หนุ่มชุมพร เผยเคล็ดลับปลูกฝรั่งกิมจู สร้างรสชาติ หวาน กรอบ สร้างรายได้ดีตลอดปี

เพิ่มความมั่นคงผ่านงานที่ตนเองรัก Young Smart Farmer ชาวชุมพร ทิ้งเมืองกรุงหันมาปลูกและทำตลาดฝรั่งกิมจู เกรดพรีเมี่ยม ภายใต้มาตรฐานคุณภาพ “หวาน กรอบ พร้อมส่งจากสวน” จนได้รับเสียงการันตีถึงรสชาติความอร่อยจากลูกค้าทั้งภายในท้องถิ่นและระดับจังหวัดเป็นอย่างดี

คุณธีรยุทธ์ นิจวัฒน์ (คุณแน็ค) เกษตรกรปลูกฝรั่งกิมจู อาศัยอยู่ที่บ้านทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นสร้างอนาคตของตนเองด้วยแนวทางเกษตร ผ่านการสั่งสมความรู้ที่ได้บ่มเพาะมาแต่ครั้งอดีต ด้วยครอบครัวมีการทำสวนผลไม้และปาล์มน้ำมัน จึงถือเป็นภาพจำและแรงผลักดันให้ผันตัวจากอาชีพพนักงานเงินเดือนในกรุงเทพฯ กลับคืนสู่ถิ่นเกิด สร้างสวนผลไม้ในรูปแบบสวนผสมผสาน (สวนสมรม) ตามภาษาถิ่นในภาคใต้ เพื่อให้มีผลไม้ออกจำหน่ายสู่ตลาดอยู่ตลอดปี อีกทั้งยังชูจุดเด่นด้วยแปลงปลูกฝรั่งกิมจูผลสวยที่เผยโฉมอวดสู่สายตาผู้มาเยือนให้ได้ลิ้มลองรสชาติหวาน กรอบ และแวะเวียนกลับมาอุดหนุนกันอีกครั้ง

คุณธีรยุทธ์ เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเริ่มต้นอาชีพเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัวนั้น ตนเองได้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการจัดการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ประมาณปี พ.ศ. 2553 เมื่อจบการศึกษาแล้วจึงได้ประกอบอาชีพผู้จัดการร้านอาหารแห่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นพนักงานประจำอยู่ประมาณ 2 ปี เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับสายงานบริการ ซึ่งไม่ตอบโจทย์กับเป้าหมายในชีวิต ผนวกกับช่วงเวลาที่ผ่านมาได้สัมผัสกับการทำเกษตรมาโดยตลอด จึงตกผลึกความคิดลาออกจากงานประจำ กลับมาเริ่มใช้ชีวิตในแนวทางเกษตรกรอย่างจริงจังที่จังหวัดชุมพร ในปี พ.ศ. 2556

คุณธีรยุทธ์ นิจวัฒน์ (คุณแน็ค)

โดยที่ดินแปลงที่ใช้ทำการเกษตรอยู่ในปัจจุบันนั้น มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 30 ไร่ เป็นที่ดินสวนกาแฟเก่า ในภายหลังได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกปาล์ม ทุเรียน เงาะ และมังคุด เมื่อตนเองกลับมาก็ได้เลือกปลูกกล้วยหอมส่งออกเสริมเข้าไปอีก ซึ่งในขณะนั้นมีการใช้มูลไก่ใส่บำรุงต้นกล้วยเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวคิดอยากเลี้ยงไก่ไข่เพื่อนำมูลไก่มาใส่ไม้ผลภายในสวน โดยได้ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ไข่ ประมาณ 1,000 ตัว ด้วยงบประมาณ 500,000 บาท เลี้ยงอยู่ประมาณ 1 ปี แล้วรู้สึกว่าต้องใช้เวลาในแต่ละวันไปกับการดูแลฟาร์มไก่มากเกินไป เนื่องจากไม่ได้จ้างลูกน้อง เพราะไม่คุ้มกับรายจ่าย จึงเลิกทำฟาร์มไก่กลับมาเน้นทำสวนผลไม้เพียงอย่างเดียว

