เทคนิคให้ปุ๋ยเมล่อนในโรงเรือน ให้ได้ผลดี เพิ่มความหวานได้มากขึ้น

คุณอุเชนทร์ พุกอิ่ม บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 7 บ้านคลองเขาควาย ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร โทร. (098) 803-0107 เจ้าของสวนเมล่อนในโรงเรือน “ไร่ถุงทองฟาร์ม”

การให้ปุ๋ยเมล่อนในโรงเรือน

ก็จะให้ปุ๋ยทางรากและทางใบ อย่างทางรากก็จะให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ ปุ๋ย A (จะมีธาตุอาหารหลัก N-P-K), ปุ๋ย B (จะมีธาตุอาหารรอง) ตามสูตรตามระยะการเจริญเติบโต ก็จะให้วันละประมาณ 5 ครั้ง เน้นการให้น้อยแต่บ่อยครั้ง โดยแบ่งเวลาให้ เริ่มให้ตั้งแต่ เวลา 07.00 น. 09.00 น.11.00 น. 13.00 น. และ 15.00 น. การให้ปุ๋ย A จะต้องละลายปุ๋ยในน้ำสะอาดเอาไว้ในถัง เช่นกัน ปุ๋ย B จะต้องละลายในน้ำสะอาดมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (PH) เป็นกลางหรือกรดอ่อน คือ PH ประมาณ 6-7 อีก 1 ถัง ซึ่งตอนปล่อยเข้าระบบน้ำจะต้องให้ปุ๋ย A และปุ๋ย B จะส่งเข้าระบบน้ำพร้อมๆ กัน ในอัตราที่เราจะคำนวณเอาไว้ในแต่ละช่วงอายุของการเจริญเติบโต

วิธีใช้ ปุ๋ย A และ ปุ๋ย B

เบื้องต้น นำปุ๋ยมาละลายน้ำเพื่อเตรียมเป็นปุ๋ยสต๊อกก่อน 100 ลิตร จำนวน 2 ถัง ปุ๋ย A จำนวน 100 ลิตร และ ปุ๋ย B จำนวน 100 ลิตร แล้วนำแม่ปุ๋ยนั้นไปผสมน้ำเจือจาง ตามค่า EC ที่เหมาะกับพืช เช่น ผัก ค่าที่ 1.2-1.5 และพืชที่ให้ผล 1.5-2.5 เป็นต้น

ปุ๋ย A, ปุ๋ย B ที่ให้ผ่านระบบน้ำ
ปุ๋ย A, ปุ๋ย B จะถูกผสมในถังปุ๋ยใบที่ 3 ก่อนจะส่งไปในระบบน้ำ

หลังจากนั้นราว 14 วัน ปุ๋ยทางน้ำจะเพิ่มปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูง เช่น 0-0-50 เพิ่มปุ๋ยสูตรนี้ลงไปในถังของ ปุ๋ย B ในปริมาณน้อย คือ 0.1% เท่านั้น เพื่อให้ต้นได้ค่อยๆ ได้รับไปอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้ต้นเมล่อนมีใบพอสมควร แล้วก็จะฉีดพ่นฮอร์โมน เช่น แคลเซียมโบรอน ปุ๋ยชีวภาพ ทุกๆ 4 วัน พอหลังผสมเกสรเสร็จติดเป็นผลอ่อน ก็จะผสมปุ๋ยที่มีสูตรตัวท้ายสูง เช่น นูแทค ซุปเปอร์-เค ชึ่งคุณสมบัติ นูแทค ซุปเปอร์-เค เป็นปุ๋ยทางใบคุณภาพสูง ประกอบด้วยไนโตรเจน 6% ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 12% โพแทสเซียมที่ละลายน้ำ 26% และโพแทสเซียมที่ละลายในกรดอ่อน 7% เสริมด้วยธาตุสังกะสีในปริมาณสูง 12% ด้วยอนุภาคที่เล็กละเอียด ขนาด 1-5 ไมครอน ช่วยให้เกาะติดใบพืชได้ดี ลดปัญหาการชะล้างจากฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืชได้นาน 10-14 วัน

