สวนเมล่อนกิตติยา ผลิตเมล่อนคุณภาพ จำหน่ายได้ราคา สร้างผลกำไรงาม

เมล่อน (Melon) นับเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคกันมากในปัจจุบัน เพราะมีรสชาติอร่อย มีกลิ่นหอมและรสหวาน แถมยังมีสีสันที่สวยงามน่ารับประทาน นิยมนำมาบริโภคสด เป็นผลไม้หรือนำมาเป็นส่วนประกอบของหวาน เป็นต้น

คุณอัจฉรา โสไกร เจ้าของสวนเมล่อนกิตติยา อยู่บ้านเลขที่ 150/5 หมู่ที่ 4 ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เธอเล่าให้ฟังว่า ทำเมล่อนมาเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ทำเอง เพราะมีคนสวนช่วยดูแล ก่อนหน้านั้นจำหน่ายเมล่อนตามริมถนน นอกจากนี้ ทางสวนยังส่งจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้า แต่พอหลังๆ ไม่อยากทำ เพราะคนสวนที่คุณอัจฉราไว้ใจ ไม่ซื่อตรง คือเป็นหนี้แล้วนำผลผลิตไปจำหน่ายที่อื่น ซึ่งผลผลิตที่เอาไปจำหน่ายมีเป็นจำนวนมาก เลยหันมาทำเอง

คุณอัจฉรา โสไกร เจ้าของสวนเมล่อนกิตติยา

“ทำสวนเมล่อนเองได้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว มีทั้งหมด 36 ไร่ 57 โรงเรือน โดยพันธุ์เมล่อนที่เราปลูกจะมีทั้งหมด 2 พันธุ์ คือ กรีนเน็ต (GreenNet) กับ พอทออเร้นจ์ (Pot Orange) เหตุผลที่ปลูก 2 พันธุ์นี้ เพราะเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือตลาดที่เราทำการค้าด้วย บางครั้งก็จะมีการปลูก เคที 51 บ้าง ปุ๋ยที่เราใช้ เราใช้ปุ๋ยของยารา ยาฆ่าแมลงเราไม่ค่อยใช้ จะใช้ก็ต่อเมื่อเมล่อนจะเกิดโรคเท่านั้น แต่เราไม่ได้ใช้เยอะ พอเห็นหรือพบโรคเท่านั้น”

สำหรับต้นเมล่อนที่จะให้ผลผลิตได้นั้น ทางสวนซื้อเมล็ดพันธุ์ของเมล่อนมาเพาะเอง ซึ่งเมล็ดพันธุ์เมล่อนที่เลือกมานั้น  1 ซอง มี 20 กรัม ซองละ 700 บาท หากเป็นกระป๋อง กระป๋องละ 1,000 บาท ซึ่งทางสวนจะใช้ทั้งหมด 7 ซอง รวมเป็นเงิน 4,000-5,000 บาท โดยประมาณ

ร้านขายเมล่อน หน้าสวนเมล่อนกิตติยา

“สำหรับวิธีการปลูก ถือว่าต้องใช้ความใจเย็น เพราะว่าลูกเมล่อนแต่ละลูกจะโต ใช้เวลาในการดูแล 70-80 วัน เริ่มต้นจากการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้เป็นต้นกล้า คือเราจะซื้อเมล็ดพันธุ์และดินมา หลังจากนั้นจะเอาเมล็ดพันธุ์ไปแช่น้ำก่อน 1 คืน พอวันรุ่งขึ้นจะเอาเมล็ดที่เตรียมไว้ ไปจิ้มลงในดินที่เราซื้อมา ใส่หลุมในกระบะที่เตรียมไว้ หลุมละ 1 เมล็ด กระบะหนึ่งมี 104 หลุม เราจะได้เมล่อนทั้งหมด 104  ต้น”

หลังจากต้นกล้าที่เพาะไปได้ 10 วัน จะมีลำต้นที่โตขึ้น เมื่อต้นกล้ามีอายุ 20 วัน จะนำออกจากกระบะเพื่อลงแปลงปลูก วิธีการคือ จะใช้ไม้ทิ่มต้นกล้าออกจากกระบะ แล้วนำมาปลูกลงแปลงที่เตรียมไว้ ซึ่งทางสวนจะปลูกในโรงเรือน โดยในโรงเรือนมีทั้งหมด 70-80 แถว จะนำเมล่อนปลูกไว้ในแปลง เพื่อรอการออกดอกแล้วทำการผสมเกสร

 

