จรวย พงษ์ชีพ “ดำ น้ำหยด” ปรัชญาชาวสวนอาวุโสระดับขั้นเทพ ชีวิตจากเด็กยากจน กลายเป็นมหาเศรษฐี ที่ขลุง จันทบุรี

“ไม่มีความจนในหมู่คนขยัน” คำพังเพยที่มีมานาน เพื่อปลุกเร้าอารมณ์กระตุ้นเพื่อให้กำลังใจ ของคนที่พบชะตากรรมความลำบาก ยากเข็ญ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความอยู่รอดไปวันต่อไป

ประสบการณ์ในชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จขึ้นมา มีบางรายที่เคยยากจน อดมื้อกินมื้อมาตั้งแต่เด็กจนเคยชิน พวกเขาสำนึกถึงโชคชะตาที่ผ่านพ้นมาอย่างน่าทุรนทุราย กว่าจะมีวันนี้ได้แทบเลือดตากระเด็น
เมื่อหวนรำลึกถึงในอดีต กว่า 70 ปี ที่เขาจำความได้อย่างแม่นยำเลยทีเดียว ฟังเขารำลึกถึงความหลังของลูกผู้ชายชื่อดำ

“ผมเกิดมาเป็นลูกคนจน พ่อแม่ฐานะยากจน ผมต้องออกจากโรงเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพื่อมารับจ้างเก็บผลไม้เพื่อประทังชีวิต และความอยู่รอดของครอบครัว จากรายได้ค่าแรงเก็บผลไม้”

คุณจรวย หรือลุงดำ ที่บ้านพัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

น้ำเสียงของ “ดำ น้ำหยด” หรือ คุณจรวย พงษ์ชีพ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อกว่า 30 ปี หลังจากเขาประสบความสำเร็จในการใช้ระบบน้ำหยด เมื่อ 40 ปีก่อน ที่จังหวัดจันทบุรี แหล่งผลิตผลไม้ที่ลือชื่อมาช้านาน

จวบจนเมื่อปีที่ประสบวิกฤติภัยแล้ง ต้นผลไม้ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน ลองกอง หรือมังคุด ต่างขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง น้ำที่เคยมีเก็บไว้ก็แห้งขอด สัตว์เลี้ยงยังมีตายตามต้นไม้ด้วย จนทางราชการต้องขนน้ำไปช่วยราษฎรไว้บริโภคดื่มกินอย่างน่าอเนจอนาถแต่ก็มีบางส่วนที่เล็ดลอดจากความหายนะ แห้งแล้งก็มีบ้าง และรอดตายอย่างหวุดหวิดก็เกิดขึ้นจากสมองมนุษย์ที่เคยยากจน ไม่มีเงินเรียนหนังสือ หนทางการแก้ไขความวิกฤติครั้งนี้ เขาล่ะ คุณจรวย พงษ์ชีพ ที่พยายามแก้ไขสวนผลไม้ที่กำลังจะโรยราจากเพื่อนตายพร้อมๆ กัน กล่าวคือ“เพราะต้นไม้ขาดน้ำไม่ได้ฉันใด ชีวิตก็คงมอดม้วย”

บ่อน้ำขุดไว้ในสวนไว้ยามแล้ง และมีปลาให้ลูกจ้างไว้จับกิน

ความเสียดายและกลัวว่าจะหมดอาชีพการทำสวนผลไม้ คุณจรวยบอกพรรคพวกที่รอน้ำอยู่ในสวน ให้หากระป๋อง หรือภาชนะที่รองน้ำได้ หรือขวดน้ำที่เป็นพลาสติก นำมาเจาะรูทุกขวดเพื่อบรรจุน้ำที่มีเพียงนิดน้อย เพราะความแล้ง ต้องประหยัด ถ้าหากขืนใส่กระป๋องรดจนหมด ต้นไม้ก็ได้น้ำไปไม่ทั่วถึง อาจล้มตายเกือบหมดสวนก็ว่าได้

เขาใช้วิธีเจาะรูที่ภาชนะเพื่อให้น้ำหยดออกมาเพื่อประทังความหิวของต้นไม้ เพื่อให้น้ำไหลหยดออกมาครั้งละนิด แต่ออกทั้งหมดไม่ได้ เพื่อรักษาความชื้นของดินไม่ให้แดดเผามากไป ชาวสวนช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อหาขวดน้ำหรือภาชนะไปไว้อย่างละต้น ต้นใหญ่ๆ ก็ใส่น้ำขวดมากหน่อย เฉลี่ยกันไป เพื่อไม่ให้ต้นไม้ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ และต้องมาเสียเวลามาปลูกใหม่

