เมล่อน ผลไม้เศรษฐกิจ…พลิกชีวิตเกษตรกรเมืองกาญจน์

ปัจจุบัน ถ้านึกถึงผลไม้ที่เป็นพืชตระกูลแตง ที่มีราคาค่อนข้างสูง รสชาติหวานละมุนลิ้น คงจะหนีไม่พ้นผลไม้ที่มีชื่อว่า เมล่อน (Melon) ผลไม้เศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีอนาคตทางการตลาดค่อนข้างไกล

เมล่อน (Melon) ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. var. cantalpensis ในวงศ์ Cucurbitaceous ตระกูลเดียวกันกับแตงไทย บางท้องที่เรียก แตงเทศ หรือ แตงหอม มีลักษณะผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักมาก เปลือกหนา ส่วนผิวเปลือกมีทั้งแบบเรียบ และแบบมีร่างแห หรือมีร่องยาวจากขั้วถึงท้ายผล เนื้อมีสีส้ม หรือสีเหลือง มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม ในต่างประเทศมีแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อเมริกากลาง และเม็กซิโก

ผลผลิตเมล่อน จำหน่าย ณ ห้างสรรพสินค้า และส่งออกต่างประเทศ

ถิ่นกำเนิดของแคนตาลูป/เมล่อน มีการกล่าวถึงหลายพื้นที่ เช่น ทวีปแอฟริกา ประเทศอินเดีย แถบกึ่งอบอุ่น และเขตร้อนทางทิศตะวันตกของทวีปแอฟริกา เริ่มพบหลักฐานบันทึกการปลูกแคนตาลูป/เมล่อน ในประเทศอียิปต์ เมื่อ 2400 ปี ก่อนคริสตกาล และมีการบันทึกการนำเข้ามาปลูกในกรุงโรม เมื่อศตวรรษที่ 1 ค.ศ. 1494 และปี ค.ศ. 1582 พบการปลูกแคนตาลูป/เมล่อน ในมลรัฐมิสซิสซิปปี้ อลาบามา และเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1609 การปลูกเมล่อนในประเทศไทย เริ่มมีการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศมาปลูกครั้งแรกที่สถานีกสิกรรมแม่โจ้ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้) เมื่อปี 2478 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาเมื่อปี 2493 ได้นำพันธุ์มาทดลองปลูกที่เกษตรกลางบางเขน แต่การปลูกก็ไม่สำเร็จเช่นกัน และเริ่มทดลองปลูกอีกครั้งในปี 2497 ที่เกษตรกลางบางเขนจนประสบผลสำเร็จ ต่อมีการปลูกที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งได้ผลดี และเริ่มขยายการปลูกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ผลผลิตสวนเมล่อนกิตติยา

สรรพคุณ ผล ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส ช่วยในการชะลอวัยและลดการเกิดริ้วรอย มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ช่วยเสริมสร้างภูมิให้แก่ร่างกาย ช่วยบำรุงและรักษาสายตา มีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง มีส่วนช่วยในเรื่องของการเกิดสมาธิ มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ มีส่วนช่วยรักษาโรคความดันโลหิต ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยในการลดไข้ ช่วยดับร้อน แก้กระหาย ช่วยเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยบรรเทาอาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการอักเสบของลำไส้ ช่วยบรรเทาอาการท้องปั่นป่วนจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ช่วยในการขับน้ำนม ช่วยในการขับเหงื่อ ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง

ต้นอายุ 21 วัน ไม่มีโรคแมลงรบกวน เพราะปลูกในโรงเรือน

เมืองกาญจน์ ปลูกได้ผลดี

สำหรับจังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ในการปลูกเมล่อน 41 ครัวเรือน พื้นที่ 231 ไร่ เนื้อที่ให้ผลผลิต 164 ไร่ ผลผลิตทั้งหมด 273,140 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ย 1,665 กิโลกรัมต่อไร่ โดยพื้นที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตเมล่อน เพื่อการส่งออกภายในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากมีสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างร้อน ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีแหล่งน้ำและระบบการคมนาคมที่สะดวก จึงทำให้สามารถผลิตเมล่อนได้คุณภาพดี ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่มีช่วงอายุ 25-50 ปี เป็นกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการผลิต การตลาด และการแปรรูป ดังที่จะพาทุกท่านไปพบกับ คุณอาทิตย์ นิยมวงษ์

