เห็ดถั่วฝรั่ง…เห็ดเพื่ออนาคต

สมาคมนักวิจัยและเพาะเห็ดแห่งประเทศไทย มีเรื่องของเห็ดที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ Coprinus comatus (o.F.Mull) Gray ที่เหมาะสมกับการเพาะในประเทศไทย

คุณวราพร ไชยมา นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร และคณะ ได้เสนอผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดถั่วฝรั่ง ได้ส่งเข้ารับการคัดเลือกเป็นผลงานวิจัยดีเด่น กรมวิชาการเกษตร ในปี 2555 ได้รับการพิจารณาให้เป็นผลงานวิจัยดีเด่น กรมวิชาการเกษตร ประจำปี 2555

เห็ดถั่วฝรั่ง ไม่คุ้นหูกับคนไทยเหมือนเห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดแชมปิญอง หรือเห็ดที่นำมาบริโภคเป็นยา เช่น เห็ดหลินจือ เป็นต้น

1397119238

คุณวราพร หัวหน้าทีมงานวิจัยการพัฒนาเห็ดเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่ ของสำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เล่าว่า เห็ดถั่วฝรั่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ เรียกว่า Coprinus comatus เป็นเห็ดเมืองหนาวชนิดหนึ่ง ที่เรารู้จัก คือ เห็ดออรินจิ เห็ดเข็มเงิน เข็มทอง เห็ดถั่วฝรั่งมีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ทางแถบยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งเขานิยมรับประทานกันอยู่เสมอ มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีสรรพคุณทางยาด้วย จึงมีคนสนใจที่จะนำมาศึกษาวิจัย เพื่อให้เห็ดถั่วฝรั่งเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรในบ้านเรา เนื่องจากทางภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวมีอุณหภูมิที่สามารถนำมาเพาะเลี้ยงได้

“ทางภาคเหนือของประเทศไทยที่มีการเพาะเห็ดเมืองหนาวอยู่แล้ว คือ เห็ดแชมปิญอง มาคิดดูว่าถ้าเราจะมีเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่เป็นเห็ดเมืองหนาว ถ้าเรานำมาศึกษาและปรับปรุงการเพาะเลี้ยงเพื่อจะได้มีเห็ดอีกชนิดหนึ่งให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง ก็จะมีเห็ดเมืองหนาวเพิ่มขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งในบ้านเรา”

คุณวราพร อธิบายว่า เห็ดถั่วฝรั่ง เป็นเห็ดสกุลเดียวกันกับเห็ดถั่วในบ้านเรา มีอีกชื่อหนึ่งว่า เห็ดโคนน้อย แต่เห็ดถั่วฝรั่งเป็นเห็ดที่มีดอกใหญ่ที่สุดในเห็ดสกุลนี้

 

มีศักยภาพพัฒนา

เป็นเห็ดเศรษฐกิจใหม่

เห็ดถั่วฝรั่ง นิยมบริโภคกันมากในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศจีน เป็นเห็ดในสกุล Coprinus ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด รสชาติอร่อย

ที่สำคัญมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใน 100 กรัม มีโปรตีน 25.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.57 กรัม ไขมัน 0.34 กรัม เส้นใย 2.02 กรัม เถ้า 1.63 กรัม เกลือแร่และวิตามิน เช่น ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม เหล็ก สังกะสี ไนอะซีน และวิตามินบีต่างๆ อีกมากมาย อีกทั้งยังมี อะมิโนแอซิด มากกว่า 14 ชนิด ได้แก่ Glutamic, Serine, Alamine acid เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณทางยา สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง ป้องกันภาวะหลอดเลือดหัวใจ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิต ที่สำคัญคือ มีเบต้ากลูแคน ซึ่งเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ นอกจากนั้น ยังมีโปรตีนมากกว่าเห็ดหอมถึง 2 เท่า และสูงกว่านม 8 เท่า

คุณวราพร กล่าวว่า จากคุณสมบัติดังกล่าวและกระแสนิยมอาหารเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันจึงมีการเพาะปลูกเห็ดถั่วฝรั่งกันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ นอกจากนี้ เห็ดถั่วฝรั่ง ยังมีรสชาติดี เมื่อนำมาปรุงอาหารจะมีรสชาติคล้ายเนื้อไก่และมีความกรุบกรอบ

1397119174

เห็ดถั่วฝรั่ง ที่ปลูกเป็นการค้าในกรุงปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่าเส้นใยเห็ดสามารถเจริญได้ในที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว

ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาหาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดถั่วฝรั่งเพื่อการค้า เราจึงได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดรวมทั้งปัจจัยต่างๆ และผลผลิตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อเป็นพันธุ์สำหรับแนะนำแก่เกษตรกรในการเพาะเห็ดเมืองหนาวเป็นการค้าในอนาคตต่อไป

 

ศึกษาสายพันธุ์ จาก

ประเทศเมืองหนาว 5 สายพันธุ์

คุณวราพร กล่าวต่ออีกว่า เห็ดถั่วฝรั่ง ที่นำมาศึกษาทดลองในบ้านเรามีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ ด้วยกัน เรานำสายพันธุ์มาจาก 2 แหล่ง คือสายพันธุ์จากสหรัฐอเมริกา 1 สายพันธุ์ และสายพันธุ์การค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 4 สายพันธุ์ โดยนำมาศึกษาทางสรีรวิทยาและสถานะต่างๆ แล้วคัดเลือกจนได้สายพันธุ์ที่ดี 3 สายพันธุ์ และนำมาเพาะเลี้ยงต่อ ซึ่ง 3 สายพันธุ์ ที่เลือกมานั้นมีลักษณะต่างกัน

“เราได้ทำการศึกษาวิจัยในเรื่องการผลิต การเจริญเติบโตของเส้นใยในอุณหภูมิต่างๆ และเทคโนโลยีการผลิตเห็ดถั่วฝรั่ง การผลิตเชื้อขยายในอาหาร และศึกษาในเรื่องของการให้ผลผลิต”

สำหรับการยอมรับของเกษตรกร คุณวราพร กล่าวว่า ได้ใช้ความพยายามอย่างมากที่จะให้เกษตรกรยอมรับ เราได้เลือกพื้นที่ที่ทำการศึกษาทดลองเพาะเลี้ยงแบบเชิงพาณิชย์ ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงเห็ดเมืองหนาวกันอยู่แล้ว คือ เห็ดแชมปิญอง โดยพยายามเลือกเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงเห็ดแชมปิญอง ชี้แจงให้เขาทราบว่า ไม่มีเทคโนโลยีแปลกใหม่อะไร เพียงแต่เปลี่ยนสายพันธุ์เห็ดจากแชมปิญองมาเป็นเห็ดถั่วฝรั่งเท่านั้น ถ้าเกษตรกรไม่ต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำให้ยุ่งยาก ต้องมาศึกษากันใหม่ เกษตรกรจะยอมรับได้ง่าย คุณวราพร กล่าว

“แต่กว่าจะยอมรับค่อนข้างยาก เกษตรกรบ้านเราน้อยนักที่จะยอมเสี่ยง การที่เขาจะลงทุนอะไร เขาจะต้องมั่นใจว่า ถ้าทำออกมาแล้วจะต้องได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า จึงเป็นการยากที่จะให้เขายอมรับพันธุ์เห็ดใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้จัก แต่บังเอิญโชคดีที่ได้เกษตรกรหัวก้าวหน้ามาร่วมโครงการ พร้อมที่จะยอมรับสิ่งใหม่ๆ”

 

1397119212

บังเอิญช่วงนั้น

เห็ดแชมปิญอง ราคาตกต่ำ

ในช่วงต้นฤดูหนาว ราคาเห็ดแชมปิญอง หน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 100-110 บาท แต่พอปลายฤดูหนาว ราคาจะตกเหลือเพียง 50-60 บาท ต่อกิโลกรัม เท่านั้น ขณะนั้นคุณวราพรเข้าไปพบเกษตรกร ที่ อำเภอเวียงป่าเป้า ที่เพาะเห็ดแชมปิญองกำลังมีปัญหาราคาตกต่ำ เขาถามว่ากรมวิชาการเกษตรมีเห็ดพันธุ์ใหม่ๆ ที่พอจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มบ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นจังหวะที่คุณวราพรจะทำการศึกษาวิจัยเห็ดถั่วฝรั่ง ซึ่งเป็นเห็ดเมืองหนาวเช่นเดียวกับเห็ดพันธุ์แชมปิญองพอดี และเนื่องจากการจัดการระบบฟาร์มเห็ดถั่วฝรั่งไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเพาะเลี้ยงแต่อย่างไร

เพียงแต่เบื้องต้นจะต้องเอาใจใส่ดูแลค่อนข้างมาก จะแตกต่างกันในเรื่องของการเก็บดอกเห็ด และเกษตรกรยังไม่รู้ว่ากี่วันจะเก็บดอกเห็ดได้ การเก็บดอกเห็ดถั่วฝรั่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกร อำเภอเวียงป่าเป้า ช่วงนั้นจึงต้องประสานงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

คุณวราพร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการสร้างเกษตรกรต้นแบบในปีแรก มุ่งไปที่เกษตรกรรายเดียวก่อน เพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบ เพราะเขายังไม่เคยเห็นรูปร่างลักษณะของดอกเห็ด อย่างที่บอกว่ามีเกษตรกรหัวก้าวหน้ามาร่วมโครงการ แต่ก็มีเกษตรกรรายอื่นให้ความสนใจ และในปีนั้น (2556) กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ดได้ขยายผลการผลิตออกไปอีก 6-7 โรง ทำให้มีเกษตรกรมาติดตามดูพอสมควร

พร้อมกันนี้ยังได้ให้ข้อมูลถึงระยะเวลาการเก็บดอกเห็ดว่า เริ่มตั้งแต่หว่านเชื้อเห็ดไปจนถึงเวลาเก็บดอกเห็ด จะใช้เวลา 45 วัน ซึ่งไม่ต่างกับเห็ดแชมปิญอง ใช้เวลาใกล้เคียงกัน การเก็บดอกเห็ดก็ต้องระวังเหมือนกับเก็บดอกเห็ดทั่วๆ ไป คือ ระวังมิให้ช้ำ เก็บแล้วตัดแต่งให้ดูสวยงาม เห็ดถั่วฝรั่ง เป็นเห็ดขนาดใหญ่มีการเจริญเติบโตเร็ว และยังสามารถเพาะให้ออกดอกได้ในวัสดุที่หาง่าย ราคาถูก เช่น ฟางข้าว ขี้เลื่อย เป็นต้น

 

ตลาดเป็นอย่างไร

กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ดเพียงแต่ดำเนินการศึกษาวิจัยในด้านวิชาการเทคโนโลยีในการเพาะเลี้ยง ไม่ได้ศึกษาในด้านการตลาด แต่เกษตรกรที่มีหัวก้าวหน้าได้ดำเนินการในด้านการตลาดไปบ้างแล้ว ปัจจุบันทางภาคเหนือได้มีการวางตลาดตามศูนย์การค้า ซึ่งเป็นตลาดชั้นสูง

เมื่อถามถึงราคา คุณวราพร บอกว่า จากคำบอกเล่าของเกษตรกร ราคาที่วางขายประมาณ  450 บาท ต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาเห็ดแชมปิญอง ราคาประมาณ 200-250 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรพอใจมาก เพราะในขณะที่ต้นทุนเท่ากัน แต่ผลผลิตที่ได้และราคาเห็ดถั่วฝรั่งสูงกว่าเห็ดแชมปิญอง 2-3 เท่าตัว คำนวณผลผลิตที่ได้ต่อโรงเรือน (ชั้นปลูก 2×6 เมตร 6 ชั้น) ให้ผลผลิตเฉลี่ยรวม 166.17 กิโลกรัม เกษตรกรจะได้กำไรสุทธิ 22,409 บาท และอาจเก็บผลผลิตได้นาน 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศในช่วงปีนั้นๆ เห็ดชนิดนี้สามารถนำมาปรุงอาหารไทยได้เกือบทุกชนิด

“เห็ดถั่วฝรั่ง นอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังมีคุณค่าทางยาสูง ได้มีงานวิจัยออกมาแล้วว่ายังช่วยในเรื่องของผิวพรรณอีกด้วย ดังนั้น ในอนาคตเชื่อว่าเห็ดถั่วฝรั่งจะเป็นเห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ในอนาคตอย่างแน่นอน” คุณวราพร กล่าว

 

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 561-4673