เทียน แปลกใจมากๆ เมื่อเอ่ยคำว่า “เทียน” ทุกคนไม่แปลกตา แต่มองหา…เทียนไข

ชื่อวิทยาศาสตร์ Impatiens balsamina Linn.

ชื่อวงศ์ BALSAMINACEAE

ชื่อสามัญ Garden balsam

ชื่ออื่นๆ เทียนบ้าน เทียนไทย เทียนสวน เทียนดอก เทียนสี เทียนทอง

“จุดเทียนบวงสรวงปวงเทพเจ้า สวดมนต์ค่ำเช้า…ฯลฯ” หนูมีความสุขที่ได้ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ส่งท้ายปีเก่า และดีใจมากที่ได้กราบสวัสดีปีใหม่ก่อนใครๆ หนูรู้ดีว่าหนูไม่ใช่มีชื่อแปลก เหมือนที่ท่านเคยรู้จักชื่อไม้แปลกอื่นๆ แต่ที่หนูอยากจะโชว์ตัวลำดับแรกนี้ เนื่องจากชื่อของหนูทำให้ทุกคนที่ได้ยินเข้าใจผิดไปหมด คือไม่ได้คิดถึงตัวหนูหรือญาติๆ ของหนูเลย กลับไปคิดถึงแต่ “เทียนไข” หรือเทียนขี้ผึ้ง ที่ใช้จุดบูชาพระ และให้แสงสว่าง บางคนคิดไกลถึง “เทียนพรรษา” ไปอีก หนูจึงต้องรีบแถลงข่าวสวัสดีปีใหม่ก่อนใครๆ ด้วยเหตุฉะนี้

เชื่อว่าเอ่ยคำว่า “เทียน” ทุกบ้านต้องเคยนำมาใช้ ตั้งแต่ผู้ใหญ่ถึงเด็กประถม หรือจะลงถึงเด็กอนุบาลก็ต้องเคยเห็น หรือรู้จัก   แต่นั่นเป็นเทียนไขให้แสง หรือจุดในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาซึ่งมีมานานก่อนร้อยปีมาแล้ว หรือที่ชอบจุดเทียนคล้ายวันเกิด และสำหรับคนรักเสียงเพลง คงจะเคยได้ยินบทเพลงที่คุณลุง ทูล ทองใจ ขับร้องไว้ตั้ง 60 ปี ที่แล้ว ขึ้นต้นว่า “คืนหนึ่งฉันนอนสะท้อนดวงใจ เห็นน้ำตาเทียนหยดไหล เหมือนใครหลั่งน้ำตานอง ในกระท่อมเหมือนดังเป็นวังเวียงทอง…ฯ” แหม…! หนูนี้ปลื้มเชียว เพราะเพียงมีแสงเทียนในกระท่อมก็กลายเป็นวังทองไปได้

ที่หนูต้องพูดเรื่องนี้มาก เพราะต้องการย้ำให้ชัดเจน ว่าหนูไม่ใช่เทียนไข แต่หนูต้องการชี้แจงว่า “เทียน” ที่พูดถึงนี้คือ ต้นเทียน ไม้ดอกสวยสีหวานหลากสีที่ปลูกกันทั่วไป และมีวงศาคณาญาติเป็นร้อยๆ เหล่ากอ หลากหลายชื่อพันธุ์ หากเขียนชื่อขึ้นต้นด้วย เทียน หนูว่ารวมญาติๆ หนูแล้ว ตั้งทีมฟุตบอลได้เป็น 10 ทีม แน่นอน หนูลอง sample ให้ดูชื่อนะ ทั้งชื่อแปลกๆ ก็มาก เช่น เทียนขโมย เทียนแดง เทียนใบด่าง เทียนหยด เทียนญี่ปุ่น เทียนนิวกินี เทียนทอง เทียนหลอด เทียนกบ เทียนทะเล เทียนสีม่วง  เทียนดอกซ้อน เทียนน้ำ เทียนนา เทียนทยา และที่นักวิจัยสนใจมากก็คือ เทียนกิ่ง เพราะชายหญิงทุกคนปรารถนา ที่ใช้เปลี่ยนสีเส้นผม

มีกลุ่มชื่อเทียนอีกที่เป็นทั้งสมุนไพร และชื่อเทียนที่เป็นเครื่องยาในตำรับยาวิชาเภสัชกรรมโบราณ พูดถึงตอนนี้ หนูต้องกราบขอบพระคุณ อาจารย์ไพบูลย์ แพงเงิน อีกแล้ว ที่ท่านมีข้อมูลเกี่ยวกับยาสมุนไพรมากมาย จึงทำให้รู้จักเทียนชนิดต่างๆ หลายรูปแบบ ทั้งเทียนต้นไม้ และเทียนยาสมุนไพร แล้วท่านยังเขียนถึงเทียนในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานอีกด้วย หนูจึงขอสรุปเท่าที่หนูพอจะจำได้นะคะ

เทียนที่เป็นชื่อเครื่องยาสมุนไพรจำพวกหนึ่ง ซึ่งได้จากผลและเมล็ดแห้งของไม้ล้มลุก และสำหรับที่เรียกเทียนทั้ง 5 ได้แก่ เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนดำ เทียนแดง เทียนตาตั๊กแตน ถ้าเป็นเทียนทั้ง 7 ก็เพิ่มเทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ ถ้าเป็นเทียนทั้ง 9 ก็เพิ่ม เทียนตากบ เทียนเกล็ดหอย หรือเพิ่มเทียนลวด เทียนขม เทียนแกลบ เห็นไหมคะ แค่ขึ้นต้นก็จำไม่ไหวแล้ว และแต่ละเทียนก็เป็นส่วนผสมอยู่ในเครื่องยาตำราสมุนไพรที่มีสรรพคุณให้รสยาชนิดต่างๆ รวมทั้งผสมอยู่ในยาหอม ยาดม อีกหลายขนาน ที่เกี่ยวกับแก้ลม วิงเวียน ยาระบาย หนูจึงขอแนะนำตัวแทนของต้นเทียนสักชนิดพันธุ์นะคะ ไม่ต้องโชว์ ชนิดที่มีดอกสวย เช่น เทียนหยด ที่เขาให้ฉายาว่า…ร้อนจากหยดเทียน เท่ากับความงามของ “เทียนหยด” หรือ เทียนญี่ปุ่น ที่สวย เซ็กซี่ ดังฉายา “ดอกบานสดชุ่มฤดี งามดั่งสาวคลี่กิโมโน” หนูจึงขอเสนอ “เทียนบ้าน” เป็นตัวแทนพี่ๆ น้องๆ เทียนทั้งหลายนะคะ

ชื่อเทียนรวมๆ ทั่วๆ ไปที่เรียก เทียนไทย เทียนสวน เทียนบ้าน นั้น ในภาษาจีน เรียก ห่งเซียง จึงกะฮวย จี๋กะเช่า เป็นไม้ล้มลุก  เนื้ออ่อน ลำต้นอวบน้ำสีเขียวอ่อน เนื้อใส มีขนเล็กน้อย สูงไม่เกิน 1 เมตร ลำต้นมักจะเอียงไม่ตั้งตรง เปราะง่าย ใบเดี่ยว แตกออกตามก้านลำต้น มองเห็นเส้นในใบ ขอบใบหยัก ออกดอกเดี่ยว หรือติดกันช่อหนึ่ง 2-3 ดอก มีหลายสี ขาว ม่วง ชมพู แดง  ส้ม หรือในหนึ่งดอกอาจจะมีหลายสี เมื่อแก่เป็นผลมีเมล็ดดีดออกได้ เมล็ดกลม เล็ก มีจำนวนมาก ใช้ขยายพันธุ์ได้ดี เพียงลงดินแล้วกลบให้เรียบชุ่มน้ำก็งอกง่ายๆ เพราะเป็นไม้ที่ชอบที่ร่มชื้น หรือหักกิ่งแก่ปักชำ แช่น้ำก็มีรากปลูกได้

สรรพคุณทางยา ใบสดให้รสเฝื่อน เพราะมีสารสำคัญซึ่งรายงานทางวิทยาศาสตร์ พบว่า มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นโรคกลาก เกลื้อน หรือบริเวณง่ามเท้า ฮ่องกงฟุ้ต รวมทั้งปรุงเป็นยาสลายลม ฟอกเลือด แก้บวม ปวดตามข้อ ถ้าเป็นลำต้นก็มีรสเฝื่อน ขับลมให้เลือดเดินสะดวก เส้นเอ็นคลายตัว แก้เหน็บชา แก้แผลเน่าเปื่อย ส่วน ราก มีรสเฝื่อนเมา ฟอกเลือด ลดบวมช้ำ ตกขาว หรือตกเลือด ที่พิเศษสุดในส่วนของใบและดอก นิยมนำมาตำละเอียดทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง หรือโปะไว้ที่ “เล็บขบ” ก็จะถอนพิษปวดแสบปวดร้อน กำจัดกลิ่นได้ดีด้วย

สิ่งที่จะขอคุยคุณสมบัติพิเศษอีกประการคือ ส่วนของดอกและเมล็ดก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างดีเยี่ยม โดยดอกจะมีสารสีชื่อ anthocyanin ซึ่งจะให้สีติดนาน ดังนั้น ที่เห็นเด็กๆ ชอบเด็ดดอกเทียนมาขยี้กลีบดอกแล้วทาเล็บก็ติดอยู่นาน แต่พี่จะบอกให้นะจ๊ะเด็กๆ ทั้งหลาย ระวังอย่าให้เปื้อนเสื้อผ้า จะซักไม่ออกนะ สำหรับเมล็ดก็นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยบีบอัด จะได้น้ำมันนำมาหุงต้ม หรือจุดตะเกียงก็ได้ เพราะสารสำคัญมีไขมัน และกรดไขมัน เช่น Palmatic linoleic.ในสาร B-sitosterol ที่เป็นประโยชน์ เห็นไหมคะว่าใช้หนูได้ทุกส่วนเลยจริงจริ๊ง…?

ข่าวดีปีใหม่สำหรับ “นางพญาผมขาว” หรือชายหญิงผมหงอกสีดอกเลา หนูขอแนะนำสูตรยาย้อมสีผมที่มี “เทียนกิ่ง” หรือที่คนรู้จักชื่อ “เฮนน่า” ซึ่งมีสาร lawsone เป็นสารสีที่ย้อมเส้นผมติดสีได้แบบกึ่งถาวร ติดนานเป็นเดือน รับรองใช้สูตรนี้แล้วไม่ต้อง “เวียนเทียน” ใส่วิกแน่นอน…!