แม่โจ้ ประสบผลสำเร็จ การเพาะเห็ดเผาะ เพิ่มปริมาณในธรรมชาติ

ช่วงเวลาที่ผ่านมา มีนักวิชาการด้านเห็ดหลายคน หลายสำนัก ที่มีความรู้เรื่องการเพาะเห็ดต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่ทำเป็นเห็ดเศรษฐกิจกันมากเลยทีเดียว แต่ก็มีคนคิดที่จะเพาะเห็ดเผาะ เพราะมีราคาแพง เอร็ดอร่อย ใครๆ ก็ชอบ แต่จนแล้วจนเล่าก็ไม่สามารถเพาะได้ แต่ครั้งนี้แม่โจ้และทีมงานศึกษาหาวิธีเลียนแบบธรรมชาติเพื่อกลับคืนสู่ป่าจนได้ผลดี

คุณคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปลูกต้นยางนาต้นแรกที่เพาะเชื้อเห็ดเผาะ

เห็ดเผาะ หรือภาษาทางเหนือเรียก เห็ดถอบ เป็นอาหารอันโอชะของหลายๆ คน จะได้รับประทานในช่วงต้นฝนประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี จะเกิดขึ้นเองในธรรมชาติทางภาคเหนือและภาคอีสาน เห็ดเผาะมีลักษณะเป็นลูกกลมๆ อ่อนนุ่ม เนื้อในมีสีขาว เปลือกนอกกรอบ เมื่อผลแก่จะมีสีผิวเป็นสีน้ำตาลอมดำ เนื้อในจะดำ แต่นิยมบริโภคเห็ดเผาะที่อ่อนมากกว่า นำไปประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น นำไปต้มใส่เกลือเล็กน้อย จิ้มกับน้ำพริก นำไปแกงใส่ปลาร้าใส่ผักหวานหรือไข่มดแดง หรือทำเป็นแกงกะทิก็ได้ความอร่อย

ชื่นชมเห็ดเผาะ แม่โจ้ 1

แต่กว่าจะได้มาเป็นอาหารที่เอร็ดอร่อยนั้น ชาวบ้านจะต้องเดินขึ้นเขาไปหาจากป่าธรรมชาติ มักจะอยู่ตามผิวดินหรือใต้ดินเล็กน้อย ชาวบ้านจะใช้ไม้หรือด้ามเหล็กคุ้ยเขี่ยหาเห็ด บางครั้งจะอยู่ใต้ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงมาปิดบัง กว่าจะได้มาแต่ละกิโลกรัมแสนจะเหน็ดเหนื่อย ต้องเดินขึ้นเขาที่ร้อนชื้น เสี่ยงกับยุงป่าและสัตว์ร้าย ท่ามกลางอากาศร้อน บางคนจะต้องออกไปหาแต่เช้ามืดเพื่อแย่งชิงเก็บเห็ดที่ออกก่อนคนอื่น เพราะช่วงที่เห็ดเผาะออกนั้น ทุกคนจะรู้ว่ามีจุดใดบ้างที่มีเห็ดออกตรงนั้นทุกปี

เชื้อเห็ดเผาะโรยรอบโคนต้นยางนา

ผู้เขียนเคยเห็นชาวบ้านเหมารถยนต์จากจังหวัดเชียงราย เดินทางมาหาเห็ดเผาะถึงเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตลอดเส้นทางจนถึงเขตอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นี่คือ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เห็ดเผาะราคาแพง ต้นฤดูกาลราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 300-400 บาท แต่ในพื้นที่จะขายเป็นแบบกระป๋องนม ซึ่งจะเล็กกว่าลิตรที่ใช้ในมาตราชั่งตวงวัด กระป๋องละ 100-150 บาท ในธรรมชาติแล้วนั้นหลังจากเก็บเห็ดที่ได้ขนาดเอาไปขายหรือรับประทานแล้ว ยังเหลือเห็ดขนาดเล็กและเส้นใยเห็ดหลงเหลืออยู่ในดิน หลังจากผ่านฤดูแล้งไปแล้วก็จะพักตัวอยู่ในดิน คือยังมีเชื้อเห็ดเผาะอยู่ พร้อมที่จะออกมาเป็นเห็ดเมื่อได้รับน้ำฝนในฤดูกาลต่อไป

เชื้อเห็ดหลายชนิดที่พร้อมจะไปโรยให้กับต้นไม้ในป่า

ชาวบ้านทั่วไปหลายคนมีความคิดว่า ช่วงฤดูแล้งนั้นจะต้องเผาป่า เพื่อให้เกิดดอกเห็ดเพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงนั้น การเผาป่านั้นเป็นการเผาพื้นที่หน้าดิน ที่มีเห็ดขนาดเล็กและเส้นใยของเห็ดที่เรียกว่า สปอร์เห็ด จะถูกทำลายไปด้วย อีกทั้งเผาใบไม้ที่ปิดบังอยู่ เพื่อให้มองเห็นดอกเห็ดเผาะได้ง่ายเท่านั้น จึงเป็นความเชื่อที่ผิดมาโดยตลอด และยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่าและหมอกควัน