คุณอาทิตย์ นิยมวงษ์

คุณอาทิตย์ นิยมวงษ์ หรือ คุณป๋อง ปัจจุบันอายุ 31 ปี เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ไฟแรง ที่คลุกคลีอยู่กับเมล่อนมากว่า 10 ปี คุณป๋องเล่าย้อนอดีตอันแสนเจ็บปวดในการทำธุรกิจ เป็นผู้รวบรวมเมล่อนในยุคแรกๆ ให้ฟังว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้น ตนเองจบแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 และเข้าทำงานเป็นช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ในบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับเงินเดือนเดือนละ 4,500 บาท จึงนั่งคิดทบทวนตัวเอง หากยังทำงานเป็นช่างอยู่ที่นี่คงไม่มีความมั่นคงแน่นอน จึงตัดสินใจลาออกเพื่อหาความท้าทายใหม่ๆ หลังจากที่ขบคิดอยู่นาน ว่าตนเองนั้นจะประกอบอาชีพอะไร ไม่นานก็เกิดความคิดว่า จะเปิดร้านขายเมล่อนเล็กๆ ริมถนนสายอำเภอเมืองกาญจนบุรี-ไทรโยค การจำหน่ายเมล่อนในครั้งแรกนั้นตนเองจะเปรียบเสมือนพ่อค้าคนกลางในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรแล้วนำมาวางจำหน่าย กิจการร้านขายเมล่อน ณ เวลานั้นนับว่ามีลู่ทางที่ดี เนื่องจากเป็นผลไม้ชนิดใหม่ที่มีรูปร่าง รสชาติ และลักษณะค่อนข้างแปลกตา

ผู้เขียน (คุณณุพัฒน์ ทนยิ้ม) นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ และ (คุณอาทิตย์ นิยมวงษ์) เดินสำรวจในโรงเรือน เพื่อดูโรคและแมลง

เช้าวันหนึ่งขณะที่อากาศหน้าร้านกำลังเย็นสบาย แสงแดดอ่อนรำไร ใบไม้พลิ้วไหวไปตามสายลมหนาว ไม่นานลูกค้าท่านหนึ่งก็จอดรถยนต์หน้าร้านคุณป๋อง เพื่อขอซื้อเมล่อน คุณป๋องไม่รีรอ รีบปอกเมล่อนให้ชิมรสชาติเมล่อนของตนเองก่อน เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในผลผลิตที่ได้คัดสรรด้วยตนเอง หลังจากลูกค้าชิมเมล่อนแล้วก็แสดงท่าทีอาการบ่งบอกถึงความหวาน กรอบ ในผลไม้ชนิดนี้ จึงตัดสินใจซื้อเมล่อนกลับกรุงเทพมหานคร ให้หลังไม่นานลูกค้าท่านนี้ได้ติดต่อกลับมายังคุณป๋อง ใจความว่า “ผมต้องการซื้อเมล่อนของคุณ อาทิตย์ละ 500 กิโลกรัม สามารถส่งให้ได้หรือไหม” คุณป๋องไม่รอช้า โอกาสมาถึงแล้วจึงตอบตกลงรับคำ

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร, เจ้าของสวนเมล่อนกิตติยา และผู้เขียน

