กล้าไม้ สร้างชีวิต

ช่วงก่อนเข้าฤดูฝนเล็กน้อย ยาวนานต่อเนื่องไปตลอดฤดูฝน จนปิดท้ายฤดูฝนที่ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม เป็นช่วงที่เม็ดเงินแพร่สะพัด กระจายรายได้เข้าสู่แหล่งผลิตกล้าไม้ทั่วประเทศ ทั้งแหล่งเล็กแหล่งใหญ่ แจกฟรี หรือ ซื้อขาย ก็นับเป็นวงจรการผลิตกล้าไม้ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง

ที่กล่าวรวมถึงแหล่งแจกกล้าไม้ฟรี และอยู่ในวงจรการผลิตกล้าไม้ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการแจกกล้าไม้ฟรี มีบุคลากรสำหรับเพาะพันธุ์กล้าไม้ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องซื้อหรือสั่งทำจากเกษตรกรภายนอกหน่วยงาน เพื่อให้มีจำนวนกล้าไม้ตามงบประมาณที่รัฐสนับสนุนสำหรับแจกจ่ายให้กับผู้สนใจหรือเกษตรกรตามปีงบประมาณนั้นๆ

คุณสุเทพ แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลดินทอง คุณมาลัย สิงห์อุดร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลดินทอง คุณสุรีย์ กวาวตาง เลขานุการกลุ่มวิสาหกิจเพาะชำกล้าไม้ตำบลดินทอง (จากขวาไปซ้าย)

กล้าไม้เศรษฐกิจทั่วไป อาจจะหาได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับกล้าไม้ป่า แม้จะมีแหล่งแจกกล้าไม้ฟรีของหน่วยงานภาครัฐก็ตาม แต่ความต้องการในเนื้อไม้ไม่เคยลดลง ทำให้กล้าไม้ป่าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง เพราะแหล่งแจกกล้าไม้ฟรีมีจำนวนกล้าไม้ที่จำกัด และมีจำนวนชนิดไม่มากพอ หากผู้สนใจต้องการกล้าไม้ในชนิดที่มากกว่านั้น แหล่งเพาะกล้าไม้จะรองรับได้ดีกว่า

คุณสมคิด วรรณทวี เจ้าของร้านขายกล้าไม้รายแรกของตำบลดินทอง

ดินทอง วังทอง ทองสมชื่อ

กล้าไม้หลาก สมคำร่ำลือ

แหล่งไม้ป่าใหญ่สุดในประเทศ

กองแกลบดำ ขนาด 1 รถสิบล้อ

หากจะเอ่ยถึงแหล่งเพาะกล้าไม้ที่มีกล้าไม้หลากหลายในอันดับต้นๆ ของประเทศ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ก็น่าจะติดอันดับ เพราะเป็นแหล่งเพาะกล้าที่มีเกษตรกรผู้เพาะกล้าและมีจำนวนซื้อขายกล้าไม้ต่อปีหลายสิบล้านต้น ในที่นี่คงต้องพาเข้าไปถึงยังแหล่ง ซึ่งสำรวจแล้วพบว่ากล้าไม้วังทองที่ขึ้นชื่อ ไม่ได้ตั้งวางไปทั่วอำเภอวังทอง แต่มีเฉพาะตำบลดินทอง เขตอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เท่านั้น

คนงานรับจ้างกรอกถุงชำ

พื้นที่ตำบลดินทอง เดิมเป็นหมู่บ้านในตำบลวังทอง มีแม่น้ำวังทองเป็นแนวเขต ต่อมาปี 2523 กระทรวงมหาดไทย ประกาศแยกหมู่บ้านดินทองออกจากตำบลวังทอง และให้ใช้ชื่อว่า ตำบลดินทอง ซึ่งเหตุที่ชื่อว่าตำบลดินทอง เนื่องจากผืนดินบริเวณนี้เป็นดินสีแดงและเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกไม้ทุกชนิด นอกจากนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลดินทองยังเป็นที่ราบ เหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชไร่และพืชสวน เกษตรกรในพื้นที่มีอาชีพหลัก คือ ทำนา และมีอาชีพเสริม คือ เพาะพันธุ์กล้าไม้ ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกครัวเรือนยกระดับอาชีพเสริมขึ้นมาเป็นอาชีพหลักไปแล้ว เพราะแม้กระทั่งสินค้าที่เป็นหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ยังเป็นผลิตภัณฑ์จากการเพาะชำกล้าไม้