เปรียบเทียบขนาดเห็ดเผาะจากหลายแห่ง

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ผศ.ดร. เรืองชัย จูวัฒนสำราญ คณบดีคณะผลิตกรรมการเกษตร คุณดำรง ปิ่นทะนา ศูนย์วิจัยป่าไม้และชุมชน ว่าที่ร้อยตรี ดร. ศุลิเชษฏ์ ทองกล่ำ นักวิชาการ สวพส. คุณสันต์ชัย มุกดา นักวิชาการฐานเรียนรู้เห็ดแม่โจ้ ดร. สุธิรา ทองกันทา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร. สิมิตร ลัคนาวิเชียร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณจิระพันธ์ มุกดา ภาคเอกชน จีระวัฒน์ฟาร์มเห็ด ดร. สุมิตร อธิพรหม อาจารย์ฐานเรียนรู้เห็ดแม่โจ้ ได้จัดเสวนาเรื่องเห็ดภายใต้หัวข้อ “เห็ดป่าคืนถิ่น สร้างป่า สร้างรายได้ สลายฝุ่นควัน” โดยมี คุณคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน

เห็ดเผาะ แม่โจ้ 1 ผ่าให้เห็นภายในเมื่อแห้งและแก่จัด พร้อมขยายพันธุ์

สรุปว่า ได้มีการค้นพบเห็ดเผาะที่เกิดขึ้นใต้ต้นพะยอม ซึ่งเป็นไม้ป่าชนิดหนึ่ง มีลักษณะพิเศษคือ ดอกใหญ่กว่าเห็ดเผาะที่พบโดยทั่วไป คือมีน้ำหนักประมาณ 18 กรัม ซึ่งเห็ดเผาะทั่วไปจะหนักประมาณ 6-8 กรัม อีกทั้งมีกลิ่นหอมด้วย จึงได้นำมาทดลองเพาะเชื้อเพื่อขยายพันธุ์ เป็นวิธีการที่ง่ายคือ นำเห็ดเผาะที่แก่มาหั่นซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาปั่นผสมกับน้ำสะอาด ผสมน้ำยาล้างจานเพื่อให้สปอร์เห็ดจับตัวกัน ไม่ฟุ้งกระจาย จากนั้นนำมาบรรจุในขวดน้ำทั่วไป ในการนำไปใช้นั้นจะใช้เชื้อเห็ดที่ได้นี้เทลงในถุงเพาะชำต้นกล้าไม้ที่จะนำไปแจกชาวบ้าน ต้นไม้ที่ใช้เพาะกล้า เช่น ต้นไม้ในตระกูลต้นยางนา ไม้พะยอม อีกวิธีการหนึ่งคือ นำเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้แล้ว นำไปรดที่รอบโคนต้นไม้ใหญ่ในป่า ประเภทไม้เต็งรัง ไม้ยางนา แต่จะต้องใช้จอบหรือเสียม แซะบริเวณรากฝอยให้เกิดแผลเล็กน้อย จึงโรยเชื้อเห็ดลงที่บริเวณรากฝอยนั้น ใช้ดินกลบบางๆ ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เชื้อเห็ดจะเข้าไปอาศัยที่ปลายรากฝอย ในปีแรกอาจจะมีเห็ดออกน้อย ปีต่อไปต้องเพิ่มเชื้อเห็ดลงไปอีก

ที่สำคัญคือ การรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเห็ด วิธีการนี้นอกจากจะใช้ได้กับเห็ดเผาะแล้ว ยังสามารถนำใช้ได้กับเห็ดบริวารอื่นๆ ด้วย แต่ต้องพิจารณาชนิดของเห็ดที่ชอบสิ่งแวดล้อมแบบไหน แบ่งออกเป็นเห็ดที่สามารถเพาะเป็นเห็ดถุงได้ เจริญเติบโตอยู่บนอินทรียวัตถุ เห็ดที่ชอบดำรงชีวิตร่วมกับต้นไม้แบบพึ่งพาอาศัยซื่งกันและกัน เช่น เห็ดเผาะ เห็ดแดง เห็ดหล่ม เห็ดไข่ขาวไข่เหลือง เห็ดปลวกหรือเห็ดโคน ต้องอาศัยปลวกกลุ่มที่กินทั้งเนื้อไม้ เศษไม้ ใบไม้ ประเภทนี้ต้องนำจาวปลวกมาร่วมในการขยายเชื้อ ราแมลงหรือที่รู้จักกันคือ ถั่งเช่า ประเภทนี้ราคาแพง เพาะขยายยาก จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า “หนาวเป็นหนอน ร้อนเป็นหญ้า”

วิธีการทำงานของคณะทำงานชุดนี้ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบหนึ่งในการนำธรรมชาติของเห็ดกลับคืนสู่ป่า ช่วยให้มีผลผลิตเห็ดในป่าเพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปปรับใช้กับเห็ดได้ทุกชนิด เป็นการเพาะเห็ดที่ไม่ต้องใช้เรือนโรงหรือถุงเพาะ หากมีการปรับสภาพป่าให้เหมาะสม สามารถเก็บเห็ดรับประทานได้นานกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ จะเป็นการช่วยลดการเผาใบไม้เผาป่าที่ก่อให้เกิดหมอกควัน

สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ ดร. สุมิตร อธิพรหม โทร. 094-361-5628 คุณดำรงค์ ปิ่นทะนา โทร. 064-106-9471

เผยแพร่ครั้งแรก 6 ธ.ค. 2019