ประโยชน์ 

ช่วยให้พืชสะสมแป้งและน้ำตาลได้ดีขึ้น จึงช่วยเพิ่มการออกดอกและติดผล ลดปัญหาการหลุดร่วงและการพ่นในระยะก่อนเก็บเกี่ยวช่วยเพิ่มความหวาน และคุณภาพผลผลิต เพิ่มเข้าไปจนกว่าเก็บเกี่ยว ปุ๋ยที่มีสูตรตัวท้ายสูง จะทำให้ผลเมล่อนมีการขยายขนาดผล เพิ่มความหวานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้ปุ๋ยสูตรนี้สามารถทำความหวานให้กับเมล่อนที่เคยเก็บเกี่ยวได้ราว 15-18 บริกซ์ ทีเดียว

อีกอย่างก็ต้องมีการผสมสารป้องกันกำจัดเชื้อราเข้าไปตามความเหมาะสมหรืออย่างสม่ำเสมอ ซึ่งที่ใช้อยู่คือ สารที่มีชื่อสามัญ ไตรโฟรีน (Triforine) 19% EC คุณสมบัติ เป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดดูดซึม ที่สามารถดูดซึมเข้าได้ทั้งทางรากและทางใบ อีกทั้งสามารถเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภายในเนื้อเยื่อของใบพืชได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงทั้งการกำจัดเชื้อรา รักษาพืชที่เป็นโรค และป้องกันการเข้าทำลายของโรคพืช องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ “ซาพรอล” (ชื่อการค้า) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบอันตรายแบบเฉียบพลันในการใช้ตามปกติ ซึ่งเป็นระดับของสารที่มีความเป็นพิษต่ำที่สุด

แปลงปลูกเมล่อนต้องเน้นความสะอาด เพื่อไม่ให้เป็นที่มาของโรคเชื้อรา

ส่วนองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้เป็นระดับของสารที่มีความเป็นพิษต่ำที่สุดเช่นกัน ซาพรอลปลอดภัยต่อปลา ไม่เป็นพิษต่อผึ้ง แมลงที่เป็นประโยชน์ และไรตัวห้ำ ซาพรอลสามารถสลายตัวได้เร็วในดิน ซาพรอลจึงเป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่สามารถนำมาใช้ในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน (IPM) หรือใช้ในการผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษได้ดี ควบคุมโรคราน้ำค้าง ราแป้ง โคนเน่าได้ดี

การปลูกเมล่อนในโรงเรือนนั้น เรื่องของแมลงศัตรูจะค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีตาข่ายในการป้องกันระดับหนึ่งที่ค่อนข้างดี แต่เรื่องของโรค “เชื้อรา” เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าดูแลและระวังให้มาก ซึ่งใครจะสามารถควบคุมได้ดีกว่ากัน เพราะโรคเชื้อรานั้นสามารถทำให้ต้นเมล่อนตายได้ทุกระยะและรวดเร็วทีเดียว แต่เกษตรกรต้องหมั่นสังเกตและเข้าใจว่า ฟาร์มหรือไร่เมล่อนแต่ละพื้นที่ สภาพดินฟ้าอากาศไม่เหมือนกัน นั่นเป็นสาเหตุว่า ทำไม เวลาเราเจอโรคหรือแมลงศัตรูพืช แล้วเราดูแลฉีดพ่นรักษาไม่หาย ทั้งๆ ที่มีการใช้สารป้องกันกำจัดหรือใช้วิธีการกำจัดเหมือนๆ กับที่อื่น หรือแม้แต่ปริมาณน้ำที่ให้ต้นเมล่อนในแต่ละสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ก็จะต้องแตกต่างกันไป แต่หลักการปลูกและดูแลก็จะเหมือนกัน ที่เหลือก็ต้องประยุกต์ใช้เอาเอง เป็นต้น

 

การไว้ผลของที่สวน จะปล่อยแขนงไว้ผลเร็ว

ปกติที่อื่นจะปล่อยไว้ผลเมล่อนให้ติดผลในช่วง ข้อที่ 8-12 แต่ของคุณอุเชนทร์จะปล่อยให้ติดผลเร็วกว่านั้น คือปล่อยให้ติดผลช่วง ข้อที่ 6-10 ฉะนั้น แขนงที่ 1-5 ก็จะต้องเด็ดทิ้งไป

