ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ด้วยเทคโนโลยีการเกษตรที่พัฒนาไปอย่างก้าวไกล เกษตรกรทุกท่านจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับกับสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายมากขึ้น แล้งนานกว่าที่เคยเป็นมาก็สามารถรับมือได้ด้วยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ตรวจสภาพดิน ฟ้า อากาศ เพื่อวางแผนการทำเกษตรได้ล่วงหน้า และเป็นเรื่องง่าย สะดวก รวดเร็ว ช่วยประหยัดตุ้นทุน ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงานได้เกือบทั้งหมด
คุณเฉลิมพล ทัศมากร (คุณต่าย) ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดตราด อยู่บ้านเลขที่ 49/2 หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เล่าว่า เรียนจบคณะการจัดการอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี หลังจากจบมา ก็ทำงานเป็นผู้จัดการแผนกคลังสินค้าและคลังพัสดุภัณฑ์ที่บริษัทแห่งหนึ่งนานกว่า 10 ปี แต่มีสาเหตุที่ต้องลาออกจากงาน เพราะคุณพ่อคุณแม่มีอายุมากขึ้น จึงต้องกลับมาช่วยสานต่ออาชีพเป็นเกษตรกรทำสวน ปลูกเงาะ มังคุด มีทุเรียนเป็นพืชหลักสร้างรายได้ บนพื้นที่กว่า 12 ไร่
ระบบจัดการสวน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ
ตามความถนัดของแต่ละคน
คุณต่าย บอกว่า ระบบการจัดการสวน จะแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน คุณพ่อมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต ก็ให้คุณพ่ออยู่ฝ่ายผลิต คุณแม่ขายของเก่งก็ให้เป็นฝ่ายการตลาด ส่วนตนเองถนัดด้านเทคโนโลยีก็เข้ามาทำหน้าที่ดูแลระบบการจัดการภายในสวน นำเทคโนโลยีจากที่เคยทำงานมาประยุกต์ใช้ และวางระบบภายในสวนใหม่ทั้งหมด
โดยเริ่มจากการจัดการระบบน้ำภายในสวน เนื่องจากตั้งแต่สมัยคุณปู่มาถึงรุ่นคุณพ่อค่อนข้างมีระบบจัดการน้ำภายในสวนที่ค่อนข้างลำบาก คุณพ่อต้องใช้วิธีต่อท่อตรงจากน้ำตกบนเขาเพื่อมาใช้รดน้ำในสวน แต่เมื่อถึงฤดูแล้งมักจะประสบปัญหาน้ำแห้งไม่พอใช้ ต้องลำบากปีนเขาขึ้นไปดูน้ำทุกวัน สิ่งนี้คือ ปัญหาที่มองเห็นและอยากแก้ไขมานานแล้วเมื่อมีโอกาสได้เข้ามาทำอย่างเต็มตัวจึงจัดการวางระบบน้ำในสวนใหม่ทั้งหมด ด้วยการขุดบ่อสต๊อกน้ำไว้ใช้ 1 บ่อ บรรจุน้ำได้ 1,300 ลูกบาศก์เมตร แล้วติดตั้งมิเตอร์น้ำไว้ที่บ่อ ซึ่งไม่ว่าน้ำจะเข้าจะออกต้องไหลผ่านมิเตอร์ทั้งหมด และน้ำที่ใช้ในสวนทั้งหมดต้องผ่านบ่อสต๊อกเท่านั้น เพื่อจะได้เก็บข้อมูลปริมาณการใช้น้ำในแต่ละวัน แต่ละเดือน ทุกเดือนจะมีการจดบันทึกไว้ว่ามีปริมาณการใช้น้ำไปเท่าไร ประโยชน์คือ เมื่อถึงฤดูแล้ง มีนาคม-เมษายน เคยมีการจดบันทึกว่าใช้น้ำเท่าไร สต๊อกพอไหม และถ้าน้ำในสต๊อกไม่พอ จะสามารถใช้ได้อีกนานแค่ไหน สามารถบอกตัวเลขได้ทั้งหมดถึงฤดูแล้งมาก็จะสามารถคำนวณได้ว่า น้ำที่มีอยู่ในบ่อมีเท่าไร สามารถใช้ได้อีกกี่วันหรือกี่เดือน ถ้าน้ำในบ่อไม่พอ จะได้จัดการวางแผนดึงน้ำจากบ่อสำรองที่สวนมะพร้าวของคุณปู่มาใช้ทดแทน
ติดตั้งระบบรดน้ำทุเรียน ด้วย Smart phone & Tensiometer
สำหรับการติดตั้งระบบน้ำแบบอัตโนมัติแบบตั้งเวลา เปิด-ปิดได้ พี่ต่าย บอกว่า สามารถเชื่อมต่อระบบได้กับโทรศัพท์ Smart phone รุ่นใดก็ได้ จากนั้น Downlond App ที่ใช้ในการเปิด-ปิด น้ำหรือไฟ (Ewelink) แล้วติดตั้งตัวรับสัญญาณ WIFI (Sonoff) เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณและรับคำสั่งงานจาก App ที่เราได้ลงไว้จากตัวรับสัญญาณ WIFI (Sonoff) ต่อสายไฟ Out put ไปยัง Solenoid Valve ที่ติดตั้งไว้ที่แปลงสวนทุเรียน เพื่อเปิด-ปิด น้ำด้วยระบบหัวจ่ายน้ำแบบสปริงเกลอร์
ขั้นตอนการทำงาน เมื่อต้องการจะรดน้ำภายในสวนทุเรียน ให้เปิด App ที่ได้ Download ไว้พร้อมกับตั้งเวลาเปิด-ปิด น้ำ แล้วกดปุ่ม OK สัญญาณ 4G ก็จะส่งไปยังตัวรับสัญญาณ (Sonoff) โดยตัวรับสัญญาณจะเชื่อมต่ออยู่กับ WIFI อยู่แล้ว ก็จะส่งการจ่ายไฟเปิดตัว Solenoid Valve หยุดการทำงานหรือปิดระบบน้ำ และสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิด ล่วงหน้าได้นานเป็นปี เพียงตั้งวันที่ เวลา ได้ทั้งหมดว่าอยากให้เปิด แต่ทั้งนี้ต้องใช้ควบคู่กับอุปกรณ์วัดความชื้นของดิน (Tensiometer) เพื่อรู้ว่าพืชต้องการน้ำเมื่อไร แล้วเพียงพอกับความต้องการของพืชหรือไม่ เพื่อจะได้บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากสัญญาณ WIFI มีปัญหาใช้งานไม่ได้ ที่สวนจะมีแผนสำรองไว้คือ
แผนสำรองที่ 1 ในกรณีที่สัญญาณ WIFI มีปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ จะใช้ระบบ manual switch on-off ที่ตู้คอนโทรลที่ติดตั้งไว้ที่บ้านเลย โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินไปเปิดวาล์วน้ำทีละล็อก เพราะแค่ WIFI มีปัญหาแต่ไฟฟ้ายังสามารถใช้ได้
แผนสำรองที่ 2 ในกรณีที่สัญญาณ WIFI มีปัญหาและเกิดไฟดับพร้อมกัน อันนี้จำเป็นต้องเดินไปที่ประตูน้ำแล้วเปิดบายพาสวาล์ว ไฟฟ้าก็กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม
ปริมาณการให้น้ำจะดูจากอุปกรณ์วัดความชื้นของดิน (Tensiometer) เป็นหลัก ว่าพืชต้องการน้ำช่วงไหนและปริมาณเท่าไร หากเพียงพอก็จะหยุดการให้น้ำทันที เป็นการใช้น้ำอย่างมีคุณค่า
ใช้ต้นทุนในการสร้างระบบไม่มาก
แต่ต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่เป็นหลัก
เจ้าของบอกว่า ต้นทุนในการติดตั้งระบบไม่แพงมาก แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ ถ้าพื้นที่อยู่ไกลจากแหล่งน้ำ ไม่แนะนำให้ทำ เพราะไม่คุ้มทุนแน่ๆ เพราะยิ่งสวนอยู่ไกลจากแหล่งน้ำเท่าไร ก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในเรื่องของการติดตั้งอุปกรณ์เสริม ติดตั้งปั๊มน้ำ เสียค่าไฟเพิ่มขึ้น ถ้าจะให้ดีหากลงทุนไปแล้ว ต้องคำนวณจุดคุ้มทุน ต้องไม่เกิน 1 ปี เพราะอย่างที่สวนใช้เงินลงทุนเพียง 50,000 บาท ในพื้นที่ 5 ไร่ โดยการวางระบบท่อใหม่ทั้งหมด เพื่อให้รองรับกับระบบที่ต้องการ เริ่มทดลองใช้ระบบนี้มาตั้งแต่ ปี 60 คืนทุนมาใน ปี 61 และนับได้ว่าที่นี่เป็นสวนแรกและสวนเดียวบนเกาะช้างที่ทำระบบรดน้ำอัติโนมัติ มีผู้คนจากหลายที่มาศึกษาดูงาน กลายเป็นจุดเด่นของสวนไปในตัวด้วย
สร้างจุดเด่น พัฒนาสวนให้มีคนจดจำ
ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดได้
ขึ้นชื่อว่าเป็นทุเรียนเกาะช้าง คุณต่าย บอกว่าใครๆ ก็อยากรับประทาน เพราะมีจุดเด่นอยู่ในตัวอยู่แล้ว อย่าง ชะนีเกาะช้าง ถ้านำชิ้นเนื้อไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการกลาง จะพบว่า มีวิตามินอีและไอโอดีนอยู่ด้วย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทุเรียนที่อื่นไม่สามารถทำตามได้ และนอกจากจุดเด่นในตัวเองของทุเรียนเกาะช้างเองแล้ว ยังบวกกับความสามารถของคุณพ่อที่สามารถทำทุเรียนแฟนซีได้ 1 ต้น มีถึง 3 สายพันธุ์ ชะนี หมอนทอง ก้านยาว อยู่ในต้นเดียวกัน กลายเป็นสตอรี่ที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาดู เข้ามาซื้อผลผลิตของที่สวน จึงไม่มีความกังวลในเรื่องของไวรัส โควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพราะที่สวนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ตอนนี้ผลผลิตไม่พอขายด้วยซ้ำ ซึ่งราคาก็ไม่ได้ขายถูก ชะนีเกาะช้างกิโลกรัมละ 150-200 บาท หมอนทองเกาะช้าง กิโลกรัมละ 150-250 บาท ตอนนี้เริ่มมีผลผลิตทยอยออกมาเรื่อยๆ และจะหมดปลายเดือนพฤษภาคม
ตลาดมีหลายช่องทาง
- ตลาดที่หน้าสวน
- ช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก สวนสมโภชน์เกาะช้าง
- พ่อค้ามารับซื้อถึงสวน
- รับจัดบุฟเฟ่ต์ให้ผู้ที่สนใจ กรุ๊ปละไม่เกิน 15-20 คน และในปีนี้มีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ที่อยากแนะนำคือ ทุเรียน เรดดี้ ทู อีสท์ หรือทุเรียนพร้อมรับประทาน คือการนำทุเรียนสุกมาแกะ แล้วแว็กคั่ม (vacuum) แช่ตู้เย็นไว้ขายนอกฤดูกาล รสชาติเนื้อสัมผัสจะคล้ายไอศกรีมทุเรียน แต่ยังคงเท็กซ์เจอร์ (texture) ของทุเรียนไว้ ผลตอบรับค่อนข้างดี ที่ทำไว้ระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน ก็ขายหมดแล้ว
ฝากถึงเกษตรกร ต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
คุณต่าย บอกว่า จริงๆ แล้ว เกษตรกรไทยเก่งกันอยู่แล้ว แต่ยังช้าในเรื่องของเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรงต่างๆ ในปัจจุบันการทำเกษตรกรรมค่อนข้างมีปัญหาเรื่องแรงงาน แรงงานหายาก แรงงานไม่สู้งาน เพราะงานสวนเป็นงานที่ลำบาก ร้อน นวัตกรรมเครื่องทุ่นแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญในยุคปัจจุบันนี้ ยกตัวอย่าง สวนอยู่ที่เกาะช้าง ซึ่งคนทั่วไปนึกถึงธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก แล้วถามว่า แรงงานที่มาทำงานเกาะช้างส่วนใหญ่ตั้งใจมาทำธุรกิจการท่องเที่ยวโรงแรม ไม่มีใครสนใจมาเป็นชาวสวน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงสำคัญมาก แม้กระทั่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตในตอนนี้ ที่สวนใช้ระบบสแกนคิวอาร์โค้ดหมดทุกต้น ใช้สูตรคำนวณตารางเอ็กซ์เซล คำนวณตั้งแต่วันดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยวได้แก่ 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 120 วัน
“เมื่อก่อนต้องเดินจดทีละต้นทีละกิ่ง เพราะทุเรียนออกไม่พร้อมกัน ต้องนับวันดอกบาน แล้วมาจดบันทึกไว้ แต่ตอนนี้ไม่ต้องแล้ว ที่สวนใช้วิธีการติดคิวอาร์โค้ดไว้ที่ต้น แล้วใช้กูเกิ้ลฟอร์ม เมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดที่ต้น โปรแกรมจะโชว์เลยว่า ต้นนี้ต้นที่เท่าไร สายพันธุ์อะไร วันดอกบานวันไหน และมีให้ถ่ายรูปว่ากิ่งไหน ข้อมูลก็จะลิ้งdNไปที่กูเกิ้ลชีต ในกูเกิ้ลชีตจะผูกสูตรและคำนวณวันที่เก็บเกี่ยวมาให้พร้อม สุดท้าย ก็มาดูภาพรวมทั้งหมดว่า วันนี้จะเก็บเกี่ยวต้นไหนได้บ้าง เก็บได้กี่ลูก และเก็บพันธุ์อะไรได้บ้าง เพื่อวางแผนเรื่องการตลาดต่อไป” คุณต่าย กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับท่านที่สนใจสอบถามข้อมูล หรืออยากสั่งซื้อทุเรียนสวนสมโภชน์เกาะช้าง ติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 086-602-6346