ปลูกข้าวประหยัดน้ำ ด้วยข้าวแอโรบิก-ข้าวไร่ทันสมัย หรือข้าวไร่ไฮเทค

“น้ำ” เป็นปัญหาปวดหัวตลอดกาลของชาวนา ราคาข้าวที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ใครๆ ก็อยากทำนาปรังในฤดูแล้งนี้ แต่น้ำชลประทานที่มีจำกัดไม่พอแบ่งปันให้ทั่วถึง พอถึงนาปีชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำนาน้ำฝน (พื้นที่ 3 ใน 4 ของพื้นที่นาทั้งประเทศ) ก็มักจะประสบปัญหาขาดน้ำเมื่อฝนทิ้งช่วง

การปลูกข้าวโดยไม่ขังน้ำ (ฝรั่งเรียกว่า ข้าวแอโรบิก ไทยขอเรียกว่า ข้าวไร่ทันสมัย หรือข้าวไร่ไฮเทค) น่าจะเป็นทางออกได้ทางหนึ่ง สำหรับชาวนาที่มีปัญหาเรื่องน้ำ และจะช่วยให้ประเทศไทยผลิตข้าวได้มากขึ้นจากน้ำที่มีอยู่จำกัด โดยการใช้น้ำน้อยลง สำหรับการผลิตข้าวแต่ละไร่และแต่ละกิโลกรัม ข้าวไร่ ไม่ใช่ของใหม่สำหรับคนไทย การทำไร่โดยการถางและเผา ปลูกข้าวไร่ ปลูกถั่ว และปลูกงา พริก มะเขือ ฟัก แฟง ไปด้วย ฯลฯ เป็นระบบการเพาะปลูกเพื่อยังชีพที่สำคัญระบบหนึ่งในอดีต แต่ได้ลดความสำคัญลงเมื่อมีการปลูกพืชไร่เชิงการค้า เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย เพิ่มมากขึ้น มาถึงในปัจจุบันการปลูกข้าวไร่ด้วยระบบดั้งเดิมนี้ ยังพอมีเหลืออยู่ในที่สูง และที่ยังให้ผลผลิตดีต้องการระยะเวลาหมุนเวียนอย่างน้อยถึง 7 ปี แต่การปลูกข้าวไร่ทันสมัยที่กล่าวถึงนี้ มีความแตกต่างตรงที่เป็นระบบเพาะปลูกสมัยใหม่ ที่มีการดูแลรักษาและให้ปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ย น้ำ อย่างพอเพียงทั่วถึง มีการกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะวัชพืชเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นระบบที่มีการเพาะปลูกเชิงการค้าอย่างได้ผลมาแล้วนับสิบๆ ล้านไร่ ในประเทศบราซิลและจีนทางเหนือ และแตกต่างจากการทำนาสวนตรงที่ไม่มีการทำเทือก ไม่มีความพยายามขังน้ำในกระทงนา แต่ให้น้ำพอดินชุ่มเหมือนพืชไร่อื่นที่ไม่ใช่ข้าว

ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไร่ทันสมัยเทียบกับข้าวนาสวนที่มีน้ำขังตลอดเวลา มีรายงานจากการศึกษาในประเทศฟิลิปปินส์ว่า ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ข้าวไร่ทันสมัย ให้ผลผลิต 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ในขณะที่เมื่อปลูกเป็นข้าวนาสวน ข้าวพันธุ์เดียวกันให้ผลผลิต 1,000-1,300 กิโลกรัม ต่อไร่

แต่ข้อได้เปรียบของข้าวไร่ทันสมัยอยู่ที่น้ำ ที่ประหยัดได้ต่อไร่ ทำให้ปลูกข้าวได้ในพื้นที่มากกว่า

ฤดูฝนปีไหนฝนดี ข้าวไร่ทันสมัย อาจต้องการน้ำชลประทานเสริมเพียง 1-2 ครั้ง ในช่วงวิกฤติ น้ำชลประทานที่ต้องใช้ในการขังน้ำในกระทงนาเพื่อปลูกข้าวนาสวน 1 ไร่ ในฤดูนาปี อาจพอเพียงปลูกข้าวไร่ทันสมัยได้ 5-10 ไร่

แม้ในฤดูแล้งที่ฝนตกเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีฝนเลย น้ำที่ใช้ทำนาปรัง 1 ไร่ จะพอเพียงปลูกข้าวไร่ทันสมัย ได้ 3-4 ไร่

