ไปดูเด็กปลูกหม่อน ขายผลสด ที่โรงเรียนขยายโอกาส บ้านหนองไผ่ สกลนคร

ฉบับนี้ มีโอกาสเดินทางไปดูการปลูกหม่อนที่โรงเรียนขยายโอกาสการศึกษา ที่บ้านหนองไผ่ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร

คุณยุธยา เทอำรุง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ ตำบลดงมะไฟ อำเภอเมืองสกลนคร เคยเอ่ยปากชักชวนผู้เขียนไปชมการปลูกหม่อน ขายผลสด สร้างรายได้ในโรงเรียน ในช่วงที่พบกันระหว่างการประชุมของสถานศึกษาแห่งหนึ่ง

ครั้งนี้มีโอกาสจังหวะเหมาะสมดี ที่ คุณยุธยา เทอำรุง ผอ. โรงเรียนบ้านหนองไผ่ ขับรถมารับที่หน้าสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสกลนคร เพื่อเป็นการประหยัดและจะได้ทักทายกัน ขับออกจากตัวเมืองสกลนคร จากจุดนัดพบ รถมุ่งหน้าไปตามถนนสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ ผ่านแยกบายพาส มองเห็นเทือกเขาภูพานนอนเป็นแนวทอดขวางกั้น สีเขียวปนคราม เมฆหมอกยามสายยังไม่จางหายไป ลอยอ้อยอิ่งอยู่ด้านหน้า บ่งบอกอากาศในช่วงเช้า มีอุณภูมิที่ค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 10-11 องศาเซลเซียส ของเดือนธันวาคมปลายปีที่ผ่านมา

คุณยุธยา เทอำรุง และนักเรียน

รถวิ่งมาได้ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงทางสามแยกที่เรียกว่า บ้านศรีวิชา พบป้ายบอกไปอำเภอเต่างอย ซึ่งเป็นอำเภอที่มีสัญลักษณ์เป็น “พญาเต่า” มีผู้คนเดินทางมาไหว้และเที่ยวชม มีชื่อเสียงในทางขอโชคลาภ จนโด่งดัง หากเอ่ยชื่อแล้วเป็นที่รู้จักทั่วไป

เลี้ยวซ้ายจากบ้านศรีวิชา มาตามถนนศรีวิชา-เต่างอย ถนนขนานกับเทือกเขาภูพานมองทะมึนสูงระฟ้า เป็นดินแดนที่เคยเป็นพื้นที่สีแดงมาก่อนในอดีต ผ่านบ้านพะเนาว์ บ้านโพนนาก้างปลา บ้านนากับแก้ และเข้าเขตบ้านหนองไผ่ อันเป็นเป้าหมายที่โรงเรียนบ้านหนองไผ่ และที่นี่จะมี วัด “ถ้ำผาแด่น” อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเชิงนิเวศและพุทธศาสนา มีผู้คนเดินทางมาเที่ยวชมแต่ละวันไม่ขาด

เข้าไปในโรงเรียนพบกับเด็กนักเรียนส่งเสียงเจื้อยแจ้ว ยืนเรียงรายแถวคอยทำความเคารพ เมื่อพบผู้เป็นแขกมาเยือน และวันนี้เป็นวันการแข่งขัน “ทางวิชาการ” ของกลุ่มโรงเรียน จึงมีเด็กๆ นักเรียนจากหลากหลายมารวมกัน พร้อมหน้า กับครูผู้พามาเป็นพี่เลี้ยงในการแข่งขัน

คุณยุธยา บอกว่า ที่นี่เป็นศูนย์ของกลุ่ม หมายถึง เป็น ผอ. ของศูนย์ประจำกลุ่มด้วย หลังจากมาถึงเป็นเวลาพักเที่ยงพอดี ก็ได้มีโอกาสนั่งร่วมรับประทาน “ข้าวเที่ยง” กับคณะครูด้วย เป็นไปแบบกันเอง เรียบง่าย และได้เห็นว่า “โครงการอาหารกลางวัน” ที่นี่ จะหมุนเวียน และอาหารจะจัดเป็นหมวดหมู่หมุนเวียนไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน เน้นให้ครบ 5 หมู่

ครูและนักเรียน

โรงเรียนบ้านหนองไผ่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส จัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปัจจุบัน มีนักเรียน จำนวน 260 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 20 คน

พื้นที่ของโรงเรียนมีทั้งหมด 40 ไร่ มีเขตบริการ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 7 บ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 12 บ้านโพนแดง และบ้านเหล่านกยูง ซึ่งการจัดการศึกษาของเรานั้นเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ

กิจกรรมเด่นของโรงเรียน คือ กิจกรรมทางการเกษตร มีการปลูกหม่อน รับประทานผลสดของโรงเรียน ซึ่งได้เริ่มปลูกหม่อนรับประทานผลของโรงเรียนหนองไผ่ เป็นการปลูกตามโครงการเพื่อเทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 9  เริ่มปลูกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2554 จำนวน 840 ต้น โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เพื่อเทิดพระเกียรติในหลวง

