร้อมๆ กัน จะเริ่มผสมดอกให้ดีนั้นจะต้องให้ช่อดอกบานไม่เกิน 3 วัน ต้องผสมเลย ถ้าปล่อยให้นานไปน้ำในเส้าเกสรตัวเมียจะแห้งหรือมีเศษผงฝุ่นเข้าไป ส่วนเกสรตัวผู้ก็เช่นกัน ไม่ควรเกิน 3 วัน เกสรตัวผู้ยังมีความสดอยู่ ใน 1 ช่อ ดอกสามารถเลือกผสมได้ทุกดอก แต่ไม่ควรให้ติดฝักเกิน 5 ฝัก หลังผสมเกสรแล้ว 1 เดือน ก้านเกสรจะยืดฝัก ยาว 2-3 นิ้ว แล้วจะค่อยๆ ขยายโตเป็นฝักสามเหลี่ยมราวเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน หากฝนตกมากฝักกล้วยไม้ที่ผสมไว้หากไม่สมบูรณ์มันจะทิ้งฝักไปเอง แต่ฝักที่สมบูรณ์ก็จะยังคงเขียวอยู่ ราวเดือนตุลาคม ฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เดือนพฤศจิกายน จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จากประสบการณ์ถ้านำฝักไปเพาะเมล็ดในช่วงนี้จะเพาะได้ต้นจำนวนมากที่สุดดีกว่าฝักที่แก่จัด ในการผสมเกสรเพื่อเอาฝักช้างควรจะผสมให้ติดฝัก 1 ปี เว้น 1 ปี หากผู้ผสมให้ช้างมีการติดฝัก 2 ปีซ้อน ต้นแม่พันธุ์มีโอกาสต้นโทรมตาย

กล้วยไม้ช้างพลาย

ธรรมชาติของช้างในช่วงที่กล้วยไม้ช้างให้ดอกหรือติดฝักอยู่นั้น ปลายรากของช้างจะชะงักการเจริญเติบโต เมื่อหมดดอกเมื่อไร ส่วนของรากจะกลับมาเจริญเติบโตต่อ แต่ถ้าให้มีการติดฝักทุกปี รากหยุดการเจริญเติบโตต่อเนื่องไม่ได้พักฟื้นสภาพ เมื่อต้นไม่มีความสมบูรณ์ ก็ส่งผลต่อการทิ้งฝักที่ไม่ดี ติดฝักแล้วร่วง หรือต้นช้างตายก็มี และอีกเรื่องหนึ่งคือติดฝักผ่านหน้าฝนก็อันตรายเสี่ยงต่อการทิ้งฝักเช่นกัน การช่วยเหลือคือ การนำช้างที่ติดฝักอยู่ย้ายข้าร่มก็พอช่วยได้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ส่งผลให้การเจริญเติบโตของกล้วยไม้น้อยลงเพราะไม่ค่อยได้รับแสงแดดเพียงพอ ทำให้เมล็ดในฝักลดปริมาณลง เช่น จากหลักหมื่นเมล็ดจะเหลือเพียงแค่หลักพันเมล็ดก็มี

กล้วยไม้ช้างการ์ตูน

การเก็บฝักส่งแล็บที่ผ่านมาพบว่า แล็บแต่ละที่มีความชำนาญหรือฝีมือต่างกัน ถนัดในการเพาะเมล็ดไม้สกุลต่างๆ กันไป หรือกรณีผสมได้ได้ฝักช้างมา 4 ฝัก จะส่งฝักละ 1 แล็บ เพื่อการกระจายความเสี่ยง บางแล็บเพาะไม่สำเร็จก็ยังได้ลุ้นกับแล็บอื่นอีก หลังจากส่งแล็บแล้วอีกราว 10-18 เดือน ก็จะได้ไม้ขวดกลับมา แล็บแต่ละที่ ช้า-เร็วต่างกันไป บางแล็บเราจะได้ไม้ขวดขนาด เล็ก ใหญ่ ภายในขวดเดียวกัน บางแล็บแยกขนาดกล้วยไม้ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ให้เราเลยก็มี ยกตัวอย่างไม้ขวดที่คัดแยกแบ่งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ มาจากการสังเกต เมื่อออกขวดแล้ว ถ้าต้นขนาดใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี ออกดอก ต้นขนาดกลาง ประมาณ 4 ปี ออกดอก ถ้าเป็นต้นขนาดเล็กก็อีกราว 5-6  ปี ออกดอก แต่จากประสบการณ์ที่ผสมพันธุ์ช้างมานานพบว่า ช้างต้นขนาดเล็กคือของดีที่เราต้องการมีโอกาสได้ไม้ใหม่ ไม้สวย ไม้แปลก จากไม้ขนาดเล็กเกือบทั้งหมด