การเด็ดแขนงควรทำในขณะที่แขนงยังมีขนาดเล็ก และทำในตอนเช้าจะทำให้แผลแห้งเร็ว แล้วให้ฉีดพ่นสารกันเชื้อราในตอนเย็น เมื่อเด็ดออกจะทำให้ยอดแตงเจริญเติบโตได้เร็ว แขนงที่เกิดจาก ใบที่ 6-10 ให้ปล่อยไว้ ไม่นานแขนงดังกล่าวก็จะมีดอกตัวเมีย เมล่อนเป็นพืชตระกูลแตง ที่มีดอกไม่สมบูรณ์เพศ ซึ่งไม่สามารถผสมในดอกตัวเองได้ ควรช่วยในการผสมเกสร

ผลเมล่อนที่อีก 20 กว่าวัน ก็จะเก็บเกี่ยวได้

เมล่อนนั้นจะมีดอกตัวผู้ ส่วนใหญ่ออกตามข้อของลำต้น ดอกตัวเมียจะมีรังไข่ใต้กลีบดอก ส่วนใหญ่ออกมาตามกิ่งแขนงที่ข้อแรก ซึ่งดอกตัวเมียจะบานช่วงเวลาครึ่งวันเช้า คือ 07.00-10.00 น. (การผสมเกสรในบางพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศ เช่น ช่วงฤดูร้อน ฤดูฝน อาจจะเริ่มผสมเกสรในช่วงเวลา 07.00-10.30 น. ในช่วงฤดูหนาว ดอกเมล่อนอาจบานช้า ก็จะผสมได้ในช่วงเวลา 08.00-13.00 น. หลังจากเวลาที่กล่าวมา น้ำหวานของเกสรตัวเมียแห้ง การปฏิสนธิมักไม่สมบูรณ์นั้นเกษตรกรต้องสังเกต)

เมื่อสังเกตว่าตามแขนงที่ปล่อยไว้ดอกตัวเมียเริ่มบาน เราต้องเข้าไปช่วยผสมเกสรทุกๆ วัน ในช่วงเวลาเช้า เนื่องจากดอกตัวเมียในแต่ละแขนงจะบานไม่พร้อมกัน ดอกตัวเมียก็จะบานแค่วันเดียวเท่านั้น ถ้าผสมไม่ทันก็จะเหี่ยวแห้งร่วงหล่นจากต้นไป การผสมนั้นให้นำละอองเรณูตัวผู้ ป้ายที่เกสรตัวเมีย ซึ่งจะมีน้ำหวาน เพื่อให้ละอองเรณูติดได้ง่าย

วิธีป้าย ตามความถนัดของแต่ละท่าน ใช้พู่กันหรือจะใช้ดอกต่อดอก การผสมเกสรนั้นให้เด็ดดอกตัวผู้ที่บานอยู่ตามลำต้นหรือเถาเมล่อน (ลักษณะดอกตัวผู้จะมีแต่กลีบดอก ก้านดอกยาวๆ มีเยอะกว่าดอกตัวเมีย ส่วนดอกตัวเมีย ก้านดอกจะสั้นและจะมีลูกเล็กๆ ที่โคนดอก จะเกิดจากกิ่งแขนง) โดยปกติแล้วในต้นเดียวกันดอกตัวผู้และตัวเมียจะบานไม่ค่อยพร้อมกัน ผลัดกันบาน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผสมเกสรในต้นเดียวกัน ผู้ผสมก็เลือกดอกตัวผู้ที่บานจากต้นอื่นมา เด็ดดอกตัวผู้มาแล้วเด็ดกลีบดอกทิ้งไป ใช้พู่กันเขี่ยเอาละอองเกสรจากดอกตัวผู้สีเหลืองๆ นำไปแต้มที่ยอด แล้วจะตัดปลายยอดของแขนงทิ้งไป 1ข้อ เพื่อทำสัญลักษณ์ว่าได้ผสมเกสรไปแล้วทันทีหลังการผสมเกสรเสร็จ หรือตัดปลายยอดให้เหลือใบของแขนงที่ติดลูก ให้เหลือแขนงละ 2 ใบ

