ปีที่ล่วงผ่าน สถานการณ์การเกษตรไทย

สวัสดีรับศักราชใหม่กันอีกครั้งครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างครับในขวบปีที่เพิ่งผ่านไป เป็นปีหนูทองที่ผ่องใสกันไหมครับ ไม่น่าเชื่อเลยว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา พี่น้องหลายๆ พื้นที่ประสบภาวะน้ำท่วมกันจนนาข้าวและพื้นที่ทำกินเสียหายจนหมด มาถึงวันนี้กลับมีคนเอ่ยถึงภัยแล้งตั้งแต่ต้นปีเสียแล้ว แปลกใจนะ กี่ปีมาแล้วที่เราเจอปัญหาเช่นนี้ หน้าฝนก็น้ำท่วม หมดหน้าฝนก็เจอภัยแล้ง เมื่อไหร่เราจะบริหารจัดการน้ำที่ได้มาอย่างมีประโยชน์ มากกว่าปล่อยให้ไหลทิ้งไปหนอ

ในช่วงที่น้ำท่วมไร่นา โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิแถบทุ่งกุลาร้องไห้ ผมเองก็คาดว่าราคาข้าวปีนี้คงเด้งขึ้นมาบ้าง ที่ไหนได้ พอถึงหน้าเกี่ยว ก็ได้ยินว่าราคาข้าวก็เป็นเหมือนเช่นทุกปี ยังเป็นวงจรข้าวเปลือกถูกข้าวสารแพงเช่นเดิม ไม่รู้ว่าจะมีใครมาแก้วงจรนี้ได้ ไม่ใช่เฉพาะราคาข้าวเท่านั้น พืชผลเกษตรที่ราคาต่ำเรี่ยดินมีให้เห็นทุกปี ช่วงไหนหนักๆ ก็จะเห็นมีการประท้วงก็เท่านั้น

พุทราน้ำอ้อย สายพันธุ์ไต้หวัน
การแพ็กพุทราน้ำอ้อยส่งลูกค้าทางไปรษณีย์

ฉบับนี้จะมาชวนคิดชวนคุยเบาๆ ครับ เราลองมาดูราคาพืชผลเกษตรหลักๆ ครับ ข้าวเปลือกราคาไม่ต่างจากทุกปี ยางพารายังราคาไม่กระเตื้อง อ้อยตันละต่ำกว่า 800 บาทให้เห็น มันสำปะหลังยังคงเดิม ข้าวโพดก็ยังไม่ต่าง จะมียิ้มกันได้บ้างก็คงเป็นปาล์มน้ำมัน พอภาครัฐเริ่มงาน โดยใช้มาตรฐานดีเซล B10 เท่านั้น ก็ฉุดราคาผลปาล์มสดขึ้นมาได้ไม่น้อย มารอลุ้นนโยบายหมอนยางพาราอีกครั้งว่าจะอย่างไร และอีกหนึ่งความหวังจากเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว นั่นคือการนำเข้ามาในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด แต่ยังดีว่า ยังมีตลาดมะพร้าวน้ำหอม ที่นักธุรกิจไทยของเรานำไปเปิดตลาดในจีนได้อย่างสวยงาม

หันไปมองพืชผัก ภาพแรกที่เห็นคือ หอม กระเทียม ที่มองอย่างไรก็ไม่น่าใช่จากแปลงของเกษตรกรไทย ขนาดและราคาที่แตกต่าง ทำเอาเกษตรกรที่ปลูกหอม กระเทียมของไทยต้องขออำลาไปทำอาชีพอื่น ไม่นับสารพัดผักที่เดินทางมาจากประเทศข้างเคียงในละแวกไม่ไกลกัน เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า เราจะดูแลพี่น้องเกษตรกรไทยกันอย่างไร จึงจะทำให้ผลผลิตที่ออกมาสู้กับราคาพืชผักที่นำเข้ามาได้

