เทคนิคการเพิ่มคุณภาพมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว ทำได้ดังนี้

ปัจจุบัน “ มะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง ” เป็นสินค้าหลักที่ประเทศไทยส่งออกไปขายต่างประเทศ มะม่วงพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นที่มีผลกลมรี ผิวสีเหลืองทั้งผลตั้งแต่ยังไม่แก่จัด น้ำหนักผลเฉลี่ย 350 กรัม ต่อผล ผลผลิตเมื่ออายุ 5-7 ปี เฉลี่ย 300 ผล ต่อต้น ผลดิบมีรสเปรี้ยว เมื่อสุกมีรสหวาน กลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อสีเหลืองอมส้ม มีเสี้ยนน้อย เมล็ดในลีบ ที่สำคัญคือทนต่อโรคแอนแทรกโนสได้ดี เปลือกค่อนข้างหนาทำให้ไม่บอบช้ำง่ายในการขนส่ง อายุเก็บเกี่ยว 115 วัน หลังจากออกดอก

วิธีเก็บเกี่ยว ใช้ตะกร้อปลิดผลเบาๆ หรือใช้มีดคมสะอาดตัดในกรณีต้นไม่สูง ตัดขั้วเหลือติดผล 5-10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันน้ำยางไหลเปื้อนเป็นรอยที่ผล ระหว่างเก็บผลอย่าให้เกิดรอยแผลและถูกแดดจ้า เข่งหรือตะกร้าที่ใส่มะม่วงออกจากสวน ต้องรองด้วยวัสดุนุ่มและสะอาด ป้องกันไม่ให้ผลบอบช้ำและเกิดแผลที่ผลมะม่วง แล้วรีบนำเข้าโรงเรือนคัดขนาดโดยเร็ว

การคัดผลมะม่วง นอกจากคัดขนาดแล้ว ต้องคัดผลที่มีตำหนิหรือมีรอยแผล มีโรคและแมลงติดมาทิ้งไป จากนั้นตัดขั้วให้เหลือความยาวเพียง 1 เซนติเมตร พร้อมคว่ำลงบนแคร่หรือตะแกรง ให้น้ำยางไหลออกจนหมด หากยังมีน้ำยางเหลืออยู่จะทำให้เนื้อมะม่วงไม่หวานแหลมและมีรสเฝื่อน ไม่ชวนรับประทาน โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30 นาที น้ำยางก็จะหมด จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำคลอรีนเข้มข้น 0.01 เปอร์เซ็นต์ และนำขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ แล้วคัดขนาดตามกำหนดมาตรฐาน

วิธีกำจัดโรคที่ติดมากับผล โรคสำคัญคือ แอนแทรกโนส มีผลทำให้ผิวเป็นรอยหลังการบ่ม อีกโรคหนึ่งที่พบอยู่เสมอเช่นเดียวกัน ได้แก่ โรคขั้วผลเน่า ให้ปฏิบัติดังนี้ นำผลมะม่วงแช่ในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5-10 นาที ความร้อนระดับนี้ให้ทดลองจุ่มนิ้วมือลงในน้ำร้อน จะรู้สึกว่าร้อนเกือบทนไม่ได้ หากน้ำเย็นลงต้องเติมน้ำร้อนผสมลงไปให้อุณหภูมิคงที่ ส่วนการผลิตเป็นอุตสาหกรรมจะมีหม้อต้มน้ำร้อนขนาดใหญ่ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ครบตามกำหนดเวลา นำมะม่วงขึ้นแล้วแช่ลงในน้ำเย็นทันที หรือใช้พัดลมเป่าก็ได้เช่นเดียวกัน

วิธีกำจัดแมลงวันผลไม้ที่ติดมากับผลมะม่วง นำผลมะม่วงเข้าอบในตู้อบไอน้ำ ที่อุณหภูมิ 47 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 50-80 องศาเซลเซียส อบจนทำให้เปลือกเมล็ดภายใต้เนื้อผลรับอุณหภูมิดังกล่าว เป็นเวลา 20 นาที นำออกจากตู้และลดอุณหภูมิลงด้วยพัดลม

การยืดอายุการเก็บรักษาผลมะม่วงให้ยาวนานขึ้น นำมะม่วงที่ได้เก็บในห้องเย็นที่รักษาอุณหภูมิ 13-15 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดอัตราการหายใจและการคายน้ำของมะม่วงลง แต่ระวังอย่าให้อุณหภูมิต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้มะม่วงมีสีคล้ำและฉ่ำน้ำ เนื่องจากเกิดอาการสะท้านหนาว

วิธีการบ่มมะม่วงให้ผิวสวยและสุกทั่วทั้งผล ให้รมด้วยก๊าซเอทิลีน ในห้องปิดมิดชิด ในอัตราเข้มข้น 0.002-0.01 ไมโครกรัม ต่อลิตร ที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 90 เปอร์เซ็นต์ และต้องควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้มะม่วงสุกเร็วขึ้นและสุกทั่วทั้งผล สีผิวจะสวยงามตามไปด้วย หรืออาจใช้รมด้วยก๊าซอะเซทิลีนหรือถ่านก๊าซ อัตรา 50 กรัม ต่อมะม่วง 15 กิโลกรัม คลุมด้วยผ้าใบ หรือกระสอบป่าน เป็นเวลา 1-2 คืน แล้วเปิดผ้าใบออก ผลมะม่วงจะเริ่มสุกตามกำหนดเวลา

การบรรจุหีบห่อ ห่อผลด้วยโฟมตาข่าย หรือพลาสติคมีรูพรุน ลดการกระแทกภาชนะบรรจุที่ทำจากกระดาษ มีมาตรฐานสำหรับการส่งออก มีตั้งแต่ขนาดบรรจุ 2 กิโลกรัม ไปจนถึง 15 กิโลกรัม กล่องกระดาษลูกฟูกที่ใช้บรรจุผลมะม่วงต้องมีน้ำหนัก 200 กรัม ต่อตารางเมตร สิ่งสำคัญ วัสดุที่ใช้ต้องมีหมึกพิมพ์ หรือกาวที่ไม่เป็นพิษกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  ติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เกษตรกลางบางเขน จตุจักร กรุงเทพฯ 10210 หรือสำนักมาตรฐานสินค้าและอาหารแห่งชาติ ในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เช่นเดียวกัน หรือสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. (089) 938-9097 ในวันและเวลาทำการ