การออกขวด “กล้วยไม้สกุลช้าง” และการขุนลูกกล้วยไม้สกุลช้างให้โตไวๆ จนพร้อมให้ดอก

วิธีการเอาลูกกล้วยไม้สกุลช้างออกขวด

หลังจากการนำฝักที่ผสมได้ส่งเข้าห้องแล็บเพาะเมล็ดในอาหารวุ้น ซึ่งเมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นเจริญเติบโตในขวดจนพร้อมย้ายออกจากขวด ซึ่งการย้ายกล้วยไม้สกุลช้างที่แนะนำอาจจะแตกต่างจากสวนกล้วยไม้อื่นบ้าง แต่เท่าที่ใช้วิธีนี้มาก็ช่วยให้คนดูแลสวนมือไม่เปื่อย และยังเอาลูกกล้วยไม้ออกขวดได้รวดเร็ว สามารถทำได้ครั้งละหลายๆ ขวดด้วย หลายๆ ท่านจะได้ลองนำไปประยุกต์ใช้ดู

เอากระดาษหนังสือพิมพ์ห่อขวดไว้
ห่อหลายๆ ชั้นป้องกันเศษแก้ว

ขั้นแรก ให้ใช้หนังสือพิมพ์สัก 3-4 ชั้น นำมารองขวดที่เราจะเอากล้วยไม้ช้างออกจากขวด ต่อมาก็นำหนังสือพิมพ์ห่อขวด เหมือนทำขนมปังโรล แต่อย่าพลิกขวด ยังคงให้ขวดกล้วยไม้ตั้งขึ้นเหมือนเดิม ทุบลงเน้นๆ ที่หัวและท้ายของขวดให้แตก อย่าทุบตรงกลางขวด เพราะเศษแก้วอาจไปทับต้นช้างเผือกน้อยของเราช้ำได้ เปิดกระดาษออก แล้วค่อยๆ เก็บเศษแก้วออกให้หมด นักเลี้ยงกล้วยไม้หลายท่านก็ใช้วิธีเอาลวดมาดัดเป็นตะขอแล้วแหย่ลงทางปากขวด ใช้เกี่ยว

ใช้ค้อนทุบคอและก้นขวด
แกะกระดาษหนังสือพิมพ์ด้วยความระมัดระวัง

กล้วยไม้ออกมาทีละต้น วิธีดังกล่าวก็ใช้ได้แถมขวดยังนำกลับไปขายได้ แต่เมื่อมาคำนวณเทียบกับความรวดเร็วและการช้ำของรากลูกไม้ พบว่าใช้วิธีทุบปลอดภัยต่อลูกกล้วยไม้มากกว่า เมื่อเก็บเศษแก้วออกหมดเราก็จะเหลือลูกช้างเผือกต้นสวย ที่รากยังคงเกี่ยวพันกันอยู่และยังคงมีวุ้นอาหารเกาะอยู่ที่รากด้วย

ต้นกล้วยไม้ที่ออกมาจะไม่ช้ำ
ค่อยๆ แกะแยกลูกกล้วยไม้ออกจากกัน

ก็ต้องมาถึงขั้นตอนถัดไป ให้ไปหาตะกร้าพลาสติกใบใหญ่ หรือจะใบเล็ก ก็ขึ้นกับความถนัด บางท่านใช้ตะกร้า ขนาด 8×12 นิ้ว บางท่านก็ใช้ 6×8 นิ้ว บางสวนอาจจะเลือกใช้ขนาดแรก เนื่องจากที่สวนความชื้นสูง แต่บางท่านที่โรงเรือนไม่ใหญ่นักความชื้นต่ำก็แนะให้เลือกขนาดเล็กตัวที่สอง เป็นต้น

