MG-3 : สับปะรดพันธุ์ใหม่ รสชาติหวานได้ใจ ผลใหญ่ จากฟิลิปปินส์

กระแส สับปะรดผลสด เริ่มมาแรง หลังจากที่สถานการณ์สับปะรดส่งโรงงานอุตสาหกรรมมีปัญหาด้านราคารับซื้อมาตลอด ด้วยระบบการซื้อและราคาที่ไม่แน่นอน มักจะต่ำกว่าต้นทุน เสมอต้นทุน หรือแค่ปริ่มต้นทุน ลุ้นได้ยากแล้ว แถมแนวโน้มดูจะไม่สดใส ล่าสุดลูกค้านำเข้ารายใหญ่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปลี่ยนใจตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ต่อสินค้าเกษตรไทยหลายรายการ งานเข้ายาวแน่ๆ ผู้พ่ายแพ้และบอบช้ำมากกว่าใคร เห็นจะเป็นชาวไร่สับปะรด ต้นน้ำที่ปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียเพื่อส่งขายโรงงาน ทางออกหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา จึงต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ที่ดูจะสดใสมากกว่า, MG-3 สับปะรดผลสดพันธุ์ใหม่ที่มีการนำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อนบ้านใกล้ชิดเราเผ่าอาเซียน เป็นอีกพันธุ์ที่ตอบสนองตลาดผลสดได้ดี เพราะคุณสมบัติที่โดดเด่นเหนือกว่าพันธุ์ปัตตาเวียในหลายด้าน เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศและคนไทย ตามไปดูข้อมูลกันครับ…

แปลงสับปะรด MG-3 ที่บ้านสวน

ผู้เขียนได้ทดลองปลูกสับปะรดหลากหลายพันธุ์ เพื่อศึกษาข้อมูลและค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงสัมภาษณ์ชาวไร่สับปะรดระดับแนวหน้าผู้มีประสบการณ์ตรงกับสับปะรดพันธุ์ MG-3 สรุปได้ว่า แหล่งที่มาของสับปะรดพันธุ์นี้ นำเข้าโดย บริษัท Dole Thailand จำกัด อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยนำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อใช้ผลิตป้อนโรงงานแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สับปะรดส่งออกและขายผลสดในประเทศ ด้วยคุณลักษณะที่โดดเด่นด้านเนื้อสีเหลืองทอง และรสชาติที่หวานนำ มีกลิ่นหอม ชาวไร่ได้ทดลองปลูกส่งตลาดผลสดซึ่งมีการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี จึงมีการขยายพันธุ์กันต่อมาในหมู่ชาวไร่ นับว่าเป็นอีกทางเลือกของคนสายสับปะรดที่ยังมีความหวังจากสับปะรดพันธุ์ MG-3

ต้นอวบใหญ่แข็งแรง

คำถามที่ว่า สับปะรดพันธุ์ MG-3 กับ พันธุ์ MD-2 แตกต่างกันอย่างไร/ตรงไหน จากแหล่งข้อมูล, การสังเกตและข้อมูลจากชาวไร่ที่ปลูกพันธุ์นี้มาระยะหนึ่ง พอสรุปได้ว่า ทั้งสองพันธุ์นี้เป็นสับปะรดลูกผสมที่เกิดจากสายพันธุ์พ่อแม่เดียวกัน และได้มีการแบ่งปันต้นพันธุ์กันไประหว่างผู้ร่วมดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาสับปะรดพันธุ์นี้ ซึ่งเป็นเอกชนรายใหญ่ที่อยู่ในสายธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด แล้วไปตั้งชื่อพันธุ์เป็นการค้าของแต่ละบริษัท หากดูลักษณะทั่วไปโดยรวมอาจมองเห็นว่า สับปะรดสองพันธุ์นี้ดูเหมือนหรือคล้ายกันมาก จนแยกไม่ออกหากไม่สังเกตถี่ถ้วนหรือมีประสบการณ์ตรง แต่มีการยืนยันจากชาวไร่ที่ปลูกสับปะรดพันธุ์ MG-3 ตรงกันว่า ทั้งสองพันธุ์นี้มีความแตกต่างกันทั้งจุดเด่นและจุดด้อย และจากที่ได้ปลูกทดลอง/ศึกษา ของผู้เขียน เห็นด้วยว่า เป็นจริง ทั้งในเชิงวิชาการและประสบการณ์ที่ผ่านการคลุกคลีกับงานส่งเสริมสับปะรดมาบ้าง จึงขอสรุปลักษณะเด่นของสับปะรดพันธุ์ MG-3 ไว้ ดังนี้