การใช้น้ำที่มีอยู่น้อยและใช้อย่างประหยัดจนเกิดผลดีกับต้นไม้และเจ้าของสวนผลไม้ที่กอบกู้สวนไม่ให้ยืนต้นตายอย่างที่เกิดขึ้นกับสวนทั่วไป กระทั่งในที่สุด ความคิดอันแยบยลของคุณจรวย พงษ์ชีพ จึงสำเร็จขึ้นมา ทุกคนที่ปฏิบัติตามเขาบอกเล่า ต่างรอดตายและพ้นวิกฤติลงได้ และเสียหายน้อยที่สุด ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ชาวสวนหลายรายยกย่องเขาให้เป็น “ซุปเปอร์ฮีโร่” ทันที ในแถบอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

นี่คือที่มาของ “ดำ น้ำหยด” ชื่อเดิมเป็นชื่อ ดำ หรือ นายดำ ทำน้ำหยดของต้นไม้รอดมาได้ ทุกคนขนานนานว่า “ดำ น้ำหยด” หรือบางคนก็เรียกว่า พี่ดำ หรือ ลุงดำ ตามอัธยาศัย

นับตั้งแต่นั้นมา เขาเริ่มคิดค้นทำระบบน้ำชลประทาน โดยวิธีทำท่อน้ำพีวีซี มาดัดแปลงทำหัวน้ำเหวี่ยง มีแรงดันน้ำโดยจำลองระบบหัวสปริงเกลอร์เพื่อกระจายน้ำไปรอบๆ ตัว แบบอย่างต่างประเทศ ที่อิสราเอล เพื่อศึกษาค้นคว้าจนประสบความสำเร็จ เขาเริ่มสร้างหัวเหวี่ยงระบบน้ำแล้วฝังท่อน้ำ พีวีซี ติดหัวสปริงเกลอร์ติดตั้งระบบน้ำชลประทาน นำออกมาจำหน่าย

โดยตั้งโรงงานอยู่ที่บ้าน สมัยแรกๆ ทำแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนสามารถเก็บเงินทุนมาได้เพื่อสร้างโรงงานระบบน้ำชลประทานหัวสปริงเกลอร์ สร้างแบบไทยทำ ไทยใช้ เป็นที่นิยมสำหรับชาวสวนทั่วไป พร้อมรับติดตั้งให้ด้วย คุณภาพ แข็งแรง ทนทาน และราคาถูกกว่าของต่างประเทศ นี่คือผลงานของพี่ดำ น้ำหยด ราชาระบบน้ำ

ความโด่งดังของคนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ความรู้เท่านี้สามารถช่วยเหลือให้ชาวสวน ชาวไร่ หันมานิยมใช้ระบบน้ำชลประทานของ ดำ น้ำหยด จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วไทย  ต่อมาเขาได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2533 “คนไทยตัวอย่าง”!!ในรุ่นนี้ มีอดีตนายตำรวจใหญ่ได้รับด้วย พล.ต.อ. เสรี เตมียเวส ได้รับรางวัลด้วยในฐานะคนไทยตัวอย่าง ขณะนั้นยังเป็นตำรวจตำแหน่งยศ พ.ต.ท.

มังคุดในสวนผลไม้ ของพี่ดำ น้ำหยด

หลังจากนั้น นอกจากจะทำธุรกิจระบบน้ำชลประทานที่มอบให้ลูกชายทำเป็นธุรกิจ ตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอขลุง ส่วนตัวเองต้องดูแลสวนผลไม้ เพราะความคิดของลุงดำ ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา 84 ปี ความคิดความอ่านยังโลดแล่นไม่แพ้ชายวัยรุ่น

พูดง่ายๆ ว่า เขาเห็นขยะเป็นทองไปหมด เขารู้คุณค่าของมันเป็นอย่างดี สวนทุเรียน มังคุด เงาะ เขาใช้ปุ๋ยจากกิ่งไม้ ใบไม้ เศษหญ้า เขาซื้อเครื่องบดกิ่งไม้ เอามาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เศษกิ่งไม้ในสวนเขาเก็บมาหมด เพื่อนำมาใช้เป็นปุ๋ย

เครื่องย่อยกิ่งไม้เพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์กับต้นไม้

ต้นไม้ในสวนเขาจะปลูกต้นกาแฟในที่ที่ห่างกัน ใช้ต้นโกโก้และกาแฟมาแซมปลูกเป็นรายได้เสริมให้ลูกจ้าง แม้ราคาไม่สูงแต่ก็ทำเงินได้ไม่น้อยทีเดียว  บริเวณที่ในสวนเขาขุดบ่อน้ำเป็นแหล่งเก็บน้ำในยามแล้ง เลี้ยงปลา กุ้งฝอย ให้ลูกจ้างจับกินเป็นอาหาร