อีกจุดประสงค์ของการตัดยอดแขนงนั้นก็เพื่อลดการแยกอาหารจากผลเมล่อน เมื่อผลมีขนาดเท่าไข่ไก่จะคัดเลือกให้เหลือ ต้นละ 1 ลูก แล้วก็แขวนผลที่เลือก เพราะผลเมล่อนมีขนาดใหญ่ ลำต้นอาจจะไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โดยใช้เชือกฟาง ผูกไปที่ขั้วผลหลวมๆ อย่าให้ขั้วช้ำ แขวนกับคานที่รับน้ำหนักของลำต้นเหมือนกัน เพียงเท่านี้ก็เรียบร้อย

เมล่อนที่เขียนลวดลาย เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้ลูกค้า

และถ้ามีเวลาอย่าลืมเด็ดดอกของเมล่อนที่เกิดมาทีหลังทิ้งด้วย เพื่อผลเมล่อนที่มีอยู่จะได้อาหารเต็มที่ หลังจากการผสมเกสรแล้ว ประมาณ 3-5 วัน การไว้ผล เมื่อเริ่มติดเป็นผลอ่อนขนาดเท่าไข่ไก่ขึ้นไป ให้คัดเลือกผลที่สมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยวไว้เพียง 2-3 ผล ใน ข้อที่ 6-10 และขั้วของผลขนาดใหญ่ที่สุด เด็ดแขนงรอบสุดท้ายพร้อมกับคัดเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียง 1 ลูก คัดเลือกผลที่มีทรงยาวรีหรือกลม (ทรงผลอ่อนอาจจะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์) ส่วนแขนงอื่นให้ตัดทิ้ง จะเหลือไว้ต้นละแขนงหรือต้นละ 1 ลูกเท่านั้น

หลังจากนั้น ให้มัดเเขวนผลอ่อนเมล่อนด้วยเชือกฟางได้เลย การแขวนผลก็ควรมัดแขวนให้ผลตั้งฉากกับพื้นเพื่อความสวยงาม แล้วใบที่สมดุลต่อการเลี้ยงผลต่อ 1 ผล คือประมาณ 20-25 ใบ (ในฤดูร้อน) ส่วนในฤดูฝน ฤดูหนาว ควรไว้ใบ 25-30 ใบ เหตุผลแสงแดดจะน้อยกว่าฤดูร้อน เมื่อใบมีมากพอตามความต้องการก็ให้ตัดปลายยอดของต้นเมล่อนทิ้งไป เพื่อหยุดการเจริญเติบโตส่วนบน และใบด้านล่างควรตัดออกประมาณ 4-5 ใบ หรือตัดมาจนถึงข้อที่ไว้ผลก็ได้ เพื่อความโปร่งและไม่เป็นที่สะสมของเชื้อโรค แมลงต่างๆ ซึ่งการตัดใบล่างควรยึดกับสถานการณ์แวดล้อมและอายุของผลเมล่อนนั้นก็ขึ้นอยู่กับการสังเกตของเกษตรกรเองประกอบการตัดสินใจ

 

การเก็บเกี่ยวเมล่อน ส่วนใหญ่จะนับอายุของผลเป็นหลัก

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของเมล่อนที่ปลูก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ ประมาณ 35-50 วัน หลังวันดอกบาน หรือวันที่ผสมเกสร เมล่อนบางชนิดจะมีลักษณะพิเศษเห็นชัดเจนเมื่อผลสุกพร้อมเก็บ คือมีรอยแตกที่ขั้วผล ประมาณ 50% บางชนิดจะมีกลิ่นหอมออกมาจากผล เมล่อนที่มีคุณภาพ จะต้องมีความหวานอย่างน้อย 14 บริกซ์ ขึ้นไป ความหวานไม่ควรต่ำกว่า 12 บริกซ์

