หนุ่มแม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน ทำสวนผสม ปลูกอะโวกาโด ส่งโครงการหลวง

พื้นที่ลาดเชิงเขา และมีความสูงจากระดับน้ำทะเล ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นตัวชี้ว่า ไม่ใช่พืชทุกชนิดจะเจริญเติบโตได้ดีในถิ่นนี้ ถ้าจะให้ดีต้องปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อม ผลผลิตที่ได้จากการปลูกพืชจึงจะงอกเงยเห็นผลที่ชัดเจน

คุณวิทุน ขยันใหญ่ยิ่ง

ไม้ผลอย่าง อะโวกาโด ยังคงเป็นพืชที่หลายคนมองว่า ปลูกง่าย หากพื้นที่มีความเหมาะสมมากพอ ทั้งยังเก็บผลผลิตได้ยาวนาน ไม่ต้องรื้อแปลงปลูกใหม่ เป็นไม้ผลที่ยืนต้นเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่น

คุณวิทุน ขยันใหญ่ยิ่ง ที่อดีตเป็นเด็กในพื้นถิ่นตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ปัจจุบัน มีความยิ่งใหญ่ตามนามสกุล เพราะเขาเป็นหนุ่มที่มีความขยันใหญ่ยิ่งจริงๆ ทำให้ทุกวันนี้ คุณวิทุน เปรียบได้กับผู้นำด้านเกษตรและสุขภาพของชุมชนในถิ่นนั้น

ต้นอะโวกาโด ไม่สูง เพราะตัดแต่งทรงพุ่มเสมอ

นับตั้งแต่วัยเยาว์ คุณวิทุนมีความโดดเด่นในหลายเรื่อง ทำให้ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนเข้ารับการอบรมเรื่องการรักษาสุขอนามัยเบื้องต้น ตามโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งให้คัดเลือกเยาวชนเข้ารับการอบรม เพื่อนำกลับมาดูแลสุขภาพและถ่ายทอดให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของคุณวิทุน ในการเป็นผู้นำและการก้าวออกสู่โลกภายนอก แสวงหาประสบการณ์ นำกลับมาใช้ในท้องถิ่นของตนเอง

ผลอะโวกาโดตกเกรด ขายตลาดนอก

นอกจากโครงการด้านสุขภาพที่ได้รับคัดเลือกเข้ารับการอบรมแล้ว คุณวิทุนได้เริ่มสมัครเข้ารับการอบรมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอีกหลายโครงการ ด้วยความสนใจเป็นส่วนตัว ทำให้มีความรู้และประสบการณ์ติดตัวนำกลับมาใช้มากมาย

นาขั้นบันได ไล่ระดับตามความสูงของพื้นดิน

พื้นที่อำเภอแม่ลาน้อยในอดีต เป็นพื้นที่ที่ชาวไทยภูเขาหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ และอาชีพที่มีคือ การทำไร่เลื่อนลอย ครอบครัวของคุณวิทุนเองก็เช่นกัน การทำไร่เลื่อนลอยก็เป็นอาชีพที่พอจะสร้างรายได้ได้ แต่เมื่อความเจริญเข้าถึงในพื้นที่ คุณวิทุนออกไปหาประสบการณ์และนำกลับมาใช้ ทำให้มีการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมในชุมชนได้ เช่น ครอบครัวของคุณวิทุนเอง ก็เปลี่ยนจากการทำไร่เลื่อนลอย มาตั้งหลักแหล่ง และหันมาปลูกพืชที่โครงการหลวงเข้ามาส่งเสริม เช่น กะหล่ำปลี นาขั้นบันได ข้าว กาแฟ รวมถึงไม้ผลบางชนิด ที่เหมาะกับพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก

ระหว่างขั้นของการทำนา มีความสูง 20-30 เซนติเมตร

“หลังจากโครงการหลวงเข้ามาส่งเสริมเรื่องอาชีพในทางเกษตรกรรม ผมก็เปลี่ยนมาปลูกกาแฟ ปลูกนานถึง 4 ปี เพราะได้รับการส่งเสริมและให้คำปรึกษาที่ดีจากโครงการหลวง แต่เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ได้ผลผลิตดีมาก แต่ประสบปัญหาไม่มีแรงงานเก็บเกี่ยว เมล็ดกาแฟที่ได้เมื่อเก็บไม่ทันก็แห้งคาต้น ประสบการณ์สอนผมว่า ผมปลูกเยอะเกินไป แรงงานไม่พอ ดังนั้น การปลูกกาแฟจึงไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมในอาชีพ”

