ชาวบ้าน ตำบลศรีวิชัย สุราษฎร์ ปลูกปาล์ม ดูแลดี ผลผลิตมีคุณภาพต่อเนื่อง

ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญทางภาคใต้ แม้จะประสบปัญหาราคามาตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่พี่น้องเกษตรกรบางพื้นที่ก็ยังต้องปลูกอยู่ เพียงแต่ต้องปรับจากพืชหลักมาเป็นแบบผสมผสานร่วมกับพืชตัวอื่น เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องรายได้

คุณโสฬส เดชมณี

คุณโสฬส เดชมณี บ้านเลขที่ 38 หมู่ที่ 1 ตำบลศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โทรศัพท์ 081-370-0105 ดีกรีปริญญาตรี รัฐศาสตร์จากรั้วพ่อขุนรามคำแหง แล้วผันตัวเองสู่บ้านเกิดเพื่อเป็นเกษตรกรเต็มตัว ด้วยการปลูกปาล์มน้ำมันกับกล้วยหอมทองเป็นอาชีพ

คุณโสฬส ปลูกปาล์มมา 11 ปี ปลูกโดยไม่มีความรู้มาก่อน พอดีเพื่อนชวนซื้อต้นพันธุ์จากบริษัทจำหน่ายที่เชื่อถือได้ในกระบี่ เป็นสายพันธุ์ซีหราด มิลเลนเนียม ที่มีคุณสมบัติเด่น ต้นเตี้ย ผลผลิตดก และทนแล้ง ซึ่งเห็นว่าเหมาะกับสภาพพื้นที่ จึงฝากซื้อแล้วศึกษาวิธีปลูกจากเอกสารหน่วยงาน รวมถึงสอบถามเพื่อนในวงการ ใช้พื้นที่ปลูกทั้งหมด 44 ไร่ เป็นรุ่นเดียวกัน ระยะปลูก 9x9x9 เมตร ได้จำนวน 968 ต้น

ใช้พันธุ์ซีหราด จากแหล่งจำหน่ายที่เชื่อถือ

แม้ประสบการณ์ปลูกปาล์มน้ำมันของคุณโสฬสจะไม่มาก แต่เพราะความใส่ใจ กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ แล้วยังเข้าร่วมเป็นสมาชิก RSPO กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน จังหวัดสุราษฎร์ธานีพร้อมกับผสมผสานการปลูกแบบธรรมชาติด้วยการนำทางใบปาล์มที่ตัดทิ้งมาคลุมดินทั่วทั้งสวน เพื่อควบคุมวัชพืชและหมั่นดูแลความสะอาดสวนไม่ให้รก ปล่อยแสงแดดและลมให้พัดผ่านเข้ามาอย่างสะดวก เพื่อป้องกันศัตรูพืช

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ละเลยที่จะนำหลักทางวิชาการมาใช้ควบคู่ อย่าง การนำดินไปวิเคราะห์สม่ำเสมอ หาความบกพร่องของการขาดปุ๋ยและธาตุอาหาร เพื่อเติมให้ครบสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสวนของคุณโสฬสมีคุณภาพ ทั้งขนาด ความดก และเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ทั้งยังสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดต่อเนื่อง ช่วยให้มีรายได้ดีสม่ำเสมอ ดังนั้น จึงได้รับการยกย่องให้เป็นแปลงต้นแบบการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน จากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 7 กรมวิชาการเกษตร

ระยะห่างต้น 9x9x9 เมตร เพื่อให้แสงลอดผ่านสะดวก

“ปุ๋ยสูตรหลัก คือ 21-0-0, 18-46-0 และ 0-0-60 พร้อมกับตัดทางใบวางไว้ภายในสวน เพื่อให้ย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุ นอกจากนั้น ยังนำดินไปวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพหาความบกพร่องของธาตุอาหาร เพื่อจะได้เติมธาตุอาหารที่ขาดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทำเพียงเท่านี้ ไม่ได้ดูแลอะไรมาก เพราะดูแลสวนคนเดียว”

การตัดแต่งทางใบจะทำต่อเมื่อเห็นว่ามีใบมากเกินไป แล้วสร้างปัญหาต่อแสงแดดและช่องทางลมที่ส่องและพัดเข้ามาได้สะดวก เป็นการช่วยไม่ให้สะสมความชื้น อันนำมาซึ่งโรคและแมลงศัตรู อาทิ หนอนปลอกเล็ก ที่มักจะมาในช่วงรอยต่อหน้าแล้งกับหน้าฝน อย่างไรก็ตาม ทางใบที่ตัดออกไม่ได้ทิ้งให้เสียเปล่า แต่จะนำมาวางไว้ตามร่องระหว่างต้นเพื่อให้ย่อยสลายเป็นวัตถุอินทรีย์ตามธรรมชาติในเวลาประมาณ 6 เดือน อีกทั้งยังช่วยยับยั้งไม่เกิดวัชพืชต่างๆ ในสวนได้