เมื่อได้ตะกร้าพลาสติกมาแล้ว จะใช้มือเปล่าๆ หรือสวมถุงมือยางก็ได้แล้วแต่ถนัด แต่ควรล้างทั้งมือและถุงมือยางให้สะอาดก่อนนะครับ ค่อยๆ ดึงต้นกล้วยไม้ช้างต้นน้อยๆ ออกมาแผ่ทีละต้นสองต้น ดึงเบาๆ อย่าให้รากช้างน้อยช้ำ หรือหัก หากมีวุ้นติดมาที่รากก็ให้รูดวุ้นทิ้งด้วย แต่อย่าบีบรากช้างน้อยแรง หากยังมีวุ้นเล็กน้อยติดอยู่ก็ไม่เป็นไร

นำลูกกล้วยไม้พักใส่ตะกร้า
ล้างวุ้นอาหารออกให้สะอาดก่อนนำไปอนุบาลในตะกร้า

ขั้นตอนถัดไป เราสามารถเอาออก ผู้ทำการแยกย้ายต้องใจเย็นๆ เมื่อได้ลูกช้างแยกเป็นต้นๆ ก็ให้นำไปวางเรียงในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ ค่อยๆ นำไปวางและเกลี่ยให้ทั่วตะกร้า วางทับกันบ้างเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร หลังจากแยกเป็นต้นๆ และเกลี่ยวางลงในตะกร้าพลาสติกเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราจะเห็นว่ายังมีวุ้นติดอยู่บ้างตามราก และใบของช้างน้อย ก็ต้องมาถึงขั้นตอนการล้างวุ้นกัน ควรเลือกพื้นปูนที่สะอาดและควรมีสายยางต่อจากก๊อกน้ำมาวางไว้ข้างๆ เพื่อจะบังคับทิศทางน้ำได้ดังในภาพ

สำหรับตะกร้าพลาสติกแนะนำว่าควรแขวนลวดไว้ตั้งแต่แรก เพื่อความง่ายในเวลาล้างวุ้นออก เพราะสามารถที่จะจับลวดหมุนเปลี่ยนทิศทางของตะกร้าได้ น้ำจากสายยางที่ใช้ฉีดล้างวุ้น ไม่ควรแรงมากเกินไปจนทำให้ใบและต้นกล้วยไม้ช้ำ และก็ไม่ควรเบาจนวุ้นไม่ยอมหลุดออกไปจากรากลูกกล้วยไม้ ต้องดูความแรงของน้ำจากสายยางให้พอดี ฉีดวุ้นออกให้มากที่สุด ตรงไหนสีดำๆ วุ้นออกไม่หมดก็ไม่เป็นไร ให้ปล่อยไว้อย่างนั้นไม่ต้องไปใช้มือหรืออุปกรณ์ช่วยขัด เพราะจะทำให้รากช้ำตาย ปล่อยวุ้นค้างไว้เล็กน้อยก็ได้ แล้วค่อยใช้ยาป้องกันเชื้อราก็ควบคุมได้

ระหว่างที่ฉีดก็ให้จับลวดที่แขวนตะกร้าให้หมุนรอบๆ ด้วย วุ้นจะได้ออกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับผู้ที่ใช้น้ำประปาโดยตรง ฉีดล้างวุ้น หลังจากล้างเสร็จ แนะนำให้ใช้น้ำเปล่าที่สะอาดที่พักค้างคืนเกินกว่า 1 คืน ราดลงบนต้นลูกกล้วยไม้ในตะกร้าอีกครั้ง เพื่อป้องกันการตกค้างของคลอรีนจากน้ำประปาโดยตรง เมื่อล้างเสร็จเราก็ควรเขียนป้ายชื่อกำกับไว้ บอกสายพันธุ์ และวันที่ออกขวด เพื่อดูอายุกล้วยไม้ด้วย ติดป้ายชื่อแล้วนำตะกร้าขึ้นแขวนเป็นกลุ่มๆ ครั้งละ 5-6 ใบ ก็ดีครับ เป็นการเพิ่มความชื้นให้ต้นลูกช้างด้วย