ผลรูปทรงกระบอก ผลใหญ่ไหล่เต็ม

– ลำต้น/ทรงต้นใหญ่ สะโพกใหญ่ แข็งแรง ทนแล้ง และโรคต้นเน่าได้ดี

– ใบกว้าง หนา ออกสีเขียวนวล ใบสั้น ไม่ยาวเรียว เทียบกับสับปะรดทั่วไป ขอบใบเรียบ อาจมีหนามที่ขอบปลายใบบ้างเล็กน้อยกับบางต้น

– ผลใหญ่มาตรฐาน ตาย่อยใหญ่เด่นชัด การเรียงของตาตามแนวตั้งค่อนข้างเป็นระเบียบตรงไม่เอนมาก จำนวนตาแนวตั้ง 6-8 ตา น้ำหนักผล 1.2-3 กิโลกรัม

ผลโตสม่ำเสมอสวยงาม

– เนื้อสีเหลืองทองตลอดผล เนื้อแน่นไม่มีโพรง เส้นใยนุ่มมาก แกนเล็ก มีกลิ่นหอมเด่นชัด รสชาติหวานนำ อมเปรี้ยวเล็กน้อย (สัดส่วนความหวาน : เปรี้ยวจากลิ้นสัมผัส อยู่ประมาณ ร้อยละ 80:20, 90:10)

– ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี เจริญเติบโตเร็ว และตอบสนองต่อฮอร์โมนเร่งการออกดอกได้ดีมาก ฉีดพ่นหรือหยอดเพื่อบังคับการออกดอกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

– ผลผลิตใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลาย และมีคุณสมบัติที่โดดเด่นด้านสีสัน กลิ่นหอม เนื้อละเอียด เส้นใยอ่อนนุ่ม

– การแตกหน่อดี ขยายพันธุ์ได้เร็ว หน่อใหญ่ แข็งแรง โตเร็ว ทนแล้งได้ดี

5 เนื้อสีเหลืองทอง

– อายุเก็บเกี่ยว 135-140 วัน หลังจากบังคับดอก เร็วกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย 15-20 วัน

– ผลผลิตเก็บในห้องเย็นอุณหภูมิต่ำได้นาน และไม่เกิดอาการไส้สีน้ำตาล (IB) จึงเหมาะกับการขนส่งระยะทางไกลๆ ด้วยระบบห้องเย็นที่ใช้อุณหภูมิต่ำได้ดี

– ทรงผลรูปทรงกระบอก (CS) สวยงาม ผลสุกเปลือกสีเหลืองทอง จุกยาวได้สัดส่วน ค่าความหวาน 17-20 องศาบริกซ์ จัดเป็นสับปะรดในกลุ่มซุปเปอร์สวีท

ผลผลิต MG-3 จากแปลงทดสอบที่บ้านสวน

ในยุคที่สายสับปะรดมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบการซื้อขายผลผลิต ที่ขาดอำนาจการต่อรองใดๆ ภาครัฐก็ดูจะห่างไกล ไร้เจ้าภาพหลัก ทิศทางการพัฒนา ไม่ค่อยแน่นอน, ระบบกลุ่มของชาวไร่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่เข้มแข็งพอจะต่อรองกับคู่ค้าขาย จึงจำเป็นที่ชาวไร่แต่ละคนต้องช่วยตัวเองให้มากขึ้น ทำอะไรได้ก็ต้องทำ นอกจากความอดทนแล้วต้องขยันให้มากกว่าเดิม และต้องมองหาทางเลือกใหม่ที่มั่นใจในข้อมูลที่เชื่อถือได้ ต้องกล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงบ้าง ไม่วนอยู่ในอ่างแบบที่เขาเปรียบเปรย ประสบการณ์มีมากแล้ว แค่ลองมาปลูกสับปะรดพันธุ์ MG-3 หรือพันธุ์ใหม่ๆ ดูบ้าง ค่อยๆ เรียนรู้ไป ไม่ยากอะไร ไม่ไหวก็ตัดออกบอกเลิก พันธุ์ใหม่สำหรับคนที่พร้อม อยู่ที่ว่าจะสู้หรือถอย ต้นทุนไม่มาก ปลูกไปขยายพันธุ์ไปใช้เวลาไม่นาน จำนวนต้นพันธุ์ที่ได้ก็จะมากพอ

