คนรุ่นใหม่ทิ้งกรุง มาตามฝันทำเกษตรอินทรีย์ มีร้านอาหารอร่อย “บ้านเนินหินดาด” เมืองกาญจน์

สวัสดีครับ พบกับ คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย อีกครั้ง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ไว้ว่า ปี ค.ศ. 2050 หรือ พ.ศ. 2593 อีก 30 ปีข้างหน้านี้ คนจะอพยพไปอยู่ในเขตเมืองมากขึ้นจากเดิม 12% ความต้องการอาหารจะเพิ่มจากเดิม 50% ส่วนในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนในภาคเกษตรจะลดลง 31.8% ในประเทศที่กำลังพัฒนา คนในภาคเกษตรจะลดลง 32.8% นั่นแสดงว่า หาก FAO คาดไว้ไม่ผิด อาหารอาจจะขาดแคลน หรือกระบวนการผลิตอาหารอาจจะเปลี่ยนแปลงไป

ไม่ว่าจะอย่างไร ตัวเลขชุดนี้ชี้ว่า คนในภาคเกษตรจะลดลง คนตามชนบทจะลดลง เห็นแล้วก็สงสัยต่อว่า ภาคการเกษตรโดยเฉพาะประเทศไทยจะเดินกันไปอย่างไร? แต่ทิ้งความสงสัยไว้ก่อน แล้วตามผมไปพบกับเกษตรกรสาวคนรุ่นใหม่ ที่เดินทางสวนการคาดการณ์ของ FAO ทิ้งเมืองมาอยู่ชนบท ทำเกษตรอินทรีย์ มีชีวิตดี้ดี ที่หลายคนอิจฉา ตามไปชมกันในฉบับนี้ครับ

คุณพิมพลอย สุขสุวรรณ เจ้าของฟาร์มและร้านอาหารบ้านเนินหินดาด

หันหลังให้ชีวิตคนเมือง

พาท่านไปพบกับ คุณพิมพลอย สุขสุวรรณ ที่บ้านเลขที่ 31/7 หมู่ที่ 2 ตำบลหินดาด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี คุณพิมพลอย เป็นคนรุ่นใหม่อายุน้อยที่หันหลังให้กับสภาพชีวิตคนเมือง มาสานต่องานเกษตรที่คุณพ่อเริ่มต้นเอาไว้เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว คุณพิมพลอย เริ่มต้นเล่าว่า “เมื่อก่อนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ คุณพ่อเป็นหมอ ตัวเราเองเรียนจบการโรงแรม จบมาทำงานที่โรงแรม จนเมื่อเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งใหญ่ ปลายปี 2554 คุณพ่อจึงพาครอบครัวมาอยู่ที่ไร่แห่งนี้ บนพื้นที่ 50 ไร่ ที่ได้ปลูกพืชเอาไว้บ้างแล้ว” นั่นคือ จุดเริ่มต้นของชีวิตเกษตรกรเต็มตัวของ คุณพิมพลอย “เรารู้สึกเบื่อกับสภาพชีวิตในกรุงเทพฯ เบื่อรถติด มลพิษ พอมาอยู่ที่นี่แล้วรู้สึกว่าสบาย จึงเป็นที่มาของการมาทำสวนที่นี่ค่ะ”

บ้านเนินหินดาด” ชีวิตเกษตรกรไม่ได้ง่ายเหมือนที่ฝันไว้

บรรยากาศสดชื่นยามเช้า ที่ร้านอาหารบ้านเนินหินดาด

เมื่อตัดสินใจมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว คุณพิมพลอยจึงต้องสร้างสวนเกษตรในพื้นที่ที่มีให้เป็นรูปเป็นร่าง “ในพื้นที่ทั้งหมด 50 ไร่ ของเรา เราปรับให้เป็นระบบเกษตรผสมผสาน จากเดิมที่มีไม้ผลอยู่แล้ว อย่างเช่น มะขามเปรี้ยวยักษ์ ส้มโอ เราก็มาลงกล้วยพันธุ์ต่างๆ เพิ่มเข้าไป เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยหิน ปลูกหม่อนกินผลสด ตะลิงปลิง ปรับพื้นที่บางส่วนสร้างโรงเรือนปลูกผัก พื้นที่บางส่วนปรับไปใช้เลี้ยงสัตว์อย่างเช่น เป็ด ห่าน มีบ่อเลี้ยงปลาและเก็บน้ำเอาไว้ใช้” เมื่อได้ลงมือทำจริงๆ จึงรู้ว่างานเกษตรไม่ง่าย “พอเราเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เรารู้สึกเลยว่างานเกษตรไม่ได้ง่ายเหมือนกับที่เราวาดฝันไว้ พืชบางอย่าง อย่างกล้วย ปลูกไว้ก็หาตลาดไม่ได้ ตะลิงปลิงก็ไม่มีคนซื้อ เราต้องวิ่งหาลูกค้า ต้องเรียนรู้การปลูก การแปรรูปด้วยตัวเอง หาตลาดด้วยตัวเอง ต้องล้มลุกคลุกคลานกับอาชีพเป็นเกษตรกรอยู่พอสมควรจึงมามีวันนี้ได้” คุณพิมพลอย เล่าให้ฟัง

