เรียนรู้แก้จน ด้วย “ศาสตร์พระราชา” ที่ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดสงขลา

“คุณหมู” หรือ คุณกรวิชญ์ มาระเสนา อดีตวิศวกรโยธา ที่ตัดสินใจลาออกแล้วเบนเข็มสู่อาชีพเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว โดยมุ่งทำสวนเกษตรผสมผสานตามศาสตร์พระราชา นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและการตลาดมาใช้ผลิตและจำหน่ายสินค้า สร้างรายได้หลายแสนบาทต่อไร่

สร้างวิถีชีวิตแห่งความสุข

บนเส้นทางอาชีพเกษตรกร

เดิมทีครอบครัวคุณหมูทำธุรกิจเกษตรและประมง พ่อแม่ตั้งใจส่งเสริมให้คุณหมูเรียนจบสูงๆ เพราะไม่ได้อยากให้มาทำอาชีพเกษตรกรรม หลังคุณหมูเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ก็ทำงานประจำในตำแหน่งวิศวกรโยธา ทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เมื่อ 10 ปีก่อน คุณหมูจึงตัดสินใจลาออกแล้วกลับมาทำเกษตรที่บ้านเกิด เพื่อจะได้มีโอกาสดูแลพ่อแม่ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง

คุณหมู หรือ คุณกรวิชญ์ มาระเสนา

ในระยะแรก คุณหมูไม่มีพื้นฐานด้านงานเกษตร ก็พยายามเรียนรู้ข้อมูลด้านการผลิต-การตลาด จากหนังสือด้านเกษตรและข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากกระแสนิยมบริโภคผักอินทรีย์ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณหมูจึงสนใจเรื่องการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ให้ผลตอบแทนสูง คุณหมูเป็นแกนนำรวมกลุ่มชาวบ้าน จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่าสะอ้าน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 เพื่อดำเนินกิจกรรมปลูกและจำหน่ายผักปลอดสารพิษ เช่น ผักคะน้า ผักกาด ผักสลัด ผักขม ผักกวางตุ้งฮ่องเต้ และผักบุ้ง ฯลฯ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่าสะอ้าน ทำงานโดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์ (organic agriculture) ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “3 ห่วง 2 เงื่อนไข” ได้แก่ ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ความรู้ และคุณธรรม คุณหมูร่วมมือกับสมาชิกกลุ่มวางแผนจัดการโซ่อุปทาน ตั้งแต่การเตรียมคน พื้นที่ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งจัดหาเมล็ดพันธุ์ผักคุณภาพดีให้สมาชิกนำไปปลูก

ทางวิสาหกิจชุมชน ฯ ควบคุมคุณภาพผลผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานจัดการคุณภาพ GAP พืช จัดระบบการให้น้ำ-ปุ๋ย บำรุงรักษาไม่ให้แมลงและวัชพืชทำลายผลผลิต กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุกวันหรือสองวันครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของพืชผัก นำผักมาใส่บรรจุภัณฑ์ที่มีการรับรองเกษตรปลอดภัย (Q) จากกรมวิชาการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของเทศบาลตำบลเขารูปช้างและสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสงขลา ด้านการตลาด ทางกลุ่มเน้นขายปลีก ณ ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนท่าสะอ้านไฮโดรโปนิกส์ ตลาดนัดวันอาทิตย์ และตลาดนัดเกษตรทุกวันศุกร์ เวลา 06.30-13.00 น.

ปลูกดอกบัวเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงผึ้งและชันโรง

ในบางครั้งการปลูกผักอินทรีย์ก็ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟ ไรแดง รวมถึงเชื้อราที่เกิดจากอาการโรครากเน่า และโรคใบจุด ทำให้ประสบปัญหาขาดทุน การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ แม้ระบบน้ำจะมีธาตุอาหารที่พืชต้องการครบ แต่ในช่วงหน้าร้อนต่อหน้าฝน รากพืชจะไม่สามารถดูดสารอาหารได้เต็มที่ เนื่องจากมีเชื้อรา 2 ชนิด จะเติบโตได้ดี และเป็นเชื้อราที่มักจะเกิดขึ้นกับการปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ หลายครั้ง และชอบไปเกาะอิงอาศัยอยู่กับรากพืช จนพืชไม่สามารถดูดอาหารได้ มีอาการโรครากเน่า ใบจุด เนื่องจากคุณหมูเป็นเกษตรกรมือใหม่ ยังขาดความรู้ด้านการกำจัดแมลงศัตรูพืช และการบริหารตลาดที่เหมาะสม เขาจึงพยายามเรียนรู้เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ เข้ามาใช้ปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บ่มเพาะความรู้ จาก YSF

