เกษตรกรนครนายก ใช้แสงไฟโทนส้ม เร่งดอกให้มะยงชิดติดผลดีที่สุด

ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง หรือที่รู้จักกันในนาม “ดาบนวย” เจ้าของ “สวนนพรัตน์” จังหวัดนครนายก ได้ค้นพบโดยบังเอิญว่า การติดหลอดไฟ LED ขนาด 40 วัตต์ (W) เปิดให้แสงสว่างตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึงเช้า กิ่งที่ถูกแสงไฟถูกกระตุ้นให้เร่งออกช่อดอกเร็วกว่าปกติ (ฤดูฝน) ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ต้นมะปรางจะมีช่อดอกประมาณช่วงฤดูหนาวเท่านั้น

ทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายกและ ผู้ใหญ่ทองหล่อ แดงอร่าม

ต่อมา สมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายกจึงแนะนำให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกใช้หลอดไฟติดตรงต้นมะปรางเพื่อให้ออกลูกดก เกษตรกรหลายรายทดลองนำไปใช้ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน เพราะต้นมะปรางและมะยงชิดออกช่อติดดีมาก ติดเกือบจะทุกกิ่ง สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรทั่วประเทศที่ปลูกมะปราง มะยงชิด แห่ติดแสงไฟกันอย่างแพร่หลาย

สวนมะยงชิด GI

ผู้ใหญ่ทองหล่อ แดงอร่าม

คุณทองหล่อ แดงอร่าม โทร. 087-042-5041 ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ในอดีตผู้ใหญ่ทองหล่อ ทำนาเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้เพียงปีละครั้ง ต่อมาประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้ในภาคเกษตร จึงหันปรับเข้าสู่เกษตรทฤษฎีใหม่ มีสระน้ำประจำไร่นา พร้อมทำเกษตรแบบพอเพียง ปลูกพืชผสมผสาน เช่น ทำสวนมะยงชิด ปลูกผักกูด เงาะ กระท้อน เลี้ยงปลา ฯลฯ ทำให้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ปัจจุบัน สวนแห่งนี้มีรายได้หลักจากมะยงชิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) และประสบความสำเร็จในการปลูกดูแลผลผลิตให้ได้มาตรฐานและได้ผลผลิตเกรดพรีเมี่ยม ได้ไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม ต่อต้น

เมื่อสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวมะยงชิด ในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม ผู้ใหญ่ทองหล่อจะตัดแต่งกิ่งให้โปร่งบางก่อน เน้นตัดกิ่งกลางออก ทำให้กิ่งขยายออกด้านข้าง วิธีนี้ช่วยควบคุมความสูงของลำต้น ทำให้ต้นมะยงชิด อายุ 20 ปี มีลำต้นไม่สูงมาก เพียงแค่ 5-6 เมตร ทำให้ง่ายต่อการดูแลจัดการ เมื่อถึงระยะเวลาฉีดพ่นยาและการเก็บเกี่ยวผลผลิต

คุณปิยภัทร เจียรนัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ

สวนแห่งนี้ จะเริ่มทำดอก หลังหมดช่วงฤดูฝน ประมาณปลายเดือนตุลาคม โดยใช้วิธีติดหลอดไฟแอลอีดี (LED) บนต้นมะยงชิด ตั้งแต่เวลา 18.00-06.00 น. ของทุกวัน เป็นระยะเวลานาน 15-20 วัน ที่นี่เลือกใช้หลอดไฟ LED ขนาด 5W ซึ่งให้แสงสว่างเทียบกับหลอดไส้ทั่วไป ประมาณ 40W หลอดไฟ LED ถึงแม้จะมีราคาแพง แต่มีข้อดีคือ ช่วยประหยัดพลังงาน เพราะให้แสงสว่างมาก แต่ใช้ไฟฟ้าน้อยลงกว่าหลอดไส้ทั่วไป 80-90% แถมอายุการใช้งานยังยาวนานกว่าอีกด้วย ผู้ใหญ่ทองหล่อจะติดหลอดไฟ LED บนต้นมะยงชิดมากหรือน้อยแตกต่างกัน ขึ้นกับขนาดทรงพุ่ม หากมีขนาดทรงพุ่มใหญ่ ก็ติดต้นละ 3-4 หลอด

ติดแสงไฟโทนส้ม ให้ผลผลิตดีสุด

ผู้ใหญ่ทองหล่อ โชว์หลอดไฟที่ใช้ติดต้นมะยงชิด

“วิธีติดแสงไฟในสวนมะยงชิดได้ผลที่ดี แต่ต้องเลือกให้ถูกและใช้ให้เป็น ตอนแรก ผมไปเลือกซื้อหลอดไฟ เจ้าของร้านก็แนะนำให้เลือกซื้อหลอดไฟหลากสีสัน เมื่อนำไปใช้งาน คนผ่านไปมา นึกว่าที่นี่กำลังเปิดร้านอาหาร หรือกำลังมีงานวัด นอกจากนี้ ยังพบว่าต้นมะยงชิดที่ติดแสงไฟต่างสีสัน ก็ให้ผลผลิตที่แตกต่างกันด้วย” ผู้ใหญ่ทองหล่อ กล่าว

หลังจากทดลองติดแสงไฟบนต้นมะยงชิดหลากสีสัน เช่น สีแดง สีส้ม สีม่วง สีขาว ฯลฯ มาได้ต่อเนื่อง จนเข้าสู่ปีที่ 3  ผู้ใหญ่ทองหล่อ ค้นพบว่า หลอดไฟ Warm White ที่ให้แสงในโทนส้ม ช่วยให้ต้นมะยงชิดได้ผลผลิตดีที่สุด ส่วนต้นมะยงชิดที่ติดหลอดไฟสีแดง บางทีก็ไม่ติดผลเลยก็มี ส่วนหลอดไฟสี cool white (แสงสีฟ้าขาว) ทำให้ต้นมะยงชิดติดผล แต่ปริมาณผลผลิตไม่สูงเท่ากับโทนแสงสีส้ม

ทำปุ๋ยหมักชีวภาพใช้เอง

ห่อผลมะยงชิดด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ป้องกันแมลงวันทอง

“ปุ๋ยหมักชีวภาพ” เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ผู้ใหญ่ทองหล่อนำมาใช้บำรุงต้นมะยงชิดให้เติบโตสมบูรณ์ ที่นี่ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ มีธนาคารปุ๋ย การทำปุ๋ยหมักใช้ สาร พด. เป็นตัวช่วยบำรุงพืชแล้ว ยังมีสารป้องกันแมลงศัตรูพืชที่ผลิตจากสารเร่ง พด.7 เป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ได้จากการย่อยสลายพืชสมุนไพร ใช้ในการป้องกันศัตรูพืช และบำบัดน้ำไม่ให้เน่าเสีย โดยผู้ใหญ่ให้ปุ๋ยหมักชีวภาพเหล่านี้โดยเปิดให้ผ่านระบบสปริงเกลอร์ควบคู่กับการให้น้ำในสวนไปพร้อมๆ กัน ประมาณ 10-15 นาที ทุกๆ 2-3 วัน

มะยงชิดโมเดล

มะยงชิดที่รอการขาย

สินค้ามะยงชิดนครนายก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI มีลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ รูปไข่ มีสีเหลืองส้ม เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม เมล็ดลีบสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีค่าความหวาน 18-22 องศาบิกซ์ ส่วนมะปรางหวานนครนายก มีลักษณะผลใหญ่ยาวรี ปลายเรียวแหลม สีเหลืองทอง เปลือกบาง มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน กรอบ ค่าความหวานอยู่ในช่วง 16 ถึง 19 องศาบริกซ์ สินค้าทั้ง 2 ประเภท ปลูกในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์

มะยงชิดคุณภาพพรีเมี่ยม (6 ผล) ขายกล่องละ 400 บาท

คุณปิยภัทร เจียรนัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ และ คุณถาวร ชูพูล หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก ได้เล่าให้ฟังว่า จังหวัดนครนายกได้พัฒนาการผลิตพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดนครนายก ภายใต้ชื่อ “มะยงชิดโมเดล” โดยเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรในด้านต่างๆ เช่น การเตรียมความพร้อมแปลงใหญ่มะยงชิด การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เครือข่าย การจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตมะยงชิดคุณภาพ ขึ้นทะเบียนอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) แก่เกษตรกรเจ้าของสวนมะยงชิด พร้อมผลักดันให้สวนมะยงชิดที่มีศักยภาพ เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมและซื้อสินค้าถึงในสวน ช่วยขยายโอกาสในการทำตลาดให้กับสินค้า GI และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของเกษตรกรจังหวัดนครนายก

เครื่องตรวจวัดคุณภาพมะยงชิดก่อนการขาย

นอกจากนี้ ชมรมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก ร่วมกับจังหวัดนครนายก โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด จัดง“งาน “มะยงชิด มะปรางหวาน ของดีนครนายก” ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งผลิตมะยงชิด มะปรางหวานคุณภาพ รสชาติอร่อย ให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งสนับสนุนให้กลุ่มชมรมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการตลาดเพื่อสร้างอาชีพและรายได้สู่ท้องถิ่น ส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ทั้งการประกวดมะยงชิด มะปรางหวาน มะปรางยักษ์ กิ่งพันธุ์คุณภาพ การประกวดธิดามะปรางหวาน เลือกซื้อมะยงชิด มะปรางหวาน และกิ่งพันธุ์คุณภาพจากชาวสวนโดยตรง เลือกซื้อของดีสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จังหวัดนครนายก เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นงานที่พลาดไม่ได้อีกงาน มาวันเดียวเที่ยวได้ครบรสจริงๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครนายก โทร. 037-311-289

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2563