บุก พืชทำเงิน ของคนแม่ฮ่องสอน

บุก เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ซึ่งฤดูแล้งส่วนต้นจะตายเหลือแต่หัวอยู่ใต้ดิน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่ทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงประเทศจีน ญี่ปุ่น และทางใต้ไปถึงประเทศไทย อินโดจีน และฟิลิปปินส์ ทั่วโลกมีพืชสกุลบุกอยู่ประมาณ 170 ชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยมีบุกทั้งชนิดหัวกลมและหัวยาวอยู่ประมาณ 45 ชนิด ขึ้นอยู่ในสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่นำต้นอ่อนและช่อดอกมาปรุงเป็นอาหารตามฤดูกาล

คุณวิทยา วนาสถิตย์ อดีตเกษตรอำเภอสบเมย ผู้ริเริ่มส่งเสริมการปลูกบุก

หากเป็นเมื่อก่อน ต้องยอมรับเลยว่า “บุก” เป็นพืชที่มาจากป่าจริงๆ แม้กระทั่งปัจจุบัน “บุก” ก็ยังเป็นพืชที่มีชาวบ้านหรือเกษตรกรเข้าไปเก็บจากป่ามาขายเป็นรายได้

นับย้อนไปเมื่อ 4 ปีก่อน คุณวิทยา วนาสถิตย์ อดีตเกษตรอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เคยดำรงตำแหน่งเกษตรอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในคราวนั้นคุณวิทยารับทราบข้อมูลเรื่องการเข้าป่าขุดหัวบุกไปขาย โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยหารือเรื่องการเข้าป่าหาของป่าไปขายของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงที่มีมาก จากการที่มีบริษัทสัมปทานพื้นที่ป่าเพื่อให้ชาวบ้านเข้าไปขุดหัวบุกนำมาขาย ความจำเป็นในการทำสัมปทานก็เพื่อให้มีการซื้อขายอย่างถูกต้อง เนื่องจากนำหัวบุกออกมาจากพื้นที่ป่า

แนวคิดของคุณวิทยา เมื่อรับทราบข้อมูล คือหากไม่ส่งเสริมให้มีการปลูก อนาคตพืชชนิดนี้จะหมดไปในที่สุด จึงหารือกับชาวบ้านในพื้นที่และป่าไม้ ในการทำกิจกรรมส่งเสริมการปลูกบุก จึงเริ่มส่งเสริมในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงบางส่วน และจริงจังเมื่อย้ายไปดำรงตำแหน่งเกษตรอำเภอสบเมยในช่วง 2 ปีท้ายของชีวิตข้าราชการ

คุณวิทยา วนาสถิตย์ กับเกษตรกรชาวสบเมย ที่ทำไร่บุก

ในอดีต ราคาบุกที่เก็บมาจากป่า เมื่อนำมาขายให้กับพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางเข้ามารับซื้อไม่ได้สูง เพียงกิโลกรัมละ 3-4 บาท หรือขายได้ราคาสูงก็ไม่เกิน 8 บาท ต่อกิโลกรัม

เมื่อพื้นที่มีจำนวนบุกมากขึ้น เศรษฐกิจด้านการรับซื้อบุกก็ดีขึ้น ทำให้มีการตั้งโรงงานแปรรูปบุกในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนถึง 2 แห่ง การนำบุกจากป่ามาขายจึงเป็นเรื่องที่เกษตรกรไม่ต้องลงทุน แต่มีรายได้จากการขายบุกอย่างง่าย จากหัวบุกในอดีตที่เคยขุดมาขาย น้ำหนักมากถึงหัวละ 10 กิโลกรัม ปัจจุบันกลับเล็กลง เพราะเกษตรกรแย่งกันขุด

เริ่มต้นทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยให้ป่าไม้เจ้าของพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม อนุญาตให้เข้าไปเก็บหัวบุกมาขายได้ แต่ขอให้เลือกหัวที่มีความใหญ่ เพื่อให้หัวบุกที่มีขนาดเล็กได้เจริญเติบโตก่อน