ต้นกล้วยไม้ที่เตรียมเอาออกจากขวด

แนะนำ การออกขวดกล้วยไม้

การออกขวด ยกตัวอย่างช้างเมื่อกล้วยไม้ใบเริ่มชนขวดแล้วก็จะมีอยู่ 2 วิธี คือ ทุบขวดให้แตกแล้วเอากล้วยไม้ออก หรือใช้ลวดเขี่ยลูกกล้วยไม้ออกทีละต้นออกทางปากขวดโดยไม่ต้องทุบขวด ซึ่งหากไม่ทุบขวดทิ้งก็สามารถนำขวดกลับไปใช้ใหม่ได้ ยกตัวอย่างการออกขวดกล้วยไม้สกุลช้างกรณีทุบขวด ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มขวดไว้ป้องกันเศษแก้ว ล้างวุ้นออกให้สะอาดในกะละมังที่มีน้ำสะอาด ตอนล้างไม่ควรแช่น้ำนานจนเกินไป รีบล้างแล้วรีบขึ้น ตอนนี้จะสำคัญที่สุด เนื่องจากต้นมันยังเล็ก แต่มีรากขนาดใหญ่ เมื่อแช่น้ำนาน รากมันจะดูดน้ำมาก ดูดน้ำได้ไว ดูดน้ำไปให้ใบมากเกินไป จะส่งผลให้กล้วยไม้เน่าง่าย

อาออกจากขวดแล้วนำมาเลี้ยงอนุบาลบนตะแกรง

อีกขั้นตอนที่สำคัญในการออกขวด เมื่อล้างวุ้นสะอาดแล้วนำต้นกล้วยไม้ผึ่งลมในตะแกรง หรือตะกร้าให้แห้งไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนน้ำหรือฝนเลย แม้กระทั่งการฉีดพ่นปุ๋ย เพราะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ลูกกล้วยไม้ที่เพิ่งออกจากขวดจะอ่อนแอที่สุด หากโดนน้ำจะทำให้เน่าได้ง่ายมาก ทิ้งให้ต้นแห้งอย่างน้อย 15 วัน หลังจากนั้นจึงค่อยให้น้ำแต่ไม่ต้องให้มาก ฉีดร่วมกับยาป้องกันกำจัดเชื้อราพวกแคปแทน เลี้ยงอีกราว 1 เดือน เอาออกแดดบ้างให้ใบกล้วยไม้แข็ง เมื่อสังเกตเห็นว่ารากกล้วยไม้แตกออกมาใหม่ จึงย้ายไปปลูกในกระถางนิ้ว หนีบด้วยวัสดุปลูก เช่น กาบมะพร้าว หรือจะใช้ก้อนโฟมนำมาหนีบลูกกล้วยไม้ก็ได้ เนื่องจากโฟมมีคุณสมบัติไม่ดูดน้ำ ช่วยลดปัญหาในเรื่องโรคเชื้อรา และสามารถหนีบลูกกล้วยไม้ได้แน่นไม่ให้ขยับได้ดี รากกล้วยไม้จะเดินดี

