กล้วยหินบันนังสตา พืชประจำถิ่น จังหวัดยะลา

กล้วยหิน เป็นกล้วยป่า พบในธรรมชาติครั้งแรกเป็นจำนวนมากในสภาพอากาศร้อนชื้น บริเวณป่าสองฝั่งแม่น้ำปัตตานี ในพื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เนื่องจากทำเลทองแห่งนี้มีผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ มีความชื้นทั้งในดินและในอากาศสูงตลอดทั้งปี

กล้วยหิน 1 เครือ จะมีประมาณ 7-10 หวี เฉลี่ยหวีละ 10-15 ผล กล้วยหินเติบโตได้ในดินแทบทุกประเภท ทนแล้งได้ดี ลำต้นมีขนาดใหญ่ แข็งแรง แตกกอเก่ง ไม่ค่อยมีโรคและแมลงรบกวน ทนทานต่อโรครากเน่า (ตายพราย) มีเปลือกหนาทนทานต่อการขนส่ง และผลแก่เก็บไว้ได้นานนับสัปดาห์ ลำต้นอ่อนนำมาปรุงอาหารรสชาติดีกว่ากล้วยน้ำว้า

การประกวดผลผลิตกล้วยหิน
กล้วยหิน อาหารรสอร่อยของนกหัวจุก

ทั้งนี้ กล้วยหินบันนังสตา ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในวงกว้าง สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลาจึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน นำกล้วยหินมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

ปัจจุบัน กล้วยหินบันนังสตา ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI : Geographical Indication) ลักษณะผลส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ผลด้านข้างสุดของหวีทั้งสองด้านมักจะเป็นรูปสามเหลี่ยม เปลือกหนา ผลดิบเปลือกสีเขียวเข้ม เมื่อสุกเปลือกสีเหลือง เนื้อแน่น ผลดิบเนื้อแข็งสีขาว ผลสุกเนื้อสีขาวอมเหลืองถึงเหลือง ไม่ติดเปลือก กล้วยหิน ยิ่งสุกงอมจะมีรสชาติออกเปรี้ยว ชาวบ้านนิยมนำกล้วยดิบมาแปรรูป เช่น ทำกล้วยฉาบ ส่วนกล้วยสุก หากต้องการบริโภคให้อร่อยต้องทำให้สุกหรือผ่านความร้อนด้วยการต้ม นึ่ง ปิ้ง ย่าง เช่น กล้วยต้ม กล้วยแขก กล้วยบวชชี ข้าวต้มมัด ฯลฯ

กล้วยหินฉาบแปรรูป ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา

กล้วยหิน เป็นกล้วยที่อยู่ในกลุ่ม AAB ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี เมื่อผลสุก มีรสชาติดีกว่ากล้วยกลุ่ม ABB ได้แก่ กล้วยน้ำ กล้วยน้ำฝาด กล้วยนมสวรรค์ กล้วยนิ้วมือนาง กล้วยไข่โบราณ กล้วยทองเดช กล้วยสีนวล กล้วยขม กล้วยนมสาว

โดยทั่วไปกล้วยกลุ่ม AAB ที่มีความคล้ายกับ ABB กล่าวคือ เนื้อจะค่อนข้างแข็ง มีแป้งมาก เมื่อสุกเนื้อไม่นุ่ม ทั้งนี้อาจจะได้รับเชื้อพันธุกรรมจากกล้วยป่าที่ต่าง sup species กัน จึงทำให้ลักษณะต่างกัน กล้วยในกลุ่มนี้เรียกว่า plantain subgroup ซึ่งต้องทำให้สุกโดยการต้ม ปิ้ง เผา เช่นเดียวกับกลุ่ม ABB ได้แก่ กล้วยกล้าย กล้วยงาช้าง กล้วยนิ้วจระเข้ กล้วยหิน กล้วยพม่าแหกคุก

ที่มาของชื่อ “กล้วยหิน”

เหตุที่ชื่อว่า “กล้วยหิน” สันนิษฐานว่า เพราะกล้วยหินมีเนื้อแน่น เหนียวกว่ากล้วยอื่นๆ และบริเวณที่กล้วยชนิดนี้เจริญเติบโตดีคือบริเวณฝั่งน้ำที่มีก้อนกรวดและก้อนหิน จึงเรียกว่า กล้วยหิน มีลำต้นเทียมสูง การกินควรทำให้สุกด้วยความร้อน จะทำให้รสชาติอร่อย เช่น ต้ม ย่าง เชื่อม บวชชี ทำข้าวต้มมัด เป็นต้น เพราะเนื้อมีความเหนียวนุ่ม เนื้อสีเหลือง เมื่อทำให้สุกเนื้อสีเหลืองจะเด่นชัดขึ้น

กล้วยหิน นำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน เช่น หัวปลี ใบ กาบ ลำต้น โดยทั่วไปชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนใต้นิยมนำหยวกกล้วยหินมาทำแกง เป็นผักเครื่องเคียงจิ้มน้ำพริก ผลดิบนำมาแปรรูปเป็นกล้วยหินฉาบ ผลสุกใช้เป็นอาหารนกและอาหารคน หากต้องการกินให้อร่อย ต้องปรุงสุกโดยผ่านความร้อน เช่น กล้วยต้ม กล้วยทอด กล้วยบวชชี กล้วยเชื่อม

กล้วยหินเปลือกหนา ผลดิบเปลือกสีเขียวเข้ม
กล้วยหินเนื้อแน่น

กล้วยหิน ดีต่อสุขภาพ

ผลการวิเคราะห์สารอาหารพบว่า กล้วยหิน มีสารเบต้าแคโรทีนสูงกว่ากล้วยชนิดอื่นๆ สารชนิดนี้มีสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ เมื่อนำไปให้นกกรงหัวจุกกิน จะช่วย ให้นกร้องเสียงดีและร่าเริง เป็นผลทำให้กล้วยหินขายดีและมีราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ กล้วยหิน มีผลขนาดใหญ่ ปริมาณเนื้อมาก เมื่อนำมาแปรรูปจะได้ปริมาณและคุณภาพดี กล้วยหินใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วน และกล้วยหินเป็นกล้วยที่มีอายุยาวนาน ปลูกครั้งเดียวถ้ามีการดูแลจัดการดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สามารถเก็บเกี่ยวได้นานกว่า 10 ปี

การแปรรูปกล้วยหิน ของจังหวัดยะลา
กล้วยหินนังตา เหมาะเป็นของขวัญของฝาก

การปลูกกล้วยหิน

กล้วยหิน เจริญเติบโตได้ดี และตกเครือตลอดปีในสภาพอากาศแบบร้อนชื้น สภาพพื้นที่ต้องไม่มีลมแรง ดินมีการระบายน้ำที่ดี การเตรียมดินต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ด้วย เช่น สภาพพื้นที่ การคมนาคม การวางผังการปลูกเพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงาน การไถพรวน การปลูกพืชคลุม

จังหวัดยะลา นิยมปลูกกล้วยหิน แซมในสวน ทุเรียนที่ปลูกใหม่

ฤดูปลูกส่วนใหญ่ปลูกต้นฤดูฝน แต่ในพื้นที่ที่มีน้ำสมบูรณ์ปลูกได้ตลอดปี หลุมที่ปลูกควรขุดขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ 7 วัน จากนั้นใช้ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต และปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอื่นๆ 1 ปุ้งกี๋ รองก้นหลุม วางหน่อพันธุ์ลงหลุมให้ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร แล้วกลบดินที่เหลือให้เต็มปากหลุม ระยะปลูกขนาด 5×8 เมตร

หากนำกล้วยหินมาปลูกแซมร่วมกับไม้ผล ควรปลูกระหว่าง 7-8 เมตร จะใช้หน่อกล้วยประมาณ 25-64 หน่อ ต่อไร่ ในการให้ปุ๋ยนี้ เกษตรกรมักจะเน้นการให้ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก หลังปลูก โดยใช้ในอัตรา 3-5 กิโลกรัม ต่อต้น

กล้วยจะแทงหน่อได้ดีหลังปลูก 7-8 เดือน กล้วยหินจะแตกหน่อเป็นจำนวนมาก แต่ละกอจึงควรไว้หน่อไม่เกิน 4 ต้น เพราะถ้ามีหน่อมากจะทำให้กล้วยเครือเล็กและหน่อที่งอกใหม่ไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ ควรตัดแต่งหน่อ ปีละ 1-2 ครั้ง และการแต่งทางใบจะช่วยลดแหล่งเชื้อโรคและการเผาไหม้ การตัดแต่งทางใบจะทำตั้งแต่กล้วยเริ่มโตจนถึงเก็บเกี่ยว ควรเหลือใบที่ดีไว้ประมาณ 10-12 ใบ แต่หลังจากกล้วยออกเครือแล้วควรตัดให้เหลือ 8 ใบ ปีละ 2-3 ครั้ง ในการผลิตกล้วยเพื่อการค้าที่ต้องการให้ผิวกล้วยสวย ปราศจากโรคและแมลง ผิวสีนวลขึ้น และมีน้ำหนักผลเพิ่มขึ้น ก็ควรห่อผลกล้วยตั้งแต่ตัดปลีกล้วยออก

กล้วยหินปลูกง่าย ขายดี

เกษตรกรหลายรายในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา นิยมปลูกกล้วยหิน แซมในสวน ทุเรียนที่ปลูกใหม่ โดยปลูกสับหว่างแถวทุเรียน เพื่อให้ทุเรียนมีร่มเงาและความชุ่มชื้น เมื่อต้นกล้วยหินอายุปีครึ่งจะให้ผลผลิตเต็มที่ และจะตัดขายทุกๆ 1 เดือน โดยจะมีพ่อค้ามารับถึงบ้าน พ่อค้าจะคัดหวีใหญ่ส่งขายที่หาดใหญ่ ส่วนหวีเล็กจะขายให้กับผู้แปรรูปกล้วยหิน

กล้วยหินของจังหวัดยะลา มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการส่งออกกล้วยหินไปจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย ประมาณวันละ 6-10 ตัน โดยมีพ่อค้ามารับซื้อที่สวน ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท ด้วยการชั่งน้ำหนักทั้งเครือ ทำให้เกษตรกรสนใจมาปลูกกล้วยหินเพิ่มมากขึ้น ส่วนราคาจำหน่ายปลีกค่อนข้างสูง จากเดิมหวีละ 10-15 บาท มาเป็นหวีละ 30-40 บาท

เติบโตตามวิถีธรรมชาติ

ส่วนต้นกล้วยหินที่ตัดเครือแล้ว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีก โดยตัดเป็นท่อน ประมาณ 1 เมตร และผ่าครึ่งนำไปวางใต้โคนทุเรียนในรัศมีพุ่มใบ ต้นละ 8-10 ท่อน เพื่อให้ความชื้นแก่ต้นทุเรียนในหน้าแล้ง กล้วยหินของที่นี่ปลูกตามวิถีธรรมชาติ ไม่ได้ดูแลอะไรมากนัก มีการให้ปุ๋ยหมักช่วยบ้าง เพราะสภาพแวดล้อมยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกอย่างกล้วยหินเป็นกล้วยพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่กับที่นี่มานาน จึงได้ปรับสภาพจนเหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้ผลผลิตดีและมีคุณภาพกว่าที่อื่น