จากนั้นเริ่มส่งเสริมให้มีการปลูกบุก โดยเก็บไข่บุกจากป่านำมาเพาะเป็นต้นพันธุ์ นำไข่บุกไปหว่านในแปลง ปล่อยให้ขึ้นเอง ก่อนนำไปแจกจ่ายเกษตรกรที่ต้องการปลูกให้ทั่วถึง

ไข่บุก สำหรับนำไปเพาะ

เกษตรกรสบเมยต่างเห็นด้วยกับแนวคิดของอดีตเกษตรอำเภอ จึงเพาะกล้าบุกจากไข่บุกที่เข้าไปเก็บจากป่า แล้วนำบุกไปปลูกแซมในพืชที่ปลูกอยู่แล้ว เช่น อะโวกาโด ลูกเนียง กาแฟ ทำให้เกษตรกรมีพื้นที่ปลูกบุกเป็นของตนเอง แต่การเข้าไปเก็บหัวบุกในป่าก็ยังคงทำได้ตามเดิม

ไข่บุก จะเจริญงอกงามอยู่กลางง่ามใบ แต่การเก็บไม่สามารถเด็ดออกจากง่ามใบนำมาเพาะได้ เพราะจะทำให้ไข่บุกเน่า และเชื้อราจากสภาพแวดล้อมเข้าไปทำลายไข่บุก แต่ละรอบการผลิตในฤดูแล้งจะเป็นช่วงที่ลำต้นตายตามธรรมชาติ หลังลำต้นล้ม ประมาณ 1 สัปดาห์ ไข่บุกจะหลุดจากขั้วบริเวณง่ามใบออกมาเอง จากนั้นจึงเก็บไข่บุกนำไปเพาะขยายพันธุ์ได้ ในแต่ละต้นอาจมีไข่บุกมากถึง 60 ลูก

การปลูกบุก คุณวิทยา บอกว่า บุกเป็นพืชล้มลุกที่เจริญเติบโตตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ ไม่ต้องให้ปุ๋ย ไม่ต้องตัดแต่งกิ่งใดๆ และชอบดินร่วนปนทราย รวมถึงการอยู่ในที่ร่มแสงแดดรำไร ดังนั้น การปลูกบุกแซมในร่องสวนหรือปลูกร่วมกับพืชชนิดอื่นจึงทำได้ ไม่ต้องเสียพื้นที่

การปลูก ควรเริ่มลงปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม เมื่อนำต้นกล้าที่เพาะจากไข่บุกมาปลูก ก็ขุดหลุมลงไปเพียงนิดเดียว เอาดินกลบ หากขุดหลุมลึกเกินไปจะทำให้หัวเน่าและการขุดเก็บทำได้ยาก

การปลูกแซมสามารถทำได้ในทุกๆ พื้นที่ และปลูกร่วมกับพืชได้ทุกชนิด

การปลูกเชิงเดี่ยว ควรปลูกให้มีระยะระหว่างต้นและแถวอยู่ที่ 50×70 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกบุกได้ประมาณ 5,000 ต้น

ขนาดของหัวบุก ขึ้นอยู่กับการลงปลูกครั้งแรกว่าหัวบุกมีขนาดเท่าไหร่

เช่น หัวบุกที่เป็นต้นกล้า เมื่อปลูกระยะเวลา 1 ปี หัวบุกที่ได้เมื่อขุดไปขายจะมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แต่ถ้านำหัวบุกที่มีขนาดครึ่งกิโลกรัมลงปลูก ระยะเวลาปลูก 1 ปี จะได้น้ำหนักหัวบุก 2-3 กิโลกรัม ซึ่งจะใหญ่ขึ้นเป็น 3 เท่า ใน 1 ปี ฉะนั้น หากนำหัวบุกที่มีขนาดใหญ่มากเท่าไรลงปลูก ระยะเวลาเพียง 1-2 ปี ก็ทำให้ได้น้ำหนักของหัวบุกที่เพิ่มขึ้นอีกทวีคูณ