ทะลายใหญ่ ดก สมบูรณ์ ได้ราคาดี

คุณโสฬส บอกว่า ชนิดปุ๋ยสูตรที่ใส่ในต้นปาล์มแต่ละต้นไม่เหมือนกัน โดยต้องพิจารณาดูลักษณะภายนอกต้น ว่ามีความผิดปกติส่วนใด ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น ใบ และดอก แล้วจึงนำดินไปวิเคราะห์เพื่อเติมปุ๋ยที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คุณโสฬส ชี้ว่าธาตุอาหาร ตัว N และ K ไม่ค่อยมีปัญหาเท่ากับการขาดธาตุอาหาร ตัว P โดยสังเกตจากทะลายปาล์มที่มีขนาดเล็ก ไม่ค่อยสมบูรณ์ วิธีนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องรอให้ต้นโตได้อายุหรือออกผลผลิต เพราะทำให้เสียเวลารอคอย ทั้งนี้จะทำเพียงปีละครั้ง

“ความจริงการปล่อยให้ปาล์มขาดธาตุอาหารตัวใดตัวหนึ่งจะส่งผลต่ออีกหลายต้น เพราะต้นที่ขาดจะไปดึงจากต้นที่ไม่ขาด มีผลเสียกับอีกหลายต้น ดังนั้น ควรทำให้ทุกต้นมีธาตุอาหารครบเสมอเท่าๆ กัน โดยเฉพาะช่วงที่เริ่มให้ผลผลิตจะต้องใช้อาหารและแร่ธาตุมาก”

สภาวะที่ต้นปาล์มไม่มีผลผลิต ไม่มีทะลาย ผลผลิตขาดช่วง ซึ่งอาจเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ สภาวะแล้งจัด หนาวจัด สภาพดินเสื่อมโทรม อาการเปลี่ยนแปลงฉับพลัน น้ำท่วม ฯลฯ ทำให้ต้นปาล์มไม่แทงดอก

จ้างแรงงานตัดใส่รถ

แต่สำหรับที่สวนปาล์มของคุณโสฬสปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก แถมยังมีผลผลิตตลอด เจ้าของสวนเผยว่าเป็นเพราะในช่วงหน้าแล้งซึ่งปกติจะขาดคอจะแก้ไขด้วยการดึงน้ำเข้ามาช่วย ทำให้สามารถได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีมาก-น้อย ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของการใส่ปุ๋ย ยา ที่เป็นทุนเดิม ดังนั้น ปุ๋ยสูตรใช้เท่าที่จำเป็น แล้วนำดินไปวิเคราะห์ ก็พบว่า ค่าดินมีความสมบูรณ์มาก

คุณโสฬส บอกว่า เมื่อปี 2561 ได้ผลผลิต 7.3 ตัน ต่อไร่ หรือระยะเวลาปลูกมา 6 ปี จะได้ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ6.5 ตัน ต่อไร่

ขับลำเลียงทะลายปาล์มส่งโรงงานด้วยตัวเอง

สมัยที่เริ่มมีผลผลิตใหม่ๆ ยังได้ปริมาณไม่มาก ก็จะตัดขายให้กับพ่อค้าที่ลาน แต่พอมีจำนวนมากขึ้น ได้เปลี่ยนไปขายให้กับพ่อค้าที่โรงงาน โดยว่าจ้างแรงงานเก็บผลผลิตเท่านั้น คิดค่าจ้างตัด ตันละ 500 บาท ส่วนการขนไปขายเป็นหน้าที่ของเราเอง

“วิธีดูแลจัดการสวนปาล์มเพื่อให้มีคุณภาพ ต้องเริ่มต้นให้ถูกต้องก่อน ตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก การดูแลใส่ปุ๋ยให้ครบอย่าให้ขาด การนำดินไปวิเคราะห์ การใส่ใจเรื่องโรค/แมลง อย่าให้สวนรกสกปรก เพราะหากใช้แนวทางนี้ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมี ไม่ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ แล้วในท้ายสุดก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ” คุณโสฬส เดชมณี กล่าว