เตรียมถุงปลูกและระบบน้ำ เพื่อปลูกเมล่อนชุดต่อไป

ก่อนการเก็บเกี่ยวเมล่อน ประมาณ 1 สัปดาห์ ให้เราเริ่มลดปริมาณการให้น้ำต้นเมล่อนลง การทำเช่นนี้เพื่อเร่งให้เมล่อนเร่งกระบวนการเปลี่ยนแป้งที่สะสมในผลให้เป็นน้ำตาล เพื่อเป็นการเพิ่มความหวานของผลให้มากขึ้น นอกจากนับอายุและเช็กความหวานแล้ว ส่วนหนึ่งก็ใช้วิธีสังเกต ประกอบการตัดสินใจตัดผลเมล่อนออกจากต้นก่อนหรือหลัง เช่น บริเวณรอยต่อของขั้วกับผลจะพบรอยแตกสีน้ำตาลอ่อน ร่างแหหรือตาข่ายที่ผิวมีรอยนูนแข็งและใหญ่อย่างเห็นได้ชัดมากกว่าระยะอ่อนเมื่อดมที่ผลจะได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของแคนตาลูป เป็นต้น

 

ต้นทุนและกำไร ในการปลูกเมล่อน ต่อ 1 รุ่น

คุณอุเชนทร์ ยกตัวอย่างว่า เมล่อน 1 โรงเรือน ขนาด 6×6 เมตร สามารถปลูกเมล่อนได้ประมาณ 200 ต้น หรือประมาณ 200 ผล ขนาดผล 1.5-2 กิโลกรัม เสียหายบ้างเล็กน้อยสัก10-20% ขายได้เงินประมาณ 30,000-40,000 บาท ซึ่งอนาคตก็จะพัฒนาเรื่องของขนาดผล และใช้สายพันธุ์เมล่อนที่เหมาะสมกับช่วงฤดูกาลเพื่อให้ความเสียหายน้อยลง ซึ่งเชื่อว่ารายได้ต่อการปลูกเมล่อน 1 รุ่น น่าจะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่านี้แน่นอน โรงเรือน 1 หลัง สามารถปลูกได้ 4 รอบ ซึ่งจะเน้นการจำหน่ายในพื้นที่และส่งขายให้คนรู้จักที่กรุงเทพฯ ซึ่งขายได้ในราคาที่สูง กิโลกรัมละ 150 บาท

สวมตาข่ายโฟม ติดสติ๊กเกอร์เตรียมจัดส่งลูกค้าที่สั่งจองเอาไว้

แต่ในอนาคตก็จะเน้นการจำหน่ายในพื้นที่มากขึ้น อาจจะปรับราคาให้ลดลงมา ทำให้ลูกค้าในพื้นที่สามารถซื้อได้ในราคาที่ไม่แพงจนเกินไปนัก เฉลี่ยต้นทุนการผลิตเมล่อน ตอนนี้ประมาณ 15,000 บาท ซึ่งจะมีค่าปุ๋ย A, B ชุดละ 2,000 บาท (ปุ๋ย A, B ขนาดบรรจุถุง 5 กิโลกรัม) ซึ่งต่อรุ่นจะใช้ ปุ๋ย A, B ทั้งหมด 4 ชุด ก็เป็นเงิน 8,000 บาท มีค่าเมล็ดพันธุ์เมล่อน ค่าปุ๋ยทางใบ ฮอร์โมน อาหารเสริม สารป้องกันกำจัดเชื้อรา

เมล่อนยังน่าปลูก คนอาจคิดว่าเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนสูง แต่จริงๆ แล้ว ลงทุนสูงแค่ครั้งแรกในการทำโรงเรือนและอุปกรณ์ระบบน้ำ หลังจากนั้นอยู่ที่การบริหารจัดการ ภายใน 1-2 ปี ก็จะสามารถคืนทุนในเรื่องของโรงเรือนและระบบน้ำได้ไม่ยากเท่าไรนัก เป็นพืชที่น่าสนใจเนื่องจากได้รับความนิยมในการบริโภค นิยมซื้อเป็นของขวัญของฝาก ยิ่งลูกค้ามาซื้อที่สวนตัดผลสดๆ ก็จะเพิ่มความมั่นใจในเรื่องของความสด เน้นขายในพื้นที่และมีบริการจัดส่งทางขนส่งเอกชนหรือส่งไปรษณีย์ โดยผู้ซื้อยินดีรับผิดชอบค่าขนส่ง ซึ่งตอนนี้พบว่าผลผลิตยังไม่สามารถตอบรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างเพียงพอ ตอนนี้ก็เร่งเพิ่มจำนวนโรงเรือนเพื่อให้กำลังการผลิตเมล่อนมีอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า