ปี 2557 กรมส่งเสริมการเกษตรจัดโครงการอบรมเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) โดยเปิดรับสมัครลูกหลานเกษตรกรอายุระหว่าง 17 – 45 ปี  ที่มีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ซึ่งคุณหมูมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดจึงได้เป็นสมาชิกYSF รุ่นแรกของโครงการ ฯ

สมาชิกYSF จะได้รับการอบรมให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ (StartUp) เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต ลดความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยนวัตกรรม ได้แก่ ระบบ IoT(internet of Things) นวัตกรรม Smart Farm  ระบบ Digital Market การพัฒนาสินค้าเกษตรได้รับรองมาตรฐานสากล Go to Global เพื่อยกระดับผู้ประกอบการรุ่นใหม่สู่สากล

โรงเรือนเปิดปลูกมะเขือเทศเชอร์รี่

คุณหมู ได้นำหลักการทำเกษตรยุคใหม่ มาปรับใช้ในการปลูกพืช เช่นการปลูกผักยกแคร่ ที่มีความสูง 1 เมตร จากพื้นดิน หลังคามุงด้วยพลาสติกหนาใส ข้อดีของการปลูกผักบนแคร่ในโรงเรือน คือ ลดปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชและหนีปัญหาวัชพืช สามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี สะดวกในการทำ ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ ให้ปวดหลัง

คุณหมูเพาะต้นกล้าผักที่เติบโตแข็งแรงก่อน จึงค่อยย้ายมาปลูกบนแคร่ การปลูกผักยกแคร่ ช่วยระบายอากาศและความร้อนได้ดี ประหยัดน้ำและปุ๋ย นอกจากนี้ ยังปลูกผักสลับชนิดในแต่ละโรงเรือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช

ทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลาและคุณหมู

นอกจากนี้ยังใช้นโยบายตลาดนำการผลิตเพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด คุณหมูเลือกปลูกผักที่ลูกค้าชอบมากที่สุดก่อน จึงค่อยปลูกผักชนิดอื่นรองลงมา เน้นปลูกผักในกระถางตั้งไว้ในโรงเรือนเพื่อให้สะดวกต่อการเคลื่อนสินค้าไปจัดแสดงหรือจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกด้วย แทนที่จะตัดผักสดขายทีละต้น ในราคา ต้นละ 25 บาท ก็ใช้วิธีขายแบบยกกระถาง ในราคา 3 ต้น 100 บาทแทน ช่วยเพิ่มโอกาสขายสินค้าได้มากขึ้น

ปัจจุบัน คุณหมู ทำเกษตรผสมผสานระบบเกษตรอินทรีย์ สร้างเม็ดเงิน 1 ไร่ ได้หลายแสน จากกิจกรรมปลูกผัก เลี้ยงสัตว์และประมง ในพื้นที่ 3 ไร่ สินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมสูงคือ กลุ่มพืชผักผลไม้เพื่อสุขภาพ ประเภทผักอินทรีย์ และมะเขือเทศเชอร์รี่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าเก็บผลและเลือกซื้อผลผลิตได้ภายในสวน

มะเขือเทศเชอร์รี่ สินค้าขายดี
ฟาร์มเลี้ยงไก่

คุณหมู แบ่งพื้นที่เลี้ยงเป็ด ไก่พื้นบ้าน เช่น ไก่ดำภูพาน ไก่คอล่อน ไก่อินโดฯ ไก่ต๊อก ขุดสระเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สอยตลอดทั้งปี เลี้ยงกุ้งก้ามแดงในตะกร้า และเลี้ยงปลา แบบเกื้อกูลกัน โดยกุ้งกินขี้ปลาเป็นอาหาร ปลูกต้นมัลเบอร์รี่หรือหม่อนผลสดปลูกใส่กระถาง คุณหมู บอกว่า เทคนิคที่ช่วยให้ผลมัลเบอร์รี่มีขนาดใหญ่ คือ ต้องเด็ดใบบ่อยๆ จะกระตุ้นให้ต้นหม่อนติดลูกดก ขนาดผลใหญ่ เวลานักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียมาชมสวน มักจะประทับใจกับมัลเบอร์รี่ที่ติดผลดกรอบต้น นิยมซื้อกลับไปปลูกต่อที่บ้าน ในราคา กระถางละ 700 บาท

