จำเจน จิตรธร อดีตนายอำเภอตงฉิน วุฒิสภาเลือกตั้งรุ่นแรก กับงานสวนมะยงชิด ที่จังหวัดสุโขทัย

เคยได้ยินนักธุรกิจมหาเศรษฐีไทยท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า คนเราจะเก่งทุกอย่างในเวลาเดียวกันไม่ได้ เปรียบเสมือน “เข็ม” นั้น มีแหลมคมด้านเดียว ไม่มีเข็มแหลมทั้งสองด้าน

ทำนองเดียวกัน ถ้าหากมีความสามารถเฉพาะอย่างจะพาชีวิตของตัวเองประสบผลสำเร็จฉันนั้น พาชีวิตครอบครัวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง พร้อมเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญของหมู่มิตรสหายที่รักใคร่ชื่อเสียง เกียรติยศขจรขจายไปทั่วหล้า

พระเอกนางเอกบ้านไร่ปลายนา เจ้าของสวนจิตรธร

ผู้เขียนจะพาท่านไปรู้จักบุคคลดีเด่นที่มีความรู้ความสามารถเพียบพร้อมคุณธรรม เป็นผู้ประสบความสำเร็จทั้งชีวิตการงานและครอบครัว

นับวันที่หายากมากในยุคนี้ที่จะหาใครมาเทียบเท่าบุคคลของเมืองสุโขทัย ดินแดนแห่งเมืองประวัติศาสตร์มายาวนาน คนดีกรุงศรีสุโขทัย เพียบพร้อมด้วยตำนานประเพณีที่เก่าแก่

เขาล่ะ “จำเจน จิตรธร” นักปกครอง นักการเมือง นักเกษตร ที่ประสบผลสำเร็จจนคนรู้จักไปทั่วจังหวัดสุโขทัย และใกล้เคียง

กรมป่าไม้ มอบเป็นรางวัลสาขาอาชีพปลูกป่าดีเด่น

เส้นทางชีวิตของนายอำเภอจำเจน จิตรธร ที่ชาวบ้านรู้จักมากกว่าตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา

ประวัติส่วนตัวของคุณจำเจน จิตรธร เป็นชาวสวรรคโลกโดยกำเนิด ปัจจุบัน วัยใกล้ 80 ปีแล้ว เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วเข้าสมัครเป็นข้าราชการตำแหน่งเสมียนมหาดไทย ในจังหวัดสุโขทัยบ้านเกิด ระหว่างทำงานได้ไปศึกษาเรียนจบปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตรงกับสาขางานที่รับราชการจนเจริญก้าวหน้า

อดีตนายอำเภอ 7 อำเภอ สว.เลือกตั้งรุ่นแรก ทำไร่มะยงชิดสำเร็จ

ด้วยความขยันและอุตสาหะ พากเพียร มุ่งมั่นการศึกษาจนไปจบปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขารัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเดิมอย่างภาคภูมิใจ สมเป็นนักปกครองพัฒนา

ชีวิตรับราชการเริ่มจากเสมียนมหาดไทย ปลัดอำเภอ นายอำเภอ 15 ปี อยู่ในตำแหน่งถึง 7 อำเภอ และ 6 อำเภอ สังกัดจังหวัดสุโขทัย

สองสามีภรรยา อดีตสมาชิกวุฒิสภา ทั้งคู่บุกเบิกไร่มะยงชิดสำเร็จที่ศรีสัชนาลัย

จึงไม่แปลกเลยที่ชาวสุโขทัย 6 อำเภอ ใน 9 อำเภอ ที่คนรู้จักและจะเรียกว่าท่านเป็น ปทานุกรมจังหวัด ก็ว่าได้ ทั่วจังหวัดต้องรู้จัก ตั้งแต่เด็กถึงคนชรา ว่ากันอย่างนั้น และเป็นนายอำเภอขวัญใจชาวบ้านด้วย

หลังพ้นเกษียณอายุราชการนายอำเภอ ปี 2542 ก็มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี 2543 จนได้รับชัยชนะ ปฏิบัติหน้าที่ไปถึงหมดวาระ ปี 2549 รวมเวลา 6 ปี 5 เดือน

มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า ของสวนจิตรธร น้ำหนัก 9 ผล ต่อกิโลกรัม

ความมีชื่อเสียงและชอบช่วยเหลือลูกบ้าน การเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ต้องลงทุนเงินทอง ได้มาจากน้ำใจชาวบ้านที่เลือกมา เมื่อสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ตามกฎหมายเป็นต่อไม่ได้

ดังนั้น เสียงเรียกร้องของชาวบ้านอยากให้แม่บ้านมาลงเลือกตั้งรับแทน กระทั่งประสบผลชนะเลือกตั้ง

แม่บ้านคนเก่งชื่อ “คุณพยุง จิตรธร” ในปี 2549 พอเป็นสมาชิกวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งได้เพียง 5 เดือน ก็เกิดรัฐประหารขึ้นมาในปี 2549 เป็นที่ทราบกันดี ต้องสิ้นสุดลงอย่างน่าเสียดาย

คุณพยุง จิตรธร อดีตสมาชิกวุฒิสภารุ่น 2 เลือกตั้ง สุโขทัย

เกียรติประวัติของ สว.จำเจน ทั้งอดีตและปัจจุบัน ที่สำคัญ

อดีตรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ด้านการครองตน ครองคน ครองงาน จาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2526 และรางวัลชนะเลิศการพูดในที่ชุมชนจากโรงเรียนนายอำเภอ กระทรวงมหาดไทย ปี 2527

และที่สำคัญได้รับรางวัลเป็นคนดีมหาดไทย จนได้รับเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ 2 ขั้นอยู่เสมอ

ปัจจุบัน เป็นกรรมการบริหารกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย และพนักงานป่าไม้ กรมป่า

ทำสวนครัวและสวนผลไม้เป็นงานอดิเรก สมัยรับราชการเป็นนายอำเภอ

สมัยรับราชการเป็นนายอำเภอ อยากให้ลูกบ้านรู้จักประหยัดค่าครองชีพ เพื่อเป็นชีวิต “เศรษฐกิจพอเพียง” ทำสวนครัว ตัวอย่างที่มีทั้งปลูกตะไคร้ กะเพรา มะกรูด ข่า ไปจนถึงมะม่วง ขนุน ลิ้นจี่ ละมุด เมื่อผลไม้ติดดอกออกผล ส่วนใหญ่จะแจกให้ญาติสนิทมิตรสหาย เพราะราคาผลไม้ดังกล่าวราคาตกต่ำ เรียกว่าขายบ้างแจกบ้าง

หลังเกษียณอายุราชการ ปี 2542 ก็ไปสมัคร สว.สุโขทัย จนได้รับการเลือกตั้ง คิดได้ว่าถ้าหากหมดวาระแล้วควรจะมีที่ออกกำลังกาย และได้เพื่อนบ้านด้วย จึงคิดหาวิธีทำสวนผลไม้เพื่อหวังไว้ว่าในยามชราและเป็นการฝึกวินัยการออกกำลังกายด้วย

อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดร.อภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย และพนักงานป่าไม้ กรมป่าไม้ มาเยี่ยมชมสวนป่าของ สว.จำเจน จิตรธร (สวนสัก ยูคาลิปตัส)

เริ่มปลูกมะยงชิด ปลูกป่า และผลไม้อื่น รวมถึงกาแฟ

เหตุที่หันมาสนใจปลูกมะยงชิด อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวไว้ว่า

“มะยงชิด เป็นผลไม้มีอายุยาวนาน โดยหาต้นตอพันธุ์พื้นเมืองมาปลูกแซมในสวนที่มีอยู่เดิม พอต้นตอใหญ่เท่านิ้วมือ จึงหายอดมะยงชิดพันธุ์ดี ซึ่งส่วนใหญ่เรียกชื่อพันธุ์ตาพร้อม พันธุ์ตาปอน พันธุ์ตาชอบ ฯลฯ ให้ผู้มีความรู้ในทางเสียบยอดให้ บำรุงด้วยการรดน้ำ ปุ๋ยคอก แล้วค่อยๆ เอาต้นไม้ผลเดิมที่มีอยู่เดิมออก จนเหลือต้นมะยงชิด”

สวนกาแฟพันธุ์อะราบิก้า จำนวน 200 ต้น คั่วกาแฟจำหน่ายและรสชาติดี

การดูแลรักษาเอาใจใส่ต้นมะยงชิด สไตล์นายอำเภอ

เมื่ออายุเสียบยอดมะยงชิดได้ประมาณ 4 ปี ก็จะเริ่มผลิดอกออกผล มะยงชิดชอบปลูกในดินร่วนปนทราย พื้นที่ใกล้กับแม่น้ำยม

การดูแล ยังต้นเล็กอยู่ ต้องบำรุงด้วยปุ๋ยคอก ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอในฤดูแล้ง กำจัดวัชพืช พรวนดิน สังเกตในเรื่องโรคแมลง มะยงชิดส่วนใหญ่เป็นโรคขอบใบแห้งและแอนแทรกโนส แมลงปีกแข็ง โรคแมลงที่เกิด ชาวสวนจะใช้ยาอะบาเม็กติน ไซเปอร์ 35 คาร์เบนดาซิม น้ำส้มควันไม้ เป็นการรักษาทางใบ

ครั้นต้นสมบูรณ์ดีก็จะออกดอก จึงต้องรักษาดอกโดยการป้องกันเพลี้ย มะยงชิดจะออกดอกประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นธันวาคม บางปีอาจจะเลยถึงเดือนมกราคม

การรักษาดอกต้องระวังเพลี้ยตั้งแต่ออกดอกเป็นลักษณะเดือยไก่ ไข่ปลา ต้องศึกษาเรื่องการใช้ยารักษาดอก แต่ละสวนจะไม่เหมือนกัน แต่ต้องมีน้ำส้มควันไม้เป็นหลัก เกษตรกรนายอำเภอกำชับไว้ในการดูแลรักษา ให้ระวังเรื่องสารเคมีถ้าจำเป็นต้องใช้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ถัดจากดอกแล้ว ต้องดูแลรักษาช่อมะยงชิดลำดับต่อมา อดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวต่อ

จากนั้นต้องดูแลรักษาช่อมะยงชิด จนช่อกลายเป็นลูกหรือผลเท่าหัวไม้ขีดไฟ ก็ต้องรักษาลูกให้ติดอยู่ได้เป็นส่วนใหญ่ เมื่อผลเท่านิ้วก้อย อาจพบกับปัญหาการร่วงหล่น ก็ต้องรักษาไว้ให้ร่วงหล่นน้อยที่สุด

แต่มะยงชิดเป็นผลไม้ที่ปรับสมดุลตัวเองตามธรรมชาติ ซึ่งแต่ละสวนก็มีวิธีการที่แตกต่างกัน ที่สวนจิตรธร จะเน้นฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้เป็นหลัก ส่วนการให้น้ำควรให้สม่ำเสมอ ตั้งแต่ออกดอกไปจนถึงเมื่อลูก หรือผลเริ่มแก่ออกสีเหลือง

สวนจิตรธร ในช่วงแรกของการติดดอกออกผล จะมีผลผลิตอยู่ประมาณ 3-4 ต้น ต่อปี ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้นใหญ่ขึ้นต้องมีการตัดแต่งกิ่งทุกปี ไม่ให้ทรงพุ่มทึบหนาจนเกินไป

ผลผลิตแต่ละปีที่ได้ ราคาจำหน่ายให้แม่ค้า และแจกญาติสนิทมิตรสหายที่เคารพนับถือกัน

อุปสรรคสำคัญในการปลูกมะยงชิดคือการตลาด

ที่สวนจิตรธร ที่มีมะยงชิดอยู่ 9 ไร่เศษ ผลผลิตออกมาแต่ละต้นเคยเก็บได้ต้นละ 60 กิโลกรัม แต่เก็บหลายครั้ง ขายในราคา กิโลกรัมละ 50-100 บาท จะมีแม่ค้ามาซื้อถึงสวน ส่วนที่เหลือก็เอาไว้แจก เกษตรกรจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา เพราะว่ามะยงชิดเก็บไว้นานไม่ได้ ต้องรีบจำหน่าย ฤดูเก็บเกี่ยวราวเดือนมีนาคม-เมษายน

ด้วยผลไม้อย่างมะยงชิดไม่สามารถประวิงเวลาการจำหน่ายได้ ปัจจุบันเกษตรกรต้องจัดการตลาดด้วยตนเอง จึงเป็นอุปสรรคที่ต้องแก้ไขด้วยความร่วมมือช่วยเหลือจากทุกฝ่าย

การปลูกป่า ต้นกาแฟ ไม้ผลชนิดอื่น สมุนไพรในสวนจิตรธร

นอกจากสวนมะยงชิดแล้ว อดีตนายอำเภอตงฉินยังปลูกป่าไว้ในช่วง “ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ทรงครองราชย์ปีที่ 50”

อดีตนายอำเภอผู้นิยมทำสวนผสมผสาน ยังหาพื้นที่ปลูกป่าถึง 40 ไร่ ให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่าง การปลูกป่าที่สวยงาม กระทั่งพนักงานป่าไม้และอดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มาขอเยี่ยมชม กระทั่งกรมป่าไม้มอบรางวัลป่าดีเด่นให้ด้วย

นอกจากนั้น ภายในสวนราว 50 กว่าไร่ มีการปลูกมะม่วงพันธุ์ต่างๆ ไว้หลายสายพันธุ์ อาทิ โชคอนันต์ น้ำดอกไม้ อาร์ทูอีทู มหาชนก เป็นต้น

พืชสมุนไพร ข่า กระชาย ขมิ้นชัน ขิง ฟ้าทลายโจร หญ้าปักกิ่ง กะเพรา โหระพา ตะไคร้ ฯลฯ

พืชผัก พริก มะเขือ คะน้าเม็กซิกัน ผักหวานบ้าน สะเดา มะกอก ผักบุ้งจีน บวบ ฯลฯ

สวนป่า ปลูกไม้สัก กระถินเทพา ยูคาลิปตัส ไผ่กิมซุ่ง มีคติสอนไว้ว่า “ปลูกไม้สามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง”

มะยงชิดผลงามที่สวนจิตรธร ศรีสัชนาลัย

คาถาการจะทำสวนมะยงชิดสำเร็จได้ต้องอาศัยหลักธรรมะ

การสนทนาใกล้จะสิ้นสุดลง ระหว่างผู้เขียนกับอดีตนายอำเภอและสมาชิกวุฒิสภา ท่านให้ข้อคิดไว้ดีมากในการดำรงชีพ ประกอบหน้าที่ ทำงานอะไรก็แล้วแต่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท่านทำสวนมะยงชิดมากับมือ กับภรรยาท่านโดยลำพัง จะอาศัยแรงงานบ้างที่จ้างมาช่วยทำในงานเร่งด่วนที่ต้องอาศัยหลายคนมาร่วมทำงานที่จำเป็นเท่านั้น

ท่านเป็นแบบอย่างของเกษตรกรตัวจริง ลงมือทำไม่มีใช้แบบเจ้าขุนมูลนาย เอาแต่ชี้นิ้วเท่านั้น การถ่ายทอดความรู้มาจากท่านประสบด้วยตาตัวเอง จึงรู้จริง ทำจริง ว่างั้นเถอะ ไม่ใช่ข้าราชการเกษียณที่เอาแต่สั่งอย่างเดียว

สวนมะยงชิด หรือสวนจิตรธร ที่ประสบผลสำเร็จ นอกจากความรู้แล้วจะต้องอาศัยหลักธรรมในทางพุทธศาสนาคือ

“อิทธิบาท 4” ประการแรก “ฉันทะ” ความพอใจรักใคร่ ประการที่สอง “วิริยะ” ขยันหมั่นเพียร ประการที่สาม “จิตตะ” เอาใจใส่ และประการสุดท้าย “วิมังสา” ใคร่ครวญหาเหตุผล

ถ้าทำได้อย่างนี้ เชื่อว่าการทำสวนมะยงชิดคงจะประสบผลสำเร็จทุกประการอย่างแน่นอน

ก่อนอำลาจากกัน ท่านอดีตนายอำเภอกล่าวฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบัน คนพยายามทำลายธรรมชาติ ต่อไปนี้ธรรมชาติจะทำลายคน”

หากท่านผู้อ่านสนใจและอยากติดต่อเจ้าของสวนจิตรธร สวนมะยงชิด อยู่หมู่ที่ 4 ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64190 โทร. (081) 379-7432, (081) 972-5960 เจ้าของ คุณพยุง จิตรธร คุณจำเจน จิตรธร ยินดีต้อนรับ