วังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร ต้นแบบการจัดการมะม่วงแปลงใหญ่

ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร เป็นแหล่งปลูกมะม่วงส่งออกที่สำคัญของจังหวัดพิจิตร เกษตรกรนิยมปลูกมะม่วงกินสุก คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 เพื่อส่งขายตลาดญี่ปุ่น และปลูกมะม่วงพันธุ์กินดิบ ได้แก่ มะม่วงฟ้าลั่น มะม่วงเขียวเสวย

ปัจจุบัน กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงวังทับไทร มีพื้นที่ปลูกมะม่วง ประมาณ 20,000 ไร่ เมื่อรวมกับแหล่งปลูกมะม่วงในพื้นที่ใกล้เคียง อำเภอสากเหล็ก คือ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้โซนนี้กลายเป็นพื้นที่ปลูกมะม่วงแหล่งใหญ่ของประเทศไทย มีทั้งเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่ปลูกมะม่วงหลายร้อยไร่ขึ้นไป และสวนมะม่วงขนาดเล็ก พื้นที่ 20-50 ไร่ เมื่อรวมกันแล้ว ทำให้เขตภาคเหนือตอนล่างมีพื้นที่และผลผลิตมหาศาล เข้าหลักการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ของกรมส่งเสริมการเกษตร

สวนสมบัติ อยู่ในพื้นที่ตำบลวังทับไทร มีพื้นที่ปลูกมะม่วงยาวสุดลูกหูลูกตา

พื้นที่ปลูกมะม่วงในเขตภาคเหนือตอนล่างกว่า 200,000 ไร่ ในวันนี้มีผลผลิตขั้นต่ำ เฉลี่ยไร่ละ 1 ตัน หรือประมาณปีละ 200,000 ตัน ยกเว้นเจอปัญหาความผันผวนของภาวะอากาศ กำลังการผลิตก็จะปรับตัวลดลง สำหรับเกษตรกรที่มีฝีมือในการบริหารจัดการสวนที่ดีจะมีโอกาสพัฒนาผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นไร่ละ 2 ตันขึ้นไป โดยแบ่งการผลิตมะม่วงออกเป็นปีละ 2 รุ่น คือ มะม่วงก่อนฤดู และมะม่วงในฤดู ในแต่ละปีเฉพาะตำบลวังทับไทร ได้ผลผลิตราว 20,000-30,000 ตัน ตลาดส่งออกที่ขายได้ราคาดีที่สุดคือ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

มะม่วงที่ปลูกในเขตภาคเหนือตอนล่าง ทั้งจากจังหวัดพิจิตร และพื้นที่ใกล้เคียง 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ถูกรวบรวมมาส่งขายที่ตำบลวังทับไทรทั้งหมด ก่อนขายป้อนตลาดส่งออกถึง ร้อยละ 70-80 ของผลผลิตทั้งหมด สินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้ โชคอนันต์ ที่ตกเกรดคุณภาพ จะส่งขายให้กับโรงงานแปรรูปเพื่อการส่งออก เช่น ทิมฟู้ด เชียงใหม่โฟรเซ่นฟู้ด ลานนา ฯลฯ เพื่อนำมะม่วงผลสุกเหล่านี้ไปแช่แข็งเป็นไอศกรีมผลไม้ และแปรรูปเป็นน้ำผลไม้

น้ำดอกไม้สีทอง กำลังออกดอกแทงช่อผลผลิตงดงาม

การจัดการสวนมะม่วงเชิงการค้า

โดยธรรมชาติของมะม่วง จะเริ่มให้ผลผลิตในพื้นที่ภาคใต้ก่อนขึ้นภาคเหนือ ไล่ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ขึ้นไปพิจิตร ไปจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย สำหรับจังหวัดพิจิตร ต้นมะม่วงจะให้ผลผลิตช่วงเดือนเมษายนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเชียงใหม่ เชียงราย จะเก็บผลผลิตได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

มะม่วงออกช่อดอกแล้ว มักติดผลดีทุกครั้ง

ฉะเชิงเทรา ถือเป็นต้นแบบในการผลิตมะม่วงส่งออก เทคนิคการจัดการบางอย่างอาจทำได้ดีกับสวนมะม่วงในจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่หากนำมาใช้กับสวนมะม่วงที่จังหวัดพิจิตรอาจจะไม่ได้ผล เพราะมีข้อแตกต่างกันหลายประการ ทั้งเรื่องเงื่อนเวลา สถานที่ ภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม เทคนิคการจัดการสวนมะม่วงส่งออกของแต่ละท้องถิ่น อาจมีวิธีการที่คล้ายๆ กัน แต่มีเงื่อนเวลาปฏิบัติที่ต่างกัน การทำมะม่วงเพื่อให้คุณภาพดีนั้น มีความแตกต่างกันตรงที่เงื่อนเวลากับการปฏิบัติของตัวเกษตรกร แต่วิธีการคล้ายกันเกือบทั้งหมด

คุณสายัณห์ บุญยิ่ง และภรรยา โชว์มะม่วงที่รอเก็บเกี่ยวในสวนสมบัติ

คุณสายัณห์ บุญยิ่ง โทร. 081-887-1964 เจ้าของสวนมะม่วง ชื่อ “สวนสมบัติ” ในพื้นที่ตำบลวังทับไทร เล่าให้ฟังว่า เขามีพื้นที่ปลูกสวนมะม่วง 200 ไร่ อยู่ในอำเภอสากเหล็กและเนินมะปราง ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยทยอยปลูกมะม่วงเป็นหลายรุ่น มะม่วงรุ่นแรก ปลูกในระยะ 6×6 เมตร ประมาณ 45 ต้น/ไร่ รุ่นต่อมา ปลูกในระยะ 4×6 เมตร เฉลี่ย 60 ต้น/ไร่ เมื่อครบระยะเก็บเกี่ยว มะม่วงทั้งสองรุ่น มีผลผลิตใกล้เคียงกัน

สวนมะม่วงที่นี่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก หลังปลูกต้นมะม่วงจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 จะให้ผลผลิตคุณภาพดี ตั้งแต่ ปีที่ 5-15 มะม่วงแต่ละต้นจะให้ผลผลิต ประมาณ 90-200 กิโลกรัม ส่วนต้นมะม่วงอายุ 10 ปีขึ้นไป จะได้ผลผลิตคุณภาพเฉลี่ยต้นละ 100 กิโลกรัม

การผลิตมะม่วงก่อนฤดูของโซนภาคเหนือตอนล่าง จะเริ่มราดสารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เพื่อให้มีผลผลิตเข้าสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี

คุณสายัณห์ สาธิตการห่อผลมะม่วง

เมื่อต้นมะม่วงแตกใบอ่อนมักมีปัญหาโรคแมลงรบกวน เช่น แมลงค่อมทอง หนอนผีเสื้อ ฯลฯ ระยะผลอ่อนมักเจอปัญหาหนอนแมลงวันทอง เพลี้ยไฟ เข้ามารบกวน คุณสายัณห์ จะใช้สารเคมีกำจัดแมลง ควบคู่กับการจัดการแปลงให้สะอาดเป็นหลัก ปัจจุบัน สวนสมบัติมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ ไร่ละ 6,000-7,000 บาท ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้ มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 13,000-15,000 บาท/ไร่ ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่าห่อผลและค่าเก็บเกี่ยวผลผลิต

การผลิตมะม่วงนอกฤดู

หลังหมดฤดูการเก็บเกี่ยว จะตัดแต่งกิ่งให้น้อยลง เพื่อไม่เป็นที่สะสมของโรคและแมลง เปิดทางให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง และอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อช่วยให้ต้นมะม่วงผลิดอก ออกผล ที่มีคุณภาพดี ทั้งนี้เกษตรกรต้องรู้ใจมะม่วงด้วยว่า ตัดแต่งให้เหมาะสม เพราะหากตัดแต่งมากเกินไป จะไม่ได้ดอก ไม่ได้ลูก จะได้แต่ใบ หากตัดแต่งน้อยไปจะกลายเป็นแหล่งสะสมโรค แมลง เชื้อรา

รอผลโตอีกนิด คนงานก็จะเริ่มห่อผล

“ธรรมชาติของต้นมะม่วง หลังถูกตัดแต่งกิ่ง ต้นมะม่วงจะสร้างกิ่งสร้างใบใหม่มาทดแทนกิ่งเดิมใบเดิม หากตัดแต่งพอประมาณ ให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ลมถ่ายเทได้ดี เมื่อต้นมะม่วงกระทบแล้ง ช่วงพฤศจิกายน ฝนเริ่มหมด พอเข้าธันวาคมอากาศหนาวมากระทบ ใบที่กำลังแก่ สะสมอาหารเพียงพอก็จะออกช่อ ออกดอกในเดือนมกราคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในเดือนเมษายน” คุณสายัณห์ กล่าว

มะม่วงน้ำดอกไม้ที่รอการเก็บเกี่ยว

การทำมะม่วงนอกฤดูกาล โดยใช้สารแพคโคลบิวทราโซลราดโคนต้น เพื่อหยุดการเจริญเติบโต เมื่อมะม่วงไม่แตกยอด จะต้องให้ปุ๋ยเคมี ที่เน้นตัวกลาง-ตัวท้ายสูง เพื่อเร่งสะสมตาดอก หรือให้ปุ๋ยทางใบที่มีตัวกลาง ตัวท้ายสูง ด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อใบแก่ ยอดอั้น จึงเปิดตาดอกด้วยสารไทโอยูเรียหรือโพแทสเซียมไนเตรตเพื่อให้มะม่วงแตกช่อดอก เป็นวิธีการที่บังคับให้มะม่วงออกนอกฤดูกาลหรือก่อนฤดูกาล

เมื่อต้นมะม่วงเริ่มผลิดอก ต้องดูแลดอกมะม่วง ช่วงนี้ มักมีปัญหาแมลงศัตรูพืช ประเภท เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น ที่ทำให้ใบมะม่วงเป็นสีดำ มียางเหนียวออกมา นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนอนผีเสื้อ แมลงปีกแข็ง ประเภทแมลงอีนูน แมลงค่อมทอง จะเข้ามาโจมตีช่วงใบอ่อน ช่วงช่อดอก แมลงเหล่านี้จะสร้างความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการจัดการแปลง เกษตรกรต้องรู้ว่าแมลงแต่ละตัวกินอยู่อย่างไร จะควบคุมอย่างไร จัดการอย่างไร ไม่ให้ระบาดจนสร้างความเสียหาย อย่างผีเสื้อหรือแมลงหลายตัวที่มาอาศัยอยู่ในสวน หากตัดแต่งกิ่งให้ดี ไม่เป็นที่อาศัยของแมลง แสงแดดส่องได้ทั่วถึง แมลงเหล่านี้จะไม่มีที่อยู่ หรืออาจเจอน้อยลง ไม่สร้างความเสียหายแก่ผลผลิต

หากเกษตรกรต้องการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย ขอแนะนำให้ใช้สารสะเดา สมุนไพร ฉีดพ่น จะช่วยขับไล่แมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้ามาหากินในช่วงระยะสั้นๆ หากพ้นช่วงช่อดอก ช่วงใบอ่อน แมลงก็ไม่เข้ามารบกวนแล้ว ปัญหาเรื่องหนอนก็เช่นเดียวกัน หากดูแลจัดการไม่ให้มีที่พักอาศัยอยู่ในแปลง ปริมาณแมลงก็จะน้อยลงตามไปด้วย แต่หากควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้สารเคมี ที่มีความปลอดภัยสามารถสลายตัวได้เร็วภายใน 3-7 วัน

มะม่วง 1 ต้น มีผลผลิตหลายรุ่น

หากช่วงไหน เจอภาวะอากาศที่มีความชื้นสูง เจอฝนตก มีน้ำค้างแรงๆ ควรล้างต้นกันบ้าง โดยใช้น้ำเปล่าทำความสะอาดต้น เมื่อมะม่วงติดผลอ่อนแล้ว ไม่ต้องดูแลอะไรมาก อาหารเสริม ไม่ต้องใส่มาก ปล่อยให้ต้นมะม่วงหากินเองได้ ค่อยๆ สะสมอาหารกินมาจากทางราก ใบ ปรุงแต่งอาหารมาเลี้ยงลูก เลี้ยงดอก ปล่อยให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตตามธรรมชาติ สำหรับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองจำเป็นต้องห่อผล เพื่อให้สีผลสวยงาม ห่ออายุประมาณ 45 วัน พอห่อแล้ว มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100-110 วัน

ข้อแนะนำการลงทุน

การผลิตมะม่วงเชิงการค้าเพื่อการส่งออก แต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสารเคมีตกค้าง ขนาด และสีผิวมะม่วง ตลาดต้องการมะม่วง 2 แบบ คือ มะม่วงกินดิบ กับมะม่วงกินสุก ตลาดมะม่วงกินสุก คือ ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป จีน แต่มะม่วงกินดิบจะมีทางเวียดนาม เป็นพันธุ์ฟ้าลั่น เขียวเสวย เพชรบ้านลาด

ฉะนั้น ผู้ที่สนใจที่อยากจะทำมะม่วง อยากจะผลิตมะม่วงเป็นแบบหลังบ้านไว้กินเอง หรือแบบเชิงการค้า ก็คงต้องมองว่า จะผลิตมะม่วงอะไร ไปที่ไหน ไปโรงงานแปรรูปใช้พันธุ์อะไรบ้าง ส่งผลสดจะไปที่ไหน แล้วค่อยวางดูตามความเหมาะสมของพื้นที่ของตัวเรา ของแรงงานที่มีความสามารถที่ทำได้

กองนี้ เป็นมะม่วงเกรดส่งออก

วันนี้ตลาดมะม่วงถือว่ามีอนาคตสดใส โดยเฉพาะมะม่วงคุณภาพดี เกรดส่งออก เกษตรกรยังผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของผู้ซื้อต่างประเทศ หากใครคิดจะปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้แปลงใหญ่เชิงการค้า สิ่งสำคัญประการแรกคือ แรงงานต้องพร้อม และต้องมีเงินทุนพอสมควร

ส่วนเกษตรกรทั่วไปที่มีจำนวนแรงงานน้อย และเงินทุนจำกัด แต่สนใจอยากจะปลูกมะม่วงเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว คุณสายัณห์ แนะนำให้ปลูกฟ้าลั่น โชคอนันต์ เพราะเป็นสินค้าที่ตลาดเวียดนามมีความต้องการสูง ปลูกดูแลง่าย อายุการเก็บเกี่ยวสั้น

มะม่วงไม่ชอบน้ำ เป็นพืชที่ทนแล้ง เติบโตง่าย ไม่ต้องดูแลอะไรมาก เมื่อถึงช่วงฤดูร้อน ต้นมะม่วงเจออากาศหนาวนิดหน่อยก็ออกดอก ให้ผลตามธรรมชาติในช่วงฤดูแล้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนเมษายน

ชุดนี้เป็นมะม่วงตกเกรด ส่งขายตลาดในประเทศ

แต่ทุกวันนี้ การทำสวนมะม่วงให้ได้คุณภาพสูงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นทุกที เนื่องจากต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากขึ้น แถมเจอปัญหาภาวะอากาศแปรปรวนตลอดเวลา ทำให้ควบคุมกระบวนการผลิตได้ยากขึ้น เพราะช่วงตอนกลางวัน อากาศร้อนมาก ช่วงกลางคืนอากาศกลับเย็นลง ทำให้ต้นมะม่วงมีผลผลิตลดน้อยลง หลายพื้นที่เจอปัญหามะม่วงมีขนาดผลที่เล็กลง คือ ต่ำกว่า 330 กรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตกเกรด ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศสักเท่าไรนัก

เพื่อความอยู่รอด ชาวสวนควรใส่ใจข้อมูลรอบด้านให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาศัยแค่ฟังพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาเหมือนในอดีตแต่เพียงอย่างเดียวคงจะไม่ได้แล้ว ควรปรับตัวเรียนรู้สภาพการเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศ โดยจดบันทึกข้อมูลสภาพภูมิอากาศภายในสวนของตนเองให้ละเอียด เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผนการผลิต ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้เหมาะสมที่สุด เพื่อช่วยลดความสูญเสียของผลผลิต และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้นตามที่ต้องการ