วิลัย รัตนวัน สู้ไม่ถอย ลงทุนหลายแสน เจาะชั้นหินภูเขาไฟหาแหล่งน้ำ เพื่อ สวนทุเรียนภูเขาไฟ ศรีสะเกษ

เข้าหน้าแล้งทีไร เกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ จะแล้งน้อยแล้งมากล้วนส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรอย่างแน่นอน ดั่งเช่น คุณวิลัย รัตนวัน เกษตรกรบ้านซำตาโตง ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่หนองเก่าของจังหวัดศรีสะเกษ

อย่างที่เกริ่นไว้ ปัญหาภัยแล้งล้วนต้องเตรียมการรับมือ แต่ในรายของคุณวิลัย ไม่เฉพาะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่แล้งมาตั้งแต่เริ่มต้นปลูกทุเรียนในปีนั้นเลยทีเดียว

คุณวิลัย รัตนวัน กับหินภูเขาไฟ ก้อนหินจริง

 

คุณวิลัย รัตนวัน นับว่าเป็นเกษตรกรตัวยง ก่อนที่จะเริ่มต้นปลูกทุเรียน ได้ผ่านการทำสวนลำไยมาก่อนหน้า 7 ปี เป็นพันธุ์จากลำพูน ซึ่งเขาระบุว่า เป็นลำไยที่ปลูกง่าย ลูกดกออกดี ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เรียกว่า คนขี้เกียจก็ทำได้

แต่มาภายหลังประสบปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลางกดราคา เอาเปรียบเกษตรกรอย่างคุณวิลัย จึงตัดสินใจโค้นลำไยทิ้งเสีย แล้วหันมาปลูกทุเรียนแทน

เมื่อเริ่มต้นปลูกทุเรียนในปีแรกก็ไม่ได้ง่ายดั่งใจคิด เหมือนการปลูกลำไย มองเพียงแค่ผลรายได้ว่า ทุเรียน 1 ต้น  ทำเงินได้มาก 4,000-5,000 บาท ถ้าเราปลูกหลายๆ ต้น บำรุงดูแลอย่างดี จะทำเงินได้เท่าไรต่อต้น มันคงจะมีมูลค่าไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว…คุณวิลัย วาดฝัน

คุณวิลัย กับสระน้ำเล็กๆ ที่ทำให้ทุเรียนที่อยู่รอบๆ สระอยู่รอดมาดื้และให้ผลผลิต

จากนั้นจึงตัดสินใจตัดปัญหาโค้นลำไยทิ้งทั้งหมด 10 ไร่ แล้วหันมาปลูกทุเรียนแทนเต็มพื้นที่ 10 ไร่ เช่นเดียวกัน

แต่อย่างที่เกริ่นไว้ การปลูกทุเรียนไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด…

“ยอมรับว่า การปลูกทุเรียนยากกว่าการปลูกลำไยเยอะมาก ประสบปัญหาหลายๆ อย่าง ต้องเอาใจใส่ ต้องจัดการดูแลเป็นพิเศษ และปัญหาหลักๆ เลยก็คือ เรื่องน้ำนั่นเอง เมื่อหมดฤดูฝนความแห้งแล้งก็เข้ามาเยือนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นที่ของผมเป็นที่ดินภูเขา ลาดเอียง ฝนมาก็พาน้ำลงสู่ที่ต่ำ ที่สำคัญดินไม่ชุ่มน้ำเหมือนภาคตะวันออก เพราะเป็นดินหินภูเขาไฟ” คุณวิลัย ว่าอย่างนั้น และเล่าต่อว่า

ต้นทุเรียน ที่อยู่ไกลแหล่งน้ำไม่ตายแต่ก็เลี้ยงไม่โต

เมื่อเริ่มต้นทำอะไรแล้ว ไม่เคยยอมแพ้อะไรง่ายๆ เป็นคนสู้ไม่ถอย แม้ใครๆ จะหัวเราะเยาะ คิดผิดแล้วที่จะปลูกทุเรียน ปลูกทีไรก็ตายหมด แต่ก็ยังฝืนสู้ปลูกต่ออีก แม้ภรรยาก็บ่นทุกๆ วัน ว่าเลิกเถอะๆ แต่ผมก็ไม่เลิก ปัญหามีไว้แก้

