ไม่ได้บ้า! ‘หนุ่ม-สาวป.โท’ทิ้งงานประจำ ปลูกพืชผักสร้างรายได้-กลายเป็นที่ศึกษาดูงาน

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนเนื้อที่ 2 ไร่ติดชายเขาพื้นที่หมู่ 5 ต.ควนสะตอ อ.ควนโดน จ.สตูล ซึ่งประกอบด้วยพืชผักและพรรณไม้นานาชนิด ที่ปลูกอย่างผสมผสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

น.ส.ฟ้าใส บุญส่ง เจ้าของฟ้าใสฟาร์ม วัย 42 ปี เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า “ย้อนกลับไปเมื่อปี 2553 ขณะนั้นสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านการส่งเสริมกรเกษตรจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.) เริ่มอาชีพการเป็นนักวิจัยอิสระ ควบคู่กับทำงานประจำ และได้ศึกษาแนวทางเกษตรธรรมชาติของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เจ้าของแนวคิดชาวญี่ปุ่น กระทั่งเล็งเห็นว่าปัจจุบันคนเรามีอายุเฉลี่ยที่สั้นลง เนื่องจากกินพืชผักที่มีสารพิษไปสะสมในร่างกาย จึงผันตัวมาทำการเกษตรที่ปลอดภัย ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงานประจำ โดยมีความตั้งใจแน่วแน่มาทำการเกษตรตามแนวทางเกษตรธรรมชาติ ซึ่งเน้นให้การเพาะปลูกพืชทุกชนิดเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้สารเคมีใดๆทั้งสิ้น”
น.ส.ฟ้าใส กล่าวต่อว่า จากนั้นในปี 2554 ได้เข้ามาซื้อที่ต่อจากเจ้าของเดิมบนพื้นที่ 2 ไร่ ลงมือลงแรงร่วมกับนายนิเวศ ชายฝั่ง ผู้เป็นคู่ชีวิต ซึ่งลาออกจากงานประจำตำแหน่งนักพัฒนาองค์กรเอกชนมาช่วยกันปรับเปลี่ยนพื้นที่ เพาะปลูกพืชผักและพรรณไม้นานาชนิดเท่าที่จะหาพันธุ์มาปลูกได้ อาทิ ผักกวางตุ้ง คะน้า อ้อย ชะพลู ขมิ้น พริกขี้หนู เตยหอม กระชาย บัวบก อัญชัน กุหลาบ ตลอดจนพันธุ์ไม้พื้นเมืองอีกหลายชนิด โดยปลูกตามแนวคิดเกษตรธรรมชาติให้ทุกอย่างอยู่กันอย่างสมดุลเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ท่ามกลางสายตาผู้คนหาว่า“บ้า” แต่ก็ไม่ได้สนใจ เพราะรู้ว่ากำลังทำอะไรกันอยู่ ต้นทุนการเพาะปลูกจะต่ำมากๆ เนื่องจากพันธุ์ก็หาได้จากท้องถิ่น ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมี ทำให้ไม่มีรายจ่ายในส่วนนี้ ต่อมามีเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำให้ขอมาตรฐาน organic thailand จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จึงได้ยื่นคำขอไป และได้รับการตรวจสอบมาตรฐานโดยอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน เพียง 3 เดือนก็ผ่านมาตรฐาน ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง

ผลผลิตของฟาร์มในระยะแรกเริ่มจะเน้นการบริโภคเองและแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ต่อมาเริ่มมีคนเข้ามาติดต่อขอซื้อจึงแบ่งขาย ปัจจุบันผลผลิตบางส่วนจะนำมาวางจำหน่ายที่ตลาดเกษตรกร หน้าศาลากลางจังหวัด ผลผลิตอีกจำนวนหนึ่งจะทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆของฟาร์ม อาทิ แชมพูสระผมจากดอกอัญชัน ชาใบหม่อน ชารางจืด สบู่ขมิ้น ฯลฯ จำหน่ายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ สร้างรายได้เป็นอย่างดี อีกทั้งรายได้อีกทางของฟาร์มมาจากการเพาะและจำหน่ายพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ซึ่งบางชนิดหายากเป็นที่ต้องการ เช่น ยอบ้าน แคนา จำปาดะ หมากหมก ผักหวานบ้าน ผักปรัง เป็นต้น

ทั้งนี้ได้ยึดถือและน้อมนำเอาแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวปฏิบัติเจริญรอยตามพระองค์ ซึ่งทุกอย่างตามแนวพระราชดำรินั้นสามารถทำได้ทันที เน้นการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด สร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง จนขณะนี้ฟ้าใสฟาร์มเป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงและด้านเกษตรอินทรีย์ ของผู้สนใจทั่วไป เยาวชน ชุมชน ต่างๆ ติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานอย่างไม่ขาดสาย

มีความตั้งใจจะพัฒนา “ฟ้าใสฟาร์ม” ให้มีหลักสูตรเรียนรู้ด้านการพึ่งพาตนเอง และด้านเกษตรอินทรีย์ ให้บุคคลที่สนใจเข้ามาฝึกอบรมได้ต่อไป

หากถามว่าวันนี้ถือว่าประสบความสำเร็จสำหรับชีวิตแล้วหรือยัง เจ้าของฟ้าใสฟาร์ม ตอบไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ประสบความสำเร็จแล้วตั้งแต่ลงมือทำ เพราะตนกับแฟนทำด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และเลือกที่จะใช้ชีวิตตามแนวคิดของ จอน-จัน-ได คือ “ทำชีวิตให้มันง่าย หากมันยากแสดงว่ามันผิด” และเป็นความโชคดีที่ผลิตผลที่ออกจากฟาร์มนำไปจำหน่ายหมดทุกครั้ง จากการทำบัญชีครัวเรือนทำให้ฟ้าใสฟาร์ม พบว่ามีรายได้ต่อปี 200,000 บาท ซึ่งก็พอใจและพร้อมจะเผยแพร่ให้กับคนในชุมชน และเปิดฟาร์มให้เป็นที่ศึกษาดูงาน

ด้านนายไชยพงค์ ทะนันชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า สถานที่แห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเป็นต้นแบบของเกษตรกรอินทรีย์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกสมาร์ทยังฟาร์มเมอร์ เกษตรกรรุ่นใหม่ตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จจากความชอบส่วนตัวมาถึงขั้นตอนการเรียนรู้อย่างจริงจังจนประสบความสำเร็จ ซึ่งตอบโจทย์ยุคสมัยของการบริโภคพืชผักและสินค้าปลอดภัยสารเคมี