หลังลงปลูก หากเกษตรกรต้องการเก็บผลผลิตขายเร็ว ระยะเวลา 6 เดือน น้ำหนักหัวบุกครึ่งกิโลกรัม ก็สามารถขุดนำไปขายได้ ยกเว้นหัวบุกที่มีขนาดเล็กเกินไป โรงงานจะไม่รับซื้อ เนื่องจากนำเข้าเครื่องแปรรูปไม่ได้ หรือหัวเล็กแต่สามารถเข้าเครื่องแปรรูปได้ โรงงานก็จะให้ราคาต่ำกว่าที่รับซื้อทั่วไป

ในเกษตรกรที่อยู่พื้นที่ห่างไกลโรงงานมาก การเดินทางมาส่งบุกที่โรงงานในแต่ละครั้งต้องใช้เวลา คุณวิทยาจึงเข้าไปส่งเสริมให้ทำบุกตากแห้ง แล้วจึงนำมาส่งให้กับโรงงาน เป็นการลดน้ำหนักของบุกเมื่อขนส่ง ทั้งยังเพิ่มมูลค่าบุกขึ้นไปอีก โดยเนื้อบุก 7 กิโลกรัม เมื่อทำบุกตากแห้งแล้ว จะได้เนื้อบุก 1 กิโลกรัม แต่เกษตรกรจะได้ราคาขายบุกจากราคาปกติเพิ่มขึ้นไปอีก 10 ตัว ซึ่งวิธีการทำบุกตากแห้งไม่ยาก เพียงนำบุกมาล้างให้สะอาด เข้าเครื่องสไลซ์ จากนั้นใช้แก๊สหุงต้มทำความร้อนเพื่อทำให้บุกแห้ง หรือนำไปตากแห้งกับแดด 2 วัน 2 คืน แล้วเก็บไปขายให้กับโรงงาน แต่การตากแห้งควรระวัง เพราะหากเนื้อบุกมีคุณภาพ เมื่อทำตากแห้งแล้วเนื้อบุกจะไม่ดำ หากเนื้อบุกดำ ราคาซื้อขายกับโรงงานจะถูกลงอีก

ปัจจุบัน มีเกษตรกรทำไร่บุกกว่า 3,000 ครัวเรือน พื้นที่อำเภอสบเมยเป็นพื้นที่ดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับพืชมีหัวอย่างบุกอยู่แล้ว ทำให้แต่ละปีมีผลผลิตจากบุกเข้าสู่โรงงานในปริมาณที่สูง ในแต่ละปีมีผลผลิตบุกเฉพาะอำเภอสบเมยป้อนให้กับโรงงานในพื้นที่มากถึง 20,000 ตัน ในปริมาณนี้ คุณวิทยา บอกว่า ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบุกจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะยังมีผู้ผลิตจากประเทศจีนเข้ามาติดต่อรับซื้อบุกในพื้นที่อีกหลายราย ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นเรื่องของบริษัทรับสัมปทานและโรงงานแปรรูปดำเนินการเอง หากส่งไปยังประเทศจีน สามารถส่งออกไปในรูปของหัวบุกได้เลย แต่ถ้าส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น จำเป็นต้องแปรรูปหัวบุกให้อยู่ในรูปของบุกผงก่อน

