มะตูมแขก ไม้พลัดถิ่น สู่ผักริมรั้วคู่ครัวไทย

ชื่อสามัญ มะตูมแขก หรือ มะตูมซาอุ

ชื่อสามัญ (อังกฤษ) Brazilian Pepper-tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ Schinus terebinthifolius Raddi

วงศ์ https://www.google.com/search?rlz=1C1SQJL_enTH869TH872&q=Anacardiaceae&stick=H4sIAAAAAAAAAONgVuLQz9U3yDI0KFnEyuuYl5icWJSSmZicmpgKAJqWgUocAAAA&sa=X&ved=2ahUKEwj1jf2k8NDlAhUcTI8KHQYYA5EQmxMoATAfegQIChAKANACARDIACEAE

ฉบับนี้เปลี่ยนบรรยากาศจากไม้ต้นใหญ่มาเป็นไม้พลัดถิ่นที่รับประทานได้กันบ้าง ถ้าพูดถึง “มะตูม” น้อยคนที่จะไม่รู้จัก เพราะคุ้นเคยกับ “มะตูมไทย” มาช้านาน แต่ถ้าพูดถึง “มะตูมแขก” หรือ “มะตูมซาอุ” บางคนอาจจะไม่รู้จักเอาเสียเลย นอกจากคนที่ชอบรับประทานผักเท่านั้น

ดอก

ผู้เขียนได้ไปเที่ยวบ้านพักของน้องทหารเรือท่านหนึ่ง ที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี มีโอกาสได้เห็นต้นมะตูมแขกที่กำลังออกดอกสะพรั่งขาวนวล มีผลสีแดงเต็มต้น เป็นช่อพวงสีเขียวอ่อนๆ สีชมพูแก่ สีแดง มองไปช่างสดใสน่าดูชม แถมเมล็ดกำลังพอเหมาะเข้าปากนกได้สบายๆ

คนไทยเรียกชื่อว่า มะตูม เพราะมีกลิ่นคล้ายมะตูม บางคนเรียก “สะเดามาเลย์” เพราะใบคล้ายสะเดา บางคนเรียก “พริกไทยชมพู” เพราะเป็นช่อคล้ายพริกไทย แต่มะตูมซาอุกลับเป็นพืชวงศ์เดียวกับมะม่วง (Anacardiaceae) เสียงั้น

ช่อดอก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะตูมแขก เป็นไม้ประดับในวงศ์มะม่วง ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก เป็นไม้พุ่มไม่ผลัดใบ สูง 7-10 เมตร ยอดอ่อนสีส้มอมแดง มีกิ่งก้านมากจนมองไม่เห็นลำต้น แตกกิ่งก้านได้ดี ยิ่งตัดยอดยิ่งแตก ทำให้มียอดอ่อนไว้รับประทานเป็นผักสดได้ตลอดปี

ผลอ่อน

ถิ่นกำเนิด อยู่ในอเมริกาใต้ แถบประเทศบราซิล อาร์เจนตินา และปารากวัย มะตูมแขกปลูกแพร่หลายในตะวันออกกลาง เชื่อกันว่าแรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย นำเข้ามาปลูกแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยรสชาติที่จัดจ้าน ฝาด มัน ทำให้แกล้มกับลาบ น้ำพริก อาหารอีสานได้อรรถรส และลงตัวพอดี

ผลเป็นพวง

ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว มีใบย่อย 5-15 ใบ ใบย่อยรูปรีถึงใบหอก ขอบใบหยัก ขนาดประมาณ 2-3×3-6 เซนติเมตร เมื่อขยี้ใบมีกลิ่นฉุน ขอบใบมีลักษณะเป็นหยักหนาม

ดอก ออกเป็นช่อเล็กๆ สีขาวนวล ดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน แต่เป็นดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ออกเป็นช่อยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียวรูปใบหอก 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวรูปรี 5 กลีบ ออกดอกทั้งปี

ผลสุกหลากสี

ผล เป็นผลชนิดมีเนื้อแบบ drupe เมล็ดเดี่ยวแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมื่ออ่อนมีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีแดงสดเมื่อแก่ เมื่อแก่จัดเปลือกจะแห้งติดเมล็ดคล้ายพริกไทยแต่เล็กกว่า มีรสเผ็ดร้อนhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%8B%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B8 – cite_note-2

จริงๆ แล้ว ผลของมะตูมแขกนี้ที่แท้ก็คือ “พริกไทยชมพู” (Pink Peppercorns) ชนิดหนึ่งนั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนผสมในขวดพริกไทยผสม (five peppercorns mixture) นี่แหละ ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตในต่างประเทศก็มีแยกขายเฉพาะ Pink Peppercorns ซึ่งมีราคาแพงเสียด้วย

วิธีการขยายพันธุ์

ยอดอ่อน

เพาะเมล็ด ปักชำ และตอนกิ่ง

การปักชำ เลือกกิ่งอ่อนกึ่งแก่ที่อยู่เกือบปลายของกิ่งหลัก ตัดกิ่งประมาณ 15-20 เซนติเมตร วัสดุปักชำอาจจะเป็นแกลบดำ แกลบเผา หรือขุยมะพร้าวก็ได้ แต่แกลบดำได้ผลดีสุด นำกิ่งไปปักบนแกลบดำ กดให้แน่น รดน้ำตั้งไว้ในร่มรำไรที่ลมสงบ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ยอดและรากจะเดิน เมื่อรากแข็งแรงดีก็ย้ายออกแดดได้ มะตูมแขกชำติดง่ายเกือบไม่ต้องใช้สารเร่งรากเลย แต่ถ้าจะใช้ก็ผสมตามที่ข้างขวดระบุไว้ รดน้ำทุก 3 หรือ 4 วัน

หน้าใบ

การนำไปใช้ประโยชน์

มะตูมแขก ใช้เป็นพืชอาหาร และใช้เป็นพืชสมุนไพรได้ดี นิยมนำมารับประทานเป็นผักสด เป็นเครื่องเคียงกับลาบ น้ำพริก ผัดไทย ขนมจีน ปลูกง่าย ปลูกลงดินหรือใส่กระถางก็ได้รับประทานยอด

ฤทธิ์ทางสมุนไพร

หลังใบ

มะตูมแขก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดี มีรายงานว่า สารสกัดของมะตูมแขกช่วยลดการอักเสบ ควบคุมการเต้นของหัวใจ ช่วยรักษาโรคความดันต่ำ แก้ท้องผูก กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อและรักษาบาดแผล นอกจากนี้ ยังช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ ทำลายเซลล์มะเร็ง ลดอาการซึมเศร้า ลดอาการชักกระตุก ทำลายเชื้อไวรัส กระตุ้นการย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ขับเสมหะและกระตุ้นการขับประจำเดือน

เปลือก ใช้ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง หรือใช้ใบแก่ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ วันละ 2 ครั้ง

ทรงพุ่มสวยงาม

ลำต้น แก่น และ เปลือก ทุบพอแตก ดองเหล้า ทำยาดอง ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้วเป๊ก เช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง

น้ำมัน/น้ำมันหอมระเหย มีกลิ่นหอม และก่อให้เกิดรสเผ็ด เป็นประโยชน์หลายชนิด

มะตูมซาอุเป็นพืชที่มีประวัติศาสตร์การใช้เป็นยาสมุนไพรมาเป็นเวลาช้านาน

ผักเคียงจาน

อเมริกากลาง/อเมริกาใต้ ชนพื้นเมืองใช้เปลือกต้นเป็นยาสมานแผล ต้านแบคทีเรียและไวรัส หรือใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ทำชาชงเป็นยาระบายขับปัสสาวะ น้ำมัน และชันจากต้น ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อทาแผลภายนอก ห้ามเลือด และแก้ปวดฟัน

จากบทความของท่าน รศ.ภญ. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล อาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รายงานถึงสรรพคุณทางยาที่อเมริกาใต้มีใช้กันว่า ใบตากแห้งเอาไปชงเป็นชารักษาอาการปวดข้อ ใบสดสูดดมรักษาหวัด ลดความดันโลหิต และอาการซึมเศร้า ใบสดต้มน้ำรักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ

ประเทศเปรู ใช้นํ้ายางจากต้นเป็นยาระบายอ่อนๆ และใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ส่วนทั้งหมดของต้นใช้เป็นยาปฏิชีวนะ ส่วนของนํ้ายางที่แห้งแล้วเมื่อนำมารวมกับนํ้ามันหอมระเหยที่ได้จากใบ ใช้เป็นยารักษาแผล ช่วยในการหยุดเลือด รักษาอาการปวดฟัน

จะเห็นว่าสรรพคุณทางยาที่มีมากมาย และกลิ่นใบที่หอมคล้ายมะตูมไทย เนื้อใบที่กรอบ และรสฝาดมันอร่อย ทำให้ติดอันดับผักสดที่คนอีสานชอบรับประทาน ทุกวันนี้มีขายตามร้านผักสดแบบลาวแทบทุกร้าน คนที่ชอบรับประทานผักจะรู้ดีว่ากลิ่นมะตูมแขกนี่ใกล้เคียงกับยอดมะตูมไทยมาก

ด้วยผลที่มีสีสวยสด เป็นที่ชื่นชอบของนกหลากหลายชนิด ซ้ำออกได้ทั้งปี ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อคน ต่อนก และสิ่งแวดล้อม หากปลูกเป็นไม้สมุนไพรก็จะได้รับประทานเป็นผัก หากปลูกเป็นไม้ประดับก็จะมีโอกาสได้เห็นนกหลายๆ ชนิด มาร่ายรำ ร้องเพลงจนแทบจะหนวกหูก็ว่าได้…(ฮา)

ปัจจุบัน ตามร้านพันธุ์ไม้มีกิ่งพันธุ์มะตูมแขกขายกันเป็นล่ำเป็นสัน หากท่านใดยังไม่มีต้นพันธุ์ ก็ติดต่อขอรับเมล็ดพันธุ์ได้ที่คอลัมน์นี้ “นางไม้แห่งลานสะแบง’’ e-mail: [email protected] เพราะผู้เขียนได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้จำนวนหนึ่ง ไว้เพาะขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่าย โดยส่วนหนึ่งจะนำไปปลูกที่ลานสะแบง เมืองแม่ย่า (โคราช) เพื่อเรียกนกมาเต้นระบำเช่นกัน ฉบับหน้าเจอกันใหม่ สวัสดี


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่