หลังเสียบกล้าในถุงชำแล้วเสร็จ

จากการพูดคุยกับ คุณสุเทพ แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลดินทอง ที่เอ่ยปากบอกกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ว่า เป็นคนหนุ่มที่เพิ่งมาทำงานในหน้าที่กำนันได้ไม่ถึงปี แต่ก็มีแนวคิดรวบรวมเกษตรกรผู้เพาะกล้าไม้ในตำบลดินทองทั้งหมด ตั้งเป็นกลุ่มเพาะชำกล้าไม้ตำบลดินทอง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า และเพื่อต่อรองราคาวัตถุดิบจำเป็นที่นำมาใช้ในงานเพาะกล้าไม้ อันเป็นช่องทางหนึ่งในการลดต้นทุนการเพาะกล้าไม้ของเกษตรกร

แปลงเพาะกล้า

“ผมเกิดและโตที่นี่ ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นชาวบ้านเขาทำอาชีพเพาะกล้าไม้ขายกันมาก่อนแล้ว ก็น่าจะทำกันเป็นอาชีพไม่ต่ำกว่า 50 ปี เริ่มจากสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ส่งเสริมให้คนปลูกต้นไม้ด้วยการแจกกล้าไม้ แต่คนของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เพาะกล้าไม้ไม่มี จึงขอให้ชาวบ้านเพาะกล้าไม้แล้วรับซื้อไปด้วยงบประมาณของหน่วยงาน แล้วจึงนำมาแจกตามจำนวนงบประมาณที่ได้ในแต่ละปี หลังสถานีรับซื้อไปแล้ว ก็ยังพอเหลือกล้าไม้อยู่ พอวางขาย ก็มีคนมาขอซื้อ ชาวบ้านเห็นเป็นช่องทางสร้างรายได้ ก็เพาะเกินจำนวนที่สถานีต้องการ นำมาขายเป็นรายได้เสริม”

จากจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาซื้อ ขยายออกไปเกือบทั่วประเทศที่สั่งซื้อกล้าไม้จากที่นี่ เช่น ตลาดต้นไม้รังสิต คลอง 15 ตลาดต้นไม้สวนจตุจักร เป็นต้น

กล้าไม้ป่าที่ขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ในแปลงเพาะ

สัก ยางนา กันเกรา ประดู่ กฐินเทพา พยอม หว้า พะยุง ตะเคียน มะค่า แคนา กฤษณา มะฮอกกานี รัง แดง ขี้เหล็ก ฯลฯ หาได้จากที่นี่

จาก 1 เพิ่มเป็น 10 จาก 10 เพิ่มเป็น 100 ราย ปัจจุบันมีมากกว่า 200 ราย

จำนวนค่อยๆ เพิ่มขึ้น ถามว่า เพิ่มขึ้นเพราะเหตุใด

กำนันสุเทพ ให้เหตุผลว่า เพราะการขายกล้าไม้ได้เม็ดเงินเร็ว เห็นเม็ดเงิน ในระยะเวลาไม่กี่เดือน ไม่เหมือนการทำนา ทำสวน หรือทำไร่ ที่ต้องรอรอบผลผลิตจึงขายได้เงิน และยังไม่แน่ใจว่าจะได้กำไรจากการลงทุนในแต่ละรอบการผลิตหรือไม่ แต่สำหรับกล้าไม้ที่ขายไป ไม่กี่เดือนก็ได้เงิน มีคนมาซื้อถึงบ้าน จ่ายเงินสด เห็นเงินเร็วกว่ารอรอบการผลิต ทำให้หลายบ้านเปลี่ยนอาชีพจากการทำนา ทำไร่  ทำสวน มาเพาะกล้าไม้ขายอย่างเดียว