ลงทุเรียนครั้งแรกกว่า 200 ต้น เต็มพื้นที่ 10 ไร่ เหลือรอดมา 2 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ๆ แหล่งน้ำ ส่วนต้นที่อยู่ไกลน้ำ ก็ทยอยยืนต้นตาย ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต จึงปลูกซ้ำใหม่ หลายร้อยต้นเป็นครั้งที่สอง ส่วนทุเรียนที่นำมาปลูก เป็นพันธุ์ที่นำมาจาก ตราด จันทบุรี ระยอง เป็นพันธุ์ดีที่น่าเชื่อถือ ครั้งแรกที่ปลูกราคาเริ่มต้นที่ 70 บาท เมื่อจะหาซื้อมาปลูกทดแทน ราคาก็ขยับมาที่ต้นละ 150 บาท 200 บาท ไปจนถึง 300 บาท ซึ่งผมก็ยังซื้อหามาปลูกทดแทนต้นที่ตาย ขอเพียงให้ได้ปลูกทุเรียน

ทุเรียนที่อยู่ใกล้ๆ แหล่งน้ำมักติดดอกออกผล

ยอมรับว่าพื้นดินที่บ้านผมไม่เหมาะกับการปลูกทุเรียน แต่ก็ยังฝืนที่จะปลูก เพียงเพราะชื่อที่เรียกกันติดปากว่า  “ทุเรียนภูเขาไฟ” นั่นเอง

ถูกต้องเลยครับ เป็นคำเรียกที่ถูกต้องสำหรับหมู่บ้านผม ซำตาโตง ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพื้นที่หินภูเขาอย่างแท้จริง เพราะพื้นดินที่เต็มไปด้วยหินนะครับ ไม่ใช่ดิน จะหาแหล่งน้ำแต่ละทีต้องเจาะผ่านชั้นหินลึก ความหนา 11 เมตร จึงจะทะลุถึงชั้นน้ำใต้ดิน

คุณวิลัย บอกอีกว่า คิดจะปลูกทุเรียน จะมาคอยฟ้าฝนอย่างนี้ต่อไปคงไม่ไหวแน่ จึงได้ว่าจ้างช่างมาเจาะหาน้ำบาดาลก็หลายชุด แต่ก็เจาะไม่ผ่าน เมื่อเจาะลงไปเจอชั้นหิน ก็ยกเลิก วัดความลึกได้กี่เมตรแล้วมาเก็บเงิน ยกของกลับบ้าน เป็นอย่างนี้ทุกรายไป กระทั่งมาถึงรายสุดท้ายถึงประสบความสำเร็จ เจาะผ่านชั้นหินลงไปได้ จนถึงแหล่งน้ำใต้ดิน ต้องขอขอบพระคุณช่างเจาะน้ำบาดาลคนนี้มากๆ แต่ก็หมดเงินเฉพาะค่าเจาะน้ำบาดาลไปเป็นแสนๆ เหมือนกัน

น้องไตตั้น ลูกชายคนเล็กของคุณวิลัยโตมากับต้นทุเรียน

ก็หวังว่า เมื่อมีบ่อน้ำบาดาลแล้วจะได้กินทุเรียนครบทั้ง 10 ไร่ ในอีก 3 ปี ข้างหน้า…

จึงอยากให้แง่คิด ถ้าใครคิดจะปลูกทุเรียน ต่างพื้นที่หรือสภาพดินที่ไม่เหมาะสม ควรจะวางระบบน้ำให้ดีก่อน อย่าเพิ่งไปคิดถึงเรื่องการขาย ให้คิดว่าจะปลูกอย่างไร แล้วให้ทุเรียนอยู่รอด

“การปลูกทุเรียน จะทำเล่นๆ ไม่ได้ ถ้าไม่ทำจริงๆ จังๆ ก็จะล้มเหลวหมด และที่สำคัญผมปลูกในช่วงภาวะภัยแล้งติดต่อกัน 2 ปี แหล่งน้ำก็ยังไม่พร้อม จึงประสบปัญหาดังกล่าว สูญเสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน เสียทุเรียนไป 7-8 ไร่ ปลูกซ้ำๆ ปลูกทดแทนใหม่ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ”