เมื่ออนุบาลจนต้นมีขนาดใหญ่ ก็จะเอาออกจากตะกร้ามาอนุบาลเลี้ยงในกระถาง 1 นิ้ว

ขั้นตอนถัดไปก็คือ การหาที่แขวนให้ลูกช้างได้ปรับสภาพตัวเอง แนะนำว่า นำกล้วยไม้ที่เพิ่งออกขวดมาแขวนรวมกันโดยให้อยู่ใต้หลังคาใสกันฝน ใต้ซาแรนพรางแสงอีกชั้นหนึ่ง และมักจะใช้ลวดเก่าแขวนโยงให้ไม้ตะกร้าอยู่สูงจากพื้นดินในระดับไม่เกิน 50 เซนติเมตร เท่าที่ดูไม้ตะกร้าฟื้นตัวได้ไว และอัตราการตายแทบไม่มีเลย เทคนิคเบื้องต้นเหล่านี้หวังว่าคงมีหลายท่านที่จะได้นำไปพัฒนาและปรับปรุงวิธีการให้เหมาะสมและดียิ่งขึ้น ซึ่งก็คงบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาวงการกล้วยไม้ของไทยให้ดียิ่งขึ้นไป

ขุนให้โตไว

หลังจากทราบเทคนิคการออกขวดไม้ตระกูลช้างไปแล้ว คราวนี้เรามาดู “วิธีการขุนกล้วยไม้สกุลช้างเพื่อให้โตไว” กัน หวังว่าหลายๆ ท่านคงได้นำความรู้และแนวทางที่ได้ไปปรับประยุกต์ใช้กันต่อไป หลังจากลูกช้างเข้าสู่ตะกร้าแขวน และถูกนำไปวางในที่ที่เหมาะสมแล้ว แนะนำให้นำไปวางไว้ในโรงเรือน โดยวางหลังคาสังกะสี หรือกระเบื้องใส ซ้อนใต้ซาแรนอีกชั้นหนึ่งเพื่อกันฝนตกใส่ลูกช้างโดยตรง เนื่องจากลูกช้างยังค่อนข้างบอบบาง ดังนั้น เม็ดฝนเม็ดใหญ่ อาจทำให้ใบและรากของลูกช้างบอบช้ำได้ ซึ่งจะนำมาซึ่งโรคร้ายหลายตัวจากรอยแผลที่เกิดจากเม็ดฝน

เมื่อขึ้นตะกร้าได้วันเดียว วันรุ่งขึ้นควรจะใช้ยาป้องกันเชื้อราผสมกับน้ำในอัตราส่วนเจือจางคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ฉลากแนะนำ ฉีดพ่นให้ลูกช้างในตะกร้า แล้วควรให้ต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้งถึงสองครั้ง ให้ดูความถี่จากสภาพอากาศ ชื้นมากก็ให้สองครั้ง เป็นต้น และนับจากออกขวดได้ 6-7 วัน ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยจางๆ กับลูกช้าง

จากกระถาง 1 นิ้ว ก็ขยับมาเลี้ยงในกระเช้า

สำหรับสูตรปุ๋ยเกล็ดที่จะใช้ จะเริ่มใช้ที่สูตรตัวหน้าสูงก่อนครับ เช่น 30-20-10 ฉีดพ่นให้ได้สัปดาห์ละครั้ง ส่วนการรดน้ำ ช่วงนี้สำคัญมาก ใช้หัวพ่นฝอยละเอียด พ่นอย่าให้แรงมาก (ทดสอบแบบที่ฉีดใส่มือเราแล้วรู้สึกนุ่มๆ) กันการกระแทกต้น ใบ และรากของลูกช้าง รดให้ได้เช้าเย็น อย่าให้น้ำขาด แต่อย่าให้ลูกช้างเปียกแฉะตลอดเวลา รดให้โชก และปล่อยให้ลมโกรกให้แห้ง ถึงเวลาอีกครั้งค่อยรดใหม่ครับ ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ลูกช้างก็จะเริ่มต่อรากจากรากเดิมแล้ว ทีนี้ก็รอให้รากยาวขึ้นมาอีกนิด อายุประมาณ 7-8 สัปดาห์ จากออกขวด เราก็ควรจะรีบนำลูกช้างขึ้นกระถางถ้วยนิ้วได้แล้ว