ผลผลิต MG-3 ที่วางขายในตลาดชุมชนประเทศฟิลิปปินส์

สำหรับคนที่สภาพคล่องมีจำกัด ไปทางลัดอาจไม่ไหว ไปช้าๆ แต่ก็ชัวร์ได้เหมือนกัน สับปะรดพันธุ์ MG-3 หากไม่มีคุณลักษณะโดดเด่นที่ดีมากพอ บริษัทใหญ่ๆ และชาวไร่ฟิลิปปินส์คงไม่เก็บไว้ทำมาหากินเป็นแน่ครับ…

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

-มนตรี กล้าขาย, 2562, งานทดสอบและศึกษาพันธุ์สับปะรดผลสดที่ปลูกเป็นการค้าในประเทศไทย

-A Study on the Production Methods of Conventionally grown Pineapples in the Philippines ,,Polomolok, South Cotabato, Philippines ,February 2015 https://www.google.com/search?source=hp&ei=zvXeXa2NCMyb4   EPtqOUuAw&q=mg3+pineapple+variety&oq=mg3+pineapple+variety

-Philippine pineapples dominate Chinese market

 https://www.freshplaza.com/article/2150593/philippine-pineapple

http://www.netra-agro.com/iqf-pineapple-philippines/

ข้อมูลจำเพาะ สับปะรด MG-3

แหล่งผลิตใหญ่อยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ จากข้อมูลของ บริษัท โดลฟิลิปปินส์ ระบุว่า ในปี 2015 มีพื้นที่ปลูกสับปะรด 3 พันธุ์ แบ่งเป็นพันธุ์ MG-3 จำนวน 16,481 acres (6,672.47 ha), พันธุ์ F 200 จำนวน 6,647 acres (2,691.09 ha) และพันธุ์ Dole 14 จำนวน 60 ha. โดยปลูกอยู่ในเขต Polomolok and Tupi, South Cotabato. บริษัท โดลฟิลิปปินส์ ส่งออกพันธุ์ MG-3 เป็นหลัก ในรูปสับปะรดผลสด ไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน รัสเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ จอร์แดน กาตาร์ บาห์เรน เลบานอน และอิหร่าน

ในปี 2015 ประเทศจีน นำเข้าสับปะรดผลสดจากประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 700 ตู้คอนเทนเนอร์ คิดเป็นร้อยละ 88 ของผลผลิตรวมที่นำเข้า โดยเป็นพันธุ์ MG-3 และ พันธุ์ MD-2 ลักษณะเด่นของสับปะรดพันธุ์ MG-3 มีรสชาติหวาน (super sweet) ตาย่อยใหญ่ ผลแก่ผิวเปลือกสีเขียวสดใส และผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้ม เนื้อสีเหลืองทองตลอดผล ปริมาณกรด ร้อยละ 50, ขนาดของผลมีน้ำหนักระหว่าง 1-2.5 กิโลกรัม, บรรจุกล่องมาตรฐานได้กล่องละ 4-10 ผล มีคุณสมบัติที่มีอายุการวางขาย (shelf life) ได้นานกว่าสับปะรดพันธุ์อื่นๆ และเก็บไว้ได้ในห้องควบคุมอุณหภูมิต่ำได้นาน โดยไม่แสดงอาการไส้สีน้ำตาล ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดกับสับปะรดพันธุ์อื่นๆ จึงเหมาะสมต่อการขนส่งระยะทางไกลได้เป็นอย่างดี ซึ่งต่อมาได้มีการนำจุกสับปะรดพันธุ์ MG-3 เข้ามายังประเทศไทยจำนวนหนึ่ง เพื่อขยายพันธุ์และส่งเสริมการปลูกสู่เกษตรกร