“นัยนา” หญิงแกร่งไทลื้อ แห่งบ้านห้วยหาด เมืองน่าน

บ้านห้วยหาด เป็นชุมชนคนพื้นราบลุ่มเชิงเขา ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากหมู่บ้านต่างๆ ในเขตพื้นที่ตำบลอวน อำเภอปัว ซึ่งมี ร้อยโท สรรณทิพย์ ว่องไว เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน ตามแผนยุทธศาสตร์ป้องกันอันเป็นคอมมิวนิสต์ อันอยู่ภายใต้การควบคุมของ พลตรี ประหยัด รอดโพธิ์ทอง ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองพลทหารม้า ร่วมพัฒนาหมู่บ้าน โดยได้อบรมไทยอาสาป้องกันชาติให้กับชาวบ้าน รวมไปถึงได้สร้างอาคารเรียนให้กับหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2523-2524 ในช่วงเวลานั้นมีผู้คนไทลื้อบ้านห้วยหาด เพียง 37 หลังคาเรือน

ชาวบ้านผู้สูงอายุได้เล่าให้ฟังว่า

ผู้ใหญ่นัยนา ฑีฆาวงศ์ หญิงไทลื้อ

“เกือบสี่สิบปีมาแล้วที่ นายพูนชัย เนียมวัฒนะ นายอำเภอปัวในขณะนั้น ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ปกครองอำเภอปัว ได้เข้ามาเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แต่เนื่องจากคณะกรรมการหมู่บ้าน บ้านห้วยหาดเคยเป็นฐานที่ตั้งของผู้ก่อการร้าย ชาวบ้านเคยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเหยียบกับระเบิด ทำให้ชาวบ้านบางส่วนทยอยอพยพกลับภูมิลำเนาเดิม จึงทำให้ผู้คนลดจำนวนลงเหลือเพียง 17 หลังคาเรือนเท่านั้น ผู้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร มีผู้นำหมู่บ้านหลายคนเข้ามาทำหน้าที่ปกครองดูแล เริ่มตั้งแต่ นายสวาย นายสยุด ใหม่น้อย นายประชุม ล้วนปวน จนมาถึงผู้นำคนปัจจุบันเป็นผู้หญิงชื่อ นัยนา ฑีฆาวงศ์

ผู้ใหญ่สวาย ผู้เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชน บ้านห้วยหาด

อย่างไรก็ดี บ้านห้วยหาดเป็นชุมชนที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ในช่วงแรกๆ เนื่องจากตั้งอยู่ในซอกหลืบของเทือกเขาต้นน้ำที่ทอดยาวสลับซับซ้อนยืนตระหง่านอย่างท้าทาย มีสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์ร่วมพึ่งพิงอาศัยอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมาเนิ่นนาน สายธารน้อยใหญ่หลั่งไหลมาจากภูสูงลดหลั่นเลี้ยววกมาเป็นสายน้ำหล่อเลี้ยงมวลชีวิต ส่ำสัตว์ต่างดำรงชีพความเป็นอยู่แบบแบ่งปันและเรียบง่าย เหล่าผู้คนก็ทำนาทำสวนบนผืนดินที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติเป็นอาชีพหลัก บางรายยึดการทำไร่เลื่อนลอยแปลงเล็กๆ เพาะปลูกพืชไร่เพื่อดำรงชีพ

ศาลบรรพชนที่คนไทลื้อ บ้านห้วยหาด

ในช่วงเวลาต่อมา องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มาเปิดสัมปทานป่าไม้ ทำให้ป่าเริ่มเสื่อมโทรมลง ส่งผลให้เกิดสภาพแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำการเกษตรก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ในที่สุดบรรดาผู้คนในชุมชน ต่างอดอยากแร้นแค้น จำเป็นต้องอพยพไปขายแรงงานตามหัวเมืองเพื่อพยุงการใช้ชีวิตให้คงอยู่

ผู้คนไทลื้อต่างร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ทั้งผู้นำและผู้คนที่ได้รับผลกระทบต่างนำปัญหามาร่วมคิดพิจารณากันว่าหากไม่สามารถแก้ไขภาวะวิกฤตดังกล่าวให้ลุล่วงไปแล้ว คงจะลำบากในการใช้ชีวิต จึงได้หาทางออกโดยการทำไร่เลื่อนลอยเพิ่มขึ้น บุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อใช้พื้นที่มากขึ้น หันมาเอาจริงเอาจังกับการปลูกข้าวโพดกันเป็นส่วนใหญ่ เกือบทุกหลังคาเรือน ทำให้ผืนดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุตามธรรมชาติ กลับต้องถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ปุ๋ยอันเป็นสารเคมีและยาฆ่าศัตรูพืช ถูกนำมาใช้กันอย่างจริงจังเพื่อเพิ่มผลิตผลที่หวังว่าจะลืมตาอ้าปากได้ ทำให้เกิดสารพิษตกค้างแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก กระทบกระเทือนไปยังสัตว์ป่า สัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ ตลอดจนผู้คนในชุมชนได้รับความเดือดร้อนตามมา จากความไม่รู้ ท้ายที่สุดผู้คนต้องประสบภาวะวิกฤติหนักหนาสาหัสมากกว่าเดิม

เป็นต้นว่า ต้องซื้อน้ำจากนอกชุมชนมาดื่มมาใช้ แหล่งน้ำมีสารพิษตกค้าง พืชผักพื้นบ้าน พืชริมน้ำ สัตว์บกและสัตว์น้ำสูญหายไป บางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ แหล่งอาหารธรรมชาติเสื่อมโทรมลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้แต่พืชผักส่วนครัวก็เต็มไปด้วยสารพิษตกค้าง จำเป็นต้องซื้อหาจากภายนอกมาบริโภค ชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองได้เหมือนที่เคยเป็นมาจากอดีต

