ป้าแสงเงิน ปัญญาดี สตรีดีเด่นเมืองลอง แพร่ ยึดอาชีพเป็นเกษตรกรปลูกผักบุ้งจีน ตลาดต้องการ สร้างรายได้มาอย่างยาวนาน

อาชีพเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักอย่างน้อยก็ได้ผลผลิตมาเพื่อบริโภคประจำวัน  เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย  แต่ถ้าต้องการผลิตเพื่อการค้า สร้างอาชีพ อาจต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ เพิ่มขึ้นนอกจากเงินทุน ที่ดิน  แรงงาน โดยเฉพาะมาตรฐานการผลิตที่จะเป็นเครื่องหมายการันตีให้แก่ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในกระบวนการผลิตว่าพืชผักนั้นมีความปลอดภัย

ป้าแสงเงิน ปัญญาดี คนเมืองลอง จังหวัดแพร่  ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ยึดอาชีพเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่ ปี 2521 กว่าจะเดินทางก้าวย่างมาถึงวันนี้ ผ่านอุปสรรคมามากมายในการผลิตผักพื้นบ้าน จนมาได้ข้อสรุปว่า ปลูกผักบุ้งจีนดีที่สุด  ตลาดมีความต้องการสูงและต่อเนื่อง ทั้งยังได้ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP และ MOA

ในแปลง

เรามาทำความรู้จัก ป้าแสงเงิน ปัญญาดี กันครับ ป้าแสงเงิน บอกว่า ป้าได้รับการคัดเลือกเป็นสตรีดีเด่นมาหลายครั้งหลายปี ปี พ.ศ. 2527, 2539, 2559 แต่ก็ไม่ได้เลิกอาชีพเป็นเกษตรกร เพราะใจรักในอาชีพปลูกผักกินเอง กินทุกอย่างที่ปลูก ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เริ่มจากการปลูกผักพื้นบ้าน และผักอื่นๆ เช่น ผักกาด ผักกวางตุ้ง คะน้า ผักชี  ต้นหอม เป็นต้น แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้ข้อสรุปว่า ปลูกผักบุ้งจีนดีที่สุด เพราะตลาดต้องการ เป็นผักที่มีอายุสั้น ดูแลง่าย  ไม่มีโรคและแมลงมารบกวน ถ้ารู้จักการวางแผนช่วงระยะเวลาปลูก เช่น ฤดูฝน ฤดูหนาว ส่วนฤดูร้อนหรือช่วงรอยต่อของฤดูกาลก็ปลูกผักชนิดอื่นแทนไม่ให้ซ้ำกันในแปลงเดียวกัน มิฉะนั้นโรค/แมลงจะระบาด

ใบรับรอง

ป้าแสงเงิน บอกว่า ผักบุ้งจีนชนิดเดียวก็สร้างรายได้ให้แก่ป้าในแต่ละปีมากพอ ดีกว่าผักชนิดอื่นๆ แต่ก็ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ การวางแผนการผลิต ทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการผลิตมันเป็นงานที่ต้องสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก งานอะไรทำก่อน ทำทีหลัง ต้องดูเรื่องเวลาด้วย

กระบวนการผลิต ป้าแสงเงิน เล่าให้ฟังอย่างกระจ่างทุกขั้นตอนว่า เริ่มจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนจากร้านค้าเกษตรในท้องถิ่น เหตุที่ไม่ได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกเอง ป้าแสงเงิน บอกว่า ด้วยความรวดเร็วในการลงแปลงปีหนึ่งผลิตได้ 5 รอบ จึงไม่มีเวลาพอที่จะเก็บเกี่ยวเมล็ดไว้ทำพันธุ์ ป้าแสงเงิน บอกอีกว่า ต้องทำงาน 2 อย่าง ไปพร้อมกัน นั่นคือ งานหนึ่งต้องเตรียมแปลง อีกงานหนึ่งก็เตรียมเพาะเมล็ดผักบุ้งจีนให้เมล็ดงอกเสียก่อน ก่อนที่จะนำไปหว่านในแปลงปลูก

ปลอดภัย

การเตรียมแปลงปลูกนั้น ป้าแสงเงิน แจกแจงว่า ใช้พื้นที่ 1 งาน หรือ 100 ตารางวา ยกแปลงหรือขึ้นแปลง ใช้จอบสับดินและพรวนดินให้ร่วน 1 งาน จะยกแปลงย่อยได้ 11 แปลง ขณะเดียวกันก็ต้องดึง/ถอนวัชพืชออกให้หมด ตากดินไว้ก่อน จากนั้นจึงเตรียมนำปุ๋ยหมักสำหรับหว่านลงดินในแปลงปลูก ปุ๋ยหมักที่ว่า ป้าแสงเงิน บอกว่าทำไว้ก่อน เพราะต้องใช้เวลาในการหมัก

ปลูกหอม

ปุ๋ยหมัก สูตรของป้าแสงเงิน มีวัตถุดิบประกอบด้วย

  1. ขี้หมู 9 ถัง/ปี๊บ
  2. รำละเอียด 3 ถัง/ปี๊บ
  3. กากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
  4. พด.1 1  ซอง
  5. น้ำสะอาด 30 ลิตร

วิธีทำ

  1. นำวัตถุดิบรายการที่ 1, 2 กองรวมกันใช้พลั่วหรือจอบ คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วพักไว้
  2. พด.1 ผสมน้ำ 1 ลิตร ใช้ไม้คน 5-10 นาที แล้วนำกากน้ำตาลและน้ำสะอาดที่เหลือเทใส่รวมกันแล้วคนให้ทั่ว
  3. นำน้ำผสมตาม ข้อที่ 2 ราดลงบนกองปุ๋ยตาม ข้อที่ 1 ใช้พลั่วหรือจอบคลุกเคล้าดูความชื้นของกองปุ๋ยพอหมาดๆ ตรวจสอบโดยการใช้มือหยิบปุ๋ยใส่กำมือแล้วบีบ  คลายออกปุ๋ยยังรวมตัวกันเป็นก้อนก็เป็นอันใช้ได้
  4. ใช้ผ้าหรือผ้าใบคลุมกองปุ๋ยไว้ เป็นการหมักปุ๋ย เป็นเวลา 7 วัน ทุกๆ วันต้องกลับกองปุ๋ย  เมื่อครบ 7 วัน  ก็ยังใช้ผ้าคลุมไว้แต่ไม่ต้องกลับกองอีก  หมักไว้อีก 8 วัน  กองปุ๋ยจะคลายความร้อนหมดแล้วจึงนำไปใช้ได้

การใช้… ให้รอการเพาะเมล็ด

เป็นวิทยากร

วิธีการเพาะเมล็ด … ป้าแสงเงิน ให้รายละเอียดว่าเมื่อได้เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีน (1 งาน ใช้เมล็ดพันธุ์ 3 กิโลกรัม) มาแล้วให้นำมาแช่น้ำเปล่า  ควรเป็นน้ำสะอาดแช่ไว้ 1 คืน รุ่งเช้าใช้ผ้ากรองเอาแต่เมล็ดขึ้นพักไว้กับผ้าขนหนูเป็นเวลา 2 คืน เมล็ดก็จะงอก

จากนั้นนำเมล็ดผักบุ้งจีนที่งอกแล้วลงหว่านในแปลงที่เตรียมไว้ ใช้ปุ๋ยหมักโรยหน้าดิน โรยแบบบางๆ แล้วรดน้ำให้พอชุ่ม ก็จะถึงกระบวนการในการดูแลต่อไป ซึ่งป้าแสงเงินบอกว่า เมื่อเวลาผ่านไป 3 วัน  ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลง การเติบโตเป็นต้นและใบของผักบุ้งจีนชัดเจนขึ้น

ผลผลิตน่าซื้อ

การดูแล… ป้าแสงเงิน บอกว่าน้ำมีความสำคัญมากต้องขยันรดน้ำ วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น ไม่ให้หน้าดินแห้ง ดินควรมีความชื้นอยู่ตลอด ส่วนปุ๋ยนั้นไม่ได้ใส่อีกนอกจากที่หว่านลงดินร่วมกับการหว่านเมล็ดครั้งเดียวก็เพียงพอ แต่ถ้าเป็นหน้าฝนก็จะช่วยในเรื่องความชื้นได้เยอะ ไม่ต้องรดน้ำเลย โรค/แมลงนั้น ป้าแสงเงิน บอกว่ามีโรคที่พบก็คือ ราสนิมขาว พบมากในฤดูฝน ส่วนแมลงไม่มีให้เห็น

การเก็บเกี่ยว… เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วเพียง 25 วัน นับจากวันที่หว่านเมล็ดลงแปลง ต้นผักบุ้งจีนสูงประมาณ 12 นิ้ว

ผักบุ้งสวยๆ

ป้าแสงเงิน กล่าวขยายความว่า ที่ว่า 25 วันนั้น หมายถึง ปลูกในฤดูฝน แต่ถ้าปลูกช่วงฤดูหนาว ก็อาจใช้เวลา 30 วัน  ก็ตัดขายได้ ฤดูหนาวเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม จะได้ผลผลิตที่งามที่สุด

การเก็บต้นผักบุ้งจีนนั้น ป้าแสงเงิน บอกว่า ใช้การถอนทั้งต้นติดรากมาด้วย จากนั้นล้างน้ำให้สะอาด ชั่งน้ำหนัก 5 มัด ให้ได้ 1 กิโลกรัม รอการระบายสู่ตลาด

ผักอื่นๆ

รูปแบบการขายผักบุ้งจีน ป้าแสงเงินบอกว่า เนื้อที่ 1 งาน จะได้น้ำหนักผักบุ้งจีน 220 กิโลกรัม มีทั้งให้ผู้ซื้อไปตัดหรือถอนเองจากแปลง แล้วนำมาชั่งน้ำหนัก คิดราคากิโลกรัมละ 20 บาท ถ้าเป็นกรณีมีพ่อค้า-แม่ค้า ในตลาดมารับซื้อหรือส่งร้านค้าในชุมชนทำเป็นมัด 5 มัด น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ก็ราคา 20 บาท แต่ก็มีผู้ซื้อประจำคือร้านขนมจีนน้ำย้อยและร้านหมูกระทะในชุมชน

ป้าแสงเงิน บอกว่า นี่แหละเศรษฐกิจชุมชนซื้อขายกันเองในชุมชน ปลูกผักบุ้งจีน 1 งาน ได้ผลผลิต 220 กิโลกรัม  ปลูก 1 รุ่น ใช้เวลารุ่นละ 25 วัน เก็บขายหมดไม่เกิน 2 วัน จากนั้นพักดินแล้วขึ้นแปลงรอปลูกอีกรอบ

พร้อมจำหน่าย

รอบการผลิต ป้าแสงเงิน บอกว่า ฤดูฝนปลูกได้ 2 รอบ เพราะมีเชื้อรามารบกวน ฤดูหนาว ปลูกได้ 3 รอบ ไม่มีทั้งโรคและแมลงมารบกวนใดๆ ดังนั้น ใน 1 ปี ป้าแสงเงิน ก็จะปลูกผักอื่นๆ ทดแทนเป็นการสลับเวลาของช่วงฤดูกาล เช่น ผักชี ผักกาด คะน้า เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ ป้าแสงเงิน ปลูกผักเฉพาะผักบุ้งจีน ที่มีตลาดรับซื้อแน่นอนและต่อเนื่องเป็นการสร้างรายได้ที่ดี เพราะคำนวณรายได้แล้ว น่าจะดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ในพื้นที่เท่ากัน 1 งาน ป้าแสงเงิน สร้างรายได้ปีละ 10,125 บาท นี่ยังไม่รวมพืชผักชนิดอื่นๆ นะครับ

มีมาตรฐาน

มาดูข้อมูลตัวเลขจากบัญชีฟาร์มซิครับ

รายได้ ต่อ 1 รุ่น เนื้อที่ 1 งาน

  1. ขายผักบุ้งจีน (210 กิโลกรัม x 20 บาท) 4,200    บาท
  2. จากการบริโภค/แบ่งปัน (10 กิโลกรัม x 20 บาท) 200    บาท

รวมรายได้       4,400       บาท

ต้นทุน/ค่าใช้จ่าย

  1. ค่าไถที่ยกร่องจากการจ้างแรงงาน   300     บาท
  2. ค่าเมล็ดพันธุ์ (3 ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม x 190 บาท) 570 บาท
  3. ค่าวัตถุดิบผลิตปุ๋ยหมัก 315 บาท
  4. ค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำ 100 บาท
  5. ค่าขนส่ง 200 บาท
  6. ค่าแรงงานตนเอง 740 บาท
  7. ค่าวัสดุการเกษตร 150 บาท

          รวมค่าใช้จ่าย                                          2,375    บาท

กำไร (4,400-2,375)                                            2,025        บาท

1 ปี ผลิตได้ 5 รุ่น (2,025 บาท x 5 รุ่น)                10,125         บาท

ผลผลิต ผักบุ้งจีน ของป้าแสงเงิน เป็นผักปลอดภัย ทั้งได้ผ่านกระบวนการผลิตดังที่กล่าวไปแต่ละรุ่น แต่ละปี เป็นระยะเวลาหลายปี ผ่านการซื้อขายของตลาดมาก็มากมาย ผู้บริโภคก็เกิดความไว้วางใจหลายหน่วยงานก็ได้เข้ามาส่งเสริมแนะนำและนำตัวอย่างผักของป้าแสงเงินไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ไม่มีสารตกค้างหรือสารพิษใดๆ ป้าแสงเงิน จึงได้ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรจาก 2 หน่วยงาน คือ

ลงมือทำจริง
  1. GAP (Good Agricultural Practice) จาก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
  2. MOA (Mokichi Okada Association) พื้นที่เกษตรธรรมชาติ MOA จาก มูลนิธิเอ็มโอเอไทย

ป้าแสงเงิน กล่าวและให้คำแนะนำตอนท้ายของการสนทนา ถึงผู้ที่มีที่ดินว่างเปล่าเล็กๆ น้อยๆ ถ้าประสงค์จะปลูกผัก ป้าแสงเงินว่าควรปลูกผักที่เราชอบกิน กินผักที่เราปลูกปลอดภัย ไม่เปลืองค่าใช้จ่าย ดีต่อสุขภาพ ผักบุ้งจีน นี่แหละลงทุนน้อย กำไรดี ใช้เวลาน้อยดูแลง่าย แม้จะใช้แรงงานแต่ก็ต้องอดทน ขยัน มีความเพียร ประหยัด มีใจรัก รับรองว่าสร้างฐานะได้

สวยงามสม่ำเสมอ

ป้าแสงเงิน ปัญญาดี ให้หมายเลขโทรศัพท์ไว้ครับ 085-836-6826