ยกระดับมาตรฐาน คุมเข้มคุณภาพ “ทุเรียนแช่เยือกแข็ง” เพื่อการส่งออก

ทุเรียนแช่เยือกแข็งเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่ไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออกสูง โดยปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งถึง 20,430 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,172.75 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ จีน และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ขณะที่การส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประเทศผู้นำเข้าก็ได้แจ้งเตือนปัญหาเนื้อทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทุเรียนอ่อนและพบสิ่งแปลกปลอมรวมถึงจุลินทรีย์ก่อโรคเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงทุเรียนไทยโดยรวม จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560) และประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนแช่เยือกแข็งของไทยแก่ประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน

นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง เป็นมาตรฐานทั่วไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งผลักดันมาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานบังคับของประเทศ เพื่อให้ผู้ผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง/แช่เย็นจนแข็ง รวมถึงผู้ส่งออก/ผู้ค้า หรือ เทรดเดอร์ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการผลิตสินค้าทุเรียนแช่เยือกแข็งที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้า

มาตรฐานฯ นี้กำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง ในรูปทุเรียนทั้งผล เนื้อทุเรียนมีเมล็ด และเนื้อทุเรียนไม่มีเมล็ด มีสาระสำคัญครอบคลุมตั้งแต่การรับวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การเก็บรักษา และการขนส่ง ที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การปฏิบัติ : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร อาทิ สถานประกอบการต้องทำให้มั่นใจว่ามีการปนเปื้อนน้อยที่สุด ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน เช่น การควบคุมอุณหภูมิ การเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ การทำความสะอาด และสุขลักษณะส่วนบุคคล  เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีข้อกำหนดในการควบคุมเชื้อโรคและสารเคมีที่อาจปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์และระบบควบคุมสุขลักษณะ เช่น การรับวัตถุดิบทุเรียนที่มีคุณภาพและปลอดภัย การควบคุมกระบวนการแช่เยือกแข็ง เก็บรักษาและขนส่ง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีอุณหภูมิที่ -18 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่า รวมถึงการจัดการและการกำกับดูแลเฝ้าระวังอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ด้วย

เลขาธิการ มกอช. กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลักดันให้ประกาศเป็นมาตรฐานบังคับโดยเร็วตามนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบื้องต้นคาดว่า    จะสามารถประกาศใช้มาตรฐานบังคับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งภายในเดือนพฤษภาคม 2560อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับมาตรฐานดังกล่าว โดยผู้ผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อส่งออก ต้องมาขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตและมีใบอนุญาตในครอบครองก่อนวันที่มาตรฐานมีผลบังคับใช้ ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 3 ปี นับแต่วันที่ออก ทั้งนี้ ผู้ผลิตต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานทุกข้อ ทั้งยังต้องขอรับการรับรองและได้ใบรับรองตามมาตรฐานบังคับจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานด้วย

ส่วนผู้ส่งออก/เทรดเดอร์ต้องมาขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ส่งออก และต้องศึกษาเนื้อหาของมาตรฐานและแจ้งผู้ผลิตทราบเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรฐาน และให้ผู้ผลิตปฏิบัติตามมาตรฐานและขอการรับรองด้วย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานหรือหน่วยรับรองที่ประสงค์จะเป็นผู้ตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานบังคับ ต้องมาขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานจาก มกอช. โดยใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี ภายหลังมาตรฐานมีผลบังคับใช้ หากไม่มีใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก/เทรดเดอร์ และไม่มีใบรับรองตามมาตรฐานบังคับนี้ จะไม่สามารถส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งไปต่างประเทศได้

การปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้สินค้าทุเรียนไทยในตลาดโลก รักษาชื่อเสียงและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และทำให้สินค้ามีศักยภาพการในการส่งออกเพิ่มขึ้น ดังนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ประกาศให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับดังกล่าวด้วย

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง สามารถสอบถามได้ที่ กลุ่มมาตรฐานพืชและผลิตภัณฑ์ สำนักกำหนดมาตรฐาน โทร 025612277 ต่อ 1411-1412 โทรสาร 02-561-3357, 02-561-3373 หรือต้องการขอขึ้นทะเบียนตามระบบคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก และการแจ้งการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (TAS License) สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มงานอนุญาตและขึ้นทะเบียน กองควบคุมมาตรฐาน มกอช. โทร. 095-871-2113 , 02-561-2277 ต่อ 5230 E-mail:[email protected] Line ID: permitacfs