เซียงสุ่ย ฝรั่งอีก 1 สายพันธุ์ ที่สีสวยและอร่อย

ผลไม้ ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย เราได้เห็นผลไม้หลายๆ ชนิดจากต่างประเทศพาเหรดเข้ามาในไทย ด้วยรูปทรงที่สวยงามและราคาไม่แพง อาทิ ส้มหลากหลายสายพันธุ์ เมล่อน ทับทิม พลับ แก้วมังกร มันเทศ เป็นต้น ไม่นับผลไม้ราคาสูงที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ภาพเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นความเสี่ยงของพี่น้องเกษตรกรไทยได้ไม่น้อย ด้วยต้นทุนที่สูงกว่า ผลผลิตออกมาพร้อมๆ กัน ทำให้ราคาขายต่ำทรุดจนแทบไม่อยากขาย แถมบางปียังมีเจอภัยธรรมชาติอีกต่างหาก

แต่จะว่าเพียงภาพลบก็กระไรอยู่ ในส่วนของผลไม้ ไทยเราก็ยังมีทุเรียนที่ยังพอเชิดหน้าชูตาได้ไม่น้อย มังคุด ส้มโอ ลำไย เดินหน้าไปสร้างชื่อในต่างประเทศได้ไม่น้อย แม้ว่าปีต่อๆ ไปก็มีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีคู่แข่ง เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเรานำไปปลูกกันไม่น้อยแล้ว จากนี้ไปเราคงต้องมาดูเรื่องคุณภาพผลผลิตเข้าสู้เท่านั้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านเขามีต้นทุนที่ถูกกว่า ระยะทางใกล้กว่า ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่าเรา เท่านี้ก็ยากที่จะนำไปแข่งขันแล้ว ยกเว้นคุณภาพสินค้าของเราดีจริงๆ เท่านั้น จึงจะอยู่ได้

คำใบ เจ้าของสวนฝรั่ง กับผลผลิตจากสวน

ในช่วงปีหมูทองที่ผ่านมา มีเกษตรกรหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่ง เริ่มนำผลไม้จากต่างประเทศมาทดลองปลูกในไทย และเริ่มมีผลผลิตที่มีรสชาติ ขนาดผล รวมถึงคุณภาพเทียบเท่ากับต้นตำรับ เริ่มมีการปลูกกันมากขึ้น บางแปลงก็มีหลายร้อยหลายพันต้น คาดว่าในปีนี้คงจะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดไม่น้อย ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงฝรั่ง เสาวรส แก้วมังกร น้อยหน่า พุทรา ส้มโอ ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากเวียดนามและไต้หวัน บางชนิดมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และมีเติบโต ขยายพันธุ์ที่นี่

การจัดการสวนสไตล์น้าอ้วน

ฝรั่งสุ่ยมี่ เป็นสายพันธุ์แรกที่ น้าอ้วน บ้านเกษตรพอเพียง เริ่มนำเข้ามาปลูกและมีผลให้ได้ชิม จากนั้นก็มีสวนสาขาอื่นๆ เริ่มมีผลผลิตมากขึ้น จากนั้นก็ขยับมาเป็นฝรั่งแตงโม เปลือกเขียวเนื้อแดง มีกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว คือเสน่ห์ของสายพันธุ์นี้ และที่ถือว่าบูมสุดๆ ก็คือ พันธุ์หงเป่าสือ ฝรั่งไส้แดงไต้หวันที่มีรสชาติอร่อย หวาน กรอบ หอม เนื้อในสีแดงเข้ม ยิ่งแก่จัดสีแดงแทบจะทะลุเปลือก

ฝรั่งไต้หวัน ไส้แดง หงเป่าสือ

ก็มีหลายๆ สวนที่นำไปปลูกขยายพันธุ์กัน เริ่มจาก สวนลุงเล็ก สวนน้าอ้วน และเริ่มขยายไป สวนจ่ามด สวนโจฝรั่งโสด สวนครูโจ๊ก สวนสุชาติ สวนเสี่ยต้น สวนคำใบ สวนน้องหนึ่ง สวนป้าหน่อย สวนน้าเชน ฯลฯ ซึ่งสวนเหล่านี้ปลูกจนได้ผลผลิต ทดสอบและชิมจนแน่ใจแล้วก็เริ่มขยายพันธุ์ทั้งปลูกเองและแบ่งขาย เชื่อว่าปีนี้คงเป็นปีทองของเกษตรและผู้บริโภคฝรั่งแน่นอน

