ผักไชยา คุณค่าอาหารสูง เป็นยาชั้นยอด

ไม่น่าเชื่อเลยว่าในทุกวันนี้ จะมีพืชอาหาร ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ผัก” มาให้เห็นมากมายหลายชนิด ส่วนใหญ่จะบอกเล่าประวัติความเป็นมา ว่ามาจากต่างประเทศ คงเป็นยุคสมัยโลกไร้พรมแดนจริงๆ ผักพื้นบ้านไทยเราไปโผล่เป็นผักยอดนิยมของประเทศอื่น บางอย่างจดลิขสิทธิ์เป็นของเขาไปเลยก็มี ของต่างประเทศที่เข้ามานิยมในไทยเรา ก็มีมากหลายอย่าง รู้จักกันดี เช่น ผักขึ้นฉ่าย ผักกุยช่าย ผักกาดขาว ผักกาดเขียวปลี ผักป๋วยเล้ง ต้นหอม มีที่มาจากเมืองจีน ที่มาจากอเมริกาใต้ก็มากมาย จากยุโรปก็มาก เช่นเดียวกับผักนี้ “ผักไชยา”

ได้ติดตามสืบเสาะประวัติของผักชนิดนี้ ด้วยเพราะสงสัยในด้านรูปลักษณ์ ต้น ยอด ใบ และลักษณะอื่นๆ มันไม่น่าจะเป็นพืชที่คนกินได้ เหมือนต้นสบู่ดำ ที่เขาเอาเมล็ดมาทำน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นพลังงานทางเลือกทดแทน เหมือนมากๆ มันกินไม่ได้นี่ ยิ่งเมื่อหักยอด เห็นมีน้ำยางสีขาวไหลออกมา ชัดเลยพืชมีพิษแน่ๆ มาพิจารณาดูในส่วนของยอดอ่อน และใบอ่อน ดูคล้ายมะละกอ เดิมทียอดมะละกอ ใบอ่อนมะละกอ ชาวบ้านยังเอามาย่างไฟพอสลบ หรืออาจถึงสุกเกรียม ยังเอามากินได้ ยิ่งพบเห็นข่าว คนนิยมปลูกผักไชยาไว้เป็นผักข้างรั้ว เก็บมาทำอาหารกิน เลยค่อนข้างเชื่อ และชวนให้ติดตามดู “ผักไชยา” มาโดยตลอด และมาพบเจออีกหลายที่ มีทั่วไปที่มีปลูกไว้ จึงยิ่งได้ติดตามดู และนำมาเล่าสู่กันในที่นี้

“ผักไชยา” กำเนิดเดิมเขาว่ามาจากคาบสมุทรยูกาตัน ประเทศเม็กซิโก ทวีปอเมริกาใต้ แพร่ขยายไปประเทศกัวเตมาลา ถึงอเมริกา ชาวเม็กซิโก กัวเตมาลา อเมริกา ใช้เป็นผักประกอบอาหาร คล้ายผักคะน้า แพร่หลายไปทั่ว

คาดว่าเข้าสู่แดนไทยทางเมืองไชยา สุราษฎร์ธานี แต่เขาว่าไม่ใช่หรอก ชื่อที่เรียกกัน พ้องกับชื่อเมืองไชยาเฉยๆ ที่จริงชื่อเขาเรียก “ชายา (CHAYA)” เป็นภาษาสเปน แปลว่า ลมหายใจของชีวิต ปลูกในไทยเรียกกันหลายชื่อ เช่น คะน้าเม็กซิโก ผักโขมต้น ผักชายา ผักไชยา มะละกอกินใบ ต้นผงชูรส อีสานตั้งชื่อว่า “กกแซ่บ” นิยมปลูกกันมากโดยเฉพาะที่จังหวัดมหาสารคาม ปลูกขยายพันธุ์ขึ้นง่าย โตเร็ว ให้ยอดใบมากพอที่จะใช้ทำอาหารประจำวันได้

ผักไชยา มีชื่อเรียกสามัญ ว่า TREE SPINACH
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cnidoscolus chayamansa
วงศ์ EUPHORBIACEAE วงศ์เดียวกับมันสำปะหลัง ยางพารา ฝิ่นต้น หนุมานนั่งแท่น สลัดได สบู่ดำ

ผักไชยาเป็นพืชต้นอวบน้ำ พุ่มสูง 2-6 เมตร นิยมตัดไว้พุ่มไม่เกิน 2 เมตร เพื่อง่ายต่อการเด็ดยอด ใบคล้ายใบมะละกอ หรือใบเมเปิ้ล มีตั้งแต่ใบอ่อนรูปหัวใจ ใบเริ่มแก่มี 3-4 แฉกเว้าลึก หรือไม่มีเว้าลึกก็มี