คุณวิทุนยกเลิกแปลงกาแฟทั้งหมด แล้วเปลี่ยนเป็นปลูกอะโวกาโดแทน

เพาะเห็ดในโรงเรือน

จากการศึกษาก่อนลงปลูกอะโวกาโด พบว่า ดินมีความเสื่อมโทรมสูงมาก แต่สภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกอะโวกาโด จึงตัดสินใจว่า การปรับปรุงดินไปพร้อมๆ กับลงปลูกอะโวกาโดก็ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำไปพร้อมกันได้ เมื่อศึกษาลึกไปกว่านั้น ก็พบว่า พันธุ์อะโวกาโดที่เหมาะสมคือ พันธุ์แฮส และพันธุ์บัคคาเนีย

“อะโวกาโดเป็นพืชที่ผลผลิตราคาดี มีทรงพุ่มใหญ่ แต่ภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะระบบรากมีความอ่อนแอมาก เมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่นๆ”

คอกหมู

คุณวิทุนลงปลูกอะโวกาโดไว้ 320 ต้น ในพื้นที่ 2 แปลง ทั้ง 2 แปลง มีความลาดชันไม่เท่ากัน แต่ทั้ง 2 แปลง ติดตั้งสปริงเกลอร์และระบบการให้ปุ๋ยน้ำหมักผ่านการรดน้ำด้วยสปริงเกลอร์ไปพร้อมกัน ทำให้ประหยัดเวลาในการให้ปุ๋ย โดยการรดน้ำ เริ่มขึ้นเมื่ออะโวกาโดเริ่มติดดอก ประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ด้วยการให้น้ำ 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ครั้งละ 2 ชั่วโมง

ข้อควรระวังในการปลูกอะโวกาโดคือ ไม่ควรมีวัชพืชปกคลุมบริเวณโคนต้นหรือภายในแปลง เพราะระบบรากของต้นอะโวกาโดอ่อนแอ หากเกิดโรคแล้วจะไม่สามารถจัดการหรือควบคุมได้ ต้องปล่อยให้ต้นตายไปในที่สุด ไม่ว่าต้นจะมีอายุกี่ปีก็ต้องปล่อยให้ตาย นอกจากนี้ ยังพบโรคชนิดหนึ่งที่พบในอะโวกาโด และยังไม่พบวิธีป้องกันหรือแก้ปัญหาคือ เกิดอาการใบแห้งจากยอดลงมาที่ต้น และต้นอะโวกาโดจะแห้งตายในที่สุด

การปลูกอะโวกาโดในแปลง ควรมีระยะห่าง 8×8 เมตร เพื่อรักษาทรงพุ่ม พื้นที่ 1 ไร่ จึงปลูกอะโวกาโดได้จำนวน 22 ต้น

อะโวกาโดเมื่อติดผลจะให้ผลผลิตเต็มต้น ควรปลิดออก ให้ผลไม่ติดกัน ป้องกันผิวเสีย จะทำให้ตกเกรดเมื่อซื้อขาย

ตัวอย่างเช่น ทรงพุ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตร ความสูงต้น 4 เมตร ควรปลิดทิ้งให้เหลือผลอะโวกาโด 400-500 ผลเท่านั้น เพื่อให้ผลมีขนาดใหญ่และผลไม่ติดกันจนผิวเสีย

ผลผลิตอะโวกาโดมีหลายเกรด เกรดที่ดีที่สุดเรียกว่า เกรด 1 เอ็กซ์ตร้า เป็นขนาดที่มีน้ำหนักผลมากกว่า 250 กรัม และผิวสวยไม่มีรอยดำ จะส่งจำหน่ายให้กับโครงการหลวงทั้งหมด ส่วนที่เหลือจะไปส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดเชียงใหม่ ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้ารับประจำอยู่แล้ว ผลผลิตจึงไม่เหลือตกค้างทุกปี