ต้องแปรรูปผลผลิต

กล้วยกวนผสมหม่อน และดอกเก๊กฮวยแห้งผลิตภัณฑ์ที่ปลูกเองแปรรูปเอง

เมื่อผลผลิตออกมามาก แต่มีปัญหาเรื่องตลาด ไม่สามารถขายผลผลิตที่มีได้ คุณพิมพลอย จึงต้องหันไปพึ่งเรื่องของการแปรรูปผลผลิต “ผลผลิตของเรา อย่างกล้วยต่างๆ เราหาตลาด หาคนซื้อไม่ได้เลย จึงตัดสินใจแปรรูป เราก็ไปศึกษาดูว่า กล้วยพันธุ์ไหนเหมาะกับการแปรรูปเป็นอะไร อย่าง กล้วยหิน เราเอามาทำเป็นกล้วยเบรคแตก กล้วยน้ำว้าเราก็ทำเป็นกล้วยกวน แต่เรามีลูกหม่อนกินผลสดอยู่เยอะ เราก็เอามากวนรวมกันเป็นกล้วยกวนผสมหม่อน มะขามเปรี้ยวยักษ์มาทำเป็นมะขามแช่อิ่ม มะขามแช่อิ่มอบแห้ง ตะลิงปลิงเอามาแช่อิ่ม” เมื่อมีผลผลิตและมีผลิตภัณฑ์แปรรูปแล้ว สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ เรื่องการตลาด คุณพิมพลอย เล่าว่า “ช่วงแรกผลิตภัณฑ์ของเราจะเอาไปฝากวางขายตามร้านขายของฝากในจังหวัด ส่วนตัวเราเองก็จะหอบหิ้วทั้งผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปไปขายตามงานออกบู๊ธในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างกลุ่มลูกค้า ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก อย่างเช่น กล้วยกวนผสมหม่อน ตะลิงปลิงแช่อิ่ม ลูกค้าชอบมาก”

ใช้หลักการตลาด แบบ Push and Pull

พิซซ่าแป้งบางกรอบ อบด้วยเตาดิน

คุณพิมพลอย เล่าว่า “ที่ผ่านมาได้นำกลยุทธ์การตลาดมาใช้กับการขายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของบ้านเนินหินดาด โดยใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Push and Pull Strategy คือ Push Strategy หรือการส่งเสริมการตลาดแบบผลัก เป็นการผลักสินค้าออกไปขายผ่านช่องทางค้าปลีกต่างๆ ขายไปยังคนกลาง ซึ่งอาจจะเป็นร้านโชห่วย ร้านขายของฝาก สรุปได้ว่า Push Strategy คือการเน้นไปที่คนกลาง ร้านค้าปลีก ให้รับสินค้าไปขายต่อ ส่วน Pull Strategy หรือการส่งเสริมการตลาดแบบดึง คือจะทำให้สินค้าของตัวเองเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โปรโมทสินค้าผ่านเครื่องมือต่างๆ ไปยังผู้บริโภคเอง และหากทำสำเร็จ ตลาดก็จะเกิดความต้องการขึ้น ช่องทางจัดจำหน่าย คนกลาง ร้านค้าปลีก ก็จะต้องการสินค้านั้นไปขาย” จากที่เคยต้องวิ่งเข้าไปหาลูกค้าในกรุงเทพฯ ตามงานเปิดบู๊ธต่างๆ แต่ทุกวันนี้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ของบ้านเนินหินดาดจะใช้สื่อโซเชี่ยลเป็นหลักในการโฆษณา แจ้งข่าวสารให้ลูกค้า

