ระวัง “ โรคเน่า ” ระบาดในแปลงปลูก “ชาโยเต้”

ก้าวเข้าสู่ฤดูร้อน บางพื้นที่อาจเจอภาวะอากาศร้อนและฝนตก ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดโรคเน่าในแปลงปลูกชาโยเต้ (มะระหวาน หรือ ฟักแม้ว) มักพบได้ในแปลงปลูกหัวพันธุ์และต้นกล้า

หากพบในระยะเพาะต้นกล้า จะสังเกตเห็นเส้นใยของเชื้อราลักษณะหยาบ มีสีขาวบนหัวพันธุ์หรือบริเวณโคนต้นกล้า ต่อมาเชื้อราจะสร้างเม็ดสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายเมล็ดผักกาดปนอยู่กับเส้นใย จึงมักเรียกว่า ราเม็ดผักกาด ทำให้หัวพันธุ์เน่า ต้นกล้าที่งอกจะเหี่ยวและตายในที่สุด

ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกชาโยเต้อย่างสม่ำเสมอ หากพบหัวพันธุ์หรือต้นกล้าเริ่มแสดงอาการของโรค ให้ถอนและขุดดินบริเวณที่พบเป็นโรค นำไปเผาทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก ด้านการป้องกันกำจัดโรคเน่า กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำว่า ควรใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราคาร์บอกซิน 75% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโทลโคลฟอส-เมทิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีไตรไดอะโซล 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร รดดินในหลุมและบริเวณใกล้เคียง ทุกๆ 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อราแพร่ไปยังต้นข้างเคียง

หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรควรเก็บซากพืชที่เป็นโรคทั้งหมดนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค และก่อนการปลูกชาโยเต้ เกษตรกรควรไถพรวนพลิกดินขึ้นมาตากแดด 2-3 แดด โดยไถให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้างในดิน และช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก จากนั้น ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์เพื่อปรับสภาพดิน และเลือกใช้หัวพันธุ์หรือกิ่งพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค ส่วนการใช้วัสดุคลุมดินในระยะเพาะกล้าไม่ควรคลุมจนหนาเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความชื้นสูงและเหมาะกับการระบาดของโรคได้