จากการที่คุณป๋องคัดสรรเมล่อนด้วยตนเอง ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ตั้งแต่ขนาดผลผลิต รสชาติ และความสวยงามของลาย ลูกค้าท่านนี้จึงเพิ่มจำนวนการซื้อเป็นสัปดาห์ละ 10,000 กิโลกรัม (10 ตัน) โดยขณะนั้นคุณป๋องก็ขบคิด ปริมาณความต้องการผลผลิตมากขนาดนี้ตนเองจะทำเช่นใด จึงเกิดแนวความคิดในการทำระบบลูกไร่ โดยตนเองนั้นจะมีหน้าที่เป็นนายทุนในการออกค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดโรคพืช-แมลง และค่าเมล็ดพันธุ์ เมื่อผลผลิตสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว จะต้องนำมาจำหน่ายคืนให้กับตนเอง ณ ขณะนั้นตนเองมีลูกไร่ ประมาณ 30 ราย โรงเรือนปลูกเมล่อน 100 โรงเรือน กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดชัยนาท ธุรกิจการเป็นผู้รวบรวมผลผลิต ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนหลายล้านบาท ชีวิตของคุณป๋องกำลังไปได้สวย เรียกได้ว่ากำลังจะเป็นเถ้าแก่น้อยในวัยเยาว์เลยก็ว่าได้ แต่แล้วลิขิตชะตาชีวิตก็กลับเล่นตลกกับเขา เพราะอะไรนะเหรอ?

คุณป๋องไม่มีผลผลิตส่งให้กับลูกค้า เนื่องจากลูกไร่ของคุณป๋องไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่นำผลผลิตมาจำหน่ายคืนให้ กลับนำผลผลิตไปจำหน่ายให้กับคนอื่นที่ให้ราคาสูงกว่า ทำให้ธุรกิจในครั้งนั้นขาดทุนประมาณ 4 ล้านบาท 

คุณเกศริน เถาตะกู นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ ดำเนินการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ให้กับคุณอาทิตย์ นิยมวงษ์

ล้มแล้วลุกขึ้นสู้ใหม่

จากความล้มเหลวในครั้งนั้น คุณป๋องไม่ย่อท้อกัดฟันสู้ชีวิตต่อ ด้วยความที่ตนเองมีใจรักในการทำการเกษตร จึงคิดอยากจะลองเสี่ยงกับ “เมล่อน” อีกสักครั้ง โดยในครั้งนี้คุณป๋องจะไม่มีระบบลูกไร่ จะทำด้วยตนเองทั้งหมด จึงเริ่มลงทุนในครั้งแรก 50 โรงเรือน ซึ่งถ้าผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ ไม่นานก็จะคืนทุนอย่างแน่นอน คุณป๋องนับวัน เวลา เฝ้ารอ ให้ผลผลิตออก แต่แล้วโชคชาตะฟ้าลิขิตก็เล่นตลกกับเขาเป็นครั้งที่ 2 การลงทุนปลูกเมล่อนในครั้งนี้ไม่มีผลผลิตออกให้คุณป๋อง เนื่องจากตัวเขาเองนั้นมีแต่กำลังกาย ไม่มีประสบการณ์ในการปลูกเมล่อน ไม่รู้การเตรียมแปลง การผสมเกสร การให้ปุ๋ย การให้ฮอร์โมนต่างๆ เหตุผลต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้คุณป๋องล้มอีกครั้ง สูญเสียเงินประมาณ 3 ล้านบาท เรียกว่ากลายเป็นคนเสียสติไปพักใหญ่เลยก็ว่าได้

ลักษณะของดอกเพศเมีย บริเวณโคนดอกจะมีลักษณะเป็นกระเปาะ

เมื่อล้มแล้วไม่ลุก ก็คงโดนเขาเหยียบย่ำซ้ำเติม ประสบการณ์ความล้มเหลว 2 ครั้ง ประสบการณ์อันเลวร้ายนี้ ทำให้คุณป๋องกลับมามีสติ จึงเริ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากคนที่ประสบความสำเร็จ สะสมประสบการณ์ จนมีความชำนาญ ทำให้รู้ทุกเรื่องของ “เมล่อน” จึงตัดสินใจลงทุนเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อ “สวนเมล่อนกิตติยา”

สวนเมล่อนกิตติยา ตั้งอยู่ ณ หมู่ที่ 4 ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี บนเนื้อที่ 37 ไร่ โรงเรือนเมล่อน 50 โรงเรือน มีผลผลิตจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี คุณป๋อง เล่าให้ฟังว่า สวนของตนเองนั้นจะปลูกอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ พันธุ์กรีนเน็ต พันธุ์พอทออเร้นจ์ และพันธุ์ชิสึโอกะ เนื่องจากทั้ง 3 สายพันธุ์ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วมีอายุการเก็บเกี่ยวนาน ความหวานสูง ลายสวยเด่นชัด จึงเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ

รสชาติเยี่ยม

ด้านการตลาดเมล่อนนั้น สวนเมล่อนกิตติยา จะส่งออกให้กับห้างสรรสินค้า Modern Trade เช่น Tops supermarket, Tesco Lotus, Big c ส่วนตลาดต่างประเทศจะส่งผ่าน Suppliers เพื่อส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา โดยจะแบ่งเกรดการส่งออกเมล่อน ดังนี้

1. เกรด A (เกรด Premium) สำหรับส่งออกห้างสรรพสินค้า Modern Trade และต่างประเทศ จะต้องมีน้ำหนักเมล่อน ลูกละ 1.3 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม ความหวาน 14 brix ความถี่ของลาย 50%

2. เกรด B และ C สำหรับนำไปแปรรูป และมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปจำหน่ายตลาดนัด หรือร้านผลไม้รายย่อย จะต้องมีน้ำหนักเมล่อน ลูกละ 1.2 กิโลกรัม หรือน้ำหนักเกินขนาด 2.6 กิโลกรัม ความถี่ของลายน้อยกว่า 50%

ผลผลิตมีเพียงพอ

สวนเมล่อนกิตติยา ยังได้การรับรองมาตรฐาน GAP หรือ Good Agricultural Practices การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ทำให้ทางสวนจะเป็นผู้กำหนดราคาขายให้กับผู้บริโภคด้วยตนเอง (เรียกได้ว่าผลผลิตมีคุณภาพ และมาตรฐาน ใครก็อยากซื้อ) ความสำเร็จในวันนี้ เกิดจากความล้มเหลวและไม่ยอมแพ้ “ท้อไหม แต่ใจมันสู้” นี่คือคำพูดของคุณป๋อง ที่ใช้กระตุ้นตัวเองอยู่เสมอ

ปลูกให้ได้ผลดี

หากใครอยากประสบความสำเร็จแบบคุณป๋อง วันนี้จะเปิดเผยเทคนิคในการทำเมล่อนให้ประสบความสำเร็จ โดยเริ่มจาก

1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์

– นำเมล็ดพันธุ์แช่ในน้ำอุ่น ระยะเวลา 5 ชั่วโมง

– หลังจากนั้นให้นำเมล็ดพันธุ์มาบ่มในผ้าขาวบาง ระยะเวลา 12 ชั่วโมง

– เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการบ่มแล้ว ให้นำมาหยอดลงในถาดเพาะกล้า หลุมละ 1 เมล็ด

– นำถาดเพาะกล้าวางซ้อนทับ จำนวน 10 ถาด และคลุมด้วยพลาสติกผ้าใบ เพื่อเป็นการบ่มให้เมล็ดพันธุ์งอก ระยะเวลา 40 ชั่วโมง หลังจากนั้น 10 วัน เมล็ดพันธุ์จะเริ่มงอก

2. การเตรียมแปลง (ขนาดโรงเรือน 5×40 เมตร)

– ไถดะ/ไถแปร ตีดิน และยกร่อง โดยมีระยะระหว่างแถว 60 เซนติเมตร

– นำโดโลไมท์ จำนวน 20 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 50 กิโลกรัม ใส่ลงในแปลงเพาะปลูก

– คลุมด้วยผ้าพลาสติกคลุมดินเพื่อป้องกันวัชพืช

– นำกล้าเมล่อนที่งอก ปลูกหลุมละ 1 ต้น ระยะระหว่างแถว 60 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 45 เซนติเมตร (1 โรงเรือน จะใช้กล้าเมล่อน จำนวน 800 ต้น)

3. การผสมเกสร

– หลังจากปลูกกล้าเมล่อน 10 วัน ให้พันยอดและเด็ดแขนง โดยเลือกเด็ดแขนงที่ 9-12 เพราะเป็นแขนงที่ไม่ต่ำและไม่สูงจนเกินไป เป็นแขนงที่สมบูรณ์ที่สุด

– หลังจากนั้น 20 วัน ให้ผสมเกสรเพื่อให้ติดผลผลิตมากที่สุด โดยให้ใช้พู่กันเขี่ยเกสรเพศผู้ ผสมกับเกสรเพศเมีย ในช่วงเวลา 06.00-12.00 น.