ผักไชยาทั่วต้นถ้าถูกตัด หัก จะมียางสีขาว ปลูกขยายพันธุ์ง่ายมาก แค่เพียงตัดกิ่งติดยอด เด็ดใบแก่ออก ใบอ่อนนำไปเป็นอาหาร เหลือกิ่งไว้ยาวสัก 2 คืบ ประมาณ 1 ฟุตครึ่ง หรือ 15-18 นิ้ว ไปปักชำลงที่ต้องการปลูก พรวนดิน รดน้ำ คลุมพรางแสงบ้าง 5-7 วัน ติดต้นใหม่ ไว้สูงยาวสัก 2 เท่าตัว ค่อยเด็ดยอดใบไปประกอบอาหารกินได้ ยอดใบผักไชยา ควรทำให้สุกด้วยความร้อน ต้มหรือลวกใบอ่อน 5 นาที ใบแก่ 10-15 นาที น้ำต้มผักไชยาสามารถใช้ดื่มแทนน้ำชาได้

ผักไชยา มีส่วนประกอบที่มีคุณค่าทางอาหารมากกว่าผักสีเขียวทั่วไป 2-3 เท่าตัว เป็นผักที่มีน้ำ 85.3% คาร์โบไฮเดรต 4.2% โปรตีน 5.7% ไขมัน 0.4% เส้นใยอาหาร 1.9% มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ แคลเซียม 421.0 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 217.2 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 39.0 มิลลิกรัม เหล็ก 11.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 164.7 มิลลิกรัม วิตามินเอ 0.085 มิลลิกรัม

ผักไชยาเป็นผักที่ยอดอวบใหญ่ ใบหนา เป็นผักที่มียาง การนำมาเป็นอาหารควรระมัดระวัง เพราะมี คลูโดไซด์ ซึ่งจะปล่อยสารพิษไซยาไนด์ และไม่ควรต้มในภาชนะที่เป็นอะลูมิเนียม จะทำให้น้ำต้มเป็นพิษ ในส่วนของก้าน ต้องลอกเปลือกออกก่อนทำอาหารกิน

สรรพคุณทางยา ผักไชยา เมื่อนำมาเป็นอาหาร จะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผักต่างๆ มีสรรพคุณช่วยต้านพยาธิ หรือจุลชีพต่างๆ ต้านอาการอักเสบ ปกป้องหลอดเลือดและหัวใจ ลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมัน ใช้เป็นยาระบาย ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ เพิ่มการไหลเวียนเลือด บำรุงสายตา รักษาโรคหอบหืด ป้องกันการไอจาม ป้องกันการติดเชื้อฆ่าเชื้อในปอด รักษาไขข้ออักเสบ เพิ่มแคลเซียมในกระดูก รักษาอาการกระดูกพรุน ลดการอักเสบในเลือดป้องกันโรคโลหิตจาง บำรุงสมอง ฯลฯ

ชื่อ “ผักไชยา” ยังคงเป็นความกังขาอยู่ในใจใครบางคน รวมไปถึงคนตั้งชื่อเรียกขานครั้งแรก เพราะ ไชยา เป็นชื่อเมืองโบราณ 1 ใน 3 เมืองสำคัญของอาณาจักรศรีวิชัย เป็นศูนย์กลางการค้าขายต่างประเทศ ศูนย์กลางเผยแพร่ศาสนา เคยถูกอินเดียครองอำนาจอยู่พักหนึ่ง กลับมายิ่งใหญ่ และเกิดสงครามชิงความยิ่งใหญ่ จนอ่อนล้า ถูกยึดครองโดยอาณาจักรสุโขทัย และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเมืองไชยา ย้ายเมืองไปอยู่ริมทะเลที่ พุมเรียง เมืองไชยาต่อมารวมกับเมืองชุมพร เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองหลังสวน เป็นมณฑลชุมพร เมืองพุมเรียง รวมกับเมืองบ้านดอน เป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานี สุดท้ายเมืองไชยา เป็นอำเภอไชยา ตั้งแต่ปี 2480 แต่เมืองหลวงอดีตอาณาจักรศรีวิชัยอันยิ่งใหญ่ ไม่ได้เป็นอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี เพราะไม่มีศาลากลางจังหวัดที่อำเภอนี้

คงจะเป็นเพราะประวัติที่มาเช่นนี้ จึงมีหลายคนคาดเดาว่า “ผักไชยา” คงมีต้นทางนำเข้ามาปลูกครั้งแรกในไทย ที่เมืองไชยามาก่อนละกระมัง ถึงตั้งชื่อเรียก “ผักไชยา” จริงเท็จเป็นเช่นไร ค่อยเสาะหามาเล่ากันต่อไปครับ