“การทำไร่บุกต้นทุนต่ำมาก หากซื้อไข่บุกมาปลูกเอง ราคาลงทุน 50 บาท ต่อกิโลกรัม พื้นที่ต่อไร่ใช้ไข่บุก ประมาณ 100 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 5,000 บาท หากปลูกไว้เพียง 6 เดือน แล้วขุดมาขาย จะได้น้ำหนักบุกหลุมละครึ่งกิโลกรัม รวมน้ำหนักบุกที่ได้ ไร่ละ 2,500 กิโลกรัม คิดราคาบุกเฉลี่ยที่ 20 บาท ต่อกิโลกรัม จะได้เงินจากการขายประมาณ 50,000 บาท ต้นทุนการผลิตนอกเหนือจากค่าไข่บุกแล้ว อาจมีค่าแรงงาน รวมๆ คิดไปที่ต้นทุน 10,000 บาท ทำให้เหลือกำไรจากการขายบุก 40,000 บาท ต่อไร่ และหากเกษตรกรปล่อยไว้นาน 1-3 ปี ก็จะทำให้ได้น้ำหนักบุกมาก สัดส่วนกำไรต่อไร่จากการขายบุกก็จะมากกว่านี้อีกหลายเท่า”

อย่างไรก็ตาม การขุดหัวบุกมาจำหน่าย หากหัวบุกที่ลงปลูกมีระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ก็ไม่ควรรีบขุดไปจำหน่าย แม้ว่าน้ำหนักหัวบุกจะได้น้ำหนักตามต้องการ เพราะเนื้อบุกจะยังไม่แก่ถือว่ายังไม่มีคุณภาพ เมื่อเนื้อบุกยังไม่แก่เต็มที่ ขณะขุดออกมาหัวบุกจะไม่เป็นไร แต่จะเริ่มเน่าระหว่างขนส่ง เพราะเนื้อในของบุกยังไม่แน่น วางทับกันมากจะเละและเน่าในที่สุด ทำให้ผลผลิตเสียหายก่อนถึงโรงงาน

“ผมเคยคำนวณราคาต้นทุนและราคาซื้อขายบุก พบว่า จริงๆ ราคารับซื้อในอดีตที่ชาวบ้านไม่มีต้นทุนเลย อยู่ที่กิโลกรัมละ 3-4 บาท เมื่อมีต้นทุน ราคาซื้อขายบุก อยู่ที่กิโลกรัมละ 10-15 บาท ชาวบ้านก็ได้กำไรแล้ว แต่เพราะบุกยังเป็นพืชที่มีความต้องการสูง และผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ราคาซื้อขายปัจจุบันพุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 27 บาท”

เกษตรกรหลายราย รู้จักวิธีการสร้างมูลค่าจากบุก เมื่อถึงระยะที่ต้นบุกล้ม ก็รอให้ถึงเวลาไข่บุกหลุด เก็บไข่บุกนำไปขาย หรือบางรายเพาะไข่บุกเป็นต้นกล้าก่อน เพื่อให้หัวบุกที่นำไปปลูกจากแปลงเพาะมีหัวขนาดใหญ่ขึ้นในระยะเวลาเท่ากับการปลูกด้วยไข่ หรือบางรายยังไม่เก็บหัวบุกในไร่ของตนเอง แต่เข้าไปเก็บหัวบุกจากป่าออกมาขาย เพราะหวังให้หัวบุกในไร่มีขนาดใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ การตากแห้งก็เป็นที่นิยมทำในกลุ่มเกษตรกรชาวสบเมย เพราะราคาผลผลิตสูงกว่าการซื้อขายบุกสดหลายเท่า

ทุกวันนี้ คุณวิทยา เกษียณอายุราชการออกมาแล้ว แต่ยังคงทำหน้าที่นักวิชาการเกษตรได้อย่างดีเช่นเดิม ด้วยการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการเข้าไปส่งเสริมการปลูกบุกให้กับเกษตรกรที่สนใจ และหากพื้นที่ใดที่เห็นว่า พื้นที่เหมาะสมสำหรับปลูกบุก ต้องการวิทยากรที่มีความรู้ สามารถติดต่อ คุณวิทยา วนาสถิตย์ ได้ที่ บ้านเลขที่ 334/4 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกาศ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือโทรศัพท์ 081-960-4986