ความมีชื่อเสียงและเถรตรง เขาจะไปบรรยายให้เกษตรกรฟังจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ความเป็นพิธีกรจากชาวสวนอาชีพ ความรู้น้อย แต่หารู้ไม่ว่า นักวิชาการระดับจบมาจากต่างประเทศ เจอแล้วจะทึ่งเพราะสิ่งที่นำมาเล่าและพบมาเป็นสิ่งที่เกิดจริง จะมาขัดแย้งเขายากมาก จนบางครั้งลุงดำสอนมวยไปก็มี

ความเป็นห่วงใยเกษตรกรที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองก็จะเล่าให้เกษตรกรฟัง ผลผลิตน้อย เสียเวลา อย่างพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ต้น “ฟักข้าว” เขานำมาจากเวียดนาม ลูกใหญ่ มาเพาะเมล็ดแล้วขยายพันธุ์ให้เกษตรกรรายภาคนำไปปลูก เพราะของไทยผลเล็กกว่ามาก เมื่อส่งไปให้ผู้นำเกษตรกรแล้วต่างพอใจเมื่อปลูกแล้ว

ความเป็นปรัชญาชาวสวน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ลุงดำได้ซื้อรีสอร์ตที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ราคาหลายล้านบาท พอซื้อมาได้ มีเจ้าของบริษัทการบินแห่งหนึ่งของไทยขอซื้อต่อโดยให้ราคาเป็นสองเท่าตัว ลุงดำคอยปฏิเสธไปเพราะต้องการให้ลูกสาวที่เรียนจบมาจากต่างประเทศเข้ามาบริหาร เพราะเรียนมาโดยตรง

ยามเย็นหน้ารีสอร์ต พาราไดซ์ เกาะช้าง ที่มีลูกสาวดูแลอยู่

เมื่อมาพัฒนารีสอร์ต ที่ชื่อ “เกาะช้าง พาราไดซ์รีสอร์ต” ได้ไม่นาน มีปัญหาพื้นล่างบริเวณห้องน้ำที่ไหลลงข้างล่าง ไหลเฉอะแฉะจนน้ำเจิ่งนองบนพื้นล่างที่เป็นดิน ต้องให้วิศวกรมาแก้ไข หมดไปหลายช่าง จนหมดปัญญาที่จะแก้ไขให้หายลงได้

กระทั่งพอลุงดำได้ข่าวมาจากลูกสาวก็รีบไปดูปัญหาจริง จะแก้ไขอย่างไร ความคิดของคนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ได้นึกถึงต้นปาล์มทันที เพราะปาล์มน้ำมันต้นใหญ่ๆ มันดูดน้ำเก่ง จึงตัดสินใจให้พรรคพวกที่ภาคใต้ขนส่งต้นปาล์มน้ำมันต้นใหญ่ นำมาปลูกต่อทันทีโดยไม่ต้องรอให้ต้นโตแบบเรียนลัด เพื่อช่วยดูดน้ำที่ขังไว้ใกล้หมด

เกาะช้าง พาราไดซ์ รีสอร์ต ของ ดำ น้ำหยด ราคาแพง

เพียงลงต้นไม่กี่เดือน พอต้นปาล์มตั้งตัวได้มันจะดูดน้ำใต้ดินจนแห้งขอด ด้วยวิธีใช้ปาล์มน้ำมันดูดน้ำบริเวณที่กักขังพื้นน้ำท่วมแฉะจนแห้งสนิท นี่คือปรัชญาชาวสวน หนามทิ่มต้องใช้หนามบ่ง ขืนรอให้ช่างวิศวะมาแก้ไข ลูกค้าคงไม่มาพักแน่

เกร็ดความรู้ของลุงดำมีรอบตัว เหมือนพจนานุกรมต้นไม้ที่หยั่งรู้วิธีของมัน จะว่าเช่นปราชญ์ต้นไม้ก็ว่าใช่นะ ด้วยวัย 84 ปี ที่ผ่านโลกมานานในการอยู่กับเกษตรไม้ผลมาตั้งแต่เด็ก