อนุบาลในกระถางนิ้วโดยใช้ก้อนโฟมหนีบต้นไว้

เลี้ยงดูจนลุ้นดอกแรกของช้าง ก็ต้องรอเวลาถึง 3 ปีครึ่ง

เมื่อนำลูกกล้วยไม้ออกจากขวดอนุบาล ราว 1 ปี บนโต๊ะที่วางไว้บนซาแรนดำ เลือกซาแรนดำที่ลักษณะหยาบๆ เพื่อให้รากกล้วยไม้สามารถแทงทะลุลงข้างล่างได้ แนะว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดี รากกล้วยไม้จะเจริญได้ดีมาก รากยาว เมื่อเราดึงกล้วยไม้ขึ้นกระเช้า รากกล้วยไม้จะไม่ขาดหรือหักเสียหายเลย ซึ่งส่งผลไม่ให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตหรือลดเปอร์เซ็นต์การตายในระหว่างย้ายขึ้นกระเช้าแขวน โดยหากเป็นเมื่อก่อนนั้นเราจะอนุบาลเลี้ยงลูกกล้วยไม้ในกระถางเล็กๆ หรือกระถางเจี๊ยบ เมื่อเลี้ยงได้ 1 ปี พอจะถอนต้นย้ายขึ้นบนโต๊ะกระเช้าแขวนรากกล้วยไม้ทั้งหัก ทั้งขาด ทำให้ลูกกล้วยไม้ชะงักการเจริญเติบโตไป พอเลี้ยงอนุบาลได้ 1 ปี ก็จะนำขึ้นกระเช้าแขวน เลี้ยงบำรุงอย่างดีอีกราว 2 ปีครึ่ง ก็จะได้ลุ้นดอกแรกของช้าง

แขวนเลี้ยงรอการออกดอก

นิสัยของกล้วยไม้สกุลช้าง จะไม่ชอบอากาศร้อน

กล้วยไม้สกุลช้าง จะไม่ชอบอากาศร้อนและแสงแดดแรงจัดเลย ซึ่งในโรงเรือนปลูกเลี้ยงจะต้องมุงซาแรนให้พรางแสงได้ 70 เปอร์เซ็นต์ (คือแสงผ่านได้ 30 เปอร์เซ็นต์) แต่เมื่อเข้าสู่หน้าร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ของทุกปี แนะนำว่าควรจะต้องเพิ่มซาแรนให้อีกชั้นหนึ่ง เพราะอากาศในบ้านเราตอนนี้ร้อนมากกว่าเมื่อก่อน แดดจะแรงมาก จากนั้นก็ต้องควบคุมเรื่อง “น้ำ” ให้ดี ต้องสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้เย็น เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนลง ก็สามารถให้น้ำได้วันละ 1-2 ครั้ง ตามแต่สภาพอากาศร้อนมากเพียงใด

ในเรื่องของ “น้ำ”

หากแหล่งน้ำใสสะอาดก็สามรถนำมาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องพักน้ำ

แต่เมื่อฤดูฝนน้ำจากแม่น้ำจะขุ่นมาก ก็แนะนำว่าต้องนำน้ำมาพัก ใช้สารส้มหรือคลอรีนมาช่วยปรับให้คุณภาพน้ำดีขึ้นจึงนำมาใช้ได้ แต่มีหลายพื้นที่ที่ต้องเลิกการเลี้ยงกล้วยไม้เพราะเจอปัญหาโรงงานน้ำตาลทิ้งน้ำเสียลงแม่น้ำ ทำให้คุณภาพน้ำแย่มาก อย่างการรดน้ำกล้วยไม้ แนวทางที่ดีควรเริ่มให้น้ำช่วงเช้ามืด คือ สักตี 4 ของวัน การให้น้ำเช้าจะลดปัญหา “ตะไคร่” ที่เกาะต้น เกาะรากกล้วยไม้ได้ดีมาก หากเรารดน้ำสาย พอน้ำจากแหล่งน้ำที่ได้น้ำจากแม่น้ำ เมื่อดูดมาใช้เจอแสงแดดก็จะเจริญเกิดเป็นตะไคร่ที่เราก็ต้องมาตามล้างตะไคร่น้ำออกทีหลัง โดยใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันต่ำฉีดตะไคร่ที่เกาะตามต้น ตามรากของกล้วยไม้ให้หลุดร่อนออก ก็เป็นอีกวิธีที่ฝากแนะนำเอาไว้ ส่วนการนำสารเคมีที่กำจัดตะไคร่น้ำมาฉีดพบว่า ไม่ส่งผลดีต่อรากกล้วยไม้เท่าไหร่ ซึ่งกล้วยไม้ไทยจะเห็นได้ชัดว่าส่งผลไม่ดีต่อรากกล้วยไม้