– หลังจากผสมเกสร 10 วัน เมล่อนจะเริ่มติดผล ให้เลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุด ต้นละ 1 ผล

4. การดูแลรักษา และการป้องกันกำจัดโรคพืช

การให้ปุ๋ย และสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา

– 30 วันแรกให้ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา (7 วันต่อครั้ง)

– 3-20 วัน ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 25-7-7 อัตรา 7 ขีดต่อโรงเรือน โดยละลายให้พร้อมไปกับระบบน้ำหยด

– 21-40 วัน ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 7 ขีดต่อโรงเรือน โดยละลายให้พร้อมไปกับระบบน้ำหยด

– 41 วัน ถึงเก็บเกี่ยว ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 10-10-30 อัตรา 7 ขีดต่อโรงเรือน โดยละลายให้พร้อมไปกับระบบน้ำหยด

การให้ฮอร์โมน

– 10 วันแรก ให้ฉีดพ่นออกซิน (Auxin) อัตรา 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

– 11-20 วัน ให้ฉีดพ่นจิบเบอเรลลิน (Gibberellin) อัตรา 3 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

– 21 วัน ให้ฉีดพ่นไซโตไคนิน (Cytokinins) + อะมิโนโปรตีน อัตรา 30 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร

5. การเก็บเกี่ยวผลผลิต

– หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วให้เปิดโรงเรือน จำนวน 10 วัน เพื่อเป็นการพักแปลง และป้องกันกำจัดโรคพืช-ศัตรูพืช

นี่คือเทคนิควิธีการปลูกเมล่อนเพียงบางส่วน คุณป๋อง แนะนำว่า หากท่านใดอยากเรียนรู้แบบจริงจัง เพื่อนำไปประกอบอาชีพนั้น ตนเองยินดีสอนให้ “เพราะการไปเรียนรู้ที่อื่นอาจจะโดนหลอกไม่บอกทั้งหมด ตนเองไม่อยากให้คนอื่นโดนแบบตนเอง อยากสอนเพื่อเป็นวิทยาทาน” ทั้งนี้ คุณป๋อง กล่าวว่า อนาคต สวนเมล่อนกิตติยา จะเปิดเป็นศูนย์เรียนการปลูกเมล่อนแบบครบวงจร เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีชีวิต ที่จะสอนการปลูกเมล่อนให้กับผู้สนใจ และสวนแห่งนี้จะขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง และมีกฎระเบียบที่ชัดเจน โดยคุณป๋องมองถึงอนาคตว่าตลาดเมล่อนยังไปได้อีกไกล ซึ่งล่าสุดประเทศคูเวต และประเทศดูไบ ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อขอให้ส่งผลผลิตให้ แต่ตนเองนั้นไม่มีกำลังการผลิตมากพอ จึงคิดว่าน่าจะรวมกลุ่มบุคคลที่ปลูกเมล่อนเหมือนกันเพื่อจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีผลผลิตมากเพียงพอในการส่งออกต่างประเทศ

ต่างชาติติดใจ

ด้าน คุณเกศริน เถาตะกู ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สังกัดสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สวนเมล่อนกิตติยา อยู่ในขั้นตอนขอรับรองการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน คาดว่าจะดำเนินการจดทะเบียนให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน ทั้งนี้ ประโยชน์ของการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน คือ 1. การรวมตัวกันของเกษตรกรในการประกอบธุรกิจในระดับชุมชน มีความมั่นคง ได้รับการรับรองตามกฎหมาย 2. การส่งเสริมความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาความสามารถในการจัดการ ตรงตามความต้องการที่แท้จริง 3. ระบบเศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคต

ผู้สนใจการผลิตเมล่อนแบบครบวงจร สามารถติดต่อสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 034-564-266 คุณอาทิตย์ นิยมวงษ์ (ป๋อง) หมายเลขโทรศัพท์ 081-019-5674

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563