ถก “ผ่าทางตัน ปัญหาทุเรียนอ่อน” ชาวสวน มือตัด ล้ง ใครตัดทุเรียนอ่อน

“ปัญหาทุเรียนอ่อน” ปัญหาเรื้อรังที่ต้องแก้ไขกันทุกปี โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูกาลที่มีผลผลิตออกน้อย ราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับมีภัยธรรมชาติ พายุฝน ภัยแล้ง ทำให้ทุเรียนเกือบแก่ได้รับความเสียหาย ต้องรีบตัดขาย ทุเรียนนี้ถูกขายไปให้โรงคัดบรรจุ มีทั้งที่ส่งออกและขายส่ง แผงขายปลีกภายในประเทศ แม้ว่าแต่ละจังหวัดจะตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ มีมาตรการตรวจสอบเข้มงวด และบทลงโทษตามกฎหมายทั้งปรับและจำคุกผู้กระทำผิดมาแล้ว แต่ยังคงมีปัญหาทุเรียนอ่อนเกิดขึ้นทุกปี

คุณณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์

เมื่อ วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดตัวสมาพันธ์ทุเรียนไทยภาคตะวันออก (6 จังหวัด คือ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี) คุณธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ทุเรียนไทยภาคตะวันออก ได้จัดงาน Durian to Go” by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จันทบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีและองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ภายใต้แนวคิด พัฒนาทุเรียนไทยก้าวไกลสู่สากล

คุณเมรินี โมรมัต

โดย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 กิจกรรมเวทีเสวนา เรื่อง “ผ่าทางตัน ดับปัญหาทุเรียนอ่อน” ณ ลานขนถ่ายสินค้า องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี วิทยากรร่วมเสวนา คือ คุณณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ รองประธานทุเรียนแปลงใหญ่จังหวัดจันทบุรี ผอ. ชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ. 6) จันทบุรี พ.ต.อ. นิพนธ์ พูลสวัสดิ์ ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี คุณเมรินี โมรมัต ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี และผู้ดำเนินรายการเสวนา คุณสุดารัตน์ เพ็ชรภิรมย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ที่ช่วยสรุปประเด็นอย่างชัดเจน

ตรวจเข้มทุเรียนอ่อน โรงคัดบรรจุ

ปัญหาทุเรียนอ่อน

กระดุม 3 เม็ด ชาวสวน มือตัด และล้งรับซื้อ

ผอ.ชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ. 6) จันทบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ปัญหาต่างๆ รุมเร้าเกษตรกรรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจตกต่ำ โควิด-19 และภัยแล้ง ทุเรียนยังเป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่ตลาดยังมีความต้องการสูง เป็นความหวังของชาวสวนที่จะสร้างรายได้ในปีนี้ ทว่าช่วงต้นฤดูที่ทุเรียนออกสู่ตลาด “ทุเรียนอ่อน” ที่ค่าน้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนยังไม่ได้มาตรฐานถูกตัดมาแย่งชิงตลาด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูที่ทุเรียนยังมีน้อยและราคาแพง รวมทั้งมีปัญหาภัยธรรมชาติ พายุฝน ภัยแล้ง ทำให้ต้องรีบตัดเรียกว่า “ทุเรียนหนีน้ำ” ซึ่งเป็นการตัดทุเรียนที่ค่าน้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียนยังไม่ได้มาตรฐาน สวพ. 6 ในฐานะหน่วยงานที่ควบคุมกำกับงานรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP (Good Agricultural Practice) และโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือกผ่านมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ขอให้ชาวสวน มือตัด และโรงคัดบรรจุคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และทำให้ตลาดทุเรียนไทยมีความมั่นคงในระยะยาว

ตัวอย่างทุเรียนอ่อน

ปัญหาทุเรียนอ่อน มาจาก 3 กลุ่ม คือ ชาวสวน มือตัด และล้งรับซื้อ เริ่มจากกระดุมเม็ดแรก จุดเริ่มต้นทุเรียนอ่อนมาจากสวน เจ้าของสวนมักอ้างว่าเหมาให้พ่อค้าแล้ว พ่อค้าเป็นคนตัด เป็นการปัดความรับผิดชอบ ในฐานะเจ้าของ มีสิทธิ์ ในเมื่อสัญญาระบุขายทุเรียนแก่ ทุเรียนคุณภาพ กระดุมเม็ดที่ 2 มือตัด มาจากล้ง ใครๆ ก็เป็นมือตัดได้ ไม่มีการขึ้นทะเบียน บางคนมีความตั้งใจ แต่ไม่เชี่ยวชาญทุเรียนแก่ ต่อไปมือตัดต้องมีความรู้ ความชำนาญ และต้องขึ้นทะเบียนจึงจะสามารถตัดทุเรียนได้ และกระดุมเม็ดที่ 3 โรงคัดบรรจุทุเรียน หรือ “ล้ง” ปี 2563 จังหวัดจันทบุรี ส่วนใหญ่เข้าระบบมาตรฐาน GMP เกือบหมด จำนวน 400 กว่าแห่ง ซึ่งตามข้อบังคับการส่งออกไปจีน ทุเรียนต้องได้มาตรฐาน และมี พ.ร.บ. สินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 กำหนดมาตรการลงโทษ ในส่วนของการควบคุมกำกับกรมวิชาการเกษตร ใช้มาตรฐาน GAP และ GMP ควบคุม กำกับปัญหาทุเรียนอ่อน หากพบว่า สวนทุเรียนที่ผ่านการรับรอง GAP ตัดทุเรียนอ่อนจำหน่าย จะดำเนินการยกเลิกใบรับรองมาตรฐาน GAP ส่วนโรงคัดบรรจุ หากพบว่า คัดบรรจุผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ก็จะดำเนินการยกเลิกใบรับรองมาตรฐาน GMP ตามขั้นตอน ตั้งแต่การแจ้งเตือน การพักใช้และการยกเลิก เช่นเดียวกัน คาดว่าถ้าควบคุมโรงคัดบรรจุได้ตามมาตรการ จะแก้ปัญหาได้” ผอ. ชลธี กล่าว

ทำเครื่องหมายทุเรียนอ่อน

ทางด้าน คุณณรงค์สิชณ์ สุทธาทิพย์ รองประธานทุเรียนแปลงใหญ่จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยกับปัญหาทุเรียนอ่อนที่มาจาก 3 กลุ่ม คือ ชาวสวน พ่อค้า และโรงคัดบรรจุ ทุกวันนี้อาชีพหลักชาวสวนจันทบุรี ปลูกพืชเศรษฐกิจ ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ซึ่งต้องหันมาพัฒนาคุณภาพ อย่างเช่น ทำ GAP ซึ่งเกษตรกรต้องพัฒนาให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีการจดบันทึกข้อมูลทุกขั้นตอนการผลิต เกษตรกรจะใช้เชือกแยกสีโยงทุเรียนแต่ละรุ่น แล้วยังมีการจดบันทึกอย่างละเอียด และดูแลในช่วงเก็บผลผลิต เชื่อว่าเกษตรกรจะไม่ตัดทุเรียนอ่อนแน่นอน แต่เกษตรกรยังคงประสบปัญหาทุเรียนอ่อนในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวมาตลอดทุกๆ ปี บางครั้งมีเหตุสุดวิสัยปัญหาภัยธรรมชาติ ทุเรียนจะได้รับความเสียหาย ทุเรียน 1 ไร่ 25 ต้น มูลค่าประมาณ 500,000 บาท ในขณะที่รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้ ไร่ละ 1,690 บาท ไม่คุ้มทุน จึงสมยอมร่วมมือกับพ่อค้าตัดทุเรียนอ่อนที่ได้รับความเสียหาย หรือตัดเพราะราคาทุเรียนจูงใจ จึงเป็นเรื่องของจิตสำนึกของเกษตรกรที่ต้องช่วยกันปลูกฝัง

เวทีเสวนา
พบประจำ ทุเรียนอ่อน

ส่วนพ่อค้าคนกลางที่มาเหมาทุเรียน มือตัดไม่มีความรู้ ความชำนาญ หรือต้องการความรวดเร็ว บางครั้งตัดหมดทั้งต้นที่เรียกว่า “คว่ำหนาม” จึงมีทุเรียนอ่อนติดไปอย่างแน่นอน ตรงนี้มือตัดต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียนมีใบรับรอง เพราะคนไม่ได้มีอาชีพปลูกทุเรียน จะตัดทุเรียนโดยไม่มีความรู้ไม่ได้ ส่วนโรงคัดบรรจุหากได้รับมาตรฐาน GMP จะคัดคุณภาพทุเรียนได้ค่อนข้างดี หรือถ้ามีมือตัดเองต้องขึ้นทะเบียนมีใบรับรองเช่นกัน แต่ยังมีล้งรับซื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน GMP ทำตัวเหมือนพ่อค้าคนกลางรับซื้อ รับเหมาทุเรียนไปส่งโรงคัดบรรจุส่งออก จะเน้นปริมาณและมีทุเรียนอ่อนติดไป เมื่อโรงคัดบรรจุคัดออกจะนำไปขายให้แผงค้าส่ง ค้าปลีก

คุณสุดารัตน์ เพ็ชรภิรมย์
ผอ. ชลธี นุ่มหนู

เจอทุเรียนอ่อน แจ้งความเอาผิดได้

พ.ต.อ. นิพนธ์ พูลสวัสดิ์ ผู้กำกับการ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การตัดการขายทุเรียนอ่อน ด้อยคุณภาพ มีกฎหมายควบคุมอยู่หลายฉบับ คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดโดยเจตนาหลอกลวงขายสินค้าเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดคุณภาพ มีความผิดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือ มาตรา 341 จำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ มาตรา 343 จำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ทั้งนี้ ผู้ซื้อทุเรียนอ่อนต้องแจ้งความกับสถานีตำรวจในท้องที่เพื่อเอาผิดกับผู้ขาย ที่ผ่านมาจังหวัดจันทบุรีได้รับแจ้งความและดำเนินคดีแล้ว เมื่อปี 2558 มีส่งฟ้องศาลลงโทษปรับ 3,000 บาท จำคุก 2 เดือน แต่ศาลปรานีรอลงอาญา และที่จังหวัดระยอง แผงทุเรียนถูกจำคุก 15 วัน ซึ่งน่าจะเป็นการปรามได้ แต่ยังคงมีอยู่ ขอร้องพ่อค้าแม่ค้าอย่ารับซื้อทุเรียนอ่อนมาขาย เจ้าของสวนจะต้องรักษาคุณภาพสินค้า อย่าปล่อยให้พ่อค้าตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด

ผู้เข้าฟัง

คุณเมรินี โมรมัต ผู้อำนวยการกลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่ได้รับไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ตาม พ.ร.บ. ควบคุมสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ผู้ประกอบการรับซื้อต้องแสดงราคา สินค้าเกษตร แยกชนิด ขนาด เพื่อให้เกษตรกรได้เปรียบเทียบราคา และตัดสินใจว่าผลผลิตที่มีคุณภาพจะขายให้ล้งไหน และเกษตรกรควรเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ จะได้ราคาดี ทำให้รายได้คุ้มค่า ส่วนผู้ค้าปลีกควบคุมให้แสดงราคาจำหน่ายตามคุณภาพ ให้ผู้บริโภคได้มีสิทธิเลือกบริโภค เลือกสินค้าคุณภาพ ป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคา ทั้งนี้มีบทลงโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ต่อความผิด 1 ครั้ง หากพบเห็นผู้ค้าเอาเปรียบ แจ้งสายด่วน 1569

พ.ต.อ. นิพนธ์ พูลสวัสดิ์

“ปัญหาทุเรียนอ่อน” จะเป็นทางตันหรือไม่ ผู้บริโภคและผลการจับกุมจะเป็นคำตอบ