อาจารย์วินัย เจียตระกูล แนะวิธี…เพาะเห็ดลม ในขอนไม้

เรื่องราวดีๆ ที่ไปประสบมาจากงานเลี้ยงรุ่น ที่บรรดาคนเคยเรียนด้วยกันมากว่ากึ่งศตวรรษ ทุกคนย่อมมีทั้งโอกาสดี และสมหวังมากกว่าคนผิดหวังในชีวิตทำงาน ครั้นมาเจอกัน ต่างแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในชีวิตทำงานซึ่งกันและกัน

นี่แหละ!! ผลของการไปร่วมงานชุมนุมเลี้ยงรุ่น มันมีรสชาติและสนุกสนาน มีความสุข ก่อเกิดประโยชน์ได้หลายทาง โปรดอย่ามองข้ามไป…บางรายเกลียดการชุมนุม ที่เป็นคนส่วนนิด หรืออาจจะมีปมด้อย ไม่อยากเจอเพื่อนๆ ก็อาจเป็นได้ในหมู่เฉพาะรุ่นที่พวกเขาไม่คิดกัน
เพราะการชุมนุมรุ่น เขาไม่มีเอายศ ตำแหน่ง ฐานะ หรือเกียรติยศมาอวดอ้างกัน ต่างจากยศถาบรรดาศักดิ์ที่ใช้ในเวลาราชการเท่านั้น

ในโอกาสที่ได้ไปพบเพื่อนร่วมรุ่นคนหนึ่งที่เคยร่ำเรียนกันมาได้รับฟังว่า เขาเป็นคนที่สร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีงานทำ และคัดเลือกคนมาอบรมการเพาะเห็ดนั้น จะต้องพิถีพิถัน เอาคนจนชาวบ้านมาอบรม แล้วกลับไปประกอบอาชีพได้เลย น่าพิศวงยิ่งนัก ฟังเขาเล่าให้ฟังแล้วพลอยตื้นตันไปกับความเป็นคนที่ช่วยเหลือสังคม ในตลอดชีวิตที่น่ายกย่องสรรเสริญ เขาล่ะ คือ อาจารย์วินัย เจียตระกูล แห่งฟาร์มเห็ดพะเยา
อยากจะขอย้อนอดีตของเรื่องราวและความเป็นมาของเห็ดเมืองพะเยาของอาจารย์วินัย ฟาร์มเห็ดพะเยา ที่คนทั้งจังหวัดพะเยาและใกล้เคียงรู้จักกันดี

อาจารย์วินัย เจียตระกูล

อาจารย์วินัย เล่าให้ฟังว่า “ผมเป็นชาวพะเยาโดยกำเนิด หลังจากไปเรียนวิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้ ในปี 2505 จนจบ 5 ปี แล้วไปสมัครเป็นข้าราชการ อาจารย์สอนหนังสือ แล้วไปสอนที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี”

อาจารย์กล่าวต่อ  “ผมมีโอกาสไปเรียนต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบปริญญาตรีแล้วไปสอนที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม ที่บ้านเกิดครับ”

ผู้เขียนถามต่อไป ทำไมถึงมายึดอาชีพเพาะเชื้อเห็ด และจำหน่ายให้คนไปเพาะเห็ดขาย

“คืออย่างนี้ครับ ผมเห็นวัสดุที่เหลือใช้แล้วไม่ได้ไปทำประโยชน์อะไรเลย ปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วน่าเสียดาย”

อาจารย์วินัยเริ่มมองขยะเป็นทอง ว่างั้นเถอะ

หลังจากนั้น เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา อาจารย์วินัยได้นำวิธีการเพาะเชื้อเห็ดมาปฏิบัติหลังจากที่ได้เคยไปร่ำเรียนมา จนมาถึงวันนี้ ฟาร์มเห็ดพะเยา เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่อาชีพเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงเห็ดหลายชนิดที่จังหวัดพะเยา

มาอบรมเห็ดกัน
สาธิตการเขี่ยเชื้อ

“ชมรมคนรักในหลวง” มีที่ไปที่มาอย่างไรครับ ผู้เขียนถามถึงเรื่องราวของการอบรมเห็ด

อาจารย์วินัย เล่าว่า “เกิดจากการรวมตัวของบรรดาเกษตรกรและชาวบ้าน ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน เพื่อแสดงถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และช่วยเหลือให้มีอาชีพทำเห็ดให้คนที่สนใจมาเรียนรู้ โดยมีประธานชมรมเป็นนายทหาร และผมเป็นรองประธานในการฝึกอบรมทำกิจกรรมในการเพาะเลี้ยงเห็ดให้เกิดเป็นอาชีพขึ้นมา เพื่อเสริมรายได้แก่เกษตรกรครับ”

การอบรม รุ่นละ 15-20 คน การคัดเลือกต้องหาคนขยัน ตั้งใจจริง การอบรมต้องเรียนรู้และปฏิบัติไปในตัวจริงๆ เพื่อให้ผู้อบรมรู้จริงแล้วกลับบ้านไปทำได้เลยที่บ้าน

“การที่คัดคนที่ขยันนั้น เพราะว่าการเพาะเชื้อเห็ดนั้นมันต้องมีอุปกรณ์และมีความพิถีพิถัน หากใช้ความร้อนไม่เพียงพอ นึ่งไม่สุก มีเชื้อเข้ามาปลอมปนได้ แล้วเกิดติดเชื้อจากจุลินทรีย์และแบคทีเรียได้ง่าย ทำให้เชื้อเสียหายง่าย เราต้องเน้นเรื่องความเอาใจใส่ เพราะนึ่งไม่สุก เห็ดที่ใช้เพาะกับขอนไม้ ถ้าเป็นไม้มะม่วงจะดี การใช้เชื้อเพาะเห็ดลม เห็ดกระด้าง หรืออีสานเรียกว่า เห็ดบด หรือเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อ นางนวล ขอนขาว เพาะในถุงได้แล้ว” เจ้าของฟาร์มเห็ดพะเยาเล่าให้ฟัง

สาธิตการผสมวัสดุในก้อนเชื้อ

เส้นทางชีวิตของ อาจารย์วินัย เจียตระกูล หลังจากเกษียณ รับราชการครู ได้อาจารย์ 3 ระดับ 8 เมื่อปี 2547 ก็ออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ตามความรู้ที่เล่าเรียนมา และสอนที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม และตั้งชมรมเห็ดโรงเรียนแห่งนี้มานานหลายสิบปี สร้างลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้าน จนถึงวันนี้ไปสร้างฐานะครอบครัวจนมีรายได้จากการเพาะเห็ดขายมาหลายร้อยชีวิต ก่อเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล

หากใครสนใจที่อยากจะติดต่อกับ อาจารย์วินัย เจียตระกูล โปรดติดต่อได้ที่ เบอร์โทร. 086-193-3673 เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นผลงานของอาจารย์วินัยต่อสาธารณชน โดยผู้เขียนขอนำภูมิปัญญาด้านการเกษตรสมัยยังสอนหนังสือคือ “การเพาะเห็ดลมในขอนไม้มะม่วง”

เห็ดลม

การเพาะเห็ดลมในขอนไม้

เห็ดลม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เห็ดกระด้าง หรือ เห็ดบด ตามปกติจะขึ้นในต้นฤดูฝน และต้นฤดูหนาว แต่หากรู้จักวิธีการให้น้ำจะออกได้ตลอดปี จึงมีการเพาะเห็ดลมขึ้น โดยใช้วัสดุต่างๆ ดังนี้

วัสดุที่ใช้

1. เชื้อเห็ดที่ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป เส้นใยสีขาว

2. ขอนไม้ ควรใช้ไม้มะม่วง ไม้เต็ง รัง (แงะ, เปา) พลวง (เหียง) ขยอม และไม้ที่เห็ดลมขึ้นตามธรรมชาติ ควรเป็นไม้ที่มีเปลือกสมบูรณ์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร อายุปานกลาง ควรตัดไม้ในช่วงฤดูร้อน เพื่อจะได้สะสมอาหารอย่างเพียงพอ

3. สว่าน หรือค้อนเจาะไม้ หรือตุ๊ดตู่ ขนาด 4-6 หุน

4. ฝาปิด เช่น ปูนซีเมนต์ โฟม เปลือกไม้ จุกพลาสติก

ก้อนเชื้อ

วิธีเพาะ
1. ใช้สว่านเจาะไม้ ลึกประมาณ 1 นิ้ว ห่างกันประมาณ 3-5 นิ้ว แต่ละแนวเจาะสลับฟันปลา ใส่เชื้อเห็ดให้เต็มรู กดให้แน่น ปิดรูด้วยเปลือกไม้ โฟม หรือปูนซีเมนต์
2. นำขอนไม้ที่เพาะไว้แล้วไปบ่มไว้ โดยวางตามขวางในแนวนอน ซ้อนสลับกันแบบหมอนรถไฟ ควรบ่มในที่ร่ม อากาศถ่ายเท ลมไม่โกรก เพราะจะทำให้แห้งเร็วเกินไป หากขอนไม้แห้งให้รดน้ำเป็นละออง อย่าให้เปลือกเปียกเกินไป ระหว่างที่บ่มควรกลับกองไม้บ้าง สัก 2-3 ครั้ง เพื่อให้เส้นใยเดินทั่ว ควรบ่มไว้ไม่ต่ำกว่า 4 เดือน

3. นำขอนไม้ที่บ่มสมบูรณ์แล้วไปแช่น้ำ ประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อให้เส้นใยเกิดดอกเห็ด มีความชื้นเพียงพอ ทำลายศัตรูเห็ด เช่น มด แมลงต่างๆ และทำให้เนื้อไม้อ่อนและเกิดดอกเห็ด

4. หลังจากแช่ขอนไม้แล้ว ใช้ไม้หรือค้อนทุบหัวไม้ทั้งสองข้าง หรือกระทุ้งแรงๆ เพื่อไล่น้ำที่แทรกอยู่ จากนั้นนำขอนไม้ไปวางในแนวตั้ง หรือวางนอนขนานกับพื้นในที่ร่มชื้น รดน้ำ วันละ 1-5 ครั้ง เห็ดจะออกเป็นรุ่นๆ หลังจากเก็บผลผลิตแล้วต้องงดน้ำ 7 วัน จากนั้นจึงเริ่มรดน้ำใหม่ วันละ 1-5 ครั้ง

5. ในระยะที่เห็ดออกดอก ต้องรดน้ำไม่ให้ขอนไม้แห้ง ดอกเห็ดจะอ้วนและสมบูรณ์ หลังเก็บดอกควรหยุดรดน้ำ ถ้าไม้ปีแรกหยุด 15-20 วัน และรดน้ำให้มากๆ สัก 5 วัน ถ้าไม่ออกดอกให้หยุด เห็ดจะเกิดดอกทันที แล้วจึงค่อยให้น้ำจนกระทั่งเก็บเห็ด ไม้ปีที่ 2 ควรพักขอนไม้ ไม่รดน้ำ 7-10 วัน สลับกันไปเรื่อยๆ

6. เมื่อเห็ดขึ้นครั้งแรกแล้วจะทิ้งช่วงออกเป็นรุ่นๆ ห่างกันประมาณ 20-30 วัน ในปีแรก และ 7-10 วัน ในปีที่สอง แต่ละรุ่นจะเก็บดอกเห็ดได้ 30-100 ดอก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ความชื้นอุณหภูมิ การถ่ายเทของอากาศ ขอนไม้ที่เพาะใส่เชื้อเพียงครั้งเดียว จะเกิดเห็ดในขอนไม้จนกว่าไม้ผุและจะเก็บดอกได้ รวมทั้งหมดประมาณ 3-5 กิโลกรัม

ประโยชน์ที่ได้

เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างถูก เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายกับรายได้ กล่าวคือ ลงทุนซื้อเชื้อเห็ดและขอนไม้ ประมาณ 10-11 บาท แต่สามารถเก็บดอกเห็ดขายได้ ขอนละ 3-5 กิโลกรัม คิดเป็นเงินประมาณ 400-500 บาท  นอกจากจะเป็นการเสริมรายได้เป็นทุนการศึกษาของนักเรียนในระหว่างการเรียนแล้ว ยังสามารถนำไปประกอบอาชีพหลักด้านการเพาะเห็ดได้

อบรมไปสร้างอาชีพจำนวนมาก
ลูกศิษย์อาจารย์ตั้งใจเรียน