ขณะเดียวกัน ทุกครอบครัวต่างเกิดหนี้สินพอกพูนจากการปลูกข้าวโพด ที่สำคัญผลการสำรวจสุขภาพของผู้คนในชุมชนพบว่า ผู้คนเกือบทั้งหมดมีสารพิษตกค้างในเลือด ชุมชนจึงปรึกษาหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในที่สุดได้ตกลงปลงใจกันว่าต้องเลิกทำไร่เลื่อนลอย แต่ก็ใช้เวลาราวเกือบสิบปีจึงหยุดการทำไร่เลื่อนลอยปลูกข้าวโพดได้อย่างเด็ดขาด ผู้คนได้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากเดิม มาทำนาขั้นบันได นาข้างห้วย เพื่อปลูกไว้บริโภคในครัวเรือน ปลูกพืชผักสวนครัว พืชหลังนา และทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ในยามว่างงาน ต่างน้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงมาปรับใช้ในชุมชน

กระทั่งถึงปัจจุบันสภาพพื้นที่บ้านห้วยหาด ซึ่งมีผืนดินอยู่ในที่ราบเชิงเขาท่ามกลางหุบเขา มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีแก่งน้ำว้า น้ำตกตาดหลวงส่งผลให้

ผู้คนไทลื้อสานสายสัมพันธ์เผ่าพันธุ์ไทลื้อต่างชุมชนมาร่วม

“สภาพภูมินิเวศกลับพื้นคืนสภาพได้เกือบเหมือนอดีตมาอีกครั้งหนึ่ง อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้”

พ่อเฒ่ารายหนึ่งเอ่ยขึ้นพร้อมกับหายใจอย่างเต็มปอดด้วยได้รับอากาศเย็นสบายบริสุทธิ์มาตลอดทั้งปี

เนื่องจากเป็นผืนดินริมป่าเชิงเขา อันเป็นพื้นที่ราบสูง ประกอบไปด้วยภูเขาเป็นส่วนมาก มีแม่น้ำสายสำคัญที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรกรรม ทั้งแม่น้ำยาว แม่น้ำห้วยหลักลาย แม่น้ำห้วยหาด ผู้คนอยู่อาศัยตามที่ราบเชิงเขา หุบเขา ซึ่งมีอาณาบริเวณทิศเหนือติดต่อกับ บ้านยอดดอยวัฒนา ตำบลบ่อเกลือใต้ อำเภอบ่อเกลือ ทิศตะวันออกติดต่อกับ บ้านห้วยลอย สามารถใช้ถนนเชื่อมเป็นเส้นทางสัญจรไปได้หลายหมู่บ้าน ต่อกับบ้านห้วยหาดถึงบ้านห้วยหลักลาย สำหรับทิศใต้ มีเขตติดต่อกับบ้านแม่สะนาน ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข ส่วนด้านทิศตะวันตกติดต่อกับบ้านน้ำยาว ตำบลอวน อำเภอปัว

นอกจากนี้ บ้านห้วยหาดยังมีพื้นที่ป่าชุมชนอีกถึงสองแปลง อาณาบริเวณเกือบพันไร่ อาจกล่าวได้ว่าชุมชนบ้านห้วยหาดในระยะหลังซึ่งมีผู้นำเป็นหญิงแกร่งชาติพันธุ์ไทลื้อที่ชื่อ “นัยนา” ปลุกผู้คนให้ร่วมมือร่วมใจกันนำวิถีดั้งเดิมกลับมาใช้เป็นแนวทาง ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีพที่หลงทางไปตามกระแสให้คืนกลับมา ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมของท้องถิ่นตามที่บรรพชนเคยปฏิบัติกันมาช้านาน เป็นต้นว่า การฟื้นฟูพิธีกรรม “ผิดผี” การเลี้ยงแก้ม หรือ การเลี้ยงผีสบห้วย ถือเป็นการบูชาน้ำของคนไทลื้อ เป็นต้น

ฟื้นฟู พิธีเลี้ยงผีไร่ ผีนา ผีสวน อันเป็นจารีตดั้งเดิมที่จำเป็นต้องบอกกล่าวบูชาเซ่นสรวงเจ้าที่เจ้าทาง ก่อนที่จะเริ่มเพาะปลูกทุกครั้ง ถวายเครื่องบูชา และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเรียบร้อยแล้วก็กระทำพิธีกรรมอีกครั้งเป็นการขอบคุณ โดยมีความเชื่อว่า ถ้าทำแล้วผลผลิตจะดี ไม่มีสิ่งรบกวน พิธีบอกกล่าวบูชาบนบานนั้นได้นำดอกไม้ธูปเทียนมาเซ่นสรวงกับเจ้าที่ ช่วยบันดาลให้ผลผลิตดี ได้จำนวนมาก โดยนำเครื่องเซ่นที่บนบานไว้มาถวายเพื่อเป็นการบูชาขอบคุณสิ่งเหนือธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์ที่กลุ่มไทลื้อเคารพศรัทธา ดังนั้น เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้น และได้ผลดีตามที่เซ่นสรวงบนบานไว้ก็นำเครื่องมาบูชาตอบแทน เป็นต้นว่ามี หมู ไก่ อาหารคาวหวาน เหล้า เสื้อผ้า เป็นต้น

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2562