กล้าไม้ไซซ์เล็กพร้อมขาย

ในอดีต กล้าไม้มีไม่กี่รายที่เพาะขาย ราคากล้าไม้จึงจัดว่าได้กำไรดีมาก กำไรต่อถุงกล้าไม้ 15-18 บาท จำนวนซื้อแต่ละครั้งไม่น้อยกว่าหลักหมื่น ขึ้นหลักแสน ไปถึงหลักล้านต้น เมื่อคำนวนเม็ดเงินที่ได้ในการซื้อขายแต่ละครั้ง ก็เป็นเม็ดเงินจำนวนไม่น้อย

จำนวนผู้ขายที่เพิ่มมากขึ้น เป็นทางเลือกให้กับลูกค้า แต่สำหรับผู้ขายแล้วหมายถึงรายได้ที่ลดหายไป การแข่งขันที่สูงขึ้น ส่งผลให้กล้าไม้ราคาถูกลง คุณสุเทพ บอกว่า ไม่มีเกษตรกรรายใดเพาะกล้าไม้มาแล้วอยากให้กล้าไม้ถูกวางทิ้งไว้นาน เพราะต้นไม้ยิ่งโตมากเท่าไหร่ โอกาสถูกซื้อน้อยลงมากเท่านั้น และถ้าไม่มีคนซื้อ ก็เท่ากับทิ้งเงินที่เป็นต้นทุนไป

กล้าไม้ใส่ถุง รอลูกค้ามารับ

“กล้าไม้ที่ขายไม่ได้ ถ้าโตขึ้นหน่อยก็ต้องเปลี่ยนถุง เปลี่ยนดิน ต้องขยับเปลี่ยนที่วาง ไม่อย่างนั้นรากจะลงดิน ก็ต้องมาตัดรากอีก ต้นไม้ที่ตัดรากลูกค้าก็ไม่ค่อยอยากได้ เพราะนำไปปลูกก็เจริญเติบโตไม่ค่อยดี หรือเติบโตได้แต่ก็ไม่ค่อยแข็งแรง ฉะนั้น ขายได้ก็ต้องรีบขาย”

กล้าไม้แดง

ปัจจัยผู้ค้าที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้ราคาซื้อขายเปลี่ยนไป จากถุงละ 10-20 บาท เหลือเพียงราคาถุงละ 1.50-2 บาทเท่านั้น คุณสุเทพ ยืนยันว่า หากต้องการขายให้ได้กำไร ควรขายในราคาอย่างน้อยถุงละ 3 บาท มิฉะนั้นจะเข้าเนื้อขาดทุน แต่ก็มีเกษตรกรหลายรายที่ยอมขายในราคาขาดทุน เพราะไม่ต้องการให้กล้าไม้เหลือทิ้งข้ามปี เป็นภาระค่าใช้จ่ายตามมาอีกมาก

แม้ว่าตำบลดินทอง อำเภอวังทอง จะเป็นแหล่งที่มีดินอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันวัตถุดิบที่ใช้สำหรับเพาะกล้าไม้ เกษตรกรต้องควักกระเป๋าซื้อทั้งหมด นับตั้งแต่ ดิน (หน้าดิน) แกลบ ถุง เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ ยังมีค่าแรงคนงานในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ ค่ากรอก ร้อยละ 12 บาท ค่าแรงยกขึ้นรถ ร้อยละ 10 สตางค์ เป็นต้น