ชาวนาที่มีค่าน้ำมันหรือค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำเข้านาสวนได้เพียงไร่เดียว ก็จะปลูกข้าวไร่ทันสมัยได้ 5-10 ไร่ ในฤดูนาปี และได้ 3-4 ไร่ ในฤดูนาปรัง น้ำที่ประหยัดได้จริงจะแตกต่างกันตามพื้นที่และฤดูกาล ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน ชนิดดินที่อุ้มน้ำได้มากน้อยต่างกัน ลักษณะสภาพแวดล้อมทางอุณหภูมิและความชื้นที่กำหนดควบคุมการใช้น้ำของต้นข้าว

การปลูกข้าวไร่ทันสมัย มีศักยภาพที่เด่นชัดสำหรับชาวนาในเขตนาน้ำฝน แต่แม้ในเขตชลประทาน การปลูกข้าวไร่ทันสมัยจะช่วยเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อปลูกข้าวได้เป็นอีกหลายเท่าตัว จากการทำนาสวน

 

ข้อควรระวัง-ปัญหา ในการปลูกข้าวไร่ทันสมัย

อย่าลืมว่าการทำนาสวนด้วยการขังน้ำไว้ในกระทงนา เป็นระบบที่มีการพัฒนาระบบนิเวศมาเพื่อแก้ปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับการเพาะปลูก เมื่อเปลี่ยนไปเป็นการปลูกข้าวโดยไม่ขังน้ำ ปัญหาเหล่านั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยอีกทางหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวนี้มี 3 กลุ่ม คือ

  1. ศัตรูพืช
  2.  ธาตุอาหารในดินและการดูดธาตุอาหาร
  3. พันธุ์ข้าว และวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มวิจัย “ทรัพยากรพันธุกรรมและธาตุอาหารพืช” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย ศ.ดร. เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ได้รับทุนสนับสนุนการสร้างกลุ่มวิจัยเพื่อมุ่งสร้างความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับข้าวไทย เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาระบบการปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำนี้ต่อไป

1. ศัตรูพืช ทั้งการทำเทือกและการขังน้ำ เป็นวิธีการกำจัดควบคุมวัชพืช ไส้เดือนฝอย และแมลงศัตรูในดินที่ได้ผล ศัตรูพืชเหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ของข้าวไร่ทันสมัย มีรายงานจากประเทศบราซิลว่า ข้าวไร่ทันสมัยที่ปลูกซ้ำที่ทุกปีเป็นเวลา 5 ปี ให้ผลผลิตเพียง 186 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าปลูกสลับกับถั่วเหลืองปีเว้นปี ได้ผลผลิต 412 กิโลกรัม ต่อไร่ และเมื่อปลูกเป็นปีที่ 4 หลังจากปลูกถั่วเหลืองมาแล้ว 3 ปี เว้นปี ข้าวไร่ทันสมัย ให้ผลผลิตถึง 692 กิโลกรัม ต่อไร่ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ได้ผลสำหรับหลายคนอาจเลือกใช้ และมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้โตเร็วกว่าวัชพืช และทนทานต่อการเข้าทำลายของไส้เดือนฝอย กลุ่มวิจัยฯ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ค้นพบพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของวัชพืชได้ในระดับหนึ่ง และกำลังทำการศึกษา ระบบการปลูกพืช และการใช้พืชคลุมดิน/ปุ๋ยพืชสด เพื่อลดการสะสมของศัตรูพืชในแปลงข้าวไร่ทันสมัย

2. ธาตุอาหาร และการจัดการปุ๋ย ในสภาพทางเคมีและกายภาพของดินที่แตกต่าง ดินที่ไม่ขังน้ำจะมีธาตุอาหารสำคัญ โดยเฉพาะฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำได้น้อยลง ต้นข้าวดูดไปใช้ได้ยากขึ้น การจัดการปุ๋ยในระบบข้าวไร่ทันสมัย จึงจำเป็นต้องประณีตแม่นยำกว่าการทำนาสวน การศึกษากลไกควบคุมระบบการปรับตัวของรากข้าวและสมรรถนะในการดูดธาตุอาหารของข้าวต่างพันธุ์โดยกลุ่มวิจัยฯ จะช่วยให้การปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับสภาพดินไม่ขังน้ำได้ดีขึ้น และจัดระเบียบการใส่ปุ๋ยให้ได้ประโยชน์มากที่สุดและมีการสูญเสียน้อยที่สุด ในยามที่ปุ๋ยแพงอย่างนี้ ฝ่ายพืชคลุมดินของกลุ่มวิจัยฯ จึงให้ความสนใจพืชตระกูลถั่วเป็นพิเศษ นอกจากจะช่วยควบคุมศัตรูพืชดังกล่าวข้างต้นแล้ว พืชคลุมดินตระกูลถั่วยังจะช่วยประหยัดค่าปุ๋ยได้ด้วยไนโตรเจนที่ตรึงจากอากาศ (เท่ากับปุ๋ยยูเรีย 1 ลูก-50 กิโลกรัม-หรือมากกว่า ในพื้นที่ 1 ไร่)