ต้นมัลเบอร์รี่ พันธุ์เชียงใหม่ 60

อดีตวิศวกร ผันตัวสู่ผู้นำเกษตร

มนุษยสัมพันธ์ดี ทำงานเก่งในเส้นทางอาชีพเกษตรกรรม ทำให้คุณหมูได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนสมาชิก YFS ให้ทำหน้าที่เป็นประธานเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดสงขลา (Young Smart Farmer Songkhla : YFS Songkhla) ก่อนจะก้าวมารับตำแหน่ง ประธานเกษตรกรรุ่นใหม่ของประเทศไทย (Young Smart Farmer Thailand) จนถึงทุกวันนี้

คุณหมู ทำงานเป็น “จิตอาสาเกษตรกร” ควักเงินทุนส่วนตัวจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ จังหวัดสงขลา โดยมุ่งหวังให้เป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปการเกษตรทุกมิติโดยภาคประชาชน เพราะคุณหมูมองว่า Young Smart Farmer คือ อนาคตของเกษตรกรไทยนั่นเอง สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร้านค้ารูปแบบใหม่ภายในศูนย์บ่มเพาะฯ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนงบประมาณก่อตั้งศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ทั่วประเทศ แห่งละ 50,000 บาท เพื่อให้ ยุวเกษตรกร เกษตรกรรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจอาชีพเกษตรกรรมได้ใช้เป็นที่ฝึกปฏิบัติจริงในแปลงเรียนรู้ เป็นแหล่งเชื่อมโยง young smart farmer ต้นแบบ เสมือนแหล่งถ่ายทอดความรู้เฉพาะด้านทุกสาขาการเกษตร สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ นวัตกรรม หลักการธุรกิจเกษตร การผลิต การแปรรูป และการตลาด ตลอดห่วงโซ่อุปทาน

กล่าวได้ว่า จังหวัดสงขลา นับเป็นต้นแบบของการเปิดตัวศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่แห่งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2561 โดยศูนย์แห่งนี้ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่าย YSF ในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เน้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและนวัตกรรมเกษตรที่ทันสมัย รวมทั้งใช้นโยบายตลาดนำการผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

กอ.รมน. จังหวัดสงขลา ร่วมสนับสนุนปรับภูมิทัศน์ศูนย์บ่มเพาะฯ

ปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา กอ.รมน. จังหวัดสงขลา กศน. ตำบลเขารูปช้าง เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดสงขลา YSF Songkhla มาร่วมกันปรับภูมิทัศน์ภายในศูนย์บ่มเพาะฯ แห่งนี้ ภายใต้โครงการการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ตามรอยศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และจิตอาสาเกษตรกร เพื่อส่งเสริมให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ถ่ายทอดแนวความคิดพัฒนาอาชีพตามศาสตร์พระราชาของในหลวง รัชกาลที่ 9 ทุกแขนงวิชาให้กับเกษตรกรและบุคคลทั่วไป

ภายในศูนย์บ่มเพาะฯ แห่งนี้ ประกอบด้วยแปลงการเกษตร ใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กิจกรรมการเกษตรสมัยใหม่ การแปรรูปสินค้าเกษตร การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นสถานที่เจรจาธุรกิจสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ และจัดแสดงสินค้า (Show Room) ของเกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้สนใจสามารถแวะชมศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดสงขลา ที่มีรูปแบบทันสมัยได้ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้เป็นต้นไป ณ พื้นที่หมู่ที่ 8 ซอยมาระเสนา 2 ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เบอร์โทร. 081-599-1745 Facebook  : Korawit Marasena