ยอ พืชเป็นยา ศรัทธาเป็นไม้มงคล

จะมีใครบ้างหรือไม่ ที่ไม่ชื่นชอบคำสรรเสริญเยินยอ คำยกยอปอปั้น มีหลายคนที่ไม่เคยยกยอใคร และหลายคนเคยไปยกยอ เพื่อหากุ้งฝอย หาปลาซิวปลาสร้อยเล็กๆ แถวบึงน้ำ นำมาแกงส้ม ต้ม คั่ว มีบางคนที่นิยมเอาปลา เอากุ้งฝอย มาทำห่อหมก รวมทั้งปลาช่อนหั่นชิ้นใหญ่ๆ หมู ไก่ ก็เอามาห่อหมก รองรับก้นห่อหมกด้วยผักหลายชนิด ที่นิยมกันมากคือ เอาใบยออ่อนรองก้นกระทงห่อหมก มีบางรายทำขาย ใส่ใบยอตั้ง 2 ส่วน ปลา เครื่องปรุง กะทิ อื่นๆ อีก 3 ส่วน ก็ขายให้คนซื้อกิน เขาว่าอร่อยดี

“ยอบ้าน” ทางเหนือ เรียก “มะตาเสือ” อีสาน และกลาง เรียก “ยอบ้าน” หรือ “ยอ” ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน เรียก “แยใหญ่” เป็นไม้มงคล ที่ตำราพรหมชาติชี้แนะว่าไว้ให้ปลูกที่บริเวณบ้านทิศอาคเนย์ หรือตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเคล็ดว่า ผู้คนจะสรรเสริญเยินยอ มีคนยกยอปอปั้นในสิ่งที่ดีงาม เป็นไม้ที่จัดอยู่ในกลุ่มไม้มงคล หมู่บ้านชนบท จะมีปลูกไว้หลายๆ ต้น เป็นไม้ที่ชวนแบ่งปันกัน เพราะใบก็มาก ผลก็มีมาก แบ่งกันเอาไปกิน เพื่อนบ้านกัน ดูน่ารักดีที่สามัคคีเอื้ออาทร

ยอบ้าน เป็นพืชในวงศ์ RUBIACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Morinda citrifolia Linn. มีถิ่นกำเนิดเป็นพืชพื้นเมืองในแถบโพลินีเซีย ประเทศในเขตโอเซียเนีย เป็นหมู่เกาะในแถบมหาสมุทธแปซิฟิกตอนใต้ แถวนั้นเรียกว่า “โนนู” ภาษามลายู เรียก “เมอกาดู” มีภาษาเรียกหรือชื่อสามัญเป็นภาษาอังกฤษ Great Morinda หรือ Beach Mulbery หรือ Indian Mulbery ชื่อเพราะเหลือหลาย น่ากินจัง ชาวเกาะ ชาวเล นิยมกินกันมาก เมื่อข้ามมาแถบเอเชีย แถบฮาวายยังเรียกสั้นๆ ว่า “โนนิ” (NONI) บางคนเรียกลูกเนยแข็ง กลิ่นเหม็นเน่า ชาวบ้านเรียก ลูกอ้วก แต่คนทั่วไปที่รู้จักการปรุงแต่ง นำมาทำกิน ทำยา เรียกว่า “ยอ” ใบยอ ลูกยอ ต้นยอ

เป็นไม้ที่ขึ้นได้ดีในดินทุกชนิด ปลูกง่าย โตเร็ว ชอบที่ชุ่มชื้นพอสมควร ควรปลูกฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หาลูกแก่ๆ ที่ร่วงหล่นใต้ต้น บีบคั้นเอาเมล็ดมาเพาะให้งอก เลี้ยงให้โต ออกใบจริงแล้วเอาไปปลูก หรือจะไปหาขุดเอาบริเวณใกล้ๆ ต้นใหญ่ ที่มักจะมีต้นกล้ายอบ้านงอกขึ้นตามบริเวณนั้น เอามาปลูกก็ได้ เท่าที่สังเกตดู ต้นยอบ้านที่โตแล้ว ลำต้นเท่าแข้งเท่าขาเราแล้วนั้น จะแข็งแรง ทนทานต่อความแห้งแล้งและน้ำท่วมได้ดีมาก กิ่งแขนงยอป่า แม้จะดูเหมือนอวบน้ำ เป็นก้านสี่เหลี่ยมอ่อนๆ ออกใบใหญ่ กิ่งก็จะโตรับกับขนาดใบ จะสังเกตใบแก่ใบอ่อน ต้องดูที่สีของใบ และก้านที่เป็นเหลี่ยม ใบอ่อน ใบกึ่งอ่อน กึ่งแก่ ใบแก่ จะมีสีเขียวต่างระดับกัน จากเขียวอ่อนจางๆ ถึงเขียวเข้มเป็นมันวาว

