เกษตรกรสงขลา สร้างป่าในสวนยาง สร้างรายได้ตลอดทั้งปี

ชาวสวนยางพาราในอดีตปลูกทุกอย่างที่กินหรือใช้ในครอบครัว ทำงานอยู่ในสวนยางประมาณ 10-12 ชั่วโมง ต่อวัน สวนยางในอดีตจึงเปรียบเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ตและตู้เย็นที่มีชีวิต มักพูดกันติดปากว่า อยากได้อะไรก็ไปหาจากป่ายาง แต่ระยะหลังเกษตรกรหันมาปลูกยางในลักษณะพืชเชิงเดี่ยว ทำให้วิถีชีวิตชาวสวนยางแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเจอวิกฤตยางพาราราคาตกต่ำ ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอรายจ่าย

ปี 2557 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงกำหนดนโยบายให้สงเคราะห์ปลูกยางพาราทดแทนแบบผสมผสาน โดยปลูกยางพันธุ์ดีไม่น้อยกว่า 40 ต้น ต่อไร่ ร่วมกับไม้ยืนต้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เกษตรกรหลายรายตัดสินใจลงทุนทำ “สวนวนเกษตรยางพารา” (Rubber Agroforestry) ซึ่งเป็นการปลูกยางพาราโดยมีพืชอื่นๆ ปลูกร่วมและปลูกแซม ทำให้ภายในสวนยางพารามีความหลากหลายของพืชและสัตว์เพิ่มมากขึ้น มีแมลงช่วยผสมเกสร ตัวเบียน ช่วยกินศัตรูพืช จุลินทรีย์ดินช่วยย่อยสลาย ไส้เดือนช่วยทำให้ดินร่วนซุย ฯลฯ

บังหมัดฉา หรือ คุณหมัดฉา หนูหมาน

สวนวนเกษตรห้วยหาด

บังหมัดฉา หรือ คุณหมัดฉา หนูหมาน เจ้าของสวนวนเกษตรห้วยหาด เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการสร้างป่าในสวนยางพารา บังหมัดฉา อาศัยอยู่ที่ บ้านเลขที่ 52/12 หมู่ที่ 1 บ้านห้วยหาดสวนหลวง ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 089-596-6432 เฟซบุ๊ก “บังหมัดฉา สวนวนเกษตรห้วยหาด”

บังหมัดฉา มีพื้นที่สวนยางพาราแบบวนเกษตร จำนวน 2 แปลง รวมเนื้อที่ 19 ไร่ เขาปลูกยางพาราแปลงแรก เนื้อที่ 10 ไร่ เมื่อ ปี 2546 สวนยางพาราแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่เนินเขา เป็นดินภูเขา ลักษณะดินเหนียวปนทราย หน้าดินตื้น ด้านล่างเป็นดินดาน ซึ่งลักษณะพื้นที่ดังกล่าว ทำให้สวนยางพาราแห่งนี้มีปริมาณน้ำยางน้อยกว่าสวนยางพาราเชิงเดี่ยวทั่วไป

บังหมัดฉา และภรรยา ในสวนยางวนเกษตร

บังหมัดฉา หันมาทำสวนยางพาราแบบวนเกษตร เมื่อ ปี 2552 สำหรับพื้นที่ที่มีสภาพดินกร้านแข็ง เขาใช้วิธืปลูกหญ้าแฝกล้อมต้นไม้ที่ปลูกร่วมในแปลงสวนยาง วิธีนี้ช่วยรักษาความชี้น หลังจากต้นไม้เติบโตขึ้นจนมีร่มทึบไม่มีแสง ต้นหญ้าแฝกก็ตายไป เมื่อเวลาผ่านไป สภาพดินในสวนยางพาราค่อยๆ ปรับตัวมีความชุ่มชื้นขึ้น เมื่อดินดี ต้นยางก็ให้ผลผลิตดีขึ้น แตกต่างจากสวนยางพาราที่ปลูกเชิงเดี่ยวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง

เทคนิคการปลูกพืชร่วมยาง

ปัจจุบัน บังหมัดฉา เน้นปลูกพืชร่วมยางที่หลากหลายชนิดและเป็นประโยชน์ในการใช้สอย โดยปลูกต้นยางพาราร่วมกับไม้เศรษฐกิจ ประเภท ยางนา พะยอม ตะเคียนทอง ยางแดง เทพทาโร ต้นสัก ต้นพะยูง ฯลฯ สำหรับใช้สอยและจำหน่ายแล้ว เขายังปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ เช่น สะละอินโดฯ ไผ่ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง) มะไฟ กล้วย ตะไคร้หอม กระชายดำ ชะพลู ฯลฯ ในพื้นที่ที่ว่างที่เหลือเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและขายเพื่อสร้างรายได้ นอกจากรายได้จากการกรีดยางแล้ว บังหมัดฉา ยังมีรายได้เสริมจากพืชร่วมยางตลอดทั้งปี เป็นทั้งรายได้ระยะสั้น ระยะปานกลาง และรายได้ในระยะยาวอยู่ภายในสวนแห่งนี้

เกษตรกรสนใจเข้าเยี่ยมชมงาน

ประโยชน์การปลูกพืชแบบวนเกษตรในสวนยางพารา สิ่งแรกที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้มาเยือนคือ บรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบาย คาดว่าอุณหภูมิภายในสวนยางพาราแห่งนี้ต่ำกว่าอุณหภูมิภายนอก ไม่ต่ำกว่า 2-3 องศาเซลเซียส เมื่อสังเกตบนผิวดิน จะเห็นสภาพดินที่อุดมสมบูรณ์ เพราะในสวนยางแห่งนี้มีการผลัดใบของพืชนานาชนิด ทำให้มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง วัชพืชในสวนเติบโตช้าลง ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช ไม่ต่ำกว่า 300 บาท ต่อไร่