ส่วนต้นที่เหลือรอด 2 ไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่รอบๆ สระน้ำเล็กๆ ที่ขุดไว้ก่อนหน้า พอมีผลผลิตให้ได้เก็บเกี่ยวครั้งแรก รุ่นแรก พอได้เงินมาเจือจุน 40,000-50,000 บาท และก็รอลุ้นผลผลิตในปีต่อไป ซึ่งช่วงระหว่างรอหลังเก็บผลผลิตก็ต้องเตรียมการบำรุงดูแล เอาใจใส่ยิ่งกว่าลูกในไส้อีก

คุณวิลัยชี้จุดท่อน้ำบาดาลที่ต่อขึ้นมาจากชั้นใต้ดินหลังขุดเจาะได้เป็นผลสำเร็จ

เมื่อพูดถึงเรื่องปุ๋ย ก็มีตัวแทนจากบริษัทเข้ามาแนะนำปุ๋ยของตัวเอง เยอะแยะมากมาย ว่าต้องใช้ปุ๋ยของตัวเองว่าดี อาทิ บริษัทปุ๋ยเคมี ก็บอกว่าของตัวเองดี บริษัทปุ๋ยอินทรีย์ก็บอกว่าของตัวเองดี ทุกคนว่าของตนเองดีหมด ส่วนของคนอื่นก็บอกว่าจะกระทบอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งส่วนตัวผมจะใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ มากกว่า แต่บริษัทปุ๋ยก็ยังพูดอีกว่า ใช้ปุ๋ยคอกมันจะเกิดเชื้อรา ผมก็ไม่รู้จะเชื่อใคร คุณวิลัย พูดไปพลางหัวเราะ

ปุ๋ยที่ดีที่สุด ผมคิดว่า ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก นี่แหละครับผมว่าดีที่สุด ควบคู่ไปกับการใช้ฮอร์โมน ใช้เคมีบ้างนิดหน่อย ไม่ทิ้งไปเสียทีเดียว

หลังเก็บเกี่ยวครั้งแรก ก็เริ่มตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียน เมื่อถึงช่วงแตกใบอ่อน ก็ใส่ปุ๋ยตามสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น และใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น แบ่งใส่ 2 ครั้ง เพื่อให้ต้นทุเรียนได้สะสมน้ำตาลและเจริญเติบโตสมบูรณ์

หลังเก็บผลผลิตบำรุงปุ๋ยน้ำกิ่งใบอ่อนที่แตกแขนงก็ต้องคอยริดออกจากกิ่งก้านของลำต้น

เมื่อต้นทุเรียนติดดอก บำรุงด้วยปุ๋ยหมัก อัตรา 10-12 กิโลกรัม ต่อต้น และช่วงติดลูกเสริมด้วยปุ๋ย สูตร 12-12-17 ประมาณ 1-2 กำมือ ต่อต้น ใส่ทุก 7 วัน กระทั่งสังเกตพบว่า ผลทุเรียนมีขนาดใหญ่ ได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จึงหยุด จากนั้นได้เปลี่ยนไปใส่ปุ๋ย สูตร 11-6-25 ใส่อัตรา 2-3 กำมือ ต่อต้น ใส่ทุก 7 วัน เพื่อสร้างเนื้อทุเรียน

ช่วงระหว่างที่เราให้น้ำให้ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง ก็จะมีแขนงกิ่งใบออกมาจากลำต้น ซึ่งเราก็ต้องไปดึง ลิดออก เรียกว่าไม่ให้มันแตกงอกออกมานั่นเอง ไม่เช่นนั้นมันก็จะไปแย่งอาหารจากกิ่งก้านของลำต้น

ปัญหาอีกอย่างในช่วงหน้าร้อน เดือนมีนาคม-เมษายน เป็นช่วงที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าวมากๆ ถึงเราจะบำรุงดูแลดีอย่างไร ใช้ยา ให้อาหาร ให้ปุ๋ยดีอย่างไร ก็เอาไม่อยู่ ยอดทุเรียนก็จะแห้งเป็นก้านธูป ก็ต้องคอยดูแลตัดออกไม่เช่นนั้นก็จะลามไปทั้งต้น