ในขณะที่หลายๆ สวนเริ่มปลูกสายพันธุ์จากไต้หวัน แต่ยังมีอีกหลายสวนยังปลูกฝรั่งกิมจูและฝรั่งไทยไส้แดง เช่น สวนวราภรณ์ ปลูกและดูแลจนผลผลิตมีคุณภาพพอจะส่งขึ้นไปขายบนห้างสรรพสินค้าได้ และยังมีสวนน้อยๆ ที่ปลูกหลากหลายสายพันธุ์ที่เป็นฝรั่งเพาะเมล็ด ทดสอบจนได้ต้นที่มีรสชาติอร่อย มีผลดก ติดผลง่าย ออกผลทั้งปี เช่น สวนเจ๊อ้วนอ่างทอง เริ่มจากได้รับเมล็ดพันธุ์จากพี่เพชร ที่ไต้หวัน และนำมาเพาะ ดูแลจนเห็นผลผลิต ต้นไหนไม่ผ่านก็ตัดทิ้ง คัดสายพันธุ์จนได้ดีก็ตอนกิ่งขยายสายพันธุ์ไป จนเรียกได้ว่า หากนึกถึงฝรั่ง เชื่อว่าในประเทศไทยเรามีฝรั่งหลากหลายสายพันธุ์ไม่น้อยหน้าชาติใดเลย อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

เจ๊อ้วน กับฝรั่งสายพันธุ์ที่คัดไว้แล้ว

มีอยู่วันหนึ่ง ผมไปงานที่เมืองทอง เจอฝรั่งไทยวางขายพร้อมน้ำจิ้ม เฉาะโชว์ไส้แดงเห็นๆ เรียกน้ำย่อย ถามราคา

“ขีดละ 25 บาทจ้า เอากี่ขีดจ๊ะ แถมน้ำจิ้มให้ด้วยจ้า”

โอ้โห! เป็นอย่างไรครับท่านผู้อ่าน พอมองเห็นอะไรไหม ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากหันไปปลูกฝรั่งสายพันธุ์ต่างประเทศ แต่ยังมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ยังมุ่งมั่นในสายพันธุ์ไทยที่เราเรียกกันว่า ฝรั่งขี้นก กันอยู่บ้างเหมือนกัน ที่สำคัญได้ราคาดี คนซื้อไม่มีต่อรองราคากันเลย

ฝรั่งไทยไส้แดงที่ขายได้ราคา

วันนี้ขออนุญาตเขียนถึงทิศทางในแวดวงเกษตร ที่ผมมองเห็นในปีที่ผ่านมาเท่านั้นนะครับ มิได้ให้มองว่าเป็นมาตรฐานใดๆ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า ในสนามการแข่งขันที่รุนแรงนั้น หากเรามีกลยุทธ์ที่ดี มีอาวุธที่เหมาะสม มีความพร้อมในการลงสนาม เชื่อแน่เลยว่าเราจะไม่พ่ายในสนามนี้แน่นอน

และที่สำคัญ อยากให้แต่ละบ้านปลูกไม้ผล ปลูกผักไว้กินเองครับ พื้นที่มากน้อยมิใช่ประเด็น ขอเพียงจัดให้เหมาะสม มีแดด น้ำ ดิน ปุ๋ย และการใส่ใจ สิ่งที่ได้รับนอกจากจะได้บริโภคผัก ผลไม้ ที่ปลอดภัยแล้ว เรายังได้ความภาคภูมิใจในผลผลิตที่เราปลูกเอง กินเองได้แน่นอน สนใจเรื่องสายพันธุ์ หรือติดขัดตรงไหน โทร.มาสอบถามกันได้ครับ (099) 254-6542 ยินดีตอบทุกคำถามครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขในปีหนูทองนะครับ สวัสดีครับ

ขยายพันธุ์ไว้ปลูกและจำหน่าย