สำหรับการย้ายลูกช้างจากตะกร้าไปใส่กระถางถ้วยนิ้ว ส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะใช้เวลาในตะกร้า ประมาณ 2-3 เดือนครับ หรือบางสวนไม่มีพื้นที่ก็อาจค้างในตะกร้าได้เป็นปีได้เช่นกัน แต่ข้อเสียของการทิ้งไว้ในตะกร้าไว้นานก็คือ รากกล้วยไม้จะเกาะกันแน่น เวลาแยกต้นค่อนข้างยุ่งยากมาก

เมื่อต้นอายุ 2-3 ปีขึ้นไป ก็พร้อมที่จะออกดอก

สำหรับการย้ายจากตะกร้าขึ้นถ้วยกระถางนิ้ว สามารถเลือกใช้เครื่องปลูกในถ้วยกระถางนิ้วได้หลายอย่าง อย่างในภาพ คุณสายาห์ นิยมใช้สแฟกนั่มมอส เนื่องจากลองดูแล้วกล้วยไม้โตไวและสมบูรณ์ดี แต่ในบางสวนก็เลือกใช้กระถาง ถ้วยเปล่าบ้าง ใช้กาบมะพร้าวชิ้นบ้าง ใช้ออสมันด้าก็มีขึ้นกับวิธีการของแต่ละสวน หากจะเลือกปลูกแบบสวน ก็เพียงหาซื้อสแฟกนั่มมอส มาแช่น้ำสัก 1-2 คืน จากนั้นก็นำมายัดและหนีบกับลูกช้างลงกระถางถ้วยได้เลย แต่ก่อนนำลูกช้างแยกมาหนีบ ควรนำลูกช้างทั้งตะกร้าไปแช่น้ำเปล่าก่อน สัก 10-15 นาที เพื่อให้รากอ่อนตัว เวลาแยกรากจะได้ไม่หักง่าย

เนื่องจากบางสวนปลูกช้างแต่ละรุ่นในปริมาณไม่สูงนัก ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 400-500 ต้น ดังนั้น จึงไม่ตั้งโต๊ะถาวร หาซื้อตะแกรงพลาสติก อันละประมาณ 40-50 บาท มาแขวนด้วยลวดดังในภาพ สำหรับท่านที่ทำจำนวนเยอะ จะตั้งโต๊ะถาวรก็ดูแลง่ายดีเช่นเดียวกัน

แนะนำว่า สำหรับผู้ที่ใช้สแฟกนั่มมอสควรควบคุมเรื่องการให้น้ำให้ดี ส่วนใหญ่จะให้น้ำมากไปจนรากกล้วยไม้ลูกช้างเน่าได้ เพราะสแฟกนั่มมอสมักอุ้มน้ำไว้ได้ดีมาก เป็นไปได้ผู้ปลูกเลี้ยงให้ดูสภาพอากาศด้วย รดน้ำซัก 2-3 วันครั้ง โดยรดให้โชกแล้วปล่อยให้ลมโกรก และยาป้องกันเชื้อรา สัปดาห์ละครั้งก็อย่าขาด ในภาพช้างเผือกที่ขึ้นกระถางถ้วยนิ้วไว้ไม่กี่เดือนรากก็เริ่มเดินแข็งแรง ต้นก็เริ่มตั้งสวยแล้ว

ช้างเผือก

สำหรับการเลี้ยงในกระถางถ้วยนิ้ว สูตรปุ๋ยที่แนะนำใช้สูตรตัวหน้าสูง คือ 30-20-10 เป็นปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ เวลารดต้องผสมกับน้ำ แต่สำหรับท่านที่เลือกใช้ออสโมโค้ทก็คงต้องหยอดในถ้วย การใช้ปุ๋ย คุณสายาห์ จะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเลือกวันที่อากาศค่อนข้างปลอดโปร่ง ลมไม่แรงเกินไปนัก ที่สวนจะเลือกให้ปุ๋ยช่วงเช้า หากกล้วยไม้ได้รับปุ๋ยช่วงเช้า พอสายๆ เขาได้รับแสงแดดก็จะสังเคราะห์แสงได้พอดี อีกเทคนิคหนึ่งที่สวนผมเลือกใช้คือ การให้น้ำก่อนให้ปุ๋ย โดยที่สวนจะให้น้ำทั้งสวนจนโชกก่อน พอทิ้งไว้ให้ต้นเริ่มหมาดๆ หน่อยก็จะเริ่มให้ปุ๋ย