ป้ายบอกทางสัญลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และสวนทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ

คุณวิลัย พูดติดตลกว่า ผมอยากจะตั้งชื่อ “ทุเรียน” ผลไม้ชนิดนี้ใหม่เสียจริงๆ เขาน่าจะชื่อว่า “ดูเรียน” แทนคำว่า “ทุเรียน” หรือ “ขยันเรียน” จะดีกว่า เพราะมันทำให้ผมได้เรียนรู้ ศึกษาดูแลแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ เรียกว่า เรียนไม่รู้จบ สำหรับการปลูกทุเรียนในแปลงของผม

เนื่องจากสภาพอากาศแปรผันไปทุกๆ ปี ต้องมาปรับสูตรการให้น้ำให้อาหาร แต่ละปีจะใช้วิธีคิดเหมือนครั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้ อากาศร้อนมาก ทุเรียนที่ออกดอกเริ่มติดผลก็ร่วงหล่น น้ำต้องกำหนดให้ดี ปุ๋ย ยา ฮอร์โมน สภาวะอากาศเป็นอย่างไร เรียกว่าเรียนไม่รู้จบ เนื่องจากสภาพพื้นดิน เป็นดินดาล หินภูเขา ไม่เหมือนสวนทุเรียนแปลงอื่นๆ เขา

ยอมรับว่า ช่วงเริ่มต้นลงทุนปลูกทุเรียนใหม่ๆ หมดเงินไปหลายแสนเลยทีเดียว เฉพาะค่าต้นพันธุ์ 60,000-70,000 บาท ขุดบ่อบาดาลอีก 100,000 บาท วางระบบสปริงเกลอร์ ในพื้นที่อีก 5 ไร่ ไหนจะค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าน้ำ ค่าไฟ ในการบำรุงดูแล ไม่อยากจะคิดเลย เมื่อคิดจะอยู่กับทุเรียน ณ จุดตรงนี้ ก็ต้องสู้ต่อไป

“มีครั้งหนึ่งเคยไปพูดต่อหน้าผู้ว่าฯ คนก่อนหน้านี้ที่เกษียณไป ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรแสดงความคิดเห็นในการประชุมอบรมให้ความรู้เกษตรกร ผมจึงบ่นให้ผู้ว่าฯ ฟังว่า ในช่วงที่เราลำบาก ไม่มีใครเห็นความลำบากของเรา ตอนผมลำบาก ผู้ว่าฯ ก็ไม่มาช่วยผมหรอก ทุกคนตบมือกันใหญ่ ส่วนผู้ว่าฯ ก็นั่งฟังอย่างเดียว ขอไฟคุณก็ไม่ให้ ขอบ่อน้ำ คุณก็ส่งคนมาดูสำรวจแล้วก็หายไป ส่วนเราก็คอยมาแก้ปัญหากันเอง” วันนั้นผมกล้าที่จะพูด เพราะเก็บความรู้สึกนี้ไว้นาน คุณวิลัย ว่าอย่างนั้น

ครับ นี่คือ ความในใจของ คุณวิลัย รัตนวัน เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟรายเล็ก หมู่ที่ 9 บ้านซำตาโตง ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ผ่านความยากลำบากต่อสู้บนผืนดินของตัวเอง มุ่งมั่นที่จะปลูกทุเรียนภูเขาไฟให้ประสบความสำเร็จเหมือนรายอื่นๆ เขา สอบถามข้อมูลให้กำลังใจ คุณวิลัย รัตนวัน อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ที่ 9 บ้านซำตาโตง ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โทร. 085-417-5298

ท้ายสุดนี้ ต้องขอขอบคุณ ผอ. สุพล สุวรรณจู ผู้อำนวยการโรงเรียนบึงมะลูวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่อำนวยความสะดวกยานพาหนะ พร้อมคณะครูนำพาเข้าเยี่ยมชมสวนทุเรียนของ คุณวิลัย รัตนวัน ในครั้งนี้ เพื่อนำเรื่องราวความทุกข์ยากอีกมุมด้านหนึ่งมาบอกเล่า เพราะ “ทุเรียนภูเขาไฟ” จริงๆ