ผู้เขียนเคยเข้าไปในสวนผลไม้ ลุงดำพาไปหาต้นเงาะ เพียงเพื่อจะบอกว่าต้นเงาะสีแดง เขาเปลี่ยนพันธุ์มาใช้เป็นเงาะสีเหลืองได้ เขาเคยขนมาขายที่กรุงเทพฯ ได้ไม่กี่ครั้ง เพราะสีเหลืองของเงาะมันจืดตากว่าเงาะสีแดง ผู้บริโภคเลยหันมาหาสีแดงกันใหม่ ด้วยความเคยชิน ใหม่ๆ เงาะสีเหลืองจะเป็นของแปลกตา

เงาะที่คุณจรวย หรือพี่ดำ เคยนำไปผสมพันธุ์เป็นสีเงาะต่างๆ แต่สู้ตลาดสีแดงไม่ได้ ตลาดนิยมมาก

ว่ากันไปแล้ว ลุงดำ หรือ คุณจรวย พงษ์ชีพ เป็นคนพูดตรง บางครั้งเราเรียกว่าขวานผ่าซาก ในวงการราชการหรือข้าราชการทำอะไรได้โปร่งใส แม้แต่ในท้องถิ่น ลุงดำจะตำหนิอย่างรุนแรง เพราะความเถรตรงในนิสัยของตัวที่เกลียดระบบการคอร์รัปชั่นที่ไม่โปร่งใส

ความไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ของใคร ถ้าไม่ผิดลุงดำจะสู้หลังชนฝาเลยทีเดียว จนเป็นที่เกรงอกเกรงใจของคนในท้องถิ่นจนถึงข้าราชการ
ถ้าพูดเรื่องผลไม้ทุเรียน ลุงดำคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก รับจ้างเขาเก็บมาเป็นค่าขนม เขาชำนาญการเก็บมาตั้งแต่ยังเล็กๆ

ในสมัยก่อนเขาสนใจต้นสะละ เคยไปดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ความดังของสะละอินโด มีชื่อเสียง เขารวบรวมพันธุ์จากอินโดนีเซีย เรื่องที่จะเล่าให้ฟังความอยากได้สะละที่หอม หวาน เขาได้พันธุ์มาปลูก และขายได้ราคาดี แต่ได้ไม่นานสิ่งที่ดีที่สุดคือสะละของไทย ลุงดำ บอกว่า “สะละเนินวง” ของเราดีที่สุด หอม หวาน เป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังจนเป็นตำนาน

ยามวัยชรา พี่ดำ หรือลุงดำ ยังแข็งแรง และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติของชาติเราถูกพวกเราทำลายไม่มีอะไรจะเหลือ พวกเราเกิดมาทั้งทีก็จะต้องช่วยกันดูแลรักษาผืนแผ่นดินไว้ และต้องหวงแหนเอาไว้ และช่วยกันปลูกทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายลงให้ชนรุ่นหลังไว้พักอาศัย และศึกษาค้นคว้าก่อนมันจะไม่มีอะไรที่เหลือให้ดูต่อไป

ถึงแม้จะเข้าสู่วัย 84 ปี ลุงดำยังกระชุ่มกระชวยออกไปตรวจงานที่สวนเสมออย่างคนมีความสุข โรงงานทำระบบน้ำชลประทาน มีลูกชายควบคุมดูแล และจำหน่าย ส่วนรีสอร์ตเกาะช้าง พาราไดซ์ ก็มีลูกสาวเป็นผู้จัดการ นานๆ ลุงดำก็จะไปเยี่ยมดูสักครั้ง ต้นไม้ประดับในรีสอร์ตมีเนิร์สเซอรี่เก็บต้นไม้ไว้ทดแทนใช้ในรีสอร์ต โดยฝีมือลุงดำ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปซื้อที่ตลาดนัดจตุจักรให้เปลืองเงินและแพงด้วย เรามาขยายพันธุ์ไว้พอเพียง ถ้าไม่ใช่ “ปรัชญาชาวสวน” ระดับขั้นเทพ แล้วจะเรียกว่าอะไร เมื่อเห็นขยะเป็นทองขึ้นมา ทุกอย่างใช้ได้เป็นประโยชน์หมด นี่คือสัญลักษณ์ของคนจนมาก่อน ย่อมจะรู้ว่าเป็นอย่างไร

คุณจรวจ พงษ์ชีพ แนะปลูกกาแฟและต้นโกโก้เป็นพืชแซม

ใครสนใจระบบน้ำ หรือสวนไม้ผล อยากปรึกษากับลุงดำ ติดต่อได้ที่ คุณจรวจ พงษ์ชีพ หรือ ดำ น้ำหยด เลขที่ 25 ถนนเทศบาลสาย 7 ตำบลขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี 22110 โทร. (039) 441-194 ร้าน (039) 441-868