ปลูกผักขั้นเทพ หลังคาสีเขียว

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักและคิดถึงทุกท่าน เป็นอย่างไรกันบ้างหนอ ในสายลมร้อนและแอบมีหนาวในบางวัน อุณหภูมิเปลี่ยนแปรยากจะควบคุม แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และกังวลว่าจะเกิดในหลายพื้นที่นั่นคือภาวะแล้ง จากภาพข่าวหลายๆ พื้นที่ประสบภาวะภัยแล้งระบาดหนักยิ่งกว่าไวรัสจากอู๋ฮั่น แม่น้ำลำคลองแห้งผากจนแตกระแหง

ผมยังจำภาพอันน่ากลัวของแผ่นดินทุ่งกุลาร้องไห้ในตอนเด็กได้ดี ดินแตกระแหง ไอแดดที่แผดเผาจนทุกอย่างดูกรอบเกรียม หรือภาพนั้นยังตามมาหลอกหลอนในวัยนี้อีกหนอ น้ำ คือปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับอาชีพเกษตร มีน้ำก็ต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด หากขาดน้ำวันใดก็เหมือนสิ้นใจในวันนั้น

เกษตรกลางใจเมืองกรุง เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ผมอยากนำเสนอเป็นอย่างมาก มิได้อยากเห็นเพียงตึก สองตึกเท่านั้น แต่อยากเห็นหลายๆ ตึก หรือทุกตึกได้มีกิจกรรมเช่นนี้ มีแปลงผักที่บริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีผักที่หลากหลายไว้บริโภคเอง หรือจะนำไปแจก แลก ขาย ก็สุดแท้แต่เจ้าของจะดำเนินการ

สำคัญมากไปกว่านั้นคือการสร้างระบบนิเวศน์ สร้างสีเขียวให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่เมือง และผมเองก็ได้พบกับแปลงผักกลางใจเมืองจริงๆ เป็นแปลงผักดาดฟ้าที่ห้างเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ลุงสุเทพ กุลศรี กับโปรเจ็กต์ หลังคาเขียว

ผมนัดกับ ลุงเทพ – สุเทพ กุลศรี โทร. (089) 927-7122 ในยามบ่ายสี่โมง (16.00 น.) เพื่อต้องการพิสูจน์หลายๆ เรื่อง หนึ่งคือผมเดินขึ้นไปที่ชั้นดาดฟ้าในเวลาบ่ายสี่โมง แดดกำลังเต้นระยิบ แต่ไอร้อนที่เคยสัมผัสจากปูนไม่มีเลยสักนิด นั่นเป็นการตอบโจทย์ข้อแรก ของการปลูกผักบนดาดฟ้าในลักษณะหลังคาเขียว Green Roof แปลงผักจะช่วยลดความร้อนจากแสงแดดจะส่องถึงพื้นปูนโดยตรง ทำให้ปูนไม่ร้อน ส่งผลต่ออุณหภูมิในตึกลดลง แอร์ทำงานน้อยลง ส่งผลต่อการลดค่าไฟฟ้าได้ด้วย

และในเวลาบ่ายสี่โมงที่กำลังร้อนระอุ ผักในแปลงไม่มีทีท่าว่าจะเหี่ยวหรือสลดสักนิด นั่นต้องมีวิธีการจัดการที่ดีแน่ๆ ที่สำคัญ ผมมองเห็นสิ่งที่จะเป็นขยะที่กำจัดได้ยาก เช่น กล่องโฟม ถูกแปลงร่างมาเป็นกระบะปลูกผัก โอ้โห! เรื่องนี้ตอบโจทย์เรื่องการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีทีเดียว

กล้าผักสลัด รอย้ายไปลงแปลงปลูก

“สวัสดีครับลุง ไปยังไงมายังไงถึงได้มาเป็นเกษตรกรขั้นเทพถึงปานนี้”

“เทพอะไรน้อ ลุงก็เป็นคนเดิมนั่นแหละครับ”