“การต่อดอกหรือการผสมเกสร ระหว่างเกสรตัวผู้กับตัวเมีย เราจะใช้ดอกที่บานในการต่อดอก ทำให้เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียปฏิสนธิกัน วิธีการต่อดอกคือ เราจะใช้ดอกตัวผู้มาผสมกับดอกตัวเมีย โดยดอกตัวผู้จะออกจากลำต้นหลักเลย ส่วนดอกตัวเมียจะออกดอกจากแขนง เราจะเด็ดดอกตัวผู้ออกจากต้น จากนั้นจะแกะหรือฉีกกลีบดอกออก จะค่อยๆ ฉีกไม่ให้โดนละอองเกสรที่เราจะนำมาผสม จากนั้นใช้พู่กันค่อยๆ เขี่ยละอองเกสรออกจากดอกตัวผู้ ละอองจะติดตรงปลายพู่กัน จากนั้นนำมาป้ายกับดอกเกสรตัวเมีย ป้ายให้ทั่ว หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ทำคล้ายๆ กัน แต่จะไม่ใช้พู่กันป้าย จะเป็นการเอากลีบดอกออก แล้วนำส่วนของเกสรตัวผู้ไปจิ้มลงกับเกสรตัวเมีย เท่านี้ก็ถือว่าเสร็จขั้นตอนการต่อดอกเป็นที่เรียบร้อย พอติดแล้ว วันรุ่งขึ้น ดอกที่เราต่อจะหุบ ดอกตูมยังคงต่อไม่ได้ ซึ่งวิธีการสังเกตเกสรตัวผู้กับตัวเมีย ดอกตัวเมียจะมีรังไข่ แล้วก้านจะสั้นแทบไม่เห็น เราจะต่อดอกอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อ 1 สัปดาห์ 1 ต้น ต่อ 1 ลูก ต่อ 4-5 กิ่ง ซึ่งเราจะเอาลูกที่สมบูรณ์ที่สุดในการส่งจำหน่ายหรือส่งห้างสรรพสินค้า ถ้าวันไหนต่อดอก เราจะให้น้ำแค่ 2 เวลา ปกติแล้วจะให้น้ำ 3 เวลา แต่ถ้าวันไหนมีการต่อดอกจะเหลือเป็น วันละ 2 ครั้ง ต่อวัน ซึ่งเราจะต่อดอกในตอนเช้า หลังจากต่อดอกเสร็จแล้วขั้นตอนต่อไปคือ การแขวนลูกเมล่อน”

ขั้นตอนการแขวนลูกเมล่อน คือใช้เชือกคล้องที่ขั้วผลไว้เพื่อรับน้ำหนัก โดยยึดผลไว้กับค้างที่ยึดต้นเมล่อน ควรแขวนผลให้ขนานกับพื้น เพื่อความสะดวกในการดูแลบำรุงรักษา การแขวนลูกการคล้องผลจะเลือกผลที่ดีที่สุดแล้วใช้เชือกทำเป็นตาข่ายคล้อง พยายามอย่าให้เชือกรัดบริเวณขั้วผล เพราะจะทำให้ขั้วผลถูกรัดเมื่อมีน้ำหนักมากขึ้นและเจริญเติบโตไม่เต็มที่

เมล่อนที่เอาไว้จำหน่ายภายในร้าน

เมล่อนเริ่มติดผลเมื่อมีอายุได้ประมาณ 35-40 วัน หลังย้ายปลูก เมื่อผลมีขนาดเท่าไข่ไก่จะเริ่มห่อผล หลังจากห่อผลประมาณ 1 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้

เมล่อนที่ปลูกในโรงเรือน จะมีอุณหภูมิประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส และการเจริญเติบโตของเถาจะช้าลงในฤดูหนาว พอเช้ามาจำเป็นต้องไปดูว่าเมล่อนเป็นอย่างไร

ในช่วงแรกๆ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด คุณอัจฉรา บอกว่า ต้องดูแลเมล่อนให้เหมือนลูก เพราะช่วงแรกจะเปราะบางมาก ปล่อยทิ้งไม่ได้ ต้องเข้ามาดูทุกวัน หากทางสวนไม่เข้ามาดูวันเดียว อาจจะทำให้เมล่อนนั้นเกิดโรคขึ้นได้ แต่ถ้าดูแลทุกวัน เวลาเกิดโรคจะทำให้สามารถรู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วต้องแก้อย่างไร ทำให้ทางสวนรับมือได้ พอเริ่มแขวนลูกแล้วจึงไม่ต้องดูแลมาก

แปลงเมล่อนในโรงเรือน

จากนั้นดูแลปกติให้ครบ 70-80 วัน จึงจะตัดหรือเก็บผลผลิตเพื่อนำไปส่งให้กับห้างสรรพสินค้า โดยจะทยอยเก็บผลผลิต

เมื่อเก็บลูกเมล่อนหมดทั้งโรงเรือนแล้ว จะพักโรงเรือนไว้ ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้น ไถดิน และเอาปุ๋ยอินทรีย์มาใส่ เพื่อปรับปรุงดิน แล้วไถกลบ ทิ้งไว้ประมาณ 20 วัน แล้วค่อยลงเมล่อนชุดใหม่

สำหรับด้านการตลาดของเมล่อนของสวนกิตติยา นอกจากจะส่งออกห้างสรรพสินค้าแล้ว ทางสวนยังมีการทำกิจการใหม่ คือจำหน่ายด้านหน้าสวน จะมีร้านไว้สำหรับให้ลูกค้าขาจรหรือมาเยี่ยมชมสวน ซื้อเมล่อนกลับไปรับประทานที่บ้านได้

ผลเมล่อน

โดยจะจำหน่ายทั้งผลเมเล่อนและน้ำเมล่อนปั่น ที่ทางร้านทำไม่เหมือนที่อื่นคือ ที่ร้านจะเป็นเมล่อนปั่นล้วนๆ ไม่มีอะไรมาผสมมีแค่เมล่อนที่แช่แข็งแล้วนำมาปั่น หอมหวาน                                                                                                                                                                                                                กำลังดี ราคาเพียงแก้วละ 60 บาท ส่วนผลเมล่อนทางสวน จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 60 บาท เช่นกัน

สนใจการทำสวนเมล่อน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณอัจฉรา โสไกร เจ้าของสวนเมล่อนกิตติยา หมายเลขโทรศัพท์ 087-151-4427