ทำระบบอินทรีย์ อุดหนุนผลผลิตชาวบ้าน

ซี่โครงหมูบาร์บีคิว เสิร์ฟพร้อมกับผัก “สลัดผัก” จากผักอินทรีย์ปลูกเอง

เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง วันนี้คุณพิมพลอยจึงได้ขยับเดินหน้าอีกครั้ง โดยการยกระดับการผลิตให้เข้าไปอยู่ในระบบเกษตรอินทรีย์ “วันนี้ฟาร์มบ้านเนินหินดาดของเราได้ยื่นขอรับรองการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ของทางจังหวัดกาญจนบุรี ผลไม้หลายอย่าง ทั้ง ส้มโอขาวน้ำผึ้ง ส้มโอทองดี ที่ปลูกในพื้นที่ 10 ไร่ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จีเอพี (GAP) รวมทั้งผักของเราหลากหลายชนิดที่ปลูกในโรงเรือน เช่น ผักกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค ผักบุ้ง ผักชี ที่เป็นการผลิตแบบอินทรีย์อยู่แล้ว ก็จะได้รับการรับรองในอนาคตอันใกล้นี้ ที่ผ่านมาเราก็พยายามทำเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์อยู่แล้ว เราใช้ทั้งไตรโคเดอร์มา ฮอร์โมนไข่ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงกับพืชของเรา ดังนั้น เมื่อถึงเวลาควรยื่นขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เราก็มั่นใจในการผลิตของเรา” นอกจากผลิตสินค้าของตัวเองจนมีลูกค้าประจำ มีตลาดของตัวเองแล้ว คุณพิมพลอยยังช่วยสนับสนุนชุมชนข้างเคียงในเรื่องของความรู้ด้านการแปรรูปผลผลิตเกษตรและเรื่องของการตลาดอีกด้วย “เมื่อเราทำเองมาหลายปี จนคนในพื้นที่มองเห็นว่าเราสามารถสร้างผลิตภัณฑ์แปรรูปได้ จึงมีพี่น้องในชุมชนรอบข้างมาขอให้ช่วยในเรื่องการแปรรูปผลผลิตเกษตร เช่น การแช่อิ่ม รวมไปถึงช่วยในเรื่องของการหาตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยให้มาวางขายที่หน้าร้านของเรา นอกจากนั้น เรายังรับซื้อผลผลิตจากชุมชน เพื่อนำมาใช้ในร้านอาหารของเราอีกด้วย” คุณพิมพลอย เล่า

ร้านอาหาร อีกหนึ่งช่องทางการจัดการผลผลิต

ส้มโอ ผลผลิตหลักของบ้านเนินหินดาด

คุณพิมพลอย ยังได้เปิดร้านอาหารบ้านเนินหินดาด โดยใช้ผลผลิตทั้งผัก ผลไม้ และไข่ จากเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลที่เลี้ยงไว้จากสวนของตัวเองมาใช้ในร้านด้วย นอกจากนั้น ยังรับซื้อผัก ผลไม้ จากชุมชนใกล้เคียงมาใช้ในร้านด้วย “เรามีลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาตามสื่อโซเชี่ยล ข้าราชการในพื้นที่ เจ้าของร้าน เจ้าของรีสอร์ตในพื้นที่ จนวันนี้ร้านบ้านเนินหินดาดเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากอาหารขึ้นชื่อของเราที่มีทั้ง พิซซ่าแป้งบางกรอบ อบด้วยเตาดิน ใช้ไม้ฟืนในการอบ ทำให้แป้งพิซซ่าของที่นี่กรอบเฉพาะตัว และมีกลิ่นควันไฟหอมมาก มีเมนูห้ามพลาด อย่าง ‘ซี่โครงหมูบาร์บีคิว’ ที่เลือกใช้ส่วนซี่โครงหมูมาจากวิสาหกิจชุมชนตำบลหินดาด นำมาหมักกับซอสสูตรพิเศษทางร้าน และนำไปอบต่ออีก 2 ชั่วโมง เสิร์ฟพร้อมกับผัก ‘สลัดผัก’ จากผักอินทรีย์ปลูกเอง ไว้คอยบริการ”

คุณพิมพลอย บอกว่าเราล้มลุกคลุกคลานมาก่อนในอาชีพเกษตรกรรม จนถึงวันนี้ 8 ปีแล้ว ที่เราได้เรียนรู้เลยอยากจะส่งต่ออาหารและผลิตภัณฑ์ดีๆ ให้กับทุกท่าน ใครสนใจอยากสอบถาม พูดคุยกับ คุณพิมพลอย กริ๊งกร๊างกันไปได้ ที่โทร. 064-931-8082 ครับ

ก่อนจากฝากไว้ให้คิดสักนิดว่า ผู้อ่านท่านผู้เจริญทั้งหลายเคยสังเกตหรือไม่ว่า คนที่เรียนจบมาทางด้านการเกษตรแบบผมและแบบใครหลายๆ คน ทำไมไม่ค่อยเห็นใครทำเกษตรอินทรีย์ คนที่ทำเกษตรอินทรีย์มักไม่ได้เรียนจบด้านการเกษตร ฝากคำถามไว้เผื่อใครให้ความกระจ่างกับผมได้ ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว คอลัมน์ “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ขอลากันไปก่อน สวัสดีครับ

…………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563