การให้ปุ๋ย กล้วยไม้สกุลช้าง

แนะนำว่าสามารถให้ได้แต่อย่าให้มาก อย่าให้เขางามและใบอวบอ้วนจนเกินไป เพราะจะทำให้เขาอ่อนแอต่อโรค “ยอดเน่า” ซึ่งหากกล้วยไม้อย่างช้างเป็น มักจะแก้ไขยากมาก ไม่เหมือนกับกล้วยไม้กลุ่มแวนด้า ที่เป็นยอดเน่า ยังพอใช้ยาเชื้อราฉีดรักษาอาการตัดยอดเลี้ยงรักษาได้ แต่สำหรับกล้วยไม้สกุลช้างโอกาสตายสูง โดยเฉพาะช้างแดงที่อ่อนแอมาก การฉีดปุ๋ยทางใบโดยปกติก็จะฉีดให้ไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะฤดูฝนเป็นช่วงที่ช้างจะโตเร็วก็จะงดหรือเว้นระยะห่างในการใช้ปุ๋ย อย่าให้เขาอวบอ้วนจนเกินไป ช้างแดงเลี้ยงให้อวบอ้วนนั้นไม่ยาก แต่เลี้ยงให้เขารอดนั้นยากกว่า ควรจะให้ความสำคัญเรื่องการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอมากกว่า ช้างเป็นกล้วยไม้ที่บังคับให้ออกดอกนอกฤดูไม่ได้ ไม่เหมือนกับแวนด้า หรือเขาแกะที่ยังสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้

การดูแลกล้วยไม้พันธุ์แท้ ไม่ยากและไม่ง่าย

ความยากง่ายในการดูแลรักษากล้วยไม้พันธุ์แท้ได้ต้องวางให้ถูกที่ ที่ผู้เลี้ยงต้องสังเกตสภาพแวดล้อมเอาเอง เช่น ซื้อไปปลูกบริเวณบ้าน แขวนในที่หนึ่งไม่ดีต้นกล้วยไม้เหลืองและเหี่ยว พอย้ายไปมุมอื่นกลับโตและต้นงามดี บางต้นแขวนต่ำไม่งาม แต่พอแขวนให้สูงขึ้นกลับงามขึ้น เป็นต้น ส่วนปุ๋ยและฮอร์โมนเสริมสามารถให้ได้กับกล้วยไม้พันธุ์แท้ได้ ฉีดพ่นได้ทุกสัปดาห์

ยกตัวอย่าง ฝนตกมากๆ มีเชื้อราระบาดมากนอกจากใช้ยาเชื้อราพวกแคปเทน เช่น อโรไซด์ แล้วอาจจะมีการใช้น้ำปูนใสฉีดพ่นช่วย เหตุผลคือ น้ำปูนใส (นำปูนแดงละลายน้ำแช่น้ำทิ้งไว้ เมื่อเนื้อปูนแดงตกตะกอนลงก้นถังน้ำใสๆ ที่อยู่ด้านบนก็คือน้ำปูนใส) มีสภาพเป็นด่าง แต่เชื้อราจะสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพความเป็นกรดอ่อนๆ โดยใช้สลับไปกับยาเชื้อราพวกแคปเทน แล้วในช่วงฤดูฝน ปุ๋ยที่มีสูตรตัวหน้าสูงก็ควรงดเลย เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ หรือสูตรปุ๋ยตัวกลาง หรือตัวท้ายสูงก็ได้ ส่วนฮอร์โมนอาจจะฉีดกลุ่มสาหร่ายให้บ้างแต่นานๆ ครั้ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงช่วยให้ใบเขียว แต่อย่าฉีดบ่อยจนเกินไป เพราะจะทำให้ตะไคร่ขึ้นเยอะ ส่วนสวนกล้วยไม้จะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเลย ใช้แรงงานคนถอนเพียงอย่างเดียว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 5 ธ.ค. 2019