กอปรกับในช่วงระยะนั้นมีความสนใจในการปลูกฝรั่งกิมจู เนื่องจากฝรั่งกิมจูเป็นไม้ผลที่มีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวที่สั้น ตลาดมีความต้องการสูง สภาพพื้นที่ปลูกมีความเหมาะสม ตอบโจทย์ต่อการเป็นผลไม้ทางเลือกสำหรับผู้ดูแลสุขภาพ จึงได้เดินทางไปศึกษาดูงานจากสวนฝรั่งกิมจูวราภรณ์ ตำบลเกษตรพัฒนา อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับศึกษาองค์ความรู้ในการปลูกฝรั่งกิมจูจากแหล่งอื่นและสั่งกิ่งพันธุ์จากแหล่งจำหน่ายในจังหวัดพิจิตร เพื่อปลูกในระยะแรก 100 กิ่ง บนพื้นที่ปลูกประมาณ 1 ไร่ ก่อนที่ปัจจุบันจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 3 ไร่ พร้อมปลูกไม้ผลชนิดอื่นที่เกื้อกูลกันร่วมด้วย

 

ปลูกฝรั่งกิมจู เตรียมแปลงอย่างไร

ภายใต้สภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดชุมพรที่อยู่ในเขตพื้นที่ร้อนชื้นและมีฝนตกชุกในฤดูมรสุมจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะปลูกไม้ผล โดยเฉพาะ ฝรั่งกิมจู แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากสภาพอากาศแล้ว สภาพของดินในแปลงปลูกเองก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คุณธีรยุทธ์เลือกที่จะใช้สารปรับสภาพดิน (โดโลไมท์) เพื่อช่วยแก้ปัญหาดินเป็นกรดและเพิ่มธาตุอาหารภายในดินด้วยมูลไก่ เพื่อให้คุณภาพของดินมีความเหมาะสมต่อการปลูกฝรั่งกิมจูมากที่สุด

คุณธีรยุทธ์ กล่าวว่า “การเตรียมแปลงปลูกฝรั่งกิมจู จะใช้รถไถเข้ามาไถพรวนดินด้วยจาน 3 แล้วไถพรวนกลับอีกครั้งด้วยจาน 7 เพื่อให้ดินร่วนซุย พร้อมกับโรยโดโลไมท์บริเวณหลุมปลูก รวมถึงพื้นที่รอบหลุม ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้นั้นก็เพราะดินบริเวณนี้มีความเป็นกรด และมีลักษณะเป็นดินเหนียวจึงต้องมีการปรับสภาพดิน เสริมด้วยการขุดร่องน้ำ (ชักร่อง) ในลักษณะเป็นแนวยาวขนานไปกับแปลงปลูกในระยะห่างระหว่างร่อง ประมาณ 3 เมตร ส่วนระยะปลูกจะไม่เน้นปลูกให้ชิดกันจนเกินไป โดยระยะปลูกที่เหมาะสมควรอยู่ในระหว่าง 2×3 เมตร

ต้นฝรั่งกิมจู (สวนคุณแน็ค)

เมื่อขุดหลุมปลูกและโรยโดโลไมท์เสร็จสิ้นแล้ว จะต้องรองก้นหลุมก่อนปลูกเพื่อช่วยเพิ่มธาตุอาหาร โดยนำมูลไก่เข้ามาใช้ร่วมกับปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 ในอัตราส่วน อย่างละ 1 กำมือ ส่วนสาเหตุที่ไม่ใส่ปุ๋ยมากนั้นก็เพราะรากของต้นฝรั่งกิมจูยังคงมีความอ่อนแออยู่ หากใช้ปุ๋ยรองก้นหลุมในอัตราส่วนที่เข้มจนเกินไป ก็อาจเสี่ยงต่อการยืนต้นตายได้ ภายหลังจากรองก้นหลุมแล้วก็สามารถที่จะนำต้นฝรั่งกิมจูลงปลูกได้ในทันที

ส่วนการให้น้ำนั้น ที่สวนแห่งนี้จะใช้ระบบสปริงเกลอร์ อาศัยเครื่องยนต์สูบน้ำจากแหล่งน้ำภายในสวนมายังท่อเมนหลัก ขนาด 3 นิ้ว ไปยังแปลงปลูกฝรั่งกิมจูที่ได้รับการติดตั้งหัวสปริงเกลอร์แบบสายฝน จำนวน 1 หัว ต่อฝรั่งกิมจู 2 ต้น ซึ่งในช่วงแรกปลูกควรให้น้ำระยะ 2 วัน ต่อ 1 ครั้ง เพื่อให้ต้นฝรั่งกิมจูมีความสดชื่นอยู่เสมอ จากนั้นเมื่อต้นฝรั่งเจริญเติบโตขึ้นจึงปรับเปลี่ยนมาให้น้ำ 3 วัน ต่อครั้ง หรือให้ตามสภาพอากาศได้เช่นกัน

ทางด้านแมลงศัตรูพืช จะเริ่มมีเข้ามารบกวนในช่วงที่ต้นฝรั่งกิมจูเริ่มแตกใบอ่อน ซึ่งจะใช้วิธีการป้องกันด้วยการฉีดยาฆ่าแมลง เชฟวิน 85 (สารคาร์บาริล) ใช้ฉีดพ่นในทุกๆ 15 วัน ผสานกับการสังเกตไปที่กิ่งของฝรั่งกิมจูจะเริ่มมีการแตกแขนงออกมาให้เห็น ให้เริ่มตัดแต่งกิ่งแขนงเพื่อให้ทรงพุ่มอยู่ในลักษณะที่โปร่งและมีแสงแดดส่องถึง สำหรับการแต่งกิ่งนี้เกษตรกรสามารถที่จะทำได้อยู่ตลอดไม่ต้องยกเว้นในระยะติดผล เนื่องจากตามธรรมชาติของต้นฝรั่งมักมีการแตกแขนงตามทรงพุ่มอยู่ตลอด จะต้องแต่งกิ่งไม่ให้ชิดกันจนเกินไป ควรเว้นระยะให้ห่างกัน อย่าให้ทรงพุ่มแน่น เพราะจะทำให้กำจัดแมลงโดยเฉพาะเพลี้ยแป้งได้ยาก

เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้วก็ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ด้วยสูตรเสมอ 15-15-15 เดือนละ 1 ครั้ง ในอัตราส่วนครั้งละประมาณ 1 กำมือ ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะใส่ปุ๋ยจะต้องพรวนดินให้ร่วนซุยควบคู่กันไปด้วย สำหรับปุ๋ยบำรุงต้นจะมีการใส่ให้อยู่โดยตลอด จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 6 ฝรั่งกิมจูบางต้นที่มีความสมบูรณ์ก็สามารถจะไว้ดอกเพื่อให้ติดผลได้ แต่ที่สวนแห่งนี้จะเน้นบำรุงต้นเพื่อเร่งผลในช่วงเดือนที่ 9 เนื่องจากถือเป็นช่วงที่ต้นฝรั่งกิมจูมีความสมบูรณ์มากที่สุด”

 

“เด็ดดอก” เพิ่มความสมบูรณ์ให้ฝรั่งกิมจู

นอกจากการตัดแต่งกิ่งไม่ให้แน่นจนเกินไปเพื่อป้องกันแมลงแล้ว การเด็ดดอกก็เป็นอีกกรรมวิธีหนึ่งที่คุณธีรยุทธ์ได้นำเข้ามาปรับใช้เพื่อให้ลำต้นมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากหากไม่เด็ดดอกฝรั่งออกจากกิ่ง สารอาหารที่ใส่เติมเข้าไปจะถูกนำไปเลี้ยงบำรุงดอกเพื่อติดลูก แทนที่จะนำไปบำรุงลำต้น

“สำหรับดอกของต้นฝรั่งจะมีการติดดอกให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงที่นำลงปลูกในระยะแรก ซึ่งเกษตรกรควรที่จะเด็ดออกอยู่เสมอ ภายหลังจากเด็ดดอกออกแล้ว ลำต้นจะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และมีการแตกกิ่งแขนงที่สวยงาม ยกเว้นในกรณีที่พบว่าลำต้นมีความสมบูรณ์พร้อมดีแล้วก็สามารถที่จะเลือกเก็บดอกไว้เพื่อติดลูกได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ปลูก อย่างไรก็ตาม การเริ่มไว้ดอกเพื่อเอาลูกควรอยู่ในช่วงเดือนที่ 8-9 จะถือเป็นช่วงที่ลำต้นมีความสมบูรณ์

ดอกฝรั่งกิมจู

เมื่อต้นฝรั่งกิมจูมีอายุเข้าสู่ช่วงเดือนที่ 9 และทยอยออกดอกจะต้องปล่อยดอกเอาไว้จนกระทั่งติดลูกที่มีขนาดผลเท่าหัวแม่มือจึงเริ่มแต่งลูก สาเหตุก็เพราะดอกฝรั่งที่ออกมาใน 1 ต้น มีจำนวนมากต้องเลือกแต่งเอาผลที่ไม่สมบูรณ์ออก คงเหลือไว้แต่ผลที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่านั้น ผ่านกรรมวิธีคัดจากผลฝรั่ง 1 ช่อ ซึ่งมีประมาณ 3 ลูก ลูกที่สมบูรณ์จะอยู่ตรงกึ่งกลางและมีลูกเสริมอยู่ด้านข้าง จะต้องเด็ดลูกเสริมด้านข้างออกทั้งหมด คงเหลือแต่ลูกตรงกลางเอาไว้เท่านั้น

สอดคล้องกับการเด็ดหัวเกสรที่อยู่บริเวณติดกับกิ่งออก เพราะเป็นตัวดึงดูดเพลี้ยและแมลง ทำให้ผลฝรั่งไม่สวย ภายหลังจากแต่งลูกและเด็ดเกสรออกแล้ว จะต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลง (สตาร์เกิล) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันเพลี้ยแป้งมากัดกินผลฝรั่ง ทำให้จำหน่ายไม่ได้ราคา เมื่อฉีดพ่นแล้วเสร็จก็สามารถที่จะห่อผลต่อได้ทันที

สำหรับเทคนิคการห่อผลฝรั่งนั้น จะใช้ถุงพลาสติกห่อคลุมผลฝรั่ง 1 ชั้น เจาะรูเพื่อระบายน้ำไม่ให้ผลมีการควบแน่น และป้องกันผลเน่า ก่อนที่จะห่อทับอีกชั้นหนึ่งด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์พับให้มีลักษณะเป็นกรวยแล้วใช้ห่อครอบลงมาเพื่อกันแสง เนื่องจากเมื่อมีแสงแดดส่องเข้ามากระทบจะทำให้ภายในถุงพลาสติกเกิดการควบแน่นมีไอน้ำ และส่งผลให้ผิวของผลฝรั่งมีลักษณะเหลืองไหม้ หรือเน่าได้นั่นเอง

 

เผยเคล็ดลับ สร้างรสชาติ หวาน กรอบ

ภายหลังจากการห่อผลฝรั่งกิมจูเสร็จสิ้น ก็สามารถที่จะเริ่มบำรุงลูกได้ทันที คุณธีรยุทธ์จะมีการนำปุ๋ยเคมี สูตร 14-14-21 และเทคนิคพิเศษใช้ปุ๋ยมูลค้างคาวเข้ามาเสริมเพื่อช่วยให้ผลฝรั่งกิมจูที่ต้องการตัดจำหน่ายนั้นมีรสชาติ หวาน กรอบ อร่อยเป็นที่ถูกปากผู้ซื้อ

“สำหรับเทคนิคบำรุงผลฝรั่งกิมจูให้มีรสชาติหวาน กรอบ ถูกใจลูกค้านั้น ที่นี่จะมีเคล็ดลับเฉพาะตัวในการนำปุ๋ยมูลค้างคาว (ปุ๋ยอินทรีย์) เข้ามาเสริมและปรับใช้ในช่วงเดือนที่ 9 หรือช่วงไว้ลูก โดยใช้ปุ๋ยมูลค้างคาวใส่ 15 วัน ต่อครั้ง ในอัตราส่วน ครั้งละ 1 กำมือ ตั้งแต่ช่วงที่เริ่มห่อไปจนกว่าเก็บเกี่ยว ซึ่งจะกินระยะเวลาอยู่ประมาณ 2 เดือน สลับกับการใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 14-14-21 ในอัตราส่วน ครั้งละ 1 กำมือ ใส่สลับกันในทุกๆ 15 วัน รวมแล้วจะใส่ปุ๋ยในช่วงไว้ลูกทั้งหมด 4 ครั้ง นั่นเอง

โดยในช่วง 2 เดือน ที่ไว้ลูกก็ยังคงมีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง (สตาร์เกิล) เพื่อป้องกันและกำจัดไรแดงที่จะมากัดกินยอด รวมไปถึงฉีดสารคาร์บาริล (เชฟวิน 85) บริเวณทรงพุ่มเพื่อป้องกันมดกัดกินอยู่ตลอด ผสาน

ฝรั่งกิมจูห่อถุงพลาสติกเพื่อกันแมลง

กับการใช้วิธีสังเกตใบของต้นฝรั่งกิมจู หากพบแมลงชนิดใดรบกวนก็ให้เลือกฉีดยากำจัดแมลงชนิดนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะตัดผลฝรั่งกิมจู ประมาณ 20 วัน จะงดเว้นการฉีดยาฆ่าแมลง เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งจะต้องไม่ได้รับสารตกค้างใดๆ จากยาฆ่าแมลงที่มีการฉีดเข้าไป อีกทั้งในช่วงก่อนใกล้ครบกำหนดตัดผลออกจำหน่ายนั้น ตัวเจ้าของสวนเองก็จะต้องชิมผลฝรั่งกิมจู เพื่อให้ทราบว่าฝรั่งที่กำลังจะตัดมีรสชาติเป็นอย่างไร สุกแก่เหมาะสมต่อการตัดจำหน่ายส่งลูกค้าได้หรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อรักษาคุณภาพแล้วจึงค่อยตัดส่งลูกค้าอีกทีหนึ่ง

ภายหลังจากไว้ลูกในเดือนที่ 9 และเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ให้สังเกตไปที่ผลของฝรั่งกิมจูเริ่มมีความแตกต่างออกมาอย่างเด่นชัด ทั้งสีผิวที่เปลี่ยนไปจากเดิม สีเขียวก็จะมีสีขาวแต้มมาให้เห็น ด้านล่างของผลจะมีลักษณะกลมแป้นมากขึ้น หากพบก็สามารถที่จะตัดเก็บได้ทันที ส่วนน้ำหนักโดยเฉลี่ยต่อผล จะอยู่ที่ 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม ส่วนสาเหตุที่ต้องทำให้ได้น้ำหนักประมาณนี้ก็เพราะว่าฝรั่งกิมจูที่มีขนาดผลใหญ่จะไม่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ในทางกลับกันหากอยู่ในขนาดกลางพอดี ผลไม่ใหญ่จนเกินไป จะสร้างแรงดึงดูดใจต่อผู้ซื้อได้มาก

 

ตัดสด พร้อมส่ง จากสวน

นอกจากการรักษาคุณภาพของผลผลิตให้เป็นที่ถูกใจผู้ซื้อ การสร้างช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อไว้คอยรองรับต่อผลผลิตซึ่งมีออกมาอยู่โดยตลอดก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คุณธีรยุทธ์เลือกที่จะทำการตลาดในช่องทางออนไลน์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ายุคใหม่ที่ชื่นชอบความรวดเร็วและสะดวกในการสั่งซื้อ พร้อมชูจุดเด่นด้วยผลฝรั่งกิมจูที่ตัดสดจากสวนส่งไวทันใจ

“สำหรับผลฝรั่งกิมจูที่ตัดจำหน่ายในแต่ละครั้ง จะตัดเท่าจำนวนที่ลูกค้าสั่งผ่านช่องทางออนไลน์จากเฟซบุ๊กTeerayut Nijjawat หรือเพจสวนฝรั่งกิมจูชุมพร (สวนคุณแน็ค) ซึ่งจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาอยู่ตลอด รวมไปถึงส่งเข้าไปจำหน่ายยังหน่วยงานภายในจังหวัดชุมพร ทั้งศูนย์ราชการ และโรงเรียนต่างๆ อีกทั้งยังมีการนำฝรั่งกิมจูไปจำหน่ายด้วยตนเองยังตลาดนัดภายในชุมชน ในคราวละไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม หรือพูดในอีกแง่หนึ่งคือ ลูกค้าหลักๆ ส่วนใหญ่ที่สั่งซื้อเข้ามามักจะเป็นการพูดปากต่อปากถึงคุณภาพของฝรั่งกิมจูที่ตัดสดจากสวนแห่งนี้ ซึ่งจะมีการโพสต์ในเพจ เพื่อแจ้งให้ลูกค้าได้ทราบถึงข้อมูลและช่วงเวลาที่สามารถตัดเพื่อจัดส่งให้ลูกค้าได้

ฝรั่งกิมจูระยะติดผล

นอกจากนี้แล้ว การรักษามาตรฐานในการผลิตก็นับเป็นส่วนผสมแห่งความสำเร็จที่ช่วยให้สามารถมัดตรึงใจลูกค้าเอาไว้ได้ โดยเฉพาะการเน้นไปที่ความสด สะอาด ปลอดภัย ตัดเก็บผลสดนำไปส่งขายได้ทันที พร้อมด้วยรสชาติของผลฝรั่งกิมจูที่นับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หวาน กรอบ รสอร่อย เป็นที่ถูกปากของลูกค้าให้ติดต่อสั่งซื้อเข้ามากันอย่างต่อเนื่องคราวละไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม ในสนนราคา กิโลกรัมละ 40 บาท ถือเป็นราคาที่ชาวสวนอยู่ได้ และไม่สูงจนเกินไปสำหรับผู้ซื้อ เพราะไม่ได้จัดส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงมีราคาที่ถูกลงนั่นเอง

คุณธีรยุทธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า “เรามีความพอใจและหายเหนื่อยเมื่อได้รับคำชื่นชมจากลูกค้าถึงฝรั่งกิมจูที่มีคุณภาพ เนื่องจากกว่าจะได้เป็นผลฝรั่งแต่ละลูกนั้น ก็ต้องตั้งใจทำและเสียเวลาไม่น้อยทั้งในขั้นตอนการดูแลใส่ปุ๋ย ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง หรือห่อผลฝรั่งเพื่อเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิต เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยความทุ่มเทในการทำแทบทั้งสิ้น”

 

แนะนำวิธีตอนกิ่งฝรั่งกิมจู

สำหรับวิธีขยายพันธุ์ฝรั่งกิมจูนั้น ไม่ได้มีความซับซ้อนเท่าไรนัก โดยใช้วิธีการตอนกิ่ง อาศัยการสังเกตบริเวณกิ่งแขนงของต้นฝรั่งกิมจูที่มีลักษณะเป็นกิ่งกระโดง อายุต้นต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี เมื่อเลือกกิ่งที่มีความเหมาะสมได้แล้ว ให้เริ่มต้นใช้มีดกรีดควั่นกิ่งลึกถึงแกนกลาง โดยมีระยะความยาวในการควั่นเปลือกออก ประมาณ 1 นิ้ว ก่อนทิ้งระยะเอาไว้ ประมาณ 2 วัน แล้วจึงใช้ขุยมะพร้าวที่แช่น้ำเอาไว้ นำมาห่อด้วยพลาสติกพันทับในบริเวณดังกล่าว แล้วจึงใช้เชือกฟางรัดบริเวณหัว-ท้าย เพื่อไม่ให้ขุยมะพร้าวที่ห่อด้วยพลาสติกนั้นเลื่อนหลุด ทิ้งระยะไว้อีกประมาณ 1 เดือน รากของกิ่งพันธุ์ที่ตอนเอาไว้ก็จะเริ่มแตกออกมาให้เห็น อย่างไรก็ตาม ควรปล่อยให้กิ่งตอนมีรากแตกออกมาสมบูรณ์มากที่สุด หรือรากเต็มถุงจึงจะตัด เมื่อตัดเอากิ่งชำออกมาแล้วก็สามารถที่จะนำไปปลูกลงในแปลงได้ทันที หรือจะชำก่อนก็ได้ หากฝนฟ้าไม่ตก

คุณธีรยุทธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงผู้ที่สนใจปลูกฝรั่งกิมจูว่า “ฝรั่งกิมจู ปลูกได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย ผู้ที่สนใจต้องศึกษาวิธีการปลูกและขั้นตอนการดูแลก่อนเป็นลำดับแรก อีกทั้งยังต้องมีสภาพดินและน้ำที่พร้อมต่อการปลูก โดยเฉพาะในพื้นที่ดินเหนียวปนทราย ฝรั่งกิมจูจะให้รสชาติดี หวาน กรอบ เป็นที่แน่นอน

ติดต่อเกษตรกร คุณธีรยุทธ์ นิจวัฒน์ (คุณแน็ค) 31 หมู่ที่ 8 ตำบลทุ่งคา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 86100 โทร. 080-081-4884 เฟซบุ๊ก Teerayut Nijjawat หรือเพจสวนฝรั่งกิมจูชุมพร (สวนคุณแน็ค)

 

เผยแพร่ทางออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2563