กล้ายางนา

กำนันตำบลดินทอง บอกกับเราว่า ในอดีตชาวบ้านจะเข้าป่าไปเก็บเมล็ดพันธุ์นำมาเพาะกล้าเอง ไม่ต้องซื้อขาย แต่เมื่อเกษตรกรเพาะกล้าไม้เพิ่มมากขึ้น ก็มีเกษตรกรบางรายหัวใส เก็บมาจำนวนมากแล้วนำมาขายต่อ รายที่ไม่สะดวกเข้าไปเก็บเมล็ดพันธุ์เองก็พร้อมซื้อเมล็ดพันธุ์ต่ออีกทอด ความหลากหลายของไม้ป่าที่แหล่งเพาะกล้าไม้วังทอง เป็นผลพวงให้เกษตรกรที่นี่ยังคงเข้าป่าเก็บเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดใกล้เคียง และเดินทางออกไปไกลถึงป่าในจังหวัดแถบภาคอีสาน เพื่อนำมาขายให้กับเกษตรกรเพาะกล้าไม้ในพื้นที่ตำบลดินทอง

กล้าตะกู

คุณมาลัย สิงห์อุดร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตำบลดินทอง ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ตำบลดินทองมีเกษตรกรเพาะกล้าไม้ขายทั้งตำบล แต่ในพื้นที่หมู่ 7-9 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เพาะกล้าไม้ขายเป็นอาชีพมากที่สุด สำหรับความยากง่ายของการเพาะกล้าไม้ป่านั้น ขอแนะนำว่า กล้าไม้ป่าที่โตแล้วไม่ต้องกังวล แต่ระหว่างที่เพาะ นำลงถุงกล้า เป็นกล้าไม้เล็กๆ ต้องได้รับการดูแลอย่างดี ไม่อย่างนั้นก็ตายเสียเปล่า เริ่มจากการหว่านกล้าลงแปลง ใช้ยาราดซ้ำป้องกันเชื้อรา เมื่อกล้าที่หว่านแปลงเริ่มงอกขึ้นมา แล้วค่อยเลือกเด็ดออกมาเสียบกับถุงกล้าที่เตรียมดินไว้แล้ว

“ระยะเวลาที่เริ่มเพาะตั้งแต่หมดฤดูฝน ลงเพาะในแปลง จากนั้นเตรียมดิน กรอกถุงรอ ขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มเพาะจนเสียบในถุง รดน้ำ ให้กล้าพร้อมจำหน่าย ก็เข้าฤดูฝนพอดี กล้าไม้จะเริ่มขายดีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม เพราะเป็นช่วงฤดูฝนที่คนนิยมปลูกต้นไม้ โดยไม่ต้องรดน้ำ อาศัยน้ำฝนช่วงดูแลได้”

ตัวอย่างไม้ป่ายอดนิยมอย่างต้นสัก ราคาขายอยู่ที่ปี๊บละ 150 บาท เมื่อนำมาเพาะแล้วอัตราการงอกร้อยละ 70-80 ขึ้นกับความซื่อสัตย์ของพ่อค้าขายเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรต้องเลือกซื้อพ่อค้าประจำ เพื่อมั่นใจว่าได้เมล็ดพันธุ์แก่มากพอสำหรับการเพาะ

ราคาเมล็ดพันธุ์

ชนิด หน่วย ราคา / บาท
ประดู่ กิโลกรัม 1,300
มะค่าโมง กิโลกรัม 20
ไม้แดง กิโลกรัม 800
ตะเคียน กิโลกรัม 800
กันเกรา กิโลกรัม 2,000
พะยุง กิโลกรัม 1,500
คูน กิโลกรัม 400
ยางนา กระสอบ 50
กระถินเทพา กระสอบ 800

 