การเก็บเกี่ยวผลผลิตทำได้ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม และหลงเหลือเล็กน้อยในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี

ที่ต้องกล่าวถึงอะโวกาโดอย่างละเอียด เพราะเป็นไม้ผลที่ทำรายได้เป็นหลักให้กับครอบครัวของคุณวิทุน โดยแปลงที่มีพื้นที่ 12 ไร่ ปลูกต้นอะโวกาโดและต้นมะม่วงไว้อีก 200 ต้น มะม่วงให้ผลผลิตแล้วประมาณ 25 ต้น

ส่วนพื้นที่อีกแปลงมีขนาด 9 ไร่ เป็นแปลงที่ปลูกพืชผสมผสานหลายชนิด เช่น อะโวกาโด มะม่วง ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ขนุน มะไฟ ชมพู่ พลับ ซึ่งผลผลิตที่ได้ทั้งหมดส่วนใหญ่รับประทานเองและแจกจ่ายเพื่อนบ้าน เหลือก็นำไปขาย มีรายได้รวมแล้วไม่น้อยไปกว่าอะโวกาโด

นอกเหนือจากแปลงอะโวกาโด มะม่วง และสวนผสม ที่คุณวิทุนเรียกว่า สวนวนเกษตร แล้วคุณวิทุนยังทำนาขั้นบันได โดยการปลูกข้าวพื้นถิ่น และเปลี่ยนสายพันธุ์ทุกๆ 2 ปี ไว้รับประทานในครัวเรือน ซึ่งการทำนาขั้นบันไดเป็นเพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดชัน หากไม่ทำเป็นลักษณะของขั้นบันได จะปลูกข้าวไม่ได้ เพราะไม่สามารถกักเก็บน้ำในช่วงที่ข้าวต้องการน้ำได้ จึงต้องสร้างคันขึ้นความสูง 20-30 เซนติเมตร ขึ้นกับสภาพพื้นที่

เมื่อข้าวไม่ใช่รายได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นต้นทุน เพราะไม่ต้องซื้อข้าวรับประทาน

ที่เหลือเป็นการเลี้ยงสัตว์ คุณวิทุน เลี้ยงไก่ไข่ไว้จำนวนหนึ่ง เป็นการเลี้ยงปล่อย แต่ให้นอนในโรงเรือน เพื่อเก็บไข่ง่าย ทั้งยังเลี้ยงปลา โดยการขุดบ่อขนาดความลึก 1 เมตร ความกว้าง 10 เมตร ความยาว 14 เมตร เพราะดินเป็นดินทราย ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้ จึงใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเดิมคือ การนำขี้วัวขี้ควายมาทำให้เหลวแบบโคลน แล้วเทปาดลงไปที่บ่อเป็นการอุดช่องว่างของดินทราย สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี สามารถเลี้ยงปลาได้ โดยคุณวิทุนเลี้ยงปลานิล จับขายและไว้รับประทานในครัวเรือน

ใต้ถุนบ้านสร้างเป็นคอกไม้ เลี้ยงหมูไว้ 2 ชนิด คือ พันธุ์เหมยซาน และพันธุ์ดูร็อกเจอซี่ (หมูขาว) ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์มีจำนวนรวม 9 ตัว ให้ลูกปีละ 15-18 คอก คุณวิทุนขายลูกหมูยกคอก ซึ่งรายได้จากการขายลูกหมูมีไม่น้อยกว่า 40,000 บาท ต่อปี

รอบบ้าน ไม่ปล่อยให้พื้นที่ว่าง ลงแปลงผักสวนครัวไว้

พืชทุกชนิดของครอบครัวขยันใหญ่ยิ่ง ไม่ถึงกับปลอดสารเคมี แต่ใช้ให้น้อยที่สุด อาจเรียกได้ว่า “ปลอดสาร” ในแต่ละปี คุณวิทุน ภรรยา และลูก มีรายได้จากการทำการเกษตร 1.6-2 แสนบาท ต่อปี

สนใจสอบถามเทคนิคการทำสวนผสมปลอดสารได้ที่ คุณวิทุน ขยันใหญ่ยิ่ง หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือโทรศัพท์สอบถาม (087) 188-0798

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2562