ต่อมามีการขยายพื้นที่ จนถึงปัจจุบัน มี 2,000 ต้น หรือในเนื้อที่ 7 ไร่ ส่วนผลิตผลที่ได้รับ ผลสดของหม่อน ส่งขายกับโรงงานอาหารสำเร็จรูปที่ 3 อำเภอเต่างอย

คุณยุธยา กล่าวอีกว่า ในแต่ละปีนั้น เราจะมีการพัฒนาให้หม่อนออกลูกเก็บผลผลิตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ได้ผลผลิตครั้งละประมาณ 1 ตัน ถึง 1 ตันครึ่ง รวมทั้งปีจะอยู่ที่ 2.5 ตัน ถึง 3 ตัน

นักเรียนชอบ

การจำหน่าย มีการทำสัญญาการปลูกไว้กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป อำเภอเต่างอย ซึ่งมีเท่าไรทางโรงงานรับซื้อทั้งหมด ในราคาประกัน กิโลกรัมละ 35 บาท

หม่อนที่ทางโรงเรียนปลูกเป็นหม่อนอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในเขตพื้นที่โรงเรียนของเรานั้น มีเกษตรกรที่สนใจหันมาปลูกหม่อนกว่า 5 ราย เสริมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ใกล้โรงเรียนด้วย เป็นอาชีพเสริมจากการทำนา ทำสวน และเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็จะสามารถมาศึกษาจากทางโรงเรียนได้

กิจกรรมปลูกหม่อนนี้ มีการทำจริงของนักเรียน เรียนรู้ และทำจริงจากของจริง ตลอดจนปุ๋ยที่นำมาใส่ จะหมักกันเอง จากใบไม้ ใบหญ้า จากนั้นนำมาใส่หม่อน จึงบอกได้ว่าไม่มีสารเคมีแน่นอน

นอกจากกิจกรรมปลูกหม่อนแล้ว ที่นี่ยังมีกิจกรรมเลี้ยงไก่ เลี้ยงโค เสริมให้นักเรียนเรียนรู้สู่การพัฒนาขยายถึงครอบครัว และรายได้จากกิจกรรม นำมาพัฒนาโรงเรียนและเป็นค่าอาหารกลางวัน

คุณยุธยา กล่าวอีกว่า จากการติดตามและศึกษากระแสนิยมรับประทานผลไม้สีม่วงแดงกำลังมาแรง ทั้งประชากรในเมืองและชนบท ทำให้ “มัลเบอร์รี่” หรือ “ผลหม่อน” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ลูกหม่อน” ซึ่งกรมหม่อนไหมได้ทำการศึกษาวิจัยมานานกว่า 20 ปี อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นหน่วยงานเล็กๆ ชื่อสถาบันวิจัยหม่อนไหม สังกัดกรมวิชาการเกษตร ผลการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องของกรมหม่อนไหม ที่ใช้ผลหม่อนบำรุงรักษาสุขภาพ เช่น พบว่า ผลหม่อนมีฤทธิ์ลดการตายของเซลล์ประสาทจากโรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำให้ผลหม่อนเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ทุกวันนี้มีผู้ผลิตและแปรรูปผลหม่อนเป็นอาหารและเครื่องดื่มหลายราย รวมทั้งประชาชนทั่วไปก็ติดต่อขอต้นหม่อนผลสดพันธุ์ ที่กรมหม่อนไหม และที่ศูนย์หม่อนไหมฯ ทั่วประเทศ ไปปลูกเป็นไม้ผลประจำบ้าน ไว้รับประทานผลสดกันทุกวัน

แปลงหม่อน

“ผมว่า ผลสดของหม่อนอร่อย ทุกบ้านหากมีพื้นที่ ควรหามาปลูกไว้ เพราะผลหม่อนนอกจากให้ความอร่อยแล้ว ยังมีคุณค่าหลายอย่าง ที่สำคัญปลูกง่าย หากใครมีพื้นที่มากก็น่าปลูก เพราะสามารถขายได้ตลอด ความต้องการยังมีมาก ใครที่สนใจอยากศึกษาหรือปลูก สามารถไปศึกษาดูงานได้ ติดต่อที่โรงเรียนได้ทุกวัน” คุณยุธยา บอก

สำหรับการปลูกต้นหม่อนนั้น ได้ติดตามและศึกษายึดถือวิชาการจากกรมหม่อนไหมดังนี้ ระยะปลูก อาจปลูกเป็นแถว แต่ละต้นห่างกัน 4 เมตร เพื่อเผื่อรัศมีทรงพุ่มไว้อย่างน้อย 2 เมตร หรือจะปลูกในแปลงพื้นที่สี่เหลี่ยมด้วยระยะปลูก 4×4 เมตร ก็ได้

การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึก 50x50x50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อหลุม ใส่ปูนโดโลไมท์หรือปูนขาว ประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อหลุม และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 250 กรัม ต่อหลุม หรือจะให้แม่นยำต้องใส่ตามค่าการวิเคราะห์ดิน คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วกลบหลุมด้วยหน้าดินให้พูนเล็กน้อย

วิธีการปลูก ขุดหลุมเตรียมไว้ให้ลึกพอประมาณ แล้วนำต้นหม่อนที่เตรียมไว้ด้วยวิธีการต่างๆ ลงปลูก กลบดินให้แน่น

การบังคับทรงต้น ต้นหม่อนที่ปลูกจากกิ่งชำชนิดล้างราก หรือชนิดชำถุง หรือปลูกด้วยท่อนพันธุ์จากกิ่งพันธุ์โดยตรง เมื่อต้นหม่อนเจริญเติบโตได้ประมาณ 6-12 เดือน จะต้องบังคับทรงพุ่มโดยตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียงกิ่งเดียวไว้เป็นต้นตอ มีความสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร จากพื้นดิน ปล่อยให้หม่อนแตกกิ่งใหม่หลายๆ กิ่ง เก็บกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้ตัดทิ้งเพื่อให้ด้านล่างโปร่ง ง่ายต่อการปฏิบัติดูแลรักษาด้านเขตกรรมต่างๆ เช่น การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพรวนดิน การตัดแต่งกิ่งแขนงและการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

ผลหม่อนบนต้น

อนึ่ง สำหรับหม่อนที่ปลูกในปีแรกๆ ลำต้นและระบบรากยังเจริญเติบโตไม่มาก อาจจะหักล้มได้ง่าย ดังนั้น จะต้องยึดลำต้นไว้ด้วยไม้ หรือไม้ไผ่ให้แน่นหนา

การใส่ปุ๋ย ในปีที่ 2 ให้ใส่ปูนขาว หรือปูนโดโลไมท์ตามการวิเคราะห์ความต้องการปูนขาวของดินเพิ่ม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 10 กิโลกรัม ต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 250 กรัม ต่อต้น

การให้น้ำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำหม่อนในระยะที่หม่อนติดผลแล้ว (โดยปกติจะมีฝนหลงฤดู หรือฝนชะช่อมะม่วงผ่านเข้ามา จะทำให้ต้นหม่อนแตกตาติดดอก ถ้าไม่มีฝนหลงฤดู หลังโน้มกิ่ง รูดใบ ต้องให้น้ำกระตุ้นการแตกตาแทนน้ำฝน) หากขาดน้ำจะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุก หรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็ก

การตัดแต่งกิ่ง และการดูแลรักษาทรงพุ่ม ตัดเฉพาะกิ่งแขนงที่ไม่สมบูรณ์และเป็นโรคทิ้ง เพื่อลดการสะสมโรคและแมลง การบังคับให้หม่อนติดผลนอกฤดูกาล ใช้วิธีการบังคับต้นหม่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตผลหม่อนในระยะเวลาที่ต้องการ มีวิธีการดังนี้

  1. 1. โน้มกิ่งหม่อนที่ปลูกแบบทรงพุ่ม โดยการโน้มกิ่งให้ปลายยอดขนานกับพื้น หรือโน้มลงพื้นดิน รูดใบหม่อนออกให้หมด พร้อมทั้งตัดยอดส่วนที่เป็นกิ่งสีเขียวออก ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้เชือกผูกโยงติดไว้กับหลักไม้ไผ่ ซึ่งปักไว้บนพื้นดินสำหรับยึดเชือกไว้
  2. 2. หลังการโน้มกิ่ง 8-12 วัน ดอกหม่อนจะแตกออกพร้อมใบ จากนั้นจะมีการพัฒนาการของผลหม่อน โดยผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาว สีชมพู สีแดง และสีม่วงดำ ตามลำดับ โดยใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ผลจะเริ่มแก่และสุก สามารถเก็บไปรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปได้ มีระยะเวลาในการเก็บผลประมาณ 30 วัน ต่อต้น เพราะผลหม่อนจะทยอยสุก เนื่องจากออกดอกไม่พร้อมกัน

เมื่อต้นหม่อนมีอายุตั้งแต่ 2 ปี เป็นต้นไป จะให้ผลผลิตหม่อน ประมาณ 1.5-3.5 กิโลกรัม (ประมาณ 750-1,850 ผล ต่อครั้ง ต่อต้น) เพียงพอต่อการบริโภคผลสดทั้งครอบครัวทุกวันตลอดปี ซึ่งร่างกายต้องการ วันละ 10-30 ผล เท่านั้น อีกทั้งยังมีผลหม่อนสดไว้แปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้อีกหลายชนิด เช่น น้ำหม่อน แยมหม่อน เชอเบทหม่อน ฯลฯ

สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาดูงานในจังหวัดสกลนคร ติดต่อได้ที่ คุณยุธยา เทอำรุง โทร. 081-871-2932 ได้ทุกวัน