ในแต่ละปี เกษตรกรแต่ละรายมีกำลังการผลิตกล้าไม้ที่ไม่เท่ากัน คุณสุเทพ บอกว่า กำลังการผลิตมากหรือน้อย ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่สำหรับวางกล้าไม้ด้วย เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ การเช่าพื้นที่วางกล้าไม้ก็ไม่คุ้มค่า เพราะต้นทุนการผลิตจะสูงมากขึ้นไปอีก แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 แสนต้น ในรายที่มีพื้นที่และขยันมาก สามารถผลิตกล้าไม้ได้ถึงปีละประมาณ 5 แสนต้น

ทุกปี ความต้องการกล้าไม้จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อย ขึ้นกับกระแสการปั่นของพ่อค้าที่รับกล้าไป หากต้องการให้ต้นไม้ชนิดใดได้รับความนิยมในช่วงนั้นๆ ก็จะเชียร์ต้นไม้นั้นให้กับลูกค้า แต่ไม้ที่คงความนิยมไม่เสื่อมคลาย คือ สักและพะยุง

คุณสมคิด วรรณทวี เจ้าของร้านขายกล้าไม้รายแรกของตำบลดินทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเพาะกล้าไม้ป่าขายมาตั้งแต่ปี 2535 บอกว่า เกษตรกรในพื้นที่ตำบลดินทองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ การเพาะกล้าไม้เริ่มจากหน่วยงานราชการมีนโยบายแจกกล้าไม้ให้กับประชาชนฟรี เพื่อนำไปปลูก หน่วยงานราชการจึงจ้างวานให้ชาวบ้านใกล้เคียง เพาะกล้าไม้และรับซื้อ จึงเป็นที่มาของแหล่งเพาะกล้าไม้ของตำบลดินทอง

“เมื่อก่อนป้าเป็นลูกจ้างอยู่ในหน่วยงานทางป่าไม้ ก็เห็นเขาจ้างชาวบ้านเพาะกัน เราเห็นว่ามีรายได้ เลยเพาะกล้าขายบ้าง หลังลาออกจากการเป็นลูกจ้างในหน่วยงาน ก็ออกมาเพาะกล้าไม้ขายเป็นอาชีพจนถึงปัจจุบัน”

แม้ว่ากล้าไม้ในพื้นที่ตำบลดินทอง จะเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศว่าเป็นแหล่งไม้ป่าที่มีครบทุกชนิด แต่ปัญหาการเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้เพาะกล้าไม้ยังคงไม่ยุติ ซึ่งจะส่งผลให้ราคากล้าไม้ที่ตกต่ำอยู่แล้ว ตกต่ำลงไปได้อีกในอนาคต คุณสุเทพ ในฐานะกำนันตำบลดินทอง จึงมีแนวคิดสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม สำหรับการต่อรองซื้อวัตถุดิบ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตถูกลง มีความน่าเชื่อถือจากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ โดยรวมกลุ่มเกษตรกรจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพาะชำกล้าไม้ตำบลดินทอง

“เกษตรกรผลิตกล้าไม้มีมากกว่า 200 ราย แต่ที่รวมกลุ่มด้วยกันมีประมาณ 80 ราย ส่วนที่ไม่รวมกลุ่มอาจเป็นเพราะมีลูกค้าประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ขายกล้าไม้ได้ แต่เกษตรกรรายใดที่ยืนอยู่บนความเสี่ยง เมื่อรวมกลุ่มเราจะช่วยกันต่อรองราคาวัตถุดิบ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เช่น แกลบดำ ขนาด 1 รถสิบล้อ ราคา 4,500 บาท สามารถต่อรองให้เหลือเพียง 3,000-3,500 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้ลูกค้ามั่นใจ เพราะการสั่งกล้าไม้ในจำนวนหลักแสนขึ้นไป จำเป็นต้องมีการวางมัดจำ เพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งงานและลูกค้าไม่รับกล้าไม้ตามที่ตกลง เพื่อเป็นกติการะหว่างกัน แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์และแหล่งที่มา”

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุเทพ แสนประสิทธิ์ กำนันตำบลดินทอง โทรศัพท์  081-2833310 และ 089-7033380