นอกจากนี้ บังหมัดฉา ยังใช้พื้นที่บางส่วนในแปลงสวนยางพาราแห่งที่ 2 ใช้เพาะปลูกและขยายพันธุ์ไม้ เช่น โกโก้ สมอ พะยอม รางจืด ผักหวานบ้าน ตะเคียนทอง รวมทั้งปลูกต้นไม้รอบสวนเพื่อใช้เป็นรั้วกั้นอาณาเขต เช่น มะกอก ขี้เหล็ก เป็นต้น

ต้นสะละอินโดฯ ที่ปลูกร่วมแปลงยาง

สินค้าเด่นของสวนแห่งนี้ที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไป คือ สะละอินโดฯ เพราะทุกวันนี้ปริมาณสินค้าสะละอินโดฯ ในตลาดยังมีน้อย ขายได้ราคาดี ทั้งผลผลิตและต้นพันธุ์ที่บังหมัดฉาปลูกขยายพันธุ์ไว้สำหรับจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจโดยทั่วไป ต้นสะละอินโดฯ เป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย สามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่ร่ม อย่างเช่น สวนยางพารา

ประโยชน์ของการสร้างป่าในสวนยาง

บังหมัดฉา บอกว่า ข้อดีของการสร้างป่าในสวนยาง นอกจากมีรายได้เพิ่มจากพืชอื่นๆ แล้ว ยังพบว่า สวนยางใหม่ที่เปิดกรีดมีความเข้มข้นของน้ำยางสูงขึ้น อยู่ที่ร้อยละ 32-35 และมีปริมาณน้ำยางสูงกว่าการทำสวนยางเชิงเดี่ยว ประมาณ ร้อยละ 6-7 เนื่องจากการสร้างป่าในสวนป่า ช่วยให้ดินมีคุณภาพดีขึ้นและมีความชุ่มชื้นมากกว่าเดิมนั่นเอง บังหมัดฉา ยังเลี้ยงผึ้งโพรงแบบพึ่งพาธรรมชาติ ในสวนวนเกษตร เก็บน้ำผึ้งออกขายได้เงินก้อนโต นอกจากนี้ เขายังมีรายได้เสริมจากการนำไม้ไผ่มาเผาเป็นถ่านชาร์โคลออกขายให้กับผู้บริโภคที่รักสุขภาพอีก ทำให้มีรายได้หมุนเวียนเข้ากระเป๋าอีกทางหนึ่ง

รังผึ้งโพรง ที่ตั้งไว้ในสวน
น้ำผึ้งคุณภาพดี ของสวนบังหมัดฉา

นอกจากนี้ การปลูกไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง รวมทั้งสะละอินโดฯ ร่วมยาง ยังมีส่วนช่วยในการยึดเกาะหน้าดินได้ดีกว่าการปลูกยางเป็นพืชเชิงเดี่ยว ระบบรากของพืชร่วมยางยังช่วยชะลอความแรงของน้ำ ทำให้น้ำไหลผ่านหน้าดินช้าลง ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน สวนไผ่ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุง) ก็มีส่วนช่วยบำรุงดินเช่นกัน เพราะพืชตระกูลไผ่มีรากฝอยจำนวนมาก กระจายตัวช่วยยึดหน้าดินแล้ว ใบไผ่ยังทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์กว่าพืชชนิดอื่นๆ นอกจากมีแร่ธาตุจำนวนมากแล้ว ยังร่วงลงดินเป็นอินทรียวัตถุได้ตลอดปี

ประการต่อมา การสร้างป่าในสวนยาง จะมีการผลัดใบของพืชชนิดต่างๆ ร่วมด้วย ทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินมีสูง วัชพืชมีน้อย ประหยัดค่าตัดหญ้าและค่าปุ๋ย บังหมัดฉาคอยดูแลฉีดน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพเพื่อเพิ่มแร่ธาตุ เร่งการย่อยสลายให้กับอินทรียวัตถุในสวนแห่งนี้ก็เพียงพอแล้ว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพเหล่านี้ก็ต่ำเพราะทำได้เองในบ้าน คิดเป็นต้นทุนการผลิตแค่เพียงปีละ 600 กว่าบาทเท่านั้น

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ผลิตไว้ใช้ในสวน

ข้อดีของการสร้างป่าในสวนยาง ที่เรียกว่า สวนยางแบบวนเกษตรนั้น ถือเป็นการช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศตามธรรมชาติไปด้วยในตัว เพราะการปลูกต้นไม้ เท่ากับเพิ่มปริมาณออกซิเจนและความชุ่มชื้นมากขึ้นด้วย ทำให้บังหมัดฉาเกิดความภาคภูมิใจในการทำสวนยางพาราแบบวนเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีว่า เป็นการตัดสินใจเลือกที่ถูกต้อง เพราะมีสุขภาพกายใจที่ดีขึ้น แถมยังมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าในอดีต

เตาเผาถ่านไม้ไผ่ชาร์โคล
ถ่านไม้ชาร์โคล สินค้าขายดีของบังหมัดฉา

ดังนั้น บังหมัดฉา จึงชักชวนเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้หันมาสร้างป่าในสวนยางที่เรียกว่า ระบบวนเกษตรยางพารา เพราะเป็นแนวทางการจัดการทรัพยากรที่ดินให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความยั่งยืนในระยะยาว เพราะช่วยให้เกษตรกรมีคลังอาหาร คลังยาสมุนไพรสำหรับใช้ในครัวเรือน เป็นภูมิคุ้มกันชีวิตให้พึ่งพาตัวเองได้ สอดคล้องตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9)

………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

Update 18/07/2021