นิโรจน์ แสนไชย นำระบบน้ำใช้ในสวนลำไย ประหยัดน้ำ ลดต้นทุน

คุณนิโรจน์ แสนไชย เกษตรกรวัย 70 ปี บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน เกษตรกรผู้คร่ำหวอดกับวงการปลูกลำไยมานานมาก จนได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาการใช้วิชาการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ตามโครงการจัดการระบบการจัดลำไยคุณภาพ เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมเทคนิคการจัดทรงพุ่ม ได้รับการประกาศเกียรติคุณปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ระดับจังหวัด ประจำปี 2558 สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น

ปัจจุบัน เป็นคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดลำพูน ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2559 ภายในสวนได้รับการคัดเลือกให้เป็นสถานที่อบรมและให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกลำไยและการใช้ระบบน้ำเพื่อการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง

คุณนิโรจน์ แสนไชย

พันธุ์ลำไยเด่น

คุณนิโรจน์ แสนไชย ได้ให้คำแนะนำว่า ลำไยพันธุ์ดีที่มีอยู่ในจังหวัดลำพูน ได้แก่ พันธุ์อีดอ เป็นลำไยพันธุ์เบา ออกดอกและเก็บเกี่ยวผลได้เร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี นิยมปลูกมากในประเทศไทย ประมาณ ร้อยละ 90

พันธุ์ดอก้านอ่อน เมื่อแตกยอดใหม่ ใบอ่อนออกสีเหลืองตองอ่อน ก้านอ่อนโน้มลง เมื่อติดผลทำให้ช่อผลย้อยโน้มลงข้างล่าง เปลือกผลบาง แตกง่าย เนื้อค่อนข้างหนา เมล็ดเล็ก เนื่องจากออกผลเป็นพวง จึงทำให้ใส่ในเข่งหรือตะกร้าได้ง่าย

เปิด-ปิด อัตโนมัติ

พันธุ์บ้านโฮ่ง 60 เริ่มปลูกที่บ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นลำไยที่กลายพันธุ์มาจากอีดอ เปลือกหนาแข็ง เมื่อแกะเปลือกออกจะมีสีฝ้าขาวคล้ายกับลิ้นจี่

พันธุ์พวงทอง เป็นลำไยที่มีช่อดอกขนาดใหญ่ ทำให้ผลผลิตติดเป็นพวงใหญ่และดกคล้ายองุ่น ผิวผลมีสีเหลืองทอง เนื้อหนา กรอบ สีขาวครีม กลิ่นหอม เนื้อหวานไม่มาก

พันธุ์สีชมพู เป็นลำไยพันธุ์ดั้งเดิม ไม่ทนแล้ง กิ่งเปราะหักง่าย ผลที่แก่จัดจะเห็นเนื้อสีชมพูชัดเจน เหมาะสำหรับรับประทานผลสด

มินิสปริงเกลอร์ให้ต้นลำไย

สิ่งที่ต้องคำนึงในการปลูกลำไย

ในการปลูกลำไยหรือการทำการเกษตรใดๆ ก็ตามนั้น ต้นทุนการผลิตมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะลำไย เกษตรกรจะต้องคำนึงถึง

ประการแรก ต้องปลูกลำไยด้วยกล้าลำไยเสียบยอดซึ่งมีรากแก้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยัน ช่วยลดต้นทุนที่ไม่ต้องหาซื้อไม้ค้ำ และไม่เกะกะในสวน อีกทั้งไม้ค้ำยังเป็นที่อยู่ของหนูและมดด้วย

ประการที่สอง การกำจัดวัชพืช ควรใช้เครื่องจักรขนาดที่เหมาะสมกับสวนของตนเอง ทำให้ตัดหญ้าได้รวดเร็ว ประหยัดค่าจ้างแรงงานคนที่หายาก และค่าจ้างแพง อีกทั้งทำงานช้ากว่าเครื่องจักร อาจจะใช้เครื่องตัดหญ้าที่มีอยู่แล้ว ดัดแปลงไปใช้เป็นเครื่องมือตัดแต่งกิ่งก็ได้

ระบบการปลูกลำไยต้นเตี้ย

ประการที่สาม ระบบการให้น้ำ เป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะฤดูแล้ง ควรใช้ระบบมินิสปริงเกลอร์ทั้งสวน ประหยัดทั้งค่าไฟฟ้าและแรงงานคน

ประการที่สี่ การให้ปุ๋ย จะต้องเหมาะสมกับความต้องการของพืช โดยใช้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี

ประการที่ห้า การพ่นยาเคมีหรือสารอินทรีย์ต่างๆ ควรใช้ทั้งแรงงานคนและเครื่องพ่นแบบใช้ลมผสมผสานกันไป หากเป็นลำไยต้นเตี้ยจะได้รับการพ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่เกิดโรคแมลงบางชนิดระบาดลุกลามอย่างรวดเร็ว สามารถใช้วิธีกลร่วมด้วย คือการตัดกิ่งทิ้งทดแทนการพ่นสารเคมี อีกทั้งเป็นการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ได้ต้นลำไยต้นเตี้ยไปในตัวด้วย

ระบบน้ำสายหลัก ฝังใต้ดิน

ประการที่หก การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรชาวสวนลำไยแบบเดิม ลำต้นสูง ทำให้ใช้ต้นทุนการเก็บเกี่ยวสูงตามไปด้วย แต่หากปลูกลำไยแบบต้นเตี้ยแล้ว สามารถใช้คนเก็บโดยไม่ต้องใช้บันไดปีนขึ้นไปเก็บบนต้นที่สูง ค่าจ้างแรงงานจะถูกและเก็บลำไยคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อุปกรณ์ติดตั้งระบบน้ำ

ในด้านการผลิตลำไยคุณภาพนั้น เนื่องจากเป็นการปลูกลำไยแบบต้นเตี้ย ทำให้สามารถตัดแต่งช่อผลไม่ให้มีปริมาณมากเกินไป ทำให้ผลใหญ่ได้มาตรฐาน ลำไย 1 ช่อ ควรมีผลประมาณ 30-40 ลูก ควรให้ปุ๋ยตามช่วงความต้องการของต้นลำไย ควรให้ความสำคัญของการฉีดพ่นสารเคมี ไม่ให้มีสารตกค้างในผลลำไย ไม่ใช้สารเคมีที่ต้องห้ามจากกรมวิชาการเกษตร การจัดทรงพุ่มต้องจัดให้มีความเหมาะสม เพื่อช่วยทำให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึง ทำให้สีผิวของลำไยสวยงาม ข้อดีของการปลูกลำไยต้นเตี้ยอีกประการหนึ่งคือ เมื่อปีใดผลผลิตออกมาก ลำไยราคาตกต่ำ เราจะต้องตัดดอกลำไยออกทิ้ง เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย มีคุณภาพและราคาดี

ลำไยต้นเตี้ย ภายในสวนแสนไชย

ระบบการให้น้ำในสวนลำไย

คุณนิโรจน์ แนะนำว่า ในอดีตน้ำสวนลำไยของตนเอง จำนวน 80 ไร่ ใช้วิธีการสูบน้ำเข้ามาในสวน แล้วให้คนงานใช้สายยางฉีดน้ำพ่นแบบราดบนพื้นดิน ต้องใช้คนงาน 5 คน คนละ 300 บาท ต่อวัน คิดรวมทั้งเดือนต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 45,000 บาท จึงเกิดแนวคิดในการลดต้นทุน โดยนำระบบน้ำเข้ามาใช้ในสวนลำไย ประกอบกับปัจจุบันความแห้งแล้งจะเกิดขึ้นทุกปี ดังนั้น จะต้องใช้ระบบน้ำด้วยการวางท่อ ขนาด 1 นิ้ว ไว้ใต้ดิน แล้วลดขนาดให้เหมาะสมใช้กับระบบมินิสปริงเกลอร์ ใช้ท่อเอสล่อนวางตามแบบผังสี่เหลี่ยม ต่อหัวมินิสปริงเกลอร์บริเวณทรงพุ่ม ทำให้ช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าในอดีต จากการจดบันทึกการใช้น้ำในสวนลำไย พบว่า ลำไยแต่ละต้นได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ ต้องใช้น้ำ 150 ลิตร ต่อวัน ต่อต้น พร้อมติดตั้งเครื่องวัดความชื้นด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีระบบน้ำชลประทาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำระบบน้ำแบบนี้เข้ามาใช้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสวนแต่ละสวน หากคิดในระยะยาวจะเป็นการลดต้นทุนอีกทางหนึ่ง ในการติดตั้งระบบน้ำนั้น ลงทุนระยะแรกเท่านั้น นับว่าต้นทุนต่ำมาก คือจะต้องมีหม้อแปลงเปลี่ยนจากไฟฟ้า 220 โวลต์ ผ่านเข้ามาระบบปรับกระแสไฟฟ้ากระแสสลับให้เป็นระบบไฟกระแสตรง หรือไฟดีซี เข้ามาทำงานกับเครื่องตั้งเวลา เพื่อเปิด-ปิด น้ำอัตโนมัติ จากค่าใช้จ่ายค่าแรง วันละ 1,500 บาท ขณะนี้เหลือ วันละ 100 บาท เท่านั้น

ศูนย์เรียนรู้

สนใจศึกษาดูงาน หรือขอทราบข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อที่ โทร. 081-951-4659, 082-905-6442

…………………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2563