“บ้านแม่ขมิง จังหวัดแพร่” ต้นแบบป่าชุมชน จัดการน้ำเชิงพื้นที่ หยุดภัยแล้ง-ไฟป่า

เหตุการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เมื่อปี 2544 ได้สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ นับเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ชาวอำเภอวังชิ้นหันมาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า ป่าไม้มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยา มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์น้ำและดิน ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น  เมื่อชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจรักษาป่าในชุมชน ก็เท่ากับช่วยลดปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันได้อีกทางหนึ่ง

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง จังหวัดแพร่

คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน

“โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” เป็นกิจกรรมประกวดป่าชุมชนตัวอย่างระดับประเทศ ที่กรมป่าไม้ และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นระยะเวลา 12 ปีแล้ว เพื่อเฟ้นหาป่าชุมชนที่มีการบริหารจัดการป่าทั้งด้านการอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างพอประมาณบนเป้าหมาย “ป่ายั่งยืน ชุมชนได้ประโยชน์”

คุณบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ในปี 2562 คณะกรรมการได้ตัดสินให้ “ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง” จังหวัดแพร่ เป็นต้นแบบของป่าชุมชนที่ชาวบ้านร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ปกป้องและดูแลผืนป่าชุมชน การสร้างพลังชุมชนของบ้านแม่ขมิงเริ่มจากการน้อมนำศาสตร์พระราชา “ปลูกป่าในใจคน” หล่อหลอมคนในชุมชนมองเห็นคุณค่าของป่า ส่งผลให้การบุกรุกแผ้วถางป่าค่อยๆ ลดลงจนหมดไปจากพื้นที่ ขณะที่การดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าของชุมชนเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้นๆ จนปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นต้นแบบในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน และเป็นแกนนำที่ร่วมกับภาครัฐในการปลูกป่าในใจคนด้วย

ฝายกั้นน้ำในป่าชุมชน

คุณบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า   บริษัท เชื่อว่า ป่าชุมชนเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการอนุรักษ์ป่าจนสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศได้ สำหรับป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ได้รับรางวัลชนะเลิศดีเด่นด้านสืบสาน รักษา และต่อยอด สร้างสุขปวงประชา จากโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2562 ป่าแห่งนี้ได้น้อมนำและสืบสานศาสตร์พระราชาในการพัฒนา รักษา และฟื้นฟูป่าบ้านแม่ขมิงจนอุดมสมบูรณ์กลายเป็นแหล่งผลิตน้ำและอาหารหล่อเลี้ยงคนในชุมชนและทั้งจังหวัดแพร่มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีความเข้มแข็งในการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าของคนและไฟป่าได้อย่างยอดเยี่ยม บริษัทมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่า ตลอดจนระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความยั่งยืน โครงการนี้จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อส่งเสริมชุมชนและขยายผลให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน และภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

คุณอัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง ประธานป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง

กุศโลบายในการสร้างป่า

คณะกรรมการป่าชุมชนมีกุศโลบายในการสร้างป่า ด้วยการสร้างเครือข่ายขยายแนวร่วมในชุมชนใกล้เคียง โดยส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนที่เห็นผลเชิงประจักษ์ คือ การปลูกกาแฟ จนเกิดการก่อตั้ง เดอะ ปางงุ้น วัลเล่ย์ เป็นวิสาหกิจชุมชนใกล้เคียงที่มีเขตพื้นที่ติดต่อกับป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ที่ทั้งปลูกกาแฟ รับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรจังหวัดแพร่ และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกกาแฟด้วย ในที่สุดไร่เลื่อนลอยได้พลิกฟื้นมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้นและให้ร่มเงาฟูมฟักต้นกาแฟ

คุณอัจฉริยะพงษ์ ปันฟอง ประธานป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง เล่าให้ฟังว่า ความสามัคคีและทีมงานที่เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ ที่นี่แม้แต่เยาวชนก็มีส่วนร่วมในการดูแลป่าชุมชน เรามีการสร้างแนวกันไฟ สร้างฝาย ปลูกป่าเสริมเป็นประจำ โดยชุมชนตกลงร่วมกันว่า ทุกครัวเรือนต้องส่งตัวแทนมาร่วมกิจกรรมของชุมชนทุกครั้ง ชาวบ้านแม่ขมิง รวมทั้งเยาวชนจึงถูกปลูกฝังและเกิดการตระหนักรู้ว่าการดูแลป่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคน

เยาวชนมีส่วนร่วมสร้างแนวกันไฟป่า

ป่าชุมชนบ้านแม่ขมิง ดูแลจัดการในรูปคณะกรรมการป่าชุมชน และจัดทำแผนการฟื้นฟูป่าประจำปี ขณะเดียวกันพยายามดึงคนทุกกลุ่ม ทุกวัย เข้ามาร่วมในทุกกิจกรรม เพื่อดับไฟในใจคนไม่ให้แผดเผาป่าจากความโลภหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยิ่งในช่วงอากาศแห้งเช่นนี้ ชุมชนมีการเตรียมพร้อมรับมือกับไฟป่าที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการดึงคนในชุมชนร่วมกันทำแนวกันไฟ ความกว้างประมาณ 1-2 เมตร ตามแนวสันเขา ครอบคลุมพื้นที่ป่าชุมชนระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังจัดทำ “ธนาคารใบไม้” เพื่อลดการเผาในชุมชนและลดจำนวนเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ และนำมาสร้างประโยชน์ด้วยการหมักกับมูลวัวที่หาได้ทั่วไปในท้องถิ่น ผสมกับเชื้อจุลินทรีย์ พด.1 ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ ใช้ในการเกษตรของคนในชุมชน โดยกระจายกันทำ ในพื้นที่รวม 6 จุด ได้แก่ วัดแม่ขมิง ป่าช้า บริเวณในหมู่บ้าน 3 จุด และในป่าชุมชน เราหวังที่จะเป็นต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจรในอนาคต ทั้งเรื่องการจัดการป่า ปศุสัตว์ พลังงานทดแทน การบริหารจัดการน้ำ และการเกษตร

ธนาคารใบไม้

เกษตรกรปลื้ม มีแหล่งน้ำ มีรายได้เพิ่ม

ป้าตุมมา อ่อนเอ้ย อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 66 หมู่ที่ 2 ตำบลสรอย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการป่าชุมชนแม่ขมิง บนที่ดินทำกินแห่งนี้ ป้าตุมมา มีสระน้ำขนาดใหญ่สำหรับใช้ดูแลแปลงเพาะปลูก แต่เมื่อเข้าช่วงฤดูแล้ง น้ำก็แห้งแทบหมดบ่อ แต่โชคดีที่ได้น้ำจากอ่างเก็บน้ำบนภูเขาเข้ามาช่วย โดยผู้ใหญ่บ้านจะปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ผ่านมาตามลำห้วยเดือนละครั้ง ทำให้มีน้ำใช้เพียงพอสำหรับใช้ทำเกษตร ในช่วงเดือนมีนาคมปีนี้ ผู้ใหญ่บ้านอนุญาตให้เกษตรกรต่อท่อจากอ่างเก็บน้ำมาใช้ในแปลงไร่นา โดยเสียค่าน้ำหน่วยละ 3 บาท แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ป้าตุมมาก็พร้อมที่จะจ่าย เพราะทำให้มีน้ำกินน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืชมากขึ้น  เพิ่มโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท ทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่ม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพียงเท่านั้น ป้าตุมมา ก็พอใจแล้ว

ทีมผู้บริหาร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กับชาวบ้านชุมชนบ้านแม่ขมิง

ป้าตุมมา เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวเธอมีพื้นที่ทำกิน 5 ไร่ เดิมทีปลูกข้าวทำนาอย่างเดียว มีใช้แรงงานครอบครัว จำนวน 2 คน ดูแลแปลงเพาะปลูก ทั้งใส่ปุ๋ย ให้น้ำ แต่รายได้จากการทำนาแต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แถมที่นายังเก็บน้ำไม่อยู่ ป้าตุมมา จึงหันมาปลูกมะละกอแทน แต่หลังหมดฤดูเก็บเกี่ยว ก็ไม่มีรายได้จากทางอื่น เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลจึงชักชวนให้ทำสวนเกษตรผสมผสานมาตั้งแต่ ปี 2557 เป็นต้นมา โดยแบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ปลูกพืชผักหลากหลายชนิด เช่น มะละกอ มะนาว พริก รวมทั้งดีปลี ซึ่งเป็นเครื่องเทศสมุนไพรที่ปลูกดูแลง่ายและขายได้ราคาดี ฯลฯ ทำให้ครอบครัวเธอมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ผลผลิตที่ได้มีแม่ค้าในท้องถิ่นรวบรวมไปขายในตลาดที่อำเภอวังชิ้น

ป้าตุมมา อ่อนเอ้ย กับสวนมะนาว

ทุกวันนี้ ครอบครัวป้าตุมมา มีรายได้หลักมาจากการทำสวนมะนาว ซึ่งลงทุนปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตได้นาน 20 ปี ที่นี่ปลูกมะนาวพันธุ์ตาฮิติ 270 ต้น ซื้อกิ่งพันธุ์มาชำลงดิน เว้นระยะห่าง 4×4 เมตร ขณะนี้ ต้นมะนาวอายุ 3-5 ปี  สาเหตุที่เลือกปลูกมะนาวตาฮิติ เพราะเป็นมะนาวพันธุ์ดีที่ตลาดต้องการ มะนาวตาฮิติมีขนาดผลใหญ่ ติดผลดก ผิวบาง ไร้เมล็ด น้ำเยอะ และกลิ่นหอม ที่สำคัญขายได้ราคาดีกว่ามะนาวพันธุ์แป้น ปีที่แล้ว ขายมะนาวตาฮิติได้กิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนผลผลิตมะนาวในปีนี้ ก็มีแนวโน้มขายได้ราคาดีเช่นกัน สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ทุกวัน

ป้าตุมมา บอกว่า การปลูกมะนาวลงดิน มีข้อดีคือ ดูแลง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย ต้นมะนาวเจริญเติบโตดี เพราะระบบรากเจริญเติบโตได้อย่างเสรี ทำให้ต้นมะนาวสมบูรณ์แข็งแรงและมีอายุยืนยาวกว่าวิธีการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ สามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 20 ปี แม้ปลูกต้นมะนาวลงดินจะมีข้อจำกัด เพราะควบคุมการให้น้ำได้ยากกว่าการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ แต่ป้าตุมมาก็สามารถผลิตมะนาวนอกฤดูได้ไม่ยาก

สวนมะละกอป้าตุมมา ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในป่าชุมชน

ป้าตุมมา เริ่มจากตัดแต่งกิ่งที่มีโรค กิ่งที่ติดดอกและผลมะนาวออกให้หมด หลังจากนั้นงดการให้น้ำมะนาวในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เมื่อใบมะนาวมีอาการเหี่ยว ร่วง จึงเริ่มให้ปุ๋ย ให้น้ำ หลังจากนั้น 15 วัน มะนาวเริ่มแตกใบอ่อน หลังจากติดดอกแล้ว 4 เดือน ก็สามารถเก็บผลมะนาวได้ เมื่อมะนาวออกดอกจำเป็นต้องให้น้ำกับมะนาวทุกๆ วัน พร้อมใส่ปุ๋ยบำรุงต่อเนื่อง หากมะนาวออกดอกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมก็จะสามารถจำหน่ายผลได้ในช่วงแล้ง (เมษายน-พฤษภาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่มะนาวมีราคาแพงนั่นเอง

ตั้งแต่ ปี 2553 เป็นต้นมา ป้าตุมมา ได้แบ่งพื้นที่ประมาณ 1 ไร่เศษ ปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ ปลูกปี 2553 หลังเก็บเกี่ยวออกขายได้ จะเว้นระยะการปลูกมะละกอสักระยะ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องโรคระบาด หันมาปลูกข้าวโพดและปลูกข้าว หลังจากนั้น จึงค่อยปลูกมะละกออีกรอบ มะละกอฮอลแลนด์ ปลูกดูแลง่าย เป็นที่นิยมของตลาดตลอดทั้งปี ทำให้ขายผลผลิตได้ราคาที่น่าพอใจ