อีกเทคนิคหนึ่งที่สวนเลือกใช้ คือการใช้ปุ๋ยยูเรียเสริมจากการให้ปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูง โดยจะให้ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) สลับกับปุ๋ยปกติในจำนวนครั้ง 1 : 3 นั่นคือ หากเดือนหนึ่งมี 4 สัปดาห์ จะให้ปุ๋ยตัวหน้าสูงทุกสัปดาห์ รวม 3 ครั้ง แต่มีครั้งหนึ่งที่เราจะให้ปุ๋ยยูเรียแทนปุ๋ยตัวหน้าสูง เท่าที่ทำมาหลายปี ดูลูกไม้นิ้วเติบโตได้ดี ใบก็สวย ต้นก็อวบ

สำหรับอัตราการผสมปุ๋ยยูเรียกับน้ำที่ใช้รด แนะนำให้ใช้ที่อัตราน้ำ 1 ปี๊บ (20 ลิตร) ใช้ยูเรีย 1-2 ช้อนโต๊ะ ที่สำคัญคือต้องทำละลายยูเรียให้หมด เคยพบว่าเวลายูเรียละลายไม่หมด แล้วเผลอกันบีบไปรดกล้วยไม้ต้นใด พอโดนแดดจัดๆ ใบเหลืองร่วง ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการใช้

ช้างพลาย

ปุ๋ยและยา ป้องกันเชื้อรา

เมื่อขึ้นกระเช้าแขวนแล้วต้องอย่าขาดสัปดาห์ละครั้งเหมือนเดิม ช่วงปีแรกที่ขึ้นกระเช้าแขวนก็ให้ใช้ปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูงเหมือนเดิมไปก่อน บางสวนอาจจะมีการเปลี่ยนสูตรเป็นสูตรเสมอก็ใช้ได้ไม่มีปัญหา สำหรับผู้ที่ใช้สูตรเดิม ช่วงท้ายๆ ก็ควรแทรกด้วยสูตรเสมอ

เมื่อเลี้ยงไม้กระเช้าไปประมาณ 2-3 ปี ทีนี้ดอกช้างช่อน้อยก็จะเริ่มออกมาให้ชม สำหรับปุ๋ย ควรกะระยะเวลาให้ดีโดยดูจากสภาพต้นของช้างในกระเช้า หากดูแล้วต้นสมบูรณ์ ใบใหญ่ มีใบข้างละ 3-4 ใบ นั่นแสดงว่าพร้อมที่จะให้ดอกช่วงปลายปี ถ้าอย่างนี้ช่วงเดือนกันยายน หรือตุลาคม ควรจะเริ่มเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเกล็ดเป็นสูตรตัวกลางสูงได้แล้ว ให้สัปดาห์ละครั้งเหมือนเดิม

หากปลายปียังไม่ได้ชมดอก อาจเนื่องจากต้นยังสมบูรณ์ไม่มากพอที่จะให้ช่อดอกได้ ก็ไม่ต้องเสียใจ ปุ๋ยสูตรตัวกลางสูงจะเป็นตัวการช่วยป้องกันการทิ้งใบ หรืออาการใบเหลืองของต้นช้างได้เหมือนกัน รอปีใหม่ พอต้นสมบูรณ์ ช่อก็จะยิ่งยาวและสวยมากๆ

กล้วยไม้สกุลช้างที่เบ่งบานในหน้าหนาว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2562

UPDATE ข้อมูล 8/6/64