ยอ มีประโยชน์เป็นอาหาร ถ้าจะเรียกเป็นผัก ก็เป็นผักยืนต้นที่สูงใหญ่ขนาดกลาง สูงประมาณ 3-8 เมตร เวลาจะเอาใบมาทำอาหารจากต้นใหญ่ ต้องใช้วิธีสอย หรือปีนเด็ดยอดใบ ซึ่งต้นยอจะให้ใบเป็นอาหารตลอดปี ให้ผลลูกยอจะออกช่วงฤดูหนาว ใบยออ่อน ลวกหรือต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริก ปรุงแกงเผ็ด แกงอ่อมร่วมกับหมู ปลา ไก่ ที่นิยมมากคือ รองก้นห่อ หรือกระทงใบตองห่อหมกปลา ห่อหมกหมู ห่อหมกไก่ ผลห่าม ผลแก่สีเขียว ชาวอีสานนำมาตำส้มตำแทนมะละกอ แซ่บหลายหรือไม่ ต้องถามชาวอีสาน หรือผู้รู้ที่เคยตำส้มตำลูกยอกันดู

Advertisement

ใบยออ่อนมีรสขมเล็กน้อย ใช้เป็นผักทำอาหารกินลดความร้อนภายในร่างกายได้ ผล รสเผ็ดร้อน ขับลมลำไส้ ใบยอ 100 กรัม หรือ 1 ขีด ให้พลังงานแก่ร่างกาย 73 กิโลแคลอรี มีเส้นใย (Fiber) 4 กรัม แคลเซียม 469 มิลลิกรัม เหล็ก 1.4 มิลลิกรัม วิตามินเอ 43333 iu. วิตามินบีหนึ่ง 0.3 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.14 มิลลิกรัม ไนอะซีน 7.2 มิลลิกรัม วิตามินซี 3 มิลลิกรัม

Advertisement

ส่วนต่างๆ ของต้นยอ นำมาเป็นยาสมุนไพร รากยอมีสรรพคุณเป็นยาระบาย ใบรสขมเล็กน้อย สรรพคุณบำรุงธาตุ แก้ไข้ ฆ่าเหา แก้ปวดข้อ แก้ท้องร่วงในเด็ก แก้เหงือกปวดบวม ผลยอมีรสเผ็ดร้อน มีสรรพคุณขับลม บำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ขับโลหิตระดูสตรี ฟอกเลือด แก้คลื่นเหียนอาเจียน ผลสุกยอบ้านมักมีกลิ่นเหม็นฉุน สรรพคุณขับผายลมในลำไส้ มีการนำเอาผลยอบ้านมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำลูกยอ น้ำหมักสมุนไพรลูกยอ ลูกยอดอง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดรายได้ ตามสมัยคนรักสุขภาพ ผลได้รับจาก “ยอ” ที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่มีเพียงในนามธรรม

ต้นยอต้นหนึ่ง ให้ใบ ให้ผลมากมาย มีความคงทน ยืนยง อายุยืนยาวหลายสิบปี เท่าที่เคยรู้จักต้นยอบ้านมา ยังไม่เคยเห็นต้นยอยืนต้นตาย เพราะศัตรูโรคแมลง หรือธรรมชาติ ไม่เคยเห็นต้นยอใบโกร๋นแห้งเหี่ยวเลย มองดูทรงพุ่มต้นยอบ้านนับว่าเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสมบูรณ์ แข็งแรง สง่างาม เข้มขลังอลังการ เหมาะที่ทุกบ้านน่าจะปลูกไว้เป็นประโยชน์มาก ได้ทั้งความศรัทธาทางใจ ได้ทั้งอาหาร และยาที่เป็นประโยชน์ มองตามลักษณะทรงต้นแล้ว นับได้ว่ามีทรวดทรง พุ่มสวยสง่างามมาก หนักแน่น ร่มเย็น ถ้านำมาปลูกเป็นไม้มงคล ประดับมุมบ้านจะดูดีมาก ยิ่งศึกษาเรียนรู้โลกของยอบ้านนานเท่าไร ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักยอยิ่งนัก