“ปลูกผักสูงแบบนี้ ไม่ใช่เทพแล้วจะเป็นใคร อย่างน้อยก็ชื่อลุงสุเทพแหละเนอะ”

“ถามว่าไปยังไงมายังไงน่ะเหรอ ตอนแรกผมก็แค่มาช่วยครับ ทำไปทำมาตอนนี้ผมต้องอยู่ประจำ จนถึงต้องรับหน้าที่เป็นทั้งเกษตรกรและวิทยากรไปด้วยเลยครับ”

จากถาดเพาะลงแปลง-ถุงปลูก

“ถามง่ายๆ ว่ายากไหมกับการปลูกผักแบบนี้ เพราะก่อนนั้นลงปลูกลงในแปลงบนดินเลย”

“ง่ายกว่าเยอะครับ การบริหารจัดการก็ง่ายกว่า ใครๆ ก็สามารถมาปลูกผักได้ ที่สำคัญ เราสร้างชีวิตชีวาให้ตึกได้เป็นอย่างดี เศษอาหารก็นำมาตากแห้งและหมักทำปุ๋ย กล่องโฟมก็นำมาเป็นกระบะปลูก ผสมดินกับปุ๋ยหมักรดน้ำ เท่านี้ก็รอเวลาได้กินผักแน่นอน ที่สำคัญ มีคนแวะมาเรียนรู้กันมากมาย”

ผมเดินสำรวจบนชั้นดาดฟ้าอย่างเย็นใจ ซาแรนที่คลุมในบางจุดทำให้แดดในยามนี้ไม่ร้อนมากนัก สอดคล้องกับปูนที่ไม่ได้คลายความร้อนออกมา จึงทำให้การเดินชมแปลงผักบนดาดฟ้าได้สบายๆ มุมหนึ่งลุงจัดไว้เป็นแปลงปุ๋ยหมัก มีมูลสัตว์ ฟาง และดินในบางส่วนผสมผสานกัน การหมักของที่นี่ลุงเทพจะไม่รอให้ย่อยสลายจนหมด แต่นำมาใช้ในตอนที่ปุ๋ยหมักกำลังเกิดปฏิกริยา (ร้อนมือ) มาผสมกับดินอีกครั้ง รดน้ำ และบรรจุภาชนะเตรียมปลูก อาจดูนอกตำราอยู่บ้าง แต่ลุงบอกว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดี

กองปุ๋ยหมัก

อีกมุมหนึ่งถือเป็นมุมอนุบาล มีตะกร้าเพาะเมล็ด มีถาดชำต้นกล้า การเตรียมต้นกล้าของที่นี่จะทำให้สอดคล้องกับผักในแปลงใหญ่ กล่าวคือที่นี่จะปลูกผักหมุนเวียนและต่อเนื่อง ทำให้มีผักไว้บริโถคและจำหน่ายเสมอ แปลงที่ตัดหมดแล้วก็จะพักดินและนำกล้าที่พร้อมปลูกลงมาปลูกต่อ

ดินผสมพร้อมปลูก

จากเมล็ดพันธุ์จนถึงกล้าพร้อมปลูกใช้เวลา 14-15 วัน จากนั้นก็นำไปปลูกในแปลงอีกครั้ง และที่แปลงก็จะเป็นกระสอบขนาดหน้ากว้าง 6 นิ้ว มาปลูกผักแต่ละต้นแต่ละกอ ด้วยวัตถุประสงค์ที่ลุงเทพและทีมงานบอกว่า

“คนสูงอายุก็ปลูกได้ ดินในถุงก็หนัก ประมาณ 3 กิโลกรัมพอยกไหว เราทำชั้นให้เหมาะกับความสูงของผู้ปลูก เท่านี้ก็จัดการได้ง่ายขึ้นเยอะแล้ว”

กล่องโฟมที่นำมาทำเป็นแปลงปลูก

ในช่วงที่ผมกำลังเดินชมแปลงอยู่นั้น สปริงเกลอร์ก็เริ่มทำงาน ที่นี่ตั้งเวลาอัตโนมัติ หากเป็นช่วงฤดูหนาวหรือฤดูฝนก็ไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว การดูแลผักสลัดเป็นเรื่องสำคัญมาก สปริงเกลอร์ปล่อยน้ำแบบละอองฝอย เพื่อเพิ่มความชื้นและลดอุณภูมิ ทำให้ผักไม่เหี่ยวในช่วงที่มีอากาศร้อนสุดๆ การให้น้ำจะตั้งเวลาพ่นทุก 2 ชั่วโมง ครั้งละ 5 นาที พอถึงช่วงเย็นก็งด

“ลุงมีเทคนิคอื่นอีกไหมครับในการปลูกผักแบบนี้”

“ก็ปุ๋ยหมัก น้ำหมักฮอร์โมนคอยฉีดพ่นบ้าง เท่านี้แหละ แมลงก็ไม่กวน ผลผลิตก็ได้ดี”

“ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บผลผลิต ใช้เวลานานไหมครับลุง”

“45-50 วันครับ เป็นช่วงที่ผักกำลังโตมากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุด รับรองกรอบ หวานอร่อยสุดๆ”

พ่นน้ำละอองฝอยยามบ่าย

“นอกจากผักสลัดแล้ว ลุงยังปลูกผักอะไรอีกครับ”

“มะละกอ พริก มะเขือเทศ เซอรารี่ ต้นหอม สะระแหน่ บีทรูท ปลูกผสมผสานกันหมดแหละครับ ดูสิ แคยังปลูกเลย เตยหอมก็มี ปลูกได้หมดทุกอย่างครับ ดอกไม้สวยๆ ก็ปลูกได้”

“ถามถึงรายได้ในการปลูกผักแบบนี้ครับ พอไหวไหม”

“เอาคร่าวๆ นะ ผมยังไม่ได้เก็บสถิติอย่างแท้จริง พื้นที่ปลูกประมาณ 240 ตารางเมตร ปลูกผสมผสานแบบนี้ บางส่วนก็ขายกล้าผักสวนครัวด้วย มีรายได้ประมาณเดือนละ 35,000 บาท”

“โห! เดือนละสามหมื่นห้า น่าสนเลยแหละลุง”

มะละกอปลูกผสมผสาน

“ไม่ใช่แค่รายได้ครับ เพราะการปลูกผักบนดาดฟ้าแบบนี้ ลดขยะจำพวกเศษอาหาร โฟม เศษไม้ใบไม้ต่างๆ ที่สำคัญทำให้ตึกเย็นกว่าเดิมลงมาก ช่วยให้ประหยัดไฟในการทำความเย็นได้อีกไม่น้อย ที่สำคัญกว่านั้น กรุงเทพฯ มีโครงการสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ผมถามจริงๆ ในเมื่อแต่ละพื้นที่ก็ผุดตึกขึ้นมามากมายแบบนี้ เราจะเหลือพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มสีเขียวได้แค่ไหน ดังนั้น การทำแปลงผักบนดาดฟ้าจึงตอบโจทย์นี้ได้แน่นอน ทุกตึกสร้างสีเขียวได้เลย”

“มีแมลงรบกวนไหมครับลุง”

“มันคงบินขึ้นมาไม่ไหวมั้ง เดินดูสิ ผมว่าแทบไม่มีแมลงมารบกวนเลยนะ”

“อีกคำถามเดียว หากมีคนสนใจอยากขอมาเรียนรู้”

เรดคอรัลและกรีนโอ๊ค
กรีนคอส กรอบ หวานมากๆ

“ยินดีครับ มาได้เลยชั้นดาดฟ้าตึกเซ็นเตอร์วัน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถาม รปภ. ก็ได้ครับว่ามาดูแปลงผักดาดฟ้าได้อย่างไร เร็วๆ นี้จะมีกิจกรรมให้ได้สนุกกันทั้งครอบครัวครับ มาตัดผัก กินผัก ฟังเพลงบนดาดฟ้ากัน ต้องขอบคุณผู้บริหารเซ็นเตอร์วันที่ท่านมองการณ์ไกลครับ”

“ขอบคุณครับลุง”