ส้มโอเชี่ยน ฮันนี่ ที่ฝาง ที่หนึ่งคั้นน้ำ ผลโต ดกเต็มต้น เหลือน้อยแล้ว

ถามถึงพื้นที่ปลูกส้มที่มากที่สุดของประเทศ คงเป็นภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่ สายพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบัน หนีไม่พ้นส้มสายน้ำผึ้ง ด้วยคุณสมบัติที่ใยส้มจะนิ่ม ไม่หนา เนื้อแน่น น้ำเยอะ เปลือกบางล่อน และผิวมีสีเหลืองทองอร่ามเมื่อสุกได้ที่

แต่ก็ยังมีสายพันธุ์อื่นที่ปลูกไว้มากและก่อนที่จะมีส้มสายน้ำผึ้งเข้ามา
เช่น ส้มสีทอง ส้มเขียวหวาน ส้มโอเชี่ยน ฮันนี่ ส้มฟรีมองต์ ส้มเช้ง ส้มแมนดาริน เป็นต้น

คุณแหลง รายคำ หรือ ลุงต๊ะ

คุณแหลง รายคำ หรือ ลุงต๊ะ เกษตรกรทำสวนส้ม หมู่ที่ 5 ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทำสวนส้มมาตลอด 20 ปี มีตัดออกแล้วปลูกมะม่วง มะนาว ทดแทนบ้างนิดหน่อย เพื่อให้สวนมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงยึดพื้นที่เกือบทั้งหมดที่มีอยู่ 80 ไร่ เป็นสวนส้ม

สวนส้มของลุงต๊ะ แบ่งเป็น ส้มสายน้ำผึ้ง ส้มสีทอง และส้มโอเชี่ยน ฮันนี่ (หลังจากนี้ จะเรียกชื่อย่อ เหลือเพียง ส้มโอเชี่ยน) รวม 3 ชนิด และสัดส่วนส้มสายน้ำผึ้ง เป็นส้มที่ปลูกมากที่สุด

เปลือกหนา แต่มีความฉ่ำน้ำ

ลุงต๊ะ บอกว่า แม้ว่าส้มสายน้ำผึ้งจะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคและตลาดต้องการ แต่การปลูกส้มชนิดอื่นก็มีประโยชน์ด้วยเช่นกัน เพราะแม้จะเป็นพืชชนิดเดียวกัน แต่การให้ผลผลิตอาจจะเร็วหรือล่าช้ากว่า เป็นผลให้มีส้มโอเชี่ยน ยังคงมีตลาดเฉพาะของตัวเองอยู่

ส้มโอเชี่ยน มีจุดเด่น คือ ให้ผลดก ผลใหญ่ น้ำคั้นมาก น้ำคั้นรสชาติดี มีกลิ่นหอม เหมาะสำหรับใช้ไหว้เจ้าหรือบรรพบุรุษในเทศกาลของชาวไทยเชื้อสายจีน

ลุงต๊ะ เล่าว่า ในอดีตส้มโอเชี่ยนปลูกมาก รวมถึงส้มชนิดอื่นด้วย ต่อมาเมื่อมีการนำกิ่งพันธุ์ส้มสายน้ำผึ้งมาปลูก และตลาดเริ่มได้รับความนิยม การแพร่ขยายของส้มสายน้ำผึ้งก็เพิ่มขึ้น โดยเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกส้มชนิดอื่นลงตามลำดับ กระทั่งปัจจุบัน เฉพาะอำเภอฝางมีเกษตรกรปลูกส้มสายน้ำผึ้งหลายแสนไร่ ส่วนส้มโอเชี่ยน ถูกลดจำนวนปลูกลงเหลือเพียงไม่ถึง 100 ไร่ ในอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย

สวนส้มที่ปลูกระยะ 4×5 เมตร

สำหรับลุงต๊ะ ยังคงปลูกส้มโอเชี่ยนไว้ 2 แปลง รวมจำนวน 600 ต้น แปลงแรกปลูกระยะ 4×5 เมตร อีกแปลงปลูกระยะ 5×6 เมตร ซึ่งหากต้องการปลูกส้มโอเชี่ยนระยะมาตรฐาน ควรปลูกระยะ 5×6 เมตร จะดีกว่า

การปลูก ไม่ขุดหลุมลึก แต่ใช้วิธีลงปลูกคล้ายก้นกระทะ แล้วพูนโคนให้แน่น  ช่วงต้นแตกยอด ให้ปุ๋ยเน้นไนโตรเจน สูตรตัวหน้าสูง  ช่วงเริ่มติดผล หรืออายุ 3-4 เดือน ให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เมื่อส้มอายุ 5-7 เดือน ให้ปุ๋ยสูตรเน้นตัวท้ายสูง เช่น 13-13-21 ระยะการใส่ปุ๋ย ให้อิงตามกระแสความต้องการของตลาด หากราคาส้มดี ใส่ปุ๋ยทุก 15 วัน ปริมาณ 300-500 กรัม

ดก ต้องใช้ไม้ค้ำ

เพราะพื้นที่ปลูกส้มเป็นที่ลุ่มและที่ราบเชิงเขา เกษตรกรบางส่วนเลือกลงทุนระบบน้ำด้วยการต่อท่อจากภูเขามายังสวน เพราะจะมีน้ำตลอดปี แต่ต้องลงทุนระบบด้วยเงินจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเลือกลงทุนทำที่กักเก็บน้ำเป็นของตนเอง คือ การขุดบ่อ

ลุงต๊ะ เป็นหนึ่งในนั้น เขาเลือกขุดบ่อ อาศัยแหล่งน้ำใต้ดิน แม้จะมีมากน้อย แต่ก็ยังมี และเสียค่าน้ำมันสำหรับสูบน้ำขึ้นมาใช้ในสวน คิดเป็นค่าไฟปีละ 240,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำมันที่มากน้อยขึ้นอยู่กับการใช้
ในฤดูฝน ไม่จำเป็นต้องให้น้ำสวนส้ม

 

ลุงต๊ะ บอกว่า ให้สังเกตดิน ถ้าเริ่มแห้งควรให้น้ำประมาณ 30 นาที หรือปริมาณ 60 ลิตร ในแต่ละรอบปีการผลิต ส้มโอเชี่ยน ให้ผลผลิตหลายรุ่นเช่นเดียวกับส้มอื่น ตลอดปีการผลิต ลุงต๊ะ มีผลผลิตจากส้มโอเชี่ยน 600 ต้น ไม่น้อยกว่า 20 ตัน เฉลี่ยการให้ผลของส้มโอเชี่ยนอยู่ที่ 120-150 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี

การเก็บส้มโอเชี่ยน ต้องระวังมากกว่าส้มชนิดอื่น ด้วยสายพันธุ์ที่ให้ผลดก ผลใหญ่ ทำให้ต้นสลัดผลรุ่นก่อนทิ้ง เมื่อรุ่นต่อไปเริ่มติดผล ดังนั้น เมื่อพบว่ามีผลรุ่นใหม่เริ่มติด และผลรุ่นก่อนหน้าแก่ เข้าสีแล้ว ควรเก็บรุ่นก่อนหน้าออกให้เร็ว เพราะต้นจะสลัดผลทิ้ง ทำให้ส้มหลุดจากขั้วเอง เกิดความเสียหาย ไม่สามารถนำไปจำหน่ายได้

“ที่จริงราคาส้มโอเชี่ยน เมื่อก่อนก็ดีอยู่ แต่ 3-4 ปีหลังมานี่ ราคาขายลดลง แต่เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตที่ได้ และมีส้มขายในช่วงที่ส้มชนิดอื่นยังไม่ให้ผลผลิต ก็ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี ดังนั้น จึงยังควรปลูกส้มโอเชี่ยนไว้”

ราคาขายหน้าสวน ส้มโอเชี่ยนสูงสุด ราวเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี อยู่ที่ 28 บาท ต่อกิโลกรัม จากนั้นเมื่อเก็บขาย ราคาจะลดลงมาเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลของส้มสายน้ำผึ้งปกติ ราคาส้มโอเชี่ยนจะเหลือเพียง 14-15 บาทเท่านั้น

“เมื่อก่อน ส้มโอเชี่ยนจะมีช่วงที่ขายได้ราคาดี ที่ส้มอื่นยังไม่ให้ผลผลิตยาวกว่านี้ 3-4 เดือน แต่ระยะหลัง สภาพอากาศเปลี่ยน ทำให้ช่วงที่เก็บขายได้และไม่มีส้มชนิดอื่นออกสู่ตลาดเหลือเพียง 2-3 เดือน”

ส่วนแรงงานใช้มากในช่วงเก็บผลผลิต หากพื้นที่เป็นที่ราบเชิงดอย จะใช้แรงงานมากกว่าที่ราบลุ่มปกติ และราคาค่าแรงจะแปรผันตามการทำงาน ทั้งนี้ ค่าจ้างแรงงานต่อคนไม่ต่ำกว่า 200 บาท

เมื่อถามถึงต้นทุนการผลิต ลุงต๊ะ บอกว่า ต้นทุนทุกสวนที่ปลูกส้มโอเชี่ยน อยู่ที่ 70,000-100,000 บาท หากต้นทุนน้อยกว่า 70,000 บาท นั่นหมายถึงให้ปุ๋ยและน้ำไม่ถึง ผลผลิตที่ได้จะลูกเล็กและขายไม่ได้ราคา ทำให้ไม่คุ้มกับต้นทุน ส่วนต้นทุน 70,000-100,000 บาทนั้น ขึ้นกับการดูแล หากดูแลไม่ดี ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 70,000-80,000 บาท หากดูแลดี ต้นทุนจะแตะหลักแสนบาท แต่ก็จะได้ผลผลิตมากเพียงพอคุ้มต้นทุน

สำหรับการขาย ในทุกปีจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน ราคาขายตามหน้าสวน แปรผันตามปริมาณส้มที่ออกสู่ตลาดในช่วงดังกล่าว ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และแม้ว่าพื้นที่ปลูกส้มโอเชี่ยนจะลดจำนวนลงทุกปี สำหรับลุงต๊ะแล้ว ส้มโอเชี่ยน ยังเป็นผลผลิตที่ช่วยให้มีรายได้ในช่วงที่ส้มขาดตลาดได้

การดูแลและบำรุงรักษาต้นส้มโอเชี่ยน ไม่ได้แตกต่างจากส้มชนิดอื่น แต่หากท่านใดต้องการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับลุงต๊ะ สามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 088-251-2273 ได้ตลอดเวลา