3. พันธุ์ข้าวและวิธีการเพาะปลูก เป็นต้นว่า จะใช้ข้าวพันธุ์ใดปลูก จะหยอดเมล็ดอย่างไร อัตราเมล็ดที่ปลูกกี่กิโลกรัม ต่อไร่ เตรียมดินอย่างไร จะไถหรือไม่ไถ ฯลฯ คงต้องมีการพัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่และโอกาส และไม่อาจนำเทคโนโลยีที่มีอยู่สำหรับข้าวนาสวนไปใช้กับข้าวไร่ทันสมัยได้เลยในทันที ในประเทศอื่น เช่น จีน และบราซิล มีความพยายามปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่ทันสมัยขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่การศึกษาในเบื้องต้นของกลุ่มวิจัยฯ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พบว่า ข้าวพันธุ์หลัก เช่น ขาวดอกมะลิ 105 กข 6 ชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 สามารถสร้างราก ดูดธาตุอาหาร และเจริญเติบโตได้ในสภาพ “แอโรบิก” ดีไม่แพ้ข้าวไร่พันธุ์แนะนำ เช่น พันธุ์ อาร์ 258 น้ำรู ซิวแม่จัน และพบว่าข้าวนาสวนบางพันธุ์เมื่อปลูกในดินไม่ขังน้ำสลับกับขังน้ำยังจะให้ผลผลิตสูงกว่าเมื่อขังน้ำตลอดเวลาเสียอีก ดังนั้น ในขั้นต้นจึงน่าจะใช้ข้าวนาสวนพันธุ์มาตรฐานเหล่านี้ทดลองปลูกแบบข้าวไร่ทันสมัยได้ และเมื่อระบบมีการพัฒนามากขึ้นก็คงจะมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไร่ทันสมัยโดยเฉพาะ ในยุคที่การทำนามีพัฒนาการใช้เครื่องจักรมากขึ้น การปลูกข้าวไร่ทันสมัยนับว่ามีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกสมัยใหม่เป็นอย่างยิ่ง ในประเทศบราซิลเกษตรกรรายหนึ่งอาจจะปลูกข้าวไร่นับหมื่นถึงแสนไร่ ด้วยเครื่องจักรตลอดทุกขั้นตอนของการดำเนินการ ซึ่งดูไม่ต่างไปจากการทำนาปัจจุบัน ในบางท้องที่ของภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ที่ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ต้นจนจบ การปลูกข้าวไร่ทันสมัยก็น่าจะพัฒนาระบบการเพาะปลูกที่ประหยัดแรงงานและใช้เครื่องจักรได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน

ข้าวแอโรบิก-ข้าวไร่ทันสมัย หรือข้าวไร่ไฮเทค เป็นโอกาสดีสำหรับชาวนาไทยที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อผลิตข้าวให้ได้มากขึ้น และเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อบริโภคและส่งออก โดยไม่ต้องรอการลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำหรือระบบชลประทาน

กลุ่มวิจัยฯ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เน้นการศึกษาทางวิชาการที่จะเป็นพื้นฐานสนับสนุนพัฒนาระบบการปลูกข้าวไร่ทันสมัย และกำลังจะเริ่มนำเอาความรู้ที่มีอยู่มาประกอบเป็นแปลงทดลองเชิงสาธิตเพื่อเป็นต้นแบบของการปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำและพลังงาน และคงต้องอาศัยชาวนาผู้เชี่ยวชาญ (Expert rice farmers) ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่จะดัดแปลงวิธีการปลูกให้เหมาะสมกับดิน น้ำ ศัตรู เฉพาะท้องถิ่น

 

 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563