เกษตรกรเมืองกาญจน์ ปลูกอ้อย 100 ไร่ ปรับตัวอยู่เสมอ ทำให้ผลผลิตสมบูรณ์ดี

คุณสุทัศน์ ตันมงคลกาญจน เกษตรกรไร่อ้อย อยู่บ้านเลขที่ 65/2 หมู่ที่ 5 ตำบลอุโลกสี่หมื่น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นเกษตรกรไร่อ้อย ปลูกอ้อยมาแล้ว 50 ปี มีไร่อ้อย 100 ไร่ ซึ่งยังไม่รวมกับลูกไร่ จุดเริ่มต้นของการปลูกอ้อย คุณสุทัศน์เล่าว่า ก่อนที่ตนเองจะมาทำไร่อ้อย ได้ยึดการทำไร่ยาสูบยาเส้นมาก่อน ซึ่งมีประมาณ 50 ไร่ แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำ เพราะพื้นที่ปลูกสภาพดินไม่มีความสมบูรณ์ ไม่สามารถปลูกได้ ปลูกไปก็ได้ผลผลิตไม่สวย จึงหันมาปลูกอ้อยแทน

ขอนแก่น 3

พันธุ์อ้อยให้ผลผลิตดี

สำหรับพันธุ์อ้อยที่เลือกปลูก คุณสุทัศน์ ตันมงคลกาญจน บอกว่า เลือกเป็นพันธุ์อ้อยขอนแก่น 3 ตอนนี้มีอ้อยพันธุ์ใหม่ แต่ยังไม่ได้ทดลองปลูก เพราะฉะนั้นที่ปลูกตอนนี้ มีพันธุ์ขอนแก่น 3 เพียงอย่างเดียว

สภาพดินปนทราย

เหมาะสมกับการทำไร่อ้อย

ดินที่เหมาะต่อการปลูกอ้อย คือ ดินปนทราย เพราะหากเป็นดินที่เหนียวเกินไปอาจทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่ดีนัก ดินปนทรายเมื่อปลูกแล้วอ้อยจะแตกกอได้ง่าย หากเป็นดินเหนียวเมื่อเนื้อดินแห้งไวอ้อยจะขึ้นยาก

“สภาพดินตอนนี้ถือว่าดีทีเดียว แต่ต้องใส่ปุ๋ยมากหน่อย ปุ๋ยอินทรีย์บ้าง ปุ๋ยเคมีบ้าง ผสมกันไป ต้องรออากาศด้วย ฝนดีอ้อยก็จะดี ถ้าหากฝนไม่ดี อ้อยจะไม่ยาวไม่งาม การดูแล พอเราตัดเสร็จ หากเราตัดสด เราต้องเผาใบ เราต้องเผาก่อนถึงจะทำงานได้ พอเผาเสร็จแล้ว ปลูกปีแรกใช้น้ำหยด ปีต่อไปจะใช้น้ำราดพื้น เพราะน้ำหยดอ้อยจะขึ้นเสมอกัน”

คุณสุทัศน์ ตันมงคลกาญจน เกษตรกรไร่อ้อย

โรคที่มักเกิดขึ้นในอ้อย

“อ้อยในสวนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิดโรค แต่มีหนอนด้วง หากเจาะถึงโคนก็จะเสียหาย เราก็ต้องปลูกใหม่ ซึ่งโรคหากเกิดขึ้นจะมาจากดิน หากดินดี แมลงอาจจะน้อย แต่หากดินที่เราใช้ปลูกไม่ดี เราต้องดูแลอ้อยของเราให้รอด ซึ่งเป็นบางแปลงเท่านั้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว โรคที่เกิดขึ้นจากอ้อยไม่ค่อยพบ ส่วนมากแมลงในอ้อยไม่มี หากมีไม่มากก็จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะมันไม่ได้เสียหายมากมาย เพราะไม่มีตั๊กแตน” คุณสุทัศน์ กล่าว

การตัดอ้อยภายในไร่

วิธีการดูแลอ้อย ให้ได้ผลผลิตงาม

“ส่วนการดูแล ก็คือ ถางหญ้า ใส่ปุ๋ย ส่วนใหญ่หากเจอหญ้าในไร่อ้อย เราจะไม่ฉีดยา เพราะก่อนจะปลูกอ้อยเราจะฉีดยาคุมกันไว้แล้ว ถ้ามันเยอะมาก เราจะเจาะเป็นเลน ส่วนมากที่ไร่จะไม่ได้ฉีดยาฆ่าหญ้า จะใช้วิธีการฉีดยาคุมมากกว่า แต่ถ้าฉีดยา จะฉีดแค่รอบๆ ไร่เท่านั้น สำหรับน้ำมีน้ำให้ตลอด โดยจะใช้น้ำในแม่น้ำ แต่ถ้าอยากได้ผลผลิตที่ดีกว่านี้ แนะนำรอน้ำฝน จะให้ผลผลิตที่งามกว่าน้ำจากคลอง เพราะฝนเวลาตกลงมาจะโดนยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้ยอดสวยงาม” คุณสุทัศน์ กล่าว

คนงานกำลังตัดอ้อย

ผลผลิต และการตลาดดี

ส่งผลต่อรายได้

คุณสุทัศน์ เล่าต่อว่า ผลผลิตถ้าเป็นอ้อยที่ปลูกใหม่ จะให้ผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 1 ไร่ ต่อ 20 ตัน หากเป็นอ้อยตอ ได้อยู่ที่ 15 ตัน หากช่วงไหนที่มีสภาพอากาศดี ผลผลิตอาจได้ถึง 18 ตัน ต่อไร่ ถ้าปลูกในปีที่ 2 มีการบำรุงต้นที่ดีๆ อาจได้ผลผลิตถึง 20 ตัน ต่อไร่ อ้อยตอแรกจะได้ผลผลิตที่ดีกว่า เพราะลำต้นยาว อ้อยตอต้องรักษาให้ดี ใส่ปุ๋ยให้ถึง ซึ่งคุณสุทัศน์ จะใส่ทั้งหมด 3 รอบ หากมีทุนมากพอเกษตรกรบางราย อาจใส่ปุ๋ยถึง 4 รอบ หรือมีทุนน้อยก็ใส่เพียง 2 รอบก็ได้

โดยในรอบแรก ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 รอบที่ 2 จะใช้เป็นปุ๋ยยูเรีย และรอบที่ 3 ใช้ปุ๋ยเค็ม เป็นปุ๋ยน้ำหมัก แต่ละรอบ ระยะเวลาห่างกัน 3 เดือน เมื่อครบ 8 เดือน จึงเริ่มตัดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน แต่ถ้าฝนตกจะตัดช้าแล้วแต่สภาพอากาศ

รถ 10 ล้อ บรรทุกอ้อยสำหรับส่งโรงงาน

รายได้จากการทำอ้อย คุณสุทัศน์ บอกว่า ใช้ไป ทำไป พออยู่พอกิน เพราะอ้อยต้นหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม 1 กิโลกรัม ขายได้ราคา 70 สตางค์ ตอนนี้โรงงานรับซื้อตันละ 700 บาท หากเผาอ้อยไป โรงงานจะหัก CCS หนึ่ง ต่อ 45 บาท ถ้า CCS ไม่ถึง จะหัก 45 บาท แต่ถ้าเพิ่มขึ้น จะได้ราคาที่ดีตามไปด้วย (CCS คือ ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อย ซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาได้เป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หนึ่ง)

หากเป็นอ้อยที่ปลูกใหม่ ความหวานจะยังไม่มี ค่าความหวานของอ้อยไม่ถึง 10 บริกซ์ ทางโรงงานจะช่วย หากยังไม่ถึงเดือนมกราคม แต่ถ้าผ่านเดือนมกราคมไปแล้ว โรงงานจะหักตามปริมาณที่กำหนดไว้ เมื่อความหวานไม่ถึง โดยจะเริ่มวัดความหวานเต็มที่ นอกจากส่งโรงงานแล้ว ไม่ได้นำอ้อยไปทำอะไรต่อจากนั้น

 สภาพเศรษฐกิจ

บอกคุณภาพชีวิตได้

นอกจากการปลูกอ้อยที่เป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวแล้ว คุณสุทัศน์ บอกว่า ยังสามารถนำเงินไปส่งให้ลูกได้เรียนหนังสือ ยังมีรายได้เสริมจากการทำสวนเล็กๆ คือ ปลูกถั่ว แตง และพืชผักอื่นๆ อีกหลายชนิด พอเลี้ยงคนงาน และสร้างรายได้บ้างเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังมีบ่อปลาที่ขุดเอง เพื่อให้คนงานมีแหล่งของอาหาร คือ ปลาที่เลี้ยงไว้ ซึ่งภายในบ่อมีการเลี้ยงปลาหลายสายพันธุ์

คุณสุทัศน์ ทิ้งท้ายว่า ราคาอ้อยปัจจุบันกับอดีตไม่ต่างกันเท่าไร แต่ที่ต่างกัน คือ ต้นทุนในปัจจุบันอาจจะสูงกว่าต้นทุนการผลิตเมื่อเทียบกับอดีต เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่าง ในการทำเกษตร เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงนี้ไม่ดีนัก ดังนั้น เกษตรกรต้องมีการปรับตัวไปพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้การทำไร่อ้อยมีผลกำไรมากขึ้นและเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป

สนใจการทำไร่อ้อย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุทัศน์ ตันมงคลกาญจน